วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/19 (2)


พระอาจารย์
12/19 (561005B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
5 ตุลาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  12/19  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แล้วทุกวัน...พวกเราหมดเวลาไปกับอะไร ...กับจิตที่มันแตกกระสานซ่านกระเซ็นไป ไขว่คว้าค้นควานไป กับสุขกับทุกข์ กับเรื่องเลื่อนๆ ลอยๆ ฉาบทา

เมื่อกี้เราก็บอกแล้ว ได้สุขมา...เหมือนได้ทุกข์ ...เพราะได้ของที่มันต้องเสีย  

ถ้าได้สุขมากก็เสียมาก รับไว้เลย  ถ้าได้สุขน้อยก็ต้องเตรียมรับกับสุขน้อยที่จะเสียไป...ทุกข์ก็น้อย  ถ้าเมื่อใดที่ได้สุขมาก รอรับได้เลย ทุกข์ก็จะมาก ...เพราะมันจะเสียไป มันจะหมด มันจะสูญ

เพราะนั้น อยู่กับไม่มีสุขไม่มีทุกข์ ก็ไม่มีคำว่าสูญเสีย ไม่มีเราผู้สูญเสีย ...แต่ถ้าได้สุขหรือได้ทุกข์ ก็จะต้องมีการสูญเสีย มีเราผู้สูญเสีย เป็นทุกข์อยู่เสมอ เป็นทุกข์ประจำเลยในสุขและทุกข์

ท่านจึงบอกว่าสุข-ทุกข์นี่ เหมือนหัวค้อนกับปลายค้อนน่ะ มันอันเดียวกัน แล้วแต่จะพลิกใช้ยังไง ...แต่มันก็คืออันเดียวกัน คือก้อนทุกข์กองหนึ่ง

ถ้ามันไม่มีปัญญา หรือมันไม่กลับมารู้ กลับมาดู กลับมาเห็น ด้วยความเป็นกลาง ตั้งใจ ใส่ใจ ...มันไม่เห็นหรอกว่า ในสุขเป็นทุกข์อย่างไร ในทุกข์เป็นทุกข์อย่างไร 

มันก็ไม่หยุดค้นหาสุข มันก็ไม่หยุดค้นหาความจะได้สุขอย่างไรดี...ด้วยการเห็น ด้วยการได้ยิน ด้วยการหา ด้วยการทำ ด้วยการพูด ด้วยการไป-มาในที่ต่างๆ ...จิตมันก็ไม่หยุดง่ายๆ หรอก

ไอ้จิตที่มันไปนี่ มันไปหาภพสุข แสวงหาสุข สุขที่ยังมาไม่ถึง ...แล้วมันมาเทียบกับกายปัจจุบันที่มันนั่งอยู่นี่ มันไม่สุข มันไม่มีสุข ...มันหึ่มๆ กายตรงนี้มันหึ่มๆ 

รู้จักหึ่มๆ ไหม ...ใกล้ๆ จะสุกแต่ไม่สุก  เขาเรียกว่าหึ่มๆ ห่ามๆ อย่างนี้ ...ซึ่งมันไม่มีรสชาติที่มันจะว่าอร่อยหรือว่าแย่ก็ไม่ใช่ ...มันหึ่มๆ กายนี่

เพราะนั้นจิตมันก็จะถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของอวิชชา...ที่มันจะแตกออกไปหาสุข ด้วยการคิดนึกปรุงแต่ง เพ้อเจ้อ เลื่อนลอย...เลื่อนลอยก็เป็นความสุขหนึ่งของมันแล้ว

แค่เลื่อนลอย...ก็บอกว่าสบายดี ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องทำอะไร ศีลไม่ต้องไปเอา สมาธิไม่ต้องไปทำ  ก็สบายแล้ว มีความสุขแล้ว มีความสุขเล็กๆ เกิดขึ้นแล้วกู ...นี่ มันติดๆ 

