วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 12/17


พระอาจารย์
12/17 (560929E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29 กันยายน 2556


โยม –  พระอาจารย์คะ ที่เมื่อก่อนนี้ฮ่ะ คือนั่งสมาธิ แล้วก็ออกสมาธิแล้วนี่ มันจะนิ่งๆ  ก็มีความรู้สึกว่านิ่งๆ แล้วก็เฉยๆ  พอมันหายนิ่งหายเฉยแล้วนี่ โทสะนี่ คือจะเป็นคนโกรธแรงมาก พอจะกลับมานั่งสมาธิอีก มันก็เหมือนมันกำลังจะทิ้งดิ่งอีกแล้วฮ่ะพระอาจารย์ 

ก็กลัวว่า เวลามันออกมาอีกนี่ คือออกมาแล้วมันต้องถอนหายใจ มันอึดอัดไปหมดฮ่ะพระอาจารย์ ...จะแบบทำยังไงให้แบบมันไม่มีตัวนี้ฮ่ะ หนูถึงว่าไม่กล้ากลับไปนั่งสมาธิแบบหลับตาอย่างนี้อีก เพราะเวลามันนั่งอย่างนี้เหมือนในอกมันแน่นๆ อย่างนี้ค่ะ


พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปทำอะไรหรอก รู้ตัว ... บอกแล้ว อะไรจะเกิดก็ชั่งหัวมัน อะไรจะไม่เกิดก็ชั่งหัวมัน ไม่ต้องไปสร้างขึ้นมาใหม่

การเกิดมาในขันธ์ จิตที่มันอยู่กับขันธ์ ...โดยสภาพนี่ ทุกมนุษย์ผู้คนนี่  จิตที่เข้ามาถือครองขันธ์แล้วมีขันธ์ขึ้นมานี่ จิตมันจะมองเห็นขันธ์นี่ แล้วจิตที่จะเข้าไปปฏิบัติการต่อขันธ์ต่อโลกนี่ 

มันจะเข้าไปปฏิบัติในลักษณะที่เรียกว่า ซีอีโอ (CEO) ...คือขันธ์นี่เป็นของกู บริษัทนี้กูจำกัด (หัวเราะกัน) ไม่ใช่บริษัทมหาชน เพราะนั้นลงตลาดหุ้นไม่ได้ ...คือไม่ได้เป็นสาธารณะนะ 

มันชื่อว่าเป็นบริษัทจำกัด แล้วมันเป็นเจ้าของบริษัท คือมันเป็นซีอีโอ คือประธานใหญ่เลย ...เพราะนั้นอะไรที่มันไม่ชอบมาพากลในกองขันธ์เนี้ย กูจะต้องจัดการมัน

อะไรที่มันดูเหมือนว่า ไม่ดี ไม่ถูก ไม่ควร ไม่ใช่ แล้วมันจะทำให้บริษัทกูขาดทุนนี่ กูจะต้องจัดการให้ได้...ปัญหาคือตรงนี้ ... แล้วทุกคนต่างคนต่างจัดการน่ะ มันก็เตะตีนกัน เหยียบตีนกัน ไม่เหมือนกัน

เพราะนั้นการภาวนานี่มันเหมือนกับลดอำนาจของ “เรา” ทอนอำนาจของ “เรา” ...คือมันตั้งตัวของมันเองไม่มีใครตั้งมันหรอก “ซีอีโอ” นี่...กูตั้งเอง มีปัญหามั้ย เกิดมากูก็ตั้งของกูได้ พ่อแม่ไม่บอกกูก็ตั้งเอง

กิเลสมันมีความอหังการในตัวของมันอยู่แล้ว อวดดี  มันอวดดี อวดถือตัวของมันมาตั้งแต่เกิด ...เพราะมันเคยถือตัวมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว เกิดกี่ครั้งเกิดกี่ภพ...กูก็เป็นเจ้าของขันธ์ เป็นบริษัทของกู

เพราะนั้นพอเริ่มมาปฏิบัตินี่ มันก็เหมือนกับลดสถานะ จากซีอีโอนี่...ให้มึงมาเป็นยามซะ ... รู้จักยามมั้ย  เออ ยามมีหน้าที่อะไร ...

มีหน้าที่ไปแบ่งหรือเปลี่ยนตำแหน่งในบริษัทได้มั้ย เปลี่ยนสถานะคนงานบริษัทได้มั้ย ไปชี้ถูกชี้ผิดว่า...กูจะไล่มึงออก แล้วกูจะรับสมัครใหม่ได้มั้ย ...เออ พอมันอยู่ในฐานะยาม มันก็บอก “บริษัทกูเจ๊งแน่” 

ให้มันเจ๊งไป ... ต้องฝึกอย่างนี้กันก่อน จนกว่าบริษัทมันจะล้มละลาย...จบ  ทีนี้ เข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นมหาชน สาธารณธรรม ...มหาภูตรูป ๔ เป็นธรรมที่เป็นสาธารณะ ไม่ใช่ใครของใคร

นี่ล้มแล้ว บริษัทจำกัด ...นางสาวกอ นายกอ นางขอ  เพศหญิง-ชาย  สถานะจบปริญญาตรี-โท-เอก หรือไม่จบ จบ ป.๔ จบ ป.๑ จบด๊อกเตอร์ จบเมืองนอก...ไม่มี

บริษัทล้มละลาย กลายเป็นมหาชน ...แล้วแต่โลกเขาจะเล่น คนในโลกเขาจะเล่น  เจ๊งก็เจ๊ง ขาดทุนก็ขาดทุน กำไรก็กำไร ...ไม่มีใครรับผลนี้ เจือจานกันไป เป็นกลาง

