วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/29 (2)


พระอาจารย์
12/29 (561216A)
16 ธันวาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  12/29  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  มันต้องรู้ให้ได้ตลอด...โดยเฉลี่ยทั้งวันน่ะ ...เช้ารู้ สายรู้ กลางวันรู้ เพลรู้ เที่ยงรู้ บ่ายรู้ บ่ายแก่ๆ รู้ เย็นรู้ หัวค่ำรู้ กลางคืนรู้ ดึกๆ รู้ นอนรู้ ตื่นรู้

เฉลี่ยให้มันได้ตลอดวัน อย่าให้มันทิ้งช่วง อย่าให้มันหายนาน อย่าให้มันห่างนาน ...นี่ ใส่ใจ มันต้องอาศัยความใส่ใจตั้งใจ ถ้ามันไม่ตั้งใจใส่ใจ มันก็ล่องลอย

หรือไม่มันก็ไปรอตอนเข้านอนก่อนนอน ค่อยทำสักทีหนึ่ง...ไม่พอยาไส้ เรียกว่าภาวนาอย่างนี้มันไม่พอยาไส้  มันภาวนา...เขาเรียกว่าภาวนาแบบผักชีโรยหน้า มันไม่เกิดมรรคเกิดผลได้หรอก

แต่การที่มันตั้งใจใส่ใจที่จะขวนขวายในการสร้างความรู้ตัวขึ้นมา จนมันเกิดความต่อเนื่อง ไม่ขาดสายเลย ...นี่ ยังไม่ต้องเอาถึงขั้นว่า เป็นเส้นตรงยาวเหยียดแทบไม่ขาดสาย 

แค่ขาดบ้างเล็กๆ น้อยๆ นี่ มันก็พอเห็นอะไรได้ลางๆ เห็นความเป็นจริงของกายนี่ แล้วก็เชื่อว่ากายเป็นอะไรตามความเป็นจริงแบบลางๆ ...นี่ แบบลางๆ นะ ไม่ใช่แบบเต็มตานะ

โอ้ย แบบลางๆ นี่ก็ดีตายล่ะ ...เพราะตอนนี้น่ะ มันมืดตึ้บเลย เหมือนคนตาบอด ...มันบัง กิเลส ความคิด ความจำ ภาษา บัญญัติ  มันบังความเป็นจริงของกายไป

เหมือนพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินน่ะ ให้มันเห็นเลือนลางๆ  ปัญญามันเข้าไปเห็นกายเลือนลางๆ ว่าความเป็นจริงมันคืออะไร ...นี่ แค่นี้มันก็มีกำลังใจขึ้นมาเป็นก่ายเป็นกองแล้ว

แต่ว่ามันอยู่ที่ว่าการใส่ใจขวนขวายในการสร้างสติความรู้ตัว จนเป็นนิสัยน่ะ จนมันเป็นความคุ้นเคยอย่างใหม่ ไม่ใช่ความคุ้นเคยอย่างเดิม ...ถ้าคุ้นเคยอย่างเดิมมันเป็นอำนาจของกิเลส

ลุกยืนเดินนั่งนอน มันก็ลุกได้ แต่มันลุกได้ด้วยความเคยชิน  กินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว พวกนี้มันทำได้ด้วยความเคยชิน ...แต่เป็นความเคยชินแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

มันก็จะเกิดความเคยชินแบบใหม่ ที่ว่าทำอะไรแล้วมันรู้ตัวได้น่ะ จะลุกจะนั่ง จะเปลี่ยนท่าทาง จะกิน จะเคี้ยว จะกลืน มันก็รู้ มันเป็นนิสัยที่มันรู้อยู่กับกาย ...มันเกิดนิสัยใหม่ขึ้นมา

ไอ้นิสัยใหม่ที่มันเกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอะไรหรอก ...เกิดขึ้นเพราะว่าฝึก ฝึกให้มันรู้บ่อยๆ จนมันรู้สึกได้ถึงว่า เวลามันทำอะไรแบบไม่รู้ตัวนี่...มันจะรู้สึกว่าผิด

มันมีหิริโอตตัปปะเกิดขึ้นว่า มันทำไปแบบไม่สมบูรณ์ มันจะรู้สึกว่าทำไปแล้วไม่สมบูรณ์ ไม่สมบูรณ์พร้อม...ในการพูด ในการนั่ง ในการเดินนั้นๆ