พอให้ออกจากความสุขนั้นๆ ก็เสียดาย มันเหมือนยาเสพติด ...นี่เขาเรียกว่าอามิส เป็นอามิสสุข มันก็ติด ติดสุข ติดอามิสในสุข ติดการกระทำ ติดในการที่จะมีสุขเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัย ...มีความติดข้อง

เพราะนั้นก็ตั้งใจอยู่กับเนื้อกับตัว มันจะไม่เจออะไรเลยก็ชั่ง อยู่กับมันไปเถอะ ...อยู่ในกรอบกายนี้แหละ อย่าให้มันออกนอกกรอบเนื้อกรอบหนังนี้ออกไป อย่าให้มันออกนอกแขนนอกขานี้ไป 

ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไร ก็รู้สึกถึงการที่นิ้วมันขยุกขยิก  นั่งอยู่เฉยๆ มันก็เป็นก้อน...ก็รู้สึก  ไม่ว่ามันอ้าว มันอบ มันตึง มันแน่น หรือมันเนียน ...ก็รู้ไป

ถึงไม่รู้รายละเอียดว่าความรู้สึกนั้นในกายคืออะไร ก็รู้สึกมั่วๆ ลงไปว่า กูกำลังนั่ง มีรูปนั่ง ดูรูปนั่งไป ... เผลอออก...เอาใหม่ๆ  ไหลออก...เอาใหม่

นี่ ทำอยู่อย่างนี้ ...ดูซิ ใครจะอยู่ตัวกว่ากัน  ดูซิ ศีลสมาธิปัญญามันจะอยู่ตัวขึ้นมามั้ย 

ทำอยู่อย่างนี้ อย่าไปหาวิธีอื่นทำ อย่าไปตั้งท่าตั้งทาง อย่าไปตั้งรูปตั้งแบบ อย่าไปตั้งเงื่อนไข อย่าไปตั้งวิธีการ อย่าไปตั้งสถานที่ ...แค่ทำอย่างนี้ ทำมันอย่างนี้ ตรงไหนก็ทำมันอย่างนี้

นั่งรถก็อยู่กับการนั่ง หลังพิงเบาะ รู้สึกยังไงที่หลัง ขามันวางยังไง มันเหยียดมันยึดยังไง ...วนไปวนมา หมุนอยู่อย่างนี้ ให้จิตมันหมุนวนอยู่ในกายนี้ ไม่ให้มันออกนอกกายนี้ 

ดูซิมันจะบ้าตายมั้ย ดูซิมันจะอึดอัดตายมั้ย ...ก็ให้มันตายกันไปซะข้างหนึ่ง  นี่...ต้องเอากันอย่างนี้ สร้างนิสัยอย่างนี้ขึ้นมา

ถ้าไปเผลอเพลินเวลาทำงาน นี่ไม่ค่อยว่ากันเท่าไหร่ เพราะมันต้องแบ่งจิตส่งออกนอกอยู่แล้ว ...แต่ว่าอย่าปล่อยให้มันเตลิดเปิดเปิงเกินไป 

พยายามสำรวมเนื้อสำรวมตัว สำรวมสติไว้ สำรวมกายไว้ ด้วยการถามตัวเองว่าทำอะไร อยู่ด้วยการทำอะไร นั่งรู้มั้ย ยืนรู้รึเปล่าว่ายืน ...ถามเข้าไปเหอะ บ่อยๆ มันจะได้ไม่ออกนอกเนื้อนอกตัว

แล้วเวลามาอยู่คนเดียวมันก็จะเกิดการง่ายในการรักษาเนื้อรักษาตัวให้อยู่ในที่เดียวกัน...กายกับใจน่ะ  รักษากายกับใจให้มันอยู่ในที่เดียวกัน ไม่ให้มันล่วงล้ำก้ำเกินกันไปมา มันไม่พอดี