แต่เราพยายามจะข้ามสถานะอยู่เรื่อยน่ะ ...เป็นซีอีโอในขันธ์ไม่พอ ...เมียของกู ผัวของกู ลูกของกู มึงต้องอยู่ใต้อำนาจกูนะ ...คือมันจะขยายอิทธิพลน่ะ 

สุดท้ายไม่ใช่แค่ลูกของกู คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงานของกูนะ รถของกู บ้านของกู โลกของกู ...นี่ ยุ่งตายห่า ยุ่งแล้ว สับสนแล้ว เริ่มควบคุมไม่ได้แล้ว 

ควบคุมไม่ได้ยังไม่รู้เลย ...ยังดันทุรังอีก เขาเรียกว่าดันทุรังอวดดี ความไม่รู้นี่ มันมีแต่เสียหายอย่างนี้ ...ก็รู้ว่ามันทำไม่ได้ ก็ยังจะทำ  ก็รู้ว่ามันควบคุมไม่ได้ ก็จะควบคุม 

นี่เขาเรียกว่าความถือดี ความถือตัว หรือมานะ  มันมีมานะในตัวของมัน...อัสมิมานะ ... เพราะนั้นตัวอัสมิมานะนี่ เลิกละเพิกถอนได้ก็พระอรหันต์นะ 

มันถือตัวน่ะ มันถือตัวว่ามันทำได้ มันสามารถจัดการได้ ยังจัดการได้อยู่ ...ก็เห็นตายทุกราย ถ้ามันจัดการได้ต้องไม่ตายสิ เห็นมั้ย ว่าขันธ์เป็นของเราก็ต้องสั่งได้สิ อย่าตาย ไม่ปวด เจ็บ 

นั่งนานนี่ปวดมั้ย...ปวด ไม่ชอบมั้ยที่ปวด...ไม่ชอบ ไม่มีใครชอบปวดหรอก ...บอกให้มันหายไปเลยสิ ไหนว่าเป็นของเรา หือ ก็เห็นกันอยู่ตรงหน้านี่ ...กูก็ยังไม่เชื่อ ยังเป็นของเราอยู่ ทำไม มีปัญหาอะไรมั้ย 

นี่ ความถือ ความรั้น ความดันทุรัง หน้าด้านไม่มีเหตุผลของกิเลส มันถือน่ะ ...ก็กูจะถือน่ะ ทำไม ... สั่งไม่ได้ก็เห็นอยู่แล้วว่าสั่งไม่ได้ บอกให้ฟังมันก็ไม่ฟัง ก็เห็นอยู่แล้ว แต่กูก็ยังบอกว่าเป็นของกูอยู่วันยังค่ำ 

กิเลสความดื้อรั้น มันไม่ยอมได้ง่ายๆ น่ะ เห็นมั้ย ...เพราะนั้นน่ะ กว่าที่มันจะปล่อยอาการเหล่านี้ได้นี่ ต้องอาศัยเดินอยู่ในองค์มรรคอย่างเข้มงวด รู้ตัวอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง 

คำว่าเข้มข้นนี่ไม่ใช่ซีเรียสเอาเป็นเอาตาย แต่ว่าต่อเนื่อง ...ทำยังไงให้มันเกิดความต่อเนื่อง หายปุ๊บรู้ปั๊บๆ นี่ ...แล้วก็ถือว่านี่เป็นหน้าที่หลัก ...ไม่ใช่การด่า การวิพากษ์วิจารณ์ การนินทาคน เป็นหน้าที่หลัก
  
คือผู้หญิงนี่ จุ๊กจิ๊ก  แล้วเอาเรื่องไม่เป็นเรื่องมาเป็นเรื่องได้เก่งมาก มีความสามารถพิเศษในการหาเรื่อง ...ไม่มีเรื่องกูก็หาได้ (หัวเราะกัน) เรื่องนิดกูก็ทำให้ใหญ่ได้

อันนี้เป็นกรรมเลยนะ กรรมที่มากับสัตว์ที่เรียกว่าผู้หญิงเลยนะ ...เป็นวิบากอย่างนึง เป็นลักษณะของ "อิตถินทรีย์" ... คือกายนี่เขาเรียกอินทรีย์ธาตุ เข้าใจมั้ย ความเป็นอินทรีย์ธาตุนี่มันมีหลายอินทรีย์นะ

เพราะนั้นที่มันแสดงความชัดเจนในความเป็นผู้หญิงนี่ เรียกว่ามีอิตถินทรีย์ธาตุมากกว่า ...แล้วถ้าชัดเจนในความเป็นชายปรากฏชัดก็เรียกว่ามีปุริสินทรีย์ธาตุมาก  

แต่ถ้าเมื่อใดที่อิตถินทรีย์กับปุริสินทรีย์มันเสมอกันนี่ เขาเรียกว่ากึ่ง...แบบกูไม่รู้เลยว่ากูเป็นหญิงหรือชาย  ...นี่ มันขึ้นกับธาตุ การประกอบกันของธาตุ

แล้วการประกอบของธาตุก็เลือกไม่ได้ เพราะมันเนื่องด้วยกรรม เป็นวิบากที่มันเลือกไม่ได้เลยน่ะ ...และที่มันเลือกไม่ได้เพราะมันทำด้วยความไม่รู้ตัว เข้าใจมั้ย เพราะไม่มีปัญญา เพราะโง่ไง

แล้วพอได้แล้วก็... เอ๊ะ กูได้มายังไง ทำไมหน้าตากูเหมือนคนไม่ดีเลย หรือทำไมหน้าตากูโคตรสวยเลย เห็นมั้ย นึกว่าเป็นคราวเคราะห์วาสนา ...ไม่ใช่นะ 