ในการเดินมันก็จะรู้สึกตัวของมันเองว่า เวลาเดินแล้วไม่รู้สึกตัว มันก็จะรู้สึกว่าการเดินครั้งนี้ไม่สมบูรณ์ การมีชีวิตช่วงนี้ไม่สมบูรณ์  มันขาดอะไรไป...ไม่เต็ม ไม่พอดี

พอมันเดิน ยืน นั่ง ขยับ กิน แล้วมันมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ในกิจกรรม พฤติกรรม activity ของกายนี่ มันจะรู้เลยว่าสมบูรณ์ พอดี

ไอ้ความสมบูรณ์พอดีในการรู้ตัวอยู่กับกายโดยไม่ขาด ตรงนี้ท่านเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ...มันเป็นความพอดี เต็ม สมบูรณ์ในปัจจุบันทุกปัจจุบัน ทุกกริยาอาการ

แล้วมันก็จะคุ้นเคยกับการพอดีแบบนี้ ...นี่ ถ้ามันคุ้นเคยกับความพอดี แล้วมันก็อยู่กับความพอดีของใจรู้ในปัจจุบันนี่ ...ผลที่ได้ต่อหน้าตรงๆ เลย คือทุกข์น้อยลง

ทุกข์เพราะเราไปคิด ทุกข์เพราะเราไปในข้างหน้าข้างหลังน้อยลง ...นี่เขาเรียกว่าระงับ ระงับทุกข์ โดยที่ไม่ต้องไปนั่งสมาธิเลย โดยไม่ต้องไปอยู่ในความสงบ ...อยู่ในชีวิตนี่แหละมันก็ไม่ทุกข์

แต่ว่ามันแค่ระงับทุกข์ภายนอก ที่จิตเรา หรือว่าความคิดความเห็น มันจะออกไปเกี่ยวเกาะ เกาะกุม ไปหมกมุ่น จริงจัง ...ทุกข์พวกนี้จะทุเลาไป

มันก็รักษาอยู่ในพื้นฐานความพอดี ความเป็นกลาง ระหว่างกายใจปัจจุบัน ...แล้วในขณะที่มันรักษาความพอดีกันระหว่างกายใจปัจจุบันตรงนี้ ...ปัญญามันจะเกิด

เกิดตรงที่มันไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลยนอกจากกาย  เกิดตรงที่มันไม่อยากรู้อยากเห็นอะไรเลยนอกจากกาย ...มันจะไม่เห็นอะไรเลยนอกจากกาย 

ซึ่งมันจะเห็นกายที่ปรากฏจริงๆ เพราะว่ามันไม่มีความเห็น มันไม่มีตัณหา ไปหาอะไรมาวิเคราะห์วิจารณ์ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ...นี่มันก็เห็นกายเท่าที่มันปรากฏ

ไม่ได้เห็นด้วยความอยากรู้อยากเห็นอะไร แล้วก็สร้างความอยากรู้อยากเห็นล่วงหน้า-ลับหลังออกไป ...นี่ มันก็จะเห็นรากเหง้าของกาย

รากเหง้าของกายก็คือ เหมือนกับเบสิคๆ พื้นๆ พื้นฐานของกาย...นี่ ร้อนบ้าง แข็งบ้าง อ่อนบ้าง นุ่มบ้าง ยืดหยุ่นบ้าง ทึบๆ บ้าง หนาๆ บ้างๆ ตึงๆ แน่นๆ

นี่กายเบสิค หรือกายธรรมดา...ไม่เป็นอะไร ไม่เป็นของใครแต่ประการใด ...ที่มันเห็นนี่ โดยปราศจากจิตปรุงแต่ง โดยปราศจากความคิด โดยปราศจากความเห็น โดยปราศจากภาษา

ระหว่างที่มันอยู่ด้วยความสมดุลพอดี เป็นกลางสมบูรณ์อยู่กับปัจจุบันกายใจ  ไม่เกินไม่ล้ำออกไปข้างหน้าข้างหลัง ...แล้วก็ไม่ทุกข์ไม่สุขด้วย เพราะว่าจิตมันไม่ไปแกว่งหาสุขสร้างทุกข์อะไรตรงไหน 

ให้มันพอดีกับรู้ พอดีกับเห็นในกายแค่นั้นเอง มันก็เห็นด้วยความเป็นกลางๆ ธรรมดาๆ ...ตรงนี้ปัญญาเกิด ...ค่อยๆ เข้าใจลึกซึ้งในความเป็นกายอย่างที่มันปรากฏจริงๆ 