เพราะนั้นถ้ากายใจมันอยู่ที่เดียวกันก็เรียกว่าพอดี ...ก็พยายามรักษาให้มีความพอดีของกายใจ สร้างฐานนี้มากๆ เป็นบาทฐานระดับเตรียมอนุบาล จะได้ขึ้นอนุบาลกันสักที

มากันหลายปีแล้ว...ก็ยังเตรียมอนุบาล เขียน ก.ไก่ ยังไม่จบเลยกาย  ได้แค่หัว ยังไม่ได้ถึงรากถึงหางเลย ...ไอ้ตรงปากนี่ถึงกันรึยังนี่ หือ ถึงไอ้ตรงปากที่มันยื่นมารึยัง ก.กายนี่ ...ไม่ใช่ ก.ไก่นะ ก.กาย

กว่าที่จะลากเป็นตัวอักษร ก ได้ครบนี่ เมื่อไหร่ล่ะ ...ขี้เกียจกันจัง จะไปเขียนกันแต่ตรงนั้นน่ะว่า “หลุดพ้นๆ” “นิพพานๆ” ...เมื่อไหร่หนอๆ  

ก.ไก่ ยังไม่เขียนจบตัว ไม่เสร็จตัวเลย ...จะไปเขียนคำว่า “นิพพาน” แล้วนี่นะ ...มั่วรึเปล่า

เห็นมั้ย จิตน่ะมันหาเรื่องมั่วเก่งนะ หาไอ้สิ่งที่ไม่มีแล้วก็ปรุงแต่ง ยำแบบใส่ซุปก้อนแล้วก็กะทิสำเร็จรูป ปุ๊บนี่ มีรสชาติเอร็ดอร่อยอยู่ข้างหน้าแล้ว ไม่รู้อยู่ตรงไหน ...แต่ ก.ไก่ยังเขียนไม่เป็นเลย

เพราะนั้น พยายามเรียนกายให้ทั่ว รู้กายให้ทั่ว ให้ตลอด ...ใครว่าโง่ก็โง่ไปเถอะ ดูซิใครจะโง่กว่ากัน ...เอาจนเหลือรู้เดียว นั่นน่ะโง่จริง คือไม่รู้อะไรเลย...แต่รู้จริงๆ รู้ว่ามีกายจริงๆ นั่นน่ะเขาเรียกว่ารู้จริง

ไอ้รู้ไปเรื่อย รู้แบบนกแก้วนกขุนทอง รู้สะเปะสะปะ ไอ้นั่นไอ้นี่ก็รู้ รู้ไปหมดๆ  คนนั้นคนนี้...เขาเลิกกัน ดีกัน อย่ากัน  เขามีลูกเรียนที่นั่น ลูกมันเรียนได้เกรดนั้น  รู้กระทั่งว่าลูกมันเรียนได้เกรดไหน...รู้หมด

แต่ไม่รู้ว่ากูนั่งอยู่ กูยืนอยู่ กูทำอะไรอยู่ อย่างเนี้ย ไอ้พวกความรู้รอบตัวเยอะ...แต่ไม่รู้ตัว ...ความรู้รอบตัวนี่โคตรเยอะเลย...มันจะรู้ไปทำไม

ไอ้ความรู้รอบตัวนี่ มันเอาไว้อวดกัน เอาไว้สนองว่า...เดี๋ยวเขาว่าว่าโง่ถ้าไม่มีความรู้รอบตัวเยอะๆ ...มันก็จะไปหา คอยหาแต่ความรู้รอบตัวด้วยการส่ายส่อง เข้าใจมั้ย

อะไรว่อบอะไรแว่บ อะไรสะดุดหูสะดุดตา หันขวับๆ ...จิตหันก่อน ตาหูหันตาม พั่บ ไปจดจ่อ แล้วก็ไปจ่อม แล้วก็ไปควานค้น หาความรู้ใส่ตัวจากภายนอก ...แล้วก็จำ แล้วก็เอาไปคุย แค่นั้นเอง 