มันได้มาจากความไม่รู้ทั้งสิ้น มันก็เกิดการรวมธาตุรวมขันธ์ขึ้นมาอย่างนี้ ...แล้วคราวนี้ว่าการที่สร้างปุริสินทรีย์ธาตุ อิตถินทรีย์ธาตุมากกว่ากันนี่ ...นี่คือกรรม 

เพราะนั้นผู้หญิงนี่จะมีภาระมากกว่าผู้ชาย...มากหลายอย่าง และมีสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หลายอย่าง ที่มันจะต้องรับภาระมากกว่าขันธ์ของผู้ชาย ...แล้วมันก็จะมีนิสัยติดตัวที่ติดมาพร้อมกัน

แต่มันก็มีในแง่ดีเหมือนกัน ไม่ใช่มีแง่ร้ายอย่างเดียว ...ความละเอียด ความรอบคอบ ความลึกซึ้ง ความที่ว่า ฟื้นฝอยหาตะเข็บน่ะ (หัวเราะกัน) 

เอ๊อ มันก็ดีนะ ...ต่อไปมันจะดี คือในการวิจยธรรมขั้นละเอียด เข้าใจมั้ย ธรรมมันจะแตกฉาน ...ในลักษณะผู้หญิงนี่แตกฉานในธรรมมากกว่านะ ความลึกซึ้งนี่

แต่ว่ากว่าที่มันจะละการฟื้นฝอยหาตะเข็บกับเรื่องราวภายนอก แล้วมาฟื้นฝอยหาตะเข็บอยู่ในขันธ์แทนนี่ มันก็ต้องใช้เวลาหน่อย เพราะมันคอยแต่ว่าตาก็จะหาเรื่อง หูก็จะเป็นเรื่องอยู่ตลอดเวลา เรื่องไม่เป็นเรื่องก็เป็นเรื่อง

แล้วก็อีกอย่าง เห็นมั้ย ผู้หญิงนี่พอถึงอายุเข้าเลยกลางคนจะปลายนี่ มันจะเกิดภาวะที่เรียกว่า ภาวะวัยทองเกิดน่ะ คือคุ้มดีคุ้มคลั่ง ...ไม่ใช่คุ้มดีคุ้มร้ายนะ เขาเรียกว่าคุ้มดี กับคุ้มคลั่ง 

เหมือนกันหมด จะเป็นทุกคนเลย หนีไม่พ้นเลยนะ ...คือมันเลือกไม่ได้ มันถูกจำกัดโดยสถานะบังคับให้มันเป็นอย่างนั้น ก็ต้องอดทน ...เพราะนั้นผู้ชายจะไม่มี ภาระในขันธ์ก็น้อยกว่านะ


โยม (อีกคน)  ท่านเจ้าคะ ไอ้การที่เรากลับมารู้นี่ คือมันกลับมารู้ความจริงในความเป็นปัจจุบันใช่มั้ยเจ้าคะ บางอย่างของ ณ ตรงนี้ที่ปรากฏขึ้น ญาณรับรู้ก็ดี มันเห็นทั้งเรื่องจริง แต่ตัวนึงมันจับบางอย่างในความจริง อย่างนั้นใช่มั้ยเจ้าคะ ที่มันเห็น 

ก็คือบางครั้งสัญญามันทำหน้าที่หมดแล้ว จำได้ทำอะไร มีปรากฏด้วยนะว่าอารมณ์นั้นเกิดขึ้น แต่มีการหยั่งตัวนึงที่เข้ามาเห็นว่า เอ๊ มันก็แค่เหตุการณ์นึง ภาพนึง ของความจริง ณ ขณะนั้น ไม่ปฏิเสธว่ามันเกิดขึ้น แต่ก็หยั่งกลับมาระลึก

พระอาจารย์ –  อยู่ในฐาน...ฐานรู้  แล้วอย่าไปปรุงต่อ ... นั่นแหละ มันก็เห็นปัจจุบันนาม ที่เป็นลักษณะของนามในปัจจุบัน ...มันเป็นแค่นั้น


โยม –  คือมันเห็นแล้วมันก็ยอมรับ เออ มันคือความจริงน่ะ ไม่ปฏิเสธ

พระอาจารย์ –  ก็แค่นั้น ความจริงในปัจจุบันก็มี แต่ว่าความเป็นจริงของมันไม่มีอะไรในนั้น ...ก็ไม่มี ไม่มีความเป็นตัวตน ไม่มีความเป็นสัตว์บุคคล  

แต่นี่มันยังมี แอบมีอยู่ เข้าใจมั้ย ...ยังแอบมีเราในความคิดอยู่  มันยังไม่เห็นโดยตลอดในลักษณะนาม ...เพราะนั้นจะไปลึกซึ้งกับมันมากไม่ได้ ผ่านๆ ไป ผ่านๆ ไป 

เอามั่นตรงนี้ มั่นตรงกายไว้เป็นหลัก ไม่งั้นจะลอย ไม่งั้นมันจะมีเรื่องให้คิด ให้พิจารณาเยอะในนามนี่ เรื่องราวความคิด เรื่องราวของกิเลสกับคนนั้นกับคนนี้มันเยอะไปหมด มันจะขึ้นมาไม่ขาดระยะเลยน่ะ

เอาไว้ก่อน วาง รามือกับมันไว้ก่อน  ถ้าไม่ใช่เรื่องใหญ่จริงๆ ที่มันยึดมั่นจริงๆ ก็ไม่ต้องไปดูมัน ไม่ต้องไปจ้องจ่อกับมัน ...แล้วก็เอาไว้ห่างๆ เหมือนกับมองมันห่างๆ เห็นมันห่างๆ แค่นั้นพอ ไว้ก่อน 