กายที่ไม่มีชื่อไม่มีเสียงในตัวมัน ไม่มีเพศ ไม่มีเผ่าพันธุ์ ไม่มีสถานะในตัวมัน ...เป็นอะไรอย่างหนึ่งๆๆ ขณะหนึ่ง ชั่วคราวหนึ่ง แบบเงียบๆ ของมันไป

ความรู้ความเข้าใจภายในมันก็เกิด...มันเกิดขึ้นด้วยความชอบตามธรรม หรือว่าชอบธรรม...ตามที่มันปรากฏจริงๆ ไม่ใช่ตามธรรมปรุงแต่ง

แต่มันเป็นกายที่มันเป็นตามธรรมที่ปรากฏจริงๆ เป็นธรรมจริง ...ไม่ใช่ธรรมที่ต่อเติมเสริมสร้างขึ้นมาใหม่ ด้วยอำนาจของจิตผู้ไม่รู้ ด้วยอำนาจของ “เรา”

ก็เห็นไป ต่อเนื่องไป ยอมรับไป ค่อยๆ เข้าใจกับมันไป...พร้อมกับมันก็ถ่ายถอนความเห็นผิดไปพร้อมกัน 

ความเห็นผิดว่าเป็นเราของเรา เป็นแขนเรา เป็นขาเรา  เป็นเรานั่ง เป็นเรายืน เป็นเราพูด เป็นเราคิด เป็นเราเห็น เป็นเราได้ยิน ...มันก็ถ่ายถอนออกไป

แล้วมันก็ถ่ายถอนของมันไปเองน่ะ ไม่มีใครไปถ่ายถอนมันหรอก ...มันก็ถ่ายถอนของมันไปเองน่ะ ด้วยจิตที่มันฉลาดรู้ฉลาดเห็นแล้ว

แต่ไอ้ที่มันไม่ถ่ายถอนออกนี่...เพราะจิตมันโง่ จิตมันไม่รู้ ...เมื่อมันไม่รู้นี่ มันก็ไม่สามารถที่จะถ่ายถอนหรือว่าลบล้างความไม่รู้ด้วยตัวของมันเองได้

แต่ว่าการที่น้อมนำด้วยอำนาจของศีล สติ ให้มันอยู่ในปัจจุบัน ให้มันอยู่ในที่กายเดียวที่มันไม่ได้คิดไม่ได้ปรุง ...มันก็พาให้จิตผู้ไม่รู้นี่ ก็พาให้มันมารู้ความเป็นจริง ตามจริง อย่างที่ปรากฏจริงๆ

จากจิตที่มันโง่เขลา เมื่อมันถูกนำพามาด้วยศีล ด้วยสติ ด้วยสมาธิที่เป็นสัมมานี่ ...จิตมันก็เกิดความฉลาดขึ้นในตัวของมัน มันก็เข้าใจ และก็ยอมรับในตัวของมันว่า...อ้อ ไอ้ที่เคยเข้าใจนี่ มันไม่ใช่ 

มันโง่ มันเคยโง่ แล้วมันก็เคยเชื่อแบบโง่ๆ  เพราะมันไม่เห็นอย่างนี้ ...แต่พอมันเห็นซ้ำๆ ซ้ำๆ ลงไปว่าความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้  มันก็ค่อยๆ ฉลาดขึ้นในตัวของมันเอง

เมื่อมันฉลาดขึ้นในตัวของมันเอง มันไม่มีใครไปบังคับมันหรอกว่าจะต้องไปละความเห็นผิด ไม่ให้มันเกิดความเห็นผิดขึ้นมา มันก็ถ่ายถอนด้วยตัวของมันเอง 

ก็ด้วยจิตมันฉลาดขึ้น ไม่โง่เหมือนแต่ก่อน ...แล้วก็ไม่ใช้ชีวิตอยู่แบบพอกพูนความโง่ ความยึดในความเห็นแต่เก่าก่อน

เพราะนั้น เวลาเราเกิดมานี่ เกิดมาเป็นคนเป็นทารกเป็นเด็กนี่ ทำไมเขาพูดว่าเด็กไร้เดียงสา เพราะไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรหรอก ใครทำอะไร ใครชมมัน ใครด่ามัน มันก็หัวเราะลูกเดียว

เพราะมันไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่มีกิเลส ไม่ได้สะสมกิเลสมา มันไม่เข้าใจสมมุติภาษาอะไร ...แต่พอสักห้าขวบ อย่าด่านะ...มันจะโกรธแล้ว เพราะมันจะเรียนรู้เอง พร้อมกับความยึดมั่นถือมั่น

ซึ่งจริงๆ น่ะกิเลสมันมีภายในอยู่แล้ว แต่มันก็...คืออายุมากขึ้น กิเลสมันก็พอกพูนขึ้น แล้วพออายุสักสิบ-ยี่สิบนี่ ทีนี้ล่ะเจ้าเล่ห์แล้ว มันรู้แล้ว เริ่มจะมีอารมณ์อย่างละเอียดประณีตขึ้น มีเล่ห์มีเหลี่ยม มีชั้นมีเชิง 

ยิ่งแก่ไปเจ็ดสิบแปดสิบนี่ อย่าไปด่าเชียว เขาถึงบอกว่าไม่มีใครดื้อกว่าคนแก่ ถือตัว รู้มากกว่าคนอื่น ไม่ยอมใคร ...คือไปๆ มาๆ นี่ ยิ่งเกิดนาน แก่อายุมากขึ้น กิเลสมันกลับหนาแน่นขึ้นนะ เห็นมั้ยว่ามันพอกพูน 

พอตายเสร็จก็ไปล้างกันใหม่ ...จริงๆ มันไม่ได้ล้างอะไรหรอก มันเป็นธรรมชาติที่ทำให้ลืมภพชาติในอดีต ความเป็น ความจำได้ ในความเข้าใจได้ในสมมุติภาษาบัญญัติมันก็ลบไป ลืมไป มันลืมไป

แต่ว่ากิเลสมันก็สะสมอยู่ข้างในเป็นชั้นของอนุสัยหรืออาสวะในกมลสันดาน ...พอเกิดมาใหม่ก็อ้อแอ้ๆ ไม่รู้อะไร ไม่รู้จะสร้างกิเลสยังไง ยังไงเรียกว่าโกรธ รัก ชอบ-ชัง หรือว่าถูกว่าผิด ...ถูกผิดมันยังไม่รู้นะ

เขาก็ชอบเปรียบเทียบว่าเด็กเหมือนกับผ้าขาวออกมา ...จริงๆ มันไม่ใช่ผ้าขาวอะไรหรอก กิเลสมันก็ยังเต็มหัวใจอยู่ในนั้น แต่ว่ามันยังไม่ได้ลิงก์กับโลกเท่านั้น

จิตมันก็...เทียวเกิดเทียวตายเท่าไหร่  แทนที่มันจะฉลาดขึ้น มันก็โง่ลงๆๆ ...เพราะเกิดมานี่มันก็มีแต่สะสมพอกพูนความยึดมั่นถือมั่น ความเป็นตัวตนของเรา

แล้วก็ทำไปตามอำนาจความยึดมั่นถือมั่น ทำไปตามความอยาก-ความไม่อยากของเรา ซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้น ...ยิ่งเกิดนานเท่าไหร่ ภพชาติมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เกิดความหนาแน่นของกิเลสมากขึ้นเท่านั้น

มันจะไปหาความสงบได้จากที่ไหนเล่า มันก็เหมือนกับเอาเนยแข็งน่ะ ไปวางไว้บนกระทะร้อนๆ  นั่นน่ะความสงบ ได้แค่นั้นน่ะ ...เพราะว่าข้างในนี่ มันเหมือนกระทะทองแดง เหมือนไฟ 

กิเลสเหมือนไฟ..ใจเหมือนน้ำ ...แต่เราเข้าไม่ถึงใจหรอก เพราะว่าไฟนี่มันห่อน้ำไว้  แล้วมันสร้างเราขึ้นมา แล้วเราก็มาสร้างน้ำแข็ง..คือทำความสงบมาหุ้มไฟอีกทีหนึ่งอย่างนี้ 

นี่คือความสงบอารมณ์เท่านั้นน่ะ พอมันละลายไป แล้วก็มาอยู่กับไฟเหมือนเดิม ...แต่ว่าในไฟที่มันหุ้มนี่ มันหุ้มน้ำไว้อีกทีหนึ่งนะ คือใจนี่ที่เป็นธาตุบริสุทธิ์ ...แต่เราเข้าไม่ถึง เปิดกิเลสไม่ออก 