มันก็ว่า...เวลาใครถามจะได้ตอบได้  แต่พอมารู้ตัวนี่ ใครถาม ไม่มีคำตอบ ...แล้วไอ้คนที่มีความรู้รอบตัวเยอะ มันก็จะมองด้วยสีหน้าเหยียดหยามว่าไม่รู้อะไร สู้ฉันไม่ได้ 

นี่ ไอ้ความเป็นเราภายในก็เริ่มกำเริบแล้ว อยากจะ.. มาว่ากูได้ยังไงวะ ดูถูกว่าปัญญาไม่มี ...ก็ต้องไปหาสิ อย่างนี้ ...นี่ เขาเรียกว่าไม่ทันแล้วๆ

ถึงว่า...รู้จริงๆ น่ะโง่นะ รู้จริงน่ะไม่รู้อะไร คือรู้หนึ่ง...หนึ่ง คือรู้อย่างเดียว ...แล้วสิ่งเดียวที่ควรรู้หรือต้องรู้ก็คือกาย นี่ เขาเรียกว่ารู้จริง...ต้องให้รู้หนึ่ง 

เพราะนั้น...จะไม่รู้อะไรหรอก ไม่รู้เกินนี้ออกไปหรอก ...รู้แค่นี้ รู้เท่านี้  แล้วเอาจนมันรู้สึกว่าพอ เนี่ย เขาเรียกว่ามัชฌิมา ...ก็รู้สึกว่าพอแล้ว แค่นี้พอแล้วว่ะ 

พอเริ่มรู้สึกว่าพอแล้ว คราวนี้มันจะรู้สึกว่าพอกับการรู้แค่นี้ ...ตรงนี้ที่มันจะเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่เรียกว่า ไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่มันเร้าทางอายตนะผัสสะภายนอก

นี่เขาเรียกว่าไม่หวั่นไหวแล้ว มันรู้สึกว่าพอแล้ว...พอแล้ว แค่นี้ก็พอแล้ว แล้วมันก็ทำความพอแล้วตรงนั้นแหละให้มันทะลุปรุโปร่ง ...คือการเขียน ก.ไก่ ให้จบตัว แค่นั้นเอง ...เนี่ย คือหลักของการปฏิบัติ

ถ้าไม่ตรงตรงนี้ มันจะไปตรงตรงไหน ไปตรงต่อตำรา ไปตรงต่อคำพูด ไปตรงต่อความคิดเหรอ ...ถ้ามันต้องตรง คือตรงต่อตรงนี้ ตรงนี้ ตรงความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ที่นี่

ก็เรียกว่าปฏิบัติตรงนี้ ปฏิบัติตรงลงไปในศีล ตรงลงไปในจิตในใจ ตรงลงไปกับปัจจุบัน ตรงลงไปในขันธ์ ...ความรู้แจ้งเห็นจริงในกองขันธ์มันจะไม่เกิดได้อย่างไร

เนี่ย พยายามประมวลด้วยทิฏฐิความเห็นเบื้องต้นอย่างนี้ในองค์ศีล ให้เชื่อในศีลสมาธิปัญญาว่ามันจะเข้าไปสู่ความวิมุติหลุดพ้นได้อย่างไร ...แต่ถ้าไปตรงต่อที่อื่น มันจะหลุดพ้นจากขันธ์ได้อย่างไร 

มันจะไปหลุดพ้นด้วยการเข้าไปวิเคราะห์ วิจารณ์ วิตกอยู่กับ...ขันธ์ของลูก ขันธ์ของเพื่อน ขันธ์ของคนที่ทำงาน ขันธ์ของคนที่อยู่จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ ประเทศนั้นประเทศนี้ไหม