อย่าไปซีเรียสกับมัน อย่าไปซีเรียสกับจิต อย่าไปซีเรียสกับเรื่องในจิต หรือจะไปทำความรู้แจ้งเห็นจริงกับจิตเป็นหลัก ...แต่จ่อไว้ตรงนี้ เอากายนี้ไปก่อน

เพื่ออะไร ...เพื่อสร้างฐานของสมาธิ...ให้มั่น ...ให้รู้มันแข็งแกร่ง ให้ดวงจิตผู้รู้มันแนบแน่น รวมเป็นกลุ่มก้อนที่มันแข็งแรงมั่นคง

ต่อไปมันจะไปเผชิญหน้ากับจิตด้วยความไม่หวั่นไหว ...แล้วก็จะเห็นเป็นลักษณะ ก็คือลักษณะแค่ลักษณะ ไม่มีอะไรในลักษณะนี้จริงๆ ...ไม่เคลื่อน

ไม่งั้นน่ะ การดูจิตมันจะเป็นแบบ...พอดูเห็นปุ๊บ เห็นไปเห็นมานี่ มันชะเง้อ ชะเง้อเอาหัวไปซุก ...นี่เขาเรียกว่าไม่มีสมาธิ ไม่มีฐานรู้ฐานเห็นที่ตั้งมั่นพอ 

มันจะไปต่อกรกับอำนาจจิต ต่อกรกับความเป็นไปในจิต ต่อกรกับความกิเลสในจิตไม่ได้ ...มันก็ต้องสร้างฐานนี้ แล้วในขณะที่มันสร้างฐานนี้ มันก็จะทำความแจ้งชัดในความเป็นกาย ในความเป็นเรา 

เมื่อความเป็นกาย เมื่อความเป็นเราจางลง ...ไอ้ความเสมือนจริงของจิต ในจิตนี่ จะน้อยลงไปเอง มันจะอ่อนตัวลงของมันไปเอง ...แล้วตัวความเป็นเราในจิต ในความเห็น ในความคิด ในอารมณ์ น้อยลงด้วย

ทีนี้มันก็ยิ่งสมาธิมั่นคง สมาธิมันกลับแข็งแกร่งขึ้น ...มันแทบจะเรียกว่า ผิวๆ เลยน่ะ เข้าใจมั้ย ไม่มีคุณค่าราคาเลย ในอารมณ์ ในความหมายในจิตที่มันสร้างขึ้นมา

ถึงบอกว่า อย่าออกนอกกาย อย่าทิ้งกาย อย่าห่างกาย ...แม้มันจะมีเรื่องให้มันต้องข้องแวะในอารมณ์ก็ตาม พอเข้าไปรู้เห็นกับมันได้ระยะหนึ่ง ช่วงหนึ่ง ก็ทิ้งออก ถอนออก 

อย่าลืมกาย ...ไม่งั้นมันจะหมกมุ่น เกิดภาวะหมกมุ่นในจิต เกิดภาวะหมกมุ่น...เพื่อจะไปเอาความรู้ความเห็นในธรรมที่เกิดกับมัน เอาความรู้แจ้งเห็นจริงกับมัน

เนี่ย เพื่ออะไร...เพื่อจะเคลียร์มันให้ได้ จะเคลียร์ให้ได้ ...คือลึกๆ มันอยากจะเคลียร์จิต เข้าใจมั้ย ให้จิตมันโล่ง แล้วมันอยู่สบาย  

เมื่อใดที่มีอารมณ์ เมื่อใดที่มีความคิด แล้วมันมาเทียบกับที่จิตมันโล่งว่างไม่ได้ มันก็เลยชอบตรงนั้น จะไปเคลียร์ ...เคลียร์ไม่ได้หรอก ยังเคลียร์ไม่ได้


โยม –  ถ้านั้นตามธรรมมันก็เหมือนเห็นข้างนอก รู้ข้างนอก กลับมาข้างใน สะท้อนกลับมา มาอยู่ตรงนี้

พระอาจารย์ –  ตรงนี้...ฐานเดียว ฐานกาย ฐานรู้


โยม –  เจ้าค่ะ บางทีมันสะท้อนกลับที่นี่ มันตีกลับขึ้นมาอีกว่าอะไร ไม่มีอะไร ก็คือไม่มี

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ต้องทนอยู่ตรงนั้นแหละ ต้องทนอยู่ที่ไม่มีอะไร  มันว่ามันจะไปหาอะไรให้มีขึ้นมาให้ได้ นั่นน่ะจิตมันหาเรื่อง มันหาภพ 

คือความทะยานของจิต มันอยู่กับความไม่มีภพไม่เป็น มันยังไม่เป็น แล้วมันเข้าใจว่าตรงนี้ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน มันจะต้องมีภพของมันให้อยู่


โยม –  หลวงพ่อเจ้าคะ บางทีมันไม่ได้ตั้งใจคิดนะ มันเห็นภาพอดีตที่มันขึ้นมา แล้วจะเห็นการเปรียบเทียบของมันเอง โดยที่ยังไม่ได้อธิบาย แต่มันเข้าใจแล้วมัน...เออ เข้าใจ

พระอาจารย์ –  นั่นน่ะความหมายมั่น ความหมายมั่นในอดีต มันลึกซึ้ง เป็นมโนสัญเจตนา แทบจะไม่ต้องไปเจตนาเลย มันสำเร็จรูปเลย

มันเกิดขึ้นมาสำเร็จรูปเลย แยกถูกแยกผิด แยกดีแยกชั่ว แยกบุญแยกบาป แยกว่าน่าพอใจ น่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ได้ทันที พึ่บ ในขณะที่มันเกิดเลย 