ซึ่งระหว่างที่มันเข้าไม่ถึงใจ แล้วมันอยู่กับไฟนี่  ไฟมันก็ทำหน้าที่เผา แล้วเราก็หาเชื้อเพลิงมาเติมมันอยู่เรื่อยๆ ...ไฟมันก็ลุกไหม้ เป็นถ่าน เป็นเชื้ออยู่ทุกลมหายใจเข้าออกจนวันตาย


(ต่อแทร็ก 12/30)





วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/29 (1)



พระอาจารย์
12/29 (561216A)
16 ธันวาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เดี๋ยวนี้ ภาวนาอะไรอยู่ล่ะ ภาวนาอะไรเป็นหลัก

โยม –  ภาวนาพุทโธเป็นหลักค่ะ


พระอาจารย์ –  สงบบ้างไหม

โยม –  สงบบ้างค่ะ


พระอาจารย์ –  ภาวนาพุทโธน่ะ มันสงบบ้างไม่ได้ ...มันต้องสงบมากๆ น่ะ ไม่งั้นมันไม่พอ...ไม่พอให้เกิดปัญญา 

แค่เอาล่อเอาเถิดกับจิตสงบก็เสียเวลาไปครึ่งค่อนชีวิตแล้ว มันก็ยังสงบไม่ถึงฐานสักที  คนสมัยนี้...หาความสงบได้ยาก ทำความสงบได้ยาก ปัญญามันก็ไม่เกิด  

การรักษาจิตนี่ รักษาจิตได้ยาก สงบแล้วมันรักษาจิตไม่อยู่ รักษาให้มันสงบต่อเนื่องไม่ได้  พอมาทำงานทำการน่ะ กระเจิดกระเจิงหมด ล่องลอย เผลอเพลิน ...ใช่มั้ย

เพราะนั้นกรรมฐานภาวนาที่มันเหมาะกับคนที่ยังข้องแวะอยู่กับโลก ต้องหนักไปทางสติ ให้มาก...ฝึกสติ เจริญสติในกายน่ะ ทำให้มาก ...เพราะมันเป็นการเจริญสติ ได้สติที่ได้พร้อมกับปัญญาไปด้วย 

แล้วมันไม่มีขั้นตอนอะไรหรอก มันไม่หลายขั้นตอน ...ถ้าภาวนาเอาความสงบกันก่อนนี่ มันมีหลายขั้นตอน กว่าที่มันจะเกิดปัญญาที่แท้จริง จนเป็นปัญญาขั้นสมบูรณ์

การเจริญสติในกายโดยตรงเลย โดยไม่ต้องรอให้มันสงบก่อน ...มันจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงไปทุกขณะเวลาที่มีสติอยู่กับปัจจุบันกาย ...สงบหรือไม่สงบไม่สำคัญ

มันสำคัญที่มันรู้มันเห็นความเป็นจริงของกายมากขึ้นกว่าเก่าก่อน ...การรู้เห็นความเป็นจริงนี่แหละคือปัญญา รู้เห็นอย่างที่มันปรากฏ เท่าที่มันปรากฏนั่นแหละ...แล้วก็เชื่อ

ถ้าไม่เชื่อก็ให้รู้ว่าปัญญายังไม่พอ ถ้ามันเชื่อก็พอ  ถ้ามันเชื่อแล้วยังกลับไปเชื่ออย่างเดิมอีกก็ยังไม่พออีก ถ้ามันเชื่อแล้วไม่กลับไปเชื่อไอ้อย่างเดิมอีกเลย นั่นแหละพอแล้ว

เพราะนั้นต้องเจริญปัญญาจนกว่ามันจะเชื่อ แล้วก็ยอมรับแบบไม่หวนเลยน่ะ ไม่สงสัยลังเลเลยว่ากายตามความเป็นจริงนี้ มันไม่ใช่ใคร..ของใคร  มันไม่มีความสุข มันเป็นทุกข์ มันแปรปรวน 

นั่นแหละมันจะเชื่อ...ปัญญามันเกิดขึ้นก็จะค่อยๆ เชื่อไป ...ปัญญาไม่เกิดมันก็ไม่เชื่อ มันก็เชื่อแบบเดิมของมัน ว่ากายนี้เป็นเรา กายนี้เป็นหญิง กายนี้เป็นชาย 