มันจะไปแจ้งขันธ์ได้มั้ย ถ้ามันไปวิตกวิจารณ์ใคร่ครวญอยู่กับขันธ์กองนั้น เหล่านั้น ...ไม่ได้ ไม่หลุด ...มันจะต้องมาวิตกวิจารณ์ลง หรือว่าวิเคราะห์ลงในขันธ์นี้กายนี้

นี่เขาเรียกว่าใช้ปัญญาแบบหยาบๆ ด้วยความจินตา ด้วยความเป็นสุตตะนี่แหละ คอยกำหราบความอยากรู้อยากเห็นภายนอก ความอยากได้ธรรมภายนอก 

ความอยากรู้เห็นธรรมภายนอก ความอยากเข้าไปลึกซึ้งเข้าใจในธรรมภายนอก ...มันเหมือนยาพิษน่ะ กินมากก็เป็นพิษมาก ออกไปรู้มากก็ทุกข์มาก ออกไปรู้เกินนี้ก็ทุกข์เกิน 

ให้มันทุกข์แค่นี้พอแล้ว ให้มันทุกข์อยู่กับกาย เห็นกายเคลื่อน กายไหว กายร้อน กายอ่อน กายแข็ง กายที่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย...ไม่ได้เป็นไปตามเรา

นี่ ให้มันเห็นความทุกข์ในความเป็นกายก้อนนี้ก่อน เรียกว่าทุกขสัจในกาย ...แล้วมันก็จะค่อยๆ ตีแตกความเป็นจริงออกมาเอง อะไรเป็นอะไร

มันก็จะเห็นความจริง ...อะไรเป็นใคร นั่งเป็นใคร ใครเป็นนั่ง นั่งเป็นของใคร ใครเป็นของนั่ง นั่งเป็นของนั่ง หรือว่ารู้เป็นรู้ ไม่มีใครเป็นของใคร

มันก็เกิดความถ่องแท้ ชัดเจน ลึกซึ้ง ยอมรับ  ถ่ายถอน...ความไม่รู้ออกไป ความเห็นผิดออกไป ความยึดมั่นถือมั่นออกไป ความถือครองครอบครองนี้ออกไป ...นี่คือผล ผลก็เกิด

เรียนรู้อยู่ที่อันเดียวก็จะแจ้งอยู่ในที่เดียว ...เมื่อแจ้งในที่อันเดียวกันแล้วนี่ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่เป็นสองหรอก มันก็เป็นหนึ่งเดียวกันหมดแหละ

ไอ้ที่มันเป็นนั้นเป็นนี้ เพราะว่าจิตมันไปแบ่ง เพราะจิตมันแตกตัวออกไปบัญญัติ เพราะจิตมันแตกตัวออกไปเป็นภาษา เพราะจิตมันแตกตัวออกไปยกระดับ สูง-ต่ำขึ้นมา

แต่ถ้ามันอยู่ในที่นี้ จิตมันรวมอยู่เป็นหนึ่งแล้ว ธรรมก็จะไม่แบ่ง...ด้วยการจำเพาะเป็นบัญญัติ เป็นภาษา เป็นความเห็น เป็นความหมายใดๆ  

ธรรมมันก็จะเป็นธรรมเดียวกันหมด ...จากกายเดียวนี้ ก็จะไปสู่ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่า สัพเพธัมมา อนัตตาติ ไปเอง

เรียกว่ารู้ที่เดียวนี่ แจ้งหมดทั้งสามโลกธาตุ แจ้งตลอด โดยไม่ติดขัด ค้างคา ข้องแวะ เกาะเกี่ยวได้เลย ...เรียกว่ารู้อันเดียวนี่แหละ รู้โง่ๆ นี่แหละ มันทะลุหมดเลยสามโลกธาตุ

พูดเหมือนกับเอานิยายมาเล่านะ ...ถ้าในระดับภูมิปัญญาที่ยังไม่อยู่ในมรรคโดยสมบูรณ์แล้ว มันก็คิดว่า จะว่าเป็นได้อย่างไร 