ไม่ต้องไปนั่งประมวลเลย ไม่ต้องมีการประมวลเลย มันประมวลให้เสร็จเลย ไวมาก ถึงบอก อย่าไปเล่นกับจิต


โยม –  ถ้าอย่างนี้มันเป็นลักษณะของวิจยะมั้ยเจ้าคะ เออ มันเห็นการเปรียบเทียบอดีตและความจริง ทิ้ง  กลับมารู้ ...อย่างนี้เรียกว่าเป็นวิจยะมั้ยเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ก็เป็นส่วนหนึ่ง เป็นส่วนนึง


โยม –  ถ้างั้นการที่เรากลับมาดูปัจจุบัน มันต้องมีเจตนาของการที่จะมาดูส่วนนึง

พระอาจารย์ –  ใช่ ต้องทำ ต้องเจริญ


โยม –  ต้องเจตนาทุกครั้ง ทุกครั้งที่รู้

พระอาจารย์ –  ใช่ เพราะนั้นเวลาที่ทำความรู้ตัว เหนื่อยมั้ย ...มันเหมือนต้องทำอะไรสักอย่างนึงอยู่ที่มันไม่ชอบ มันจะชอบปล่อยมือ ปล่อยให้สบายๆ ปล่อยให้ไม่ทำอะไรเลย 

นี่เขาเรียกว่าออกจากงาน ไม่งั้นท่านไม่เรียกว่าสัมมาอาชีโวหรอก มันต้องทำงาน



โยม –  เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นเวลาทำ มันเหมือนกับต้องคอยรู้ตัว คอยทำอะไรอยู่อย่างนึงข้างใน นั่นน่ะเจตนา แต่เป็นเจตนาในองค์มรรค เจตนาในการสร้างจิตผู้รู้ขึ้นมา เจตนาเพื่อสร้างจิตผู้รู้ 

เพื่ออาศัยอานิสงส์ หรือคุณภาพ หรืออำนาจของจิตผู้รู้นี่ มันจะทำให้เกิดปัญญา ...ถ้ามันไม่ทำขึ้น มันก็ไม่เกิดดวงจิตผู้รู้ ...เพราะดวงจิตผู้รู้มันไม่ใช่ใจนะ มันก็คือลักษณะสังขารจิตหรือจิตหนึ่งเหมือนกัน 

เพราะนั้นศีลสมาธิปัญญานี่เป็นสังขารหมดแหละ


โยม –  ผู้ที่จะเข้ามาถึงตัวใจจริงๆ ได้ คือผู้ที่ท่านหมดจดไปแล้ว อย่างนั้นใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  คือแต่ละท่านนี่ ท่านจะเข้าไปเห็นใจในระดับหนึ่ง หมายความว่าเป็นสมุจเฉทในขีดขั้นไหนนี่ ท่านจะหยั่งเข้าไปถึงใจที่โล่งว่างเปล่าในขณะเดียว แล้วก็พรึ่บขึ้นมาอยู่กับดวงจิตผู้รู้เป็นหลัก 

เข้าใจมั้ย ...เพราะนั้นดวงจิตผู้รู้กับใจนี่คนละตัวกัน มันคนละตัวกัน


โยม –  ยังไม่เข้าใจเจ้าค่ะ เก็บไว้ก่อน

พระอาจารย์ –  อือ ภาวนาจนกว่ามันจะเหลือแค่รู้แค่กายกับใจ...สองสิ่งในสามโลกธาตุ อยู่แค่นั้นแหละ ไม่ต้องเอาความรู้อะไรเลย 

ให้มันเหลืออยู่แค่สองอย่าง โดยที่มันไม่มีจิตที่มันกระหวัดไปกับอะไรเลย นั่นแหละ มันหยุดโดยสิ้นเชิงในการกระหวัดไปหาอะไรมาเพิ่มมาเติมเกินจากกายใจนี้ ...ไม่งั้นผลการภาวนามันจะคลาดเคลื่อน

ความทะยานของจิตน่ะมันจะหดตัว จนจบ จนหยุดในตัวของมันเอง 

ต้องคอยรวมลงที่ฐาน...ฐานกายใจ จนมันยอมรับความจริงแค่กายใจแค่นี้ ...ทุกอย่างมันก็จะหมดค่า หมดราคา หมดความมีความหมาย หมดความหมายมั่น หมดที่มันหมาย หมดที่มันมั่นไป

เพราะนั้นแก้อะไรไม่ได้ คิดอะไรไม่ออกก็กลับมารู้ตัว ...อยู่กับรู้ตัวๆ 

ทำกายให้ชัด ทำรู้ให้ชัด กายยังไง รู้ยังไง มันต่างกันอย่างไร มันคนละอันกันอย่างไร แยกแยะอยู่สองประเด็นนี่ เรียกว่าสติในกาย เรียกว่าศีลสมาธิปัญญาในปัจจุบัน เรียกว่ามรรค


โยม –  บางอย่างมันต้องอาศัยกำลังด้วยมั้ยเจ้าคะหลวงพ่อ

พระอาจารย์ –  จิตควรบังคับ...ควรบังคับ จิตควรห้าม...ควรห้าม 

กำลังก็คือความอดทน มาจากความอดทนขันติ เป็นฐานของกำลัง ...ไม่ใช่ความสงบอย่างเดียว ถ้าไปเข้าใจว่าความสงบเป็นฐาน มันก็จะวิ่งหาแต่ความสงบ

ความอดทนที่จะอยู่กับสิ่งที่อยู่ได้ยาก ในขณะที่มันเกิดภาวะเหตุการณ์ที่ไม่น่าอยู่ ไม่สามารถจะอยู่ได้ ...นั่นแหละเขาเรียกว่ากำลัง 