แล้วมันยังหาความสุขในกายนี้ได้อยู่ ยังเป็นความสุขของเราในกายนี้อยู่ ยังเป็นทุกข์ของเราอยู่ในกายนี้ นี่ มันเป็นความเชื่อแบบที่มีในทุกคน เป็นทุกคนน่ะ 

ไอ้ความเชื่ออย่างนี้แหละ ท่านเรียกว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วไอ้ความเชื่อแบบมิจฉาทิฏฐินี่ มันก็ทำให้เกิดทุกข์ เป็นทุกข์ในกาย

เพราะนั้นทุกข์ในกายนี่ เนื่องด้วย “กายเรา” นี่  มันเป็นทุกข์ประจำของปุถุชน..เป็นทุกคน  แล้วมันเป็นทุกข์เบื้องต้น ทุกข์หยาบๆ เพราะมันเป็นขันธ์หยาบๆ

กายมันเป็นขันธ์หยาบ...ในขันธ์ห้านี่ กายมันหยาบที่สุดแล้ว ...เพราะนั้นเบื้องต้น เริ่มต้น เริ่มแรก มันก็ต้องมาเรียนรู้กับขันธ์หยาบนี่เสียก่อน

จนกว่ามันจะเกิดความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง จนมันทิ้งขันธ์หยาบ  นี่ ปัญญาที่เข้าไปเรียนรู้กายเห็นกาย มันก็เป็นปัญญาขั้นหยาบ มาเรียนรู้กับขันธ์หยาบ ...แต่อย่าไปประมาทว่ามันหยาบ

เพราะถ้ามันไม่เริ่มจากหยาบไปก่อน มันจะพัฒนาไปเป็นปัญญาขั้นกลาง ขั้นละเอียด ประณีตไม่ได้ ...ถ้ามันยังละขันธ์หยาบไม่ได้นี่ มันจะไปละขันธ์ละเอียด ขันธ์กลาง ขันธ์ประณีตไม่ได้

เพราะนั้นในเบื้องต้น เรื่องกายนี่ เป็นเรื่องอันดับแรก ที่จะต้องเรียนรู้ ที่จะต้องเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงกับมัน จนหมดสิ้นซึ่งความเป็นกายเราเสียก่อน

ไอ้สภาวะจิตสภาวธรรมบ้าบออะไรนั่นน่ะ ไม่ต้องไปไขว่คว้ามันหรอก มันละเอียดเกินไป ...ปัญญาขั้นละเอียดยังไม่เกิด มันจะหลง หลงสภาวะจิต หลงสภาวธรรมไป

เพราะนั้นการภาวนาก็คือการกลับมาเรียนรู้ดูเห็นความเป็นไปของกายนี่แหละ อย่างที่มันปรากฏในปัจจุบัน ...ไม่ต้องไปคิดไปนึก ไปหาไปค้น...มันมีให้เห็น มันแสดงให้ดูอยู่แล้ว

เพียงแค่เอาสตินี่มากำกับ มารู้มาเห็น มากำกับการปรากฏของกายในปัจจุบัน ด้วยความไม่ย่อท้อ ด้วยความมั่นคง ด้วยความตั้งใจ ด้วยการที่ไม่มีเวลาหยุดพัก ไม่มีเวลารอ ...ทำให้ต่อเนื่องไป

มันก็ค่อยๆ ครอบคลุมความรู้ความเห็นภายใน ที่เรียกว่าปัญญา...คือรู้จริงเห็นจริงตามสภาพของมัน ...ไม่ใช่รู้ตามสภาพความคิดนึก ไม่ใช่รู้ตามสภาพความจำ 

แล้วก็ไม่ใช่รู้ตามสภาพบัญญัติ ไม่ได้รู้ตามสมมุติ ไม่ได้รู้ตามสภาพในตำรา ไม่ได้รู้ตามสภาพที่คนอื่นเขาบอก ไม่ได้รู้ตามสภาพที่คิดเอาเองเชื่อเอาเอง นั่นน่ะ

ก็รู้เห็นตามสภาพที่มันเป็นจริง มันก็จะเข้าใจสภาพที่แท้จริงของกายมากขึ้นตามลำดับ  พร้อมๆ กับการยอมรับไปตามลำดับ แล้วก็ถอดถอนความเห็นเก่าๆ ความเชื่อเก่าๆ

นั่น ความหมายมั่นว่าเป็นกายเราของเรา มันก็ค่อยๆ จางคลายลงไป...ตราบใดที่ยังไม่หยุดยั้งในการระลึกรู้ การดู การเห็นในกาย...ด้วยความต่อเนื่อง นะ