ไอ้นั่นก็ติด ไอ้นั่นก็ยังไม่เข้าใจ ไอ้นั่นก็ยัง..ฮื้อมันต่างกันชัดเจน มันไม่ใช่อันเดียวกันอย่างชัดเจน มันจะเป็นอันเดียวกันได้ยังไง ...ถ้ามันคิดนะ มันจะไม่เห็น 

แต่ในความเดินในมรรคจริงๆ ในการอยู่กับศีลสมาธิปัญญาญาณทัสสนะจริงๆ แล้วนี่ มันจะเป็นอย่างนี้จริงๆ ...ทีนี้ว่ามันต้องท้าพิสูจน์ มันต้องเอาตัวเองเข้าไปพิสูจน์ในธรรม 

มันต้องลงทุน มันต้องประกอบขึ้น ปฏิบัติขึ้น เจริญขึ้น ทำให้มีทำให้เกิดขึ้นมาในศีลสมาธิปัญญา ...แล้วก็ละวางในส่วนที่ไม่อยาก ไม่ต้องให้มันมากขึ้น ก็คือกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง 

ก็คือไม่ไปเพิ่มไปเติม ละไม่ได้ก็ไม่ไปเพิ่มไปเติม  ถ้าละได้...ละ วางได้...วาง  ...วางไม่ได้ ละไม่ได้ ก็อย่าไปเพิ่มมัน แล้วก็มาเพิ่มมาเติมไอ้ที่ควรเพิ่มควรเติม ก็คือศีลสมาธิสติปัญญา

เนี่ย ทำงานให้มันตรงข้ามกับกิจวัตรประจำวันของกิเลส ความคุ้นเคย เคยชิน...อนุสัย 

ถ้าอนุสัยนี่มันจะเพิ่มเติมกิเลส เพิ่มเติมอารมณ์ เพิ่มเติมในอดีตอนาคต เพิ่มความเป็นเรา ความเข้มข้นในเราที่ได้ ที่มี ที่ไม่ได้ ที่ไม่มี ...มันจะเพิ่มในจุดนั้น

แต่ถ้ามันเป็นผู้ภาวนาจริงๆ เนี่ย มันจะมาเพิ่มในศีลสมาธิปัญญามากกว่าจะไปเพิ่มในกิเลส ...แล้วพอมันเพิ่มตรงนี้มากขึ้นๆๆ ทีนี้กำลังก็มากขึ้น  

กำลังมากขึ้น หมายความว่า การห้ำหั่นกับกิเลส...เวลากิเลสมันเกิดขึ้น ทีนี้ก็ตัดเป็นตัดตายขายขาดกันได้ สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น 

ไม่คาราคาซัง ไม่ค้างเติ่ง ไม่เข้ามาฝังตัว ไม่เข้ามาถูกขังอยู่ในกรงสัตว์ เสือ สิงห์ กระทิงแรด มันก็ตายซะตั้งแต่เห็น ...นี่เรียกว่ากำลังของศีลสมาธิปัญญา อานิสงส์มันมี

แต่คราวนี้ว่า อย่าให้มันเป็นแค่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็มีความเชื่อความจำ ...มันต้องเจริญขึ้นมา ให้มันเป็นสมบัติของตัวเองขึ้นมา ให้มันเป็นมรรคของตัวเองขึ้นมา ให้มันเกิดผลของตัวเองขึ้นมา

จึงเรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้ปฏิบัติชอบ เป็นผู้ปฏิบัติควรแก่ธรรม ...แล้วก็จะเข้าถึงธรรมตามความเป็นจริง 

แล้วก็จะปล่อยวางสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมออกไป จนหมดสิ้น คือธรรมที่ไม่จริง...คือธรรมปรุงแต่งด้วยอำนาจของกิเลส...มันไม่จริง


(ต่อแทร็ก 12/20)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น