มันจะเกิดความเข้มแข็งขึ้น ยืนขึ้นกับเหตุการณ์ตรงนั้น...ที่มันไม่เคยอยู่ได้ คือล้มตลอดเวลา หรือระเนระนาดไปกับมัน

กำลังก็ต้องสร้างขึ้นด้วยความอดทน ฝืน ฝืนรู้ตัว ฝืนอยู่กับรู้ตัว ฝืนที่จะเอาแค่รู้ตัว ฝืนทั้งนั้น  นั่นน่ะ มันก็จะสร้างฐานกำลังของสมาธิ ของสติ ของปัญญาขึ้น ...ไม่ใช่ว่าความสงบเป็นกำลัง


โยม –  เจ้าค่ะ  ก็ได้กำลังทุกครั้งที่มาฟัง มันไม่เหมือนกันเจ้าค่ะ ฟังในเทปนี่ มันก็ได้ในระดับนึง  แต่มาฟังนี่ ณ ตรงเฉพาะหน้า บางครั้งมันตื่น มันตื่นเยอะกว่าเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  มันไม่ค่อยไปไหนน่ะ


โยม –  มันก็เลยรู้สึกว่ามันห่างไกลครูบาอาจารย์ไม่ได้ แค่มันห่างไปแค่ไปทำภาระหน้าที่การงาน แค่นั้นมันก็หลงไปอีกตั้งไม่รู้เท่าไหร่

พระอาจารย์ –  มันยังยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองไม่เต็มฝ่าตีน มันยืนได้แค่ปลายๆ ตีน ขย่งๆ เขย่งๆ แค่นี้ ...มันก็ยังยืนเหมือนไม่หนักแน่นน่ะ

จนกว่ามันจะมีกำลัง ...อบรมอินทรีย์ เป็นเรื่องอบรมอินทรีย์ คอยนึกน้อมไว้เสมอ เผลอเพลินเป็นเรื่องปกติ ...แต่ว่าการนึกน้อมก็ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ 

ไอ้การเผลอเพลินน่ะมันเป็นรูทีนของกิเลสอยู่แล้ว ของความเคยชิน ...แต่ก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างศีลสมาธิปัญญาขึ้นมา ...ไม่เจริญไม่สร้าง มันไม่เกิดขึ้นมาได้หรอก 

มันก็ต้องคอยเตือน คอยบอก คอยสอนว่า อย่าไปจมตาย อย่าไปนอนตาย อย่าไปประมาทตายอยู่ ในเหล่านั้น 

ความเพลินนั้น ความคิดนั้น อารมณ์นั้น อดีตอย่างนั้น อนาคตอย่างนี้ ความเป็นจริงของคนนั้น ความเป็นจริงของความถูกความผิดของการกระทำคำพูดคนนั้นคนนี้

เมื่อมันเข้าไปเกิดภาวะลุ่มลึก หมกมุ่น ...รู้ตัวได้เมื่อไหร่ก็ถอนออก กลับมาอยู่กับรู้ตัว ... เพราะนั้นเวลาถอนออกมา เวลากลับมารู้ตัวนี่ มันจะลำบาก ในเบื้องต้น

ลำบาก เพราะมันจะฝืนทวนกระแสอย่างแรง  ยิ่งหลงไปนานก็ยิ่งแรง มีกำลังของกิเลสแรง มันก็ต้องอดทนมาก ...พอมันคลายออก มันก็ไม่ค่อยอดทนแล้ว อยู่ไหนก็รู้ตัวได้ต่อเนื่องดี 

แต่ถ้ามันไปอยู่กับกิเลสมาก มันก็สร้างสมกำลัง  ทีนี้พอมันจะถอนออกมาก็ลำบาก ถอนมาได้ก็อยู่ได้แบบได้แค่ปลายนิ้วก้อยอย่างนี้ ก็ล้มๆๆ ...ก็ต้องทวนอยู่ตลอด อดทนอยู่ตลอด 

จนมันคลายตัวของมันเอง แล้วก็รักษารู้ไว้ รักษากายไว้ ... นั่นน่ะเขาเรียกว่าอานิสงส์ของกิเลส กับอานิสงส์ของธรรมของศีลของสมาธิ

คราวนี้ก็ต้อง...เวลาไม่มีอะไรนี่ เป็นเวลาที่ต้องสร้างฐานให้มั่น ให้มันเกิดความแนบแน่นมั่นคง ไม่ใช่อยู่ด้วยภาวะ...เอ้ย สบายแล้ว ไม่มีเรื่อง ไม่ต้องทำอะไรแล้ว...ไม่ได้

มันต้องทำความรู้อยู่ มันต้องทำความรู้เห็นในกายอยู่ตลอด...งานทิ้งไม่ได้  มันจึงจะเกิดความพอกพูนในอำนาจของศีลสติสมาธิขึ้นมา ...เพื่อให้ต่อกรกับกิเลส ที่มันจะมีกำลังได้ทุกเมื่อทุกเวลา 

มันจะฟื้นคืนชีพได้เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ...มันยังหวน บอกแล้วว่าในระดับมรรคเบื้องต้น มรรคขั้นกลาง ขั้นปลาย ...เนี่ย กิเลสมันแค่นอนหลับไม่ใช่สลบ 

ถ้าเป็นลักษณะของพระอนาคาน่ะ สลบ ใกล้จะหมดฤทธิ์แล้ว ใกล้ตายแล้ว 

แต่อย่างนี้มันยังแค่นอนงีบไป แค่นอนหลับงีบนึง ...เดี๋ยวก็ลุกขึ้นมาอาละวาดอีก ส่ายหัวส่ายหาง วางก้ามวางตัววางความถือหน้าถือตาถือตัวถือตนขึ้นมาอีก


................................


วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 12/16


พระอาจารย์
12/16 (560929D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29 กันยายน 2556


โยม –  พระอาจารย์คะ ตอนนี้ลูกมีปัญหาว่า สมมุติว่าเวลาจะรู้นี่ฮ่ะ มันเหมือนกับว่าตัวเองชอบพากย์ตัวเองอยู่น่ะค่ะ เหมือนนั่งพากย์อยู่น่ะค่ะ แล้วไม่รู้จะแก้ยังไงฮ่ะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องแก้ ทำใจเฉยๆ  พากย์ก็พากย์ไป


โยม –  บางทีมันรู้สึกหงุดหงิดว่าจะพากย์ทำไมเนี่ย   

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้วไง หงุดหงิดก็อย่าไปหงุดหงิด ...ก็รู้ว่ามันหงุดหงิดเพราะไม่อยากให้มันพากย์  
ก็ถ้าไม่ไปสร้างความอยากหรือไม่อยากกับการพากย์ของจิตเนี่ย มันก็จะไม่มีหงุดหงิด ...นี่ ให้รู้ไว้อย่างนี้ก่อน ...เรื่องของมึง ไม่ใช่เรื่องของกู เข้าใจรึเปล่า เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา 

แต่อย่างเนี้ย ถ้ายังเข้าใจว่าอาการพากย์นี้เป็นอาการของเรานี่ มันก็จะหงุดหงิด ...แต่ถ้ามองว่านี่เรื่องของมัน อยากพากย์ พากย์ไป เรื่องของมึง ไม่สน เข้าใจมั้ย มันก็จะไม่ค่อยหงุดหงิด 

อันนี้ระงับความหงุดหงิดได้แล้ว ระงับความที่ว่า “กูจะไปจัดการกับมันยังไงดีวะ” ... ระงับไปก่อน คือปล่อยให้มันเป็นเรื่องของหมาข้างถนน ไม่มีเจ้าของ เข้าใจรึเปล่า 

มันจะไปกัดใคร มันจะขี้เยี่ยวยังไง ขี้เยี่ยวซ้ำซากยังไง คือหมาข้างถนน ไม่ใช่หมาของเรา เออ มันจะไปเดือดเนื้อร้อนใจมั้ย ...นี่ ระงับตัวนี้ไว้ก่อน แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตา รู้ตัวอย่างเดียว รู้เข้าไป 

ช่างมัน มันจะพากย์ก็พากย์ไป กูก็จะรู้ไป ...เอางี้ ไม่ต้องแก้ ต่างคนต่างทำหน้าที่กันไป กิเลสก็ทำหน้าที่ของมัน ความคุ้นเคยแต่เก่าก่อนก็ทำหน้าที่ไป กูปัจจุบันกูก็จะทำหน้าที่รู้ของกูไป อย่างนี้ก่อน

อย่าไปโมเดล อย่าไปสร้างโมเดลใดขึ้นมา แล้วเข้าใจว่าโมเดลนั้นน่ะถูกต้อง ต้องเป็นอย่างที่โมเดลนั้น ...แบบโมเดลอย่างที่อาจารย์พูดน่ะ เข้าใจมั้ย 

เนี่ย เขาเรียกว่าฟังไม่ดีแล้วก็เอาไปจำ จำแล้วก็เอาไปจำลองขึ้นมา ...พอจำลองขึ้นมาแล้วมันไม่เป็นเหมือนอย่างที่จำลอง กูโคตรโกรธเลย เนี่ย เขาเรียกว่าฟังไม่เป็น

อย่าไปสร้างโมเดลของขันธ์ มันอยากแสดงอะไรหัวหกก้นขวิด...แสดงไป ... แต่ว่าให้จำให้ดีว่า งานที่จะต้องทำคือ รู้ตัว...เป็นหลัก  อย่าให้ทิ้ง อย่าให้หายจากการรู้ตัว 

ถ้ามันหายจากการรู้ตัว ถ้ามันไม่ทำกับการรู้ตัว ถ้าไม่เหนี่ยวรั้งรักษาความรู้ตัวไว้นี่ มันจะเข้าไปเกิดความมุ่งมั่นในอาการ กับอาการกิเลสบ้าง ขันธ์บ้าง อย่างนั้นน่ะ มันจะเข้าไปเป็นเราในนั้น โดยที่ไม่รู้ตัว

เพราะนั้นก็เอาเราหรือเอาจิตนี่ คือเอาจิตหรือเอาเราดึงมานี่ เอามาเป็นเรารู้ซะ รู้กับกายซะ ...แม้ขณะที่รู้กับกาย มันก็ยังไม่เป็นรู้กับกายล้วนๆ หรอก มันก็ยังเป็นเรารู้อยู่ 

ยังรู้อยู่ ก็เป็นเราที่รู้อยู่ ยังไงก็เป็นเรา ไม่เห็นมันเป็นรู้เลย  เออ มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ ก็เป็นเรารู้อยู่กับปัจจุบัน เข้าใจมั้ย เราก็ยังอยู่ตรงรู้นั่นแหละ ...เอาอย่างนั้นไปก่อน

คืออย่าไปสร้างโมเดล อย่าไปคาด...“อาจารย์ว่ามันเป็นรู้ มันไม่ใช่เรา แล้วทำไมยังเป็นเรารู้อยู่” ... เออ ก็มันเป็นอย่างนี้จะให้เป็นยังไงเล่า แน่ะ ความจริงน่ะ 