แต่เมื่อใดที่ละการภาวนา ขาดการภาวนา  ไม่รู้ ไม่ดู ไม่เห็นในปัจจุบันกายด้วยความต่อเนื่อง ...เวลานั้นก็เป็นเวลาพอกพูนของความเชื่อความเห็นเก่าๆ ว่ายังเป็นเราของเราอยู่ต่อไป

แล้วก็ทำตามอำนาจของเราไปไม่หยุดไม่ยั้ง นี่ เหมือนกับพอกพูนเสริมอำนาจของความไม่รู้ให้มันมีกำลัง ให้มันพอกพูน ให้มันหนาแน่น ให้มันครอบคลุม

เพราะนั้นการภาวนาในเบื้องต้นนี่ ที่มันยังไม่ละความเห็นที่เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิในกายนี้ได้อย่างเด็ดขาด ...มันก็เหมือนกับการชิงพื้นที่กัน

เมื่อใดที่มันรู้อยู่เห็นอยู่ในกายปัจจุบัน...เมื่อนั้นกิเลสเกิดไม่ได้ หรือว่ากิเลสมันไม่งอกงาม มันชะงักงันไป ...แต่เมื่อใดที่ขาดการภาวนา ขาดสติ ขาดการระลึกรู้กำกับอยู่กับกายปัจจุบันนี่ 

มันไปอยู่กับความคิดความปรุง ไปอยู่กับเรื่องราวภายนอก ไปอยู่กับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส กับหน้าที่การงาน กับอดีต กับอนาคต ...เมื่อนั้นน่ะ กิเลสก็งอกงาม 

แล้วเมื่อไหร่มันจะเห็นผล ...ก็เมื่อใดที่มันมารู้เนื้อรู้ตัว...อยู่กับกายอยู่กับใจปัจจุบันนี่ ได้มากกว่าไม่รู้เนื้อรู้ตัวนั่นแหละ ...ถ้ามันได้มากกว่าเมื่อไหร่นี่ มันจะเห็นผลเป็นกอบเป็นกำ

แต่ถ้ายังน้อยอยู่ ไม่ต้องไปหาผลหรอก...แทบจะไม่ได้อะไร เหมือนจะไม่ได้อะไรเลย ...แต่จริงๆ มันก็ได้อยู่  แต่มันไม่สามารถจับต้องในผล...ว่าละวางจางคลายอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอันเลย

เพราะนั้นในระหว่างอย่างนี้...ที่มันรู้น้อยกว่าไม่รู้ รู้น้อยกว่าหลง แล้วไม่เห็นผลมันเกิดเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งที่ผลมันเกิดอยู่บ้างนี่ ...ตรงนี้ คนภาวนานี่มันจะท้อ มันก็ขี้เกียจ

แล้วก็ปล่อยปละละเลย ไม่ขยันหมั่นเพียรขึ้นมา มันก็ไม่มีการพัฒนาขึ้น ...ศีลก็ไม่พัฒนาขึ้น สมาธิก็ไม่พัฒนาขึ้น สติก็ไม่พัฒนาขึ้น ปัญญามันก็ไม่พัฒนาขึ้น

มันก็เหมือนกับถอยหลังลงคลองน่ะ...อยู่กับกิเลส อยู่กับความเผลอเพลิน อยู่กับอารมณ์ อยู่ไปวันๆ อยู่กับความใจลอยเผลอเพลิน ...นั่นแหละมันเหมือนถอยหลังลงคลองไป

มันก็อยู่ด้วยความสะสมกิเลส พอกพูนกิเลสความยึดมั่นถือมั่นไปในตัว โดยที่มันก็ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่ามันกำลังสะสมกิเลส สะสมความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวเราของเรา ในความเป็นตัวเขาของเขา 

สะสมพอกพูนความยึดมั่นถือมั่น...ในการกระทำของเรา ในการกระทำของเขา ในความคิดความเห็นของเราของเขา ...ก็อยู่อย่างนั้นน่ะ มันก็มีทุกข์อยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ ...ทุกข์จะมากกว่าสุข

เพราะนั้นการภาวนามันไม่ได้หมายความว่าจะมานั่งหาความสงบ หรือว่ามาทำความสงบให้เกิดขึ้น ...แล้วความสงบเดี๋ยวมันก็หายไป มันไปอยู่ใต้อารมณ์

ความสงบนี่มันเหมือนก้อนน้ำแข็งอยู่บนน้ำร้อน พอน้ำแข็งละลายเมื่อไหร่ น้ำร้อนมันก็เดือดพลุ่งพล่านปรากฏออกมา นี่ มันไม่สามารถทำให้น้ำร้อนน่ะมันเย็น กลายเป็นธาตุเย็นได้

เพราะนั้นก็มีแต่ปัญญาเท่านั้นน่ะ ที่มันรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้วนั่นน่ะ มันจึงจะถ่ายถอนความเห็นผิดออกจากความเข้าใจเดิมๆ ความเห็นเดิมๆ ออกไป

ถ้ายังไม่เกิดปัญญานี่ มันก็เหมือนกับวิ่งคว้าเงาไป เดี๋ยวก็ได้ เดี๋ยวก็ไม่ได้  เดี๋ยวก็ถึง เดี๋ยวก็ไม่ถึงที่ที่หมาย แล้วก็กลับมาอยู่ที่เดิมอีก ...ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ ละเลิกอะไรไม่ได้เลย 

ความเป็นเราก็ยังเต็มหัวอกหัวใจ ตั้งแต่หัวจรดตีนก็ยังเป็นเราอยู่ตลอดเวลา ...มันเลยกลายเป็นว่า ดูเหมือนภาวนาแล้วมันไม่บังเกิดมรรคผลแต่ประการใดเลย ...ก็ได้แต่ว่าสักแต่ว่าทำๆ ไป เพราะว่าเขาว่าดี ก็แค่นั้น

แต่ว่าถ้ามาเริ่มรู้จักว่าการภาวนานี่...เป้าหมายที่แท้จริงของการภาวนามันคืออะไร จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการภาวนาคืออะไร ...การภาวนามันก็จะตรง ไม่เบี่ยงเบน ไม่กลับหัวกลับหาง ไม่ลังเลสงสัยในมรรคในผล 

คือก็ต้องลอง มันต้องลอง...ลองมากำหนดรู้ดูเห็นอากัปกริยาของกายทุกปัจจุบันน่ะ ...เรื่องเหล่านี้ มันแค่ฟัง มันแค่จำ มันแค่เข้าใจเอาเองน่ะ มันก็ไม่ได้อะไร มันก็ไม่เชื่อจริงๆ

แต่ถ้ามันได้มาลองทำดู ลองเอาชีวิตของตัวเองน่ะมาพิสูจน์...ลงทุนด้วยกายวาจาใจของเจ้าของ แล้วพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติลงไปจริงๆ จังๆ 

ไม่ใช่ลงทุนพิสูจน์แบบเหยาะๆ แหยะๆ  หยิบโหย่ง โลเลๆ ไปมา  มันก็ไม่บังเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรชัดเจน ...มันก็จะไปตามเดิม ตามที่มันเคยชิน

ตามที่มันอยาก ตามที่มันชอบ ตามที่มันเข้าใจเอาเองว่า อย่างนั้นถูกกว่า อย่างนี้ดีกว่า ตามความชอบ ตามที่เราชอบ ...นี่ อะไรที่มันเป็นเราบอก อะไรที่เราว่านี่ อย่าไปฟังมันมาก มันโกหก

เพราะนั้นการเจริญสติในกาย หรือความระลึกรู้ หรือความรู้สึกตัว หรือทำความรู้ตัว...ต้องลองฝึกดู โดยไม่อ้างกาลเวลา สถานที่ เหตุการณ์ บุคคล

ไม่ใช่ว่าจำเป็นจะต้องไปรู้ตัวแค่ตอนไปวัด ...อยู่ที่ไหนก็ต้องรู้ อยู่บนรถก็ต้องรู้ตัว ทำหน้าที่การงานก็รู้ตัวได้ เดินไปเดินมา หมุนหัน หยิบจับอะไร ลุกนั่ง...รู้ตัวได้

นั่น มันต้องไปฝึกตรงนั้นน่ะ...ฝึกอยู่ในชีวิตนั่นแหละ ...ไม่ใช่มาฝึกแค่ในวัดนี่ มันน้อย มันสั้น มันไม่พอ หรือมารู้ตัวแค่ที่บ้าน ตอนอยู่ในห้อง หรือตอนที่อยู่คนเดียวนี่...มันไม่พอหรอก


(ต่อแทร็ก 12/29  ช่วง 2)