เข้าใจคำว่าความจริง หรือปกติที่มันเป็นมั้ย ...มันเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่าให้อยู่ในกรอบของงานนี้ก่อน แล้ว wait and see ...เข้าใจคำว่า wait and see มั้ย 

คราวนี้เรามัน wait ไม่ได้น่ะ มันไม่ยอม wait  ... คือมันจะ run…running…runout…run away…run forever อ่ะ เข้าใจรึเปล่า 

wait หน่อย wait หน่อย  ตบๆ หัวมันหน่อย เข้าใจมั้ย ...ตบหัว “เรา” ไว้ ให้อยู่ในที่ก่อน อย่าเพิ่งรีบ  ...อดทนดูมันไป อดทนรู้ตัวไป


โยม –  มันอึดอัดค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ ก็บอกว่าเดินบนคมมีดไง เข้าใจมั้ย ...เอาให้ตีนด้านสิ ถ้าตีนไม่ด้าน อย่าเลิก อย่าออกสิ ...เรียกว่ามุมานะ มุ่งมั่น ในงาน สัมมาอาชีโว สัมมากัมมันโต 

แล้วการงานชอบ ดำริชอบ...ต้องดำริในองค์มรรคให้ได้ก่อน  ถ้าไม่สามารถดำริในศีลสมาธิปัญญาด้วยความมั่นคงแล้ว มันจะทิ้งงาน มันจะอู้งาน มันจะนอนหลับทับสิทธิ์ในงาน

มาตั้งดำริชอบ คือชอบว่าศีลคืออย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้ มรรคคืออย่างนี้ ทำอย่างนี้ ออกจากกาม ออกจากพยาบาท ออกจากการหมุนวน ออกจากการเกิด-ตาย จะออกได้อย่างนี้

นี่ มันก็เกิดการดำริ สัมมาสังกัปโป ...สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีพชอบ การงานชอบ มันก็จะเลี้ยงชีพอยู่แค่นี้ แค่รู้แค่นี้ กูพอแล้ว พอกินแล้วโว้ย ...นี่เลี้ยงชีพชอบ

ถ้าไม่พอกินโว้ย ต้องคิดให้เกิดความสุข นี่เขาเรียกว่าเกิน ไม่เลี้ยงชีพชอบ เกินๆ ...ถ้าเลี้ยงชีพชอบ พอดีแล้ว นี่ แค่รู้นี้ พอดีแล้ว 

ปัญญงปัญญากูไม่เอา มรรคผลไม่เอา ภูมิจิตภูมิธรรมไม่เอา สภาวะในตำรา เหมือนคนนั้น เหมือนคนนี้ที่นั่งข้างๆ ...กูไม่เอาอ่ะ ...นี่เขาเรียกว่าเลี้ยงชีพชอบ พอตัวแล้ว พอดี 

มันก็กลับคืนสู่ความพอดี เลี้ยงชีพชอบ ด้วยการงานชอบ คือแค่รู้แค่นี้ กูทำแค่นี้ ทำบาทได้บาท ทำสลึงได้สลึง อยู่แค่เนี้ย ได้แค่ไหนก็แค่นั้น เลี้ยงชีพ ทำงานชอบ ด้วยดำริชอบ เห็นมั้ย มรรคมั้ยเนี่ยๆ

ที่ไม่ได้อธิบายมาเป็นคำพูด มันก็รวมอยู่ในการรู้ตัวนี่แหละ ...ถ้าไม่อยู่ในองค์มรรค ไม่ได้ครบแปดนะ มันรู้ตัวไม่ได้หรอก  ที่มันรู้ตัวได้ เพราะมันมีแปด 

แต่พอดีไม่ได้พูดแปด เดี๋ยวมันจำ เดี๋ยวมันก็ไปนั่งว่า “เอ๊ะ ตอนนี้กูดำริชอบหรือกูดำริผิดวะเนี่ย” (หัวเราะกัน) “เอ๊ะ การงานอย่างนี้ มันน่าจะมีจ๊อบมั้ย มีโอเวอร์ไทม์รึเปล่า หรือว่าไปหาเศษหาเลยได้มั้ย”

เนี่ย ยุ่งอีกแล้วๆ จิตมันชอบหาเรื่องแตกเรื่องอยู่เรื่อยน่ะ จิตหรือเราน่ะแหละ ...เพราะนั้น “รู้ตัวเข้าไปเหอะ” โง่ๆ นั่นแหละครบแล้ว มรรคแปด ...นี่ถ้าไม่ถามก็ไม่อธิบาย เข้าใจรึเปล่า 

พออธิบายแล้วเดี๋ยวมันก็จำอีกแล้ว เดี๋ยวก็ไปนั่งเปิดตำราดูมรรค ไล่ดูมรรคแล้ว เพราะ...อ้ที่พูดว่าแปดกูยังจำไม่ได้เลยเว้ย แปดมันคืออะไรบ้าง เดี๋ยวต้องกลับไปดูแล้ว... 

นี่อาจารย์ว่าสัมมาอาชีโว มันอยู่อันไหนก่อน อันไหนหลัง มันต้องสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ... อันไหนก่อนอันไหนหลังวะเนี่ย ...แล้วกูจะเริ่มตรงไหน” นั่น

เห็นมั้ย ขามั่วนี่ กูจะมั่วได้ตลอดในธรรม ...ถึงบอกว่า การจำแนกธรรมภายในนี่ มันจำแนกด้วยวิจยะ จำแนกความปรากฏขึ้นด้วยการรู้และเห็นที่เป็นกลางๆ 

ไม่ได้จำแนกด้วยสมมุติบัญญัติ ด้วยภาษา ไม่ได้จำแนกด้วยแขนงของปัญญาหรืออรรถกถาหรือบาลี ...เพราะนั้นดูไปเฉยๆ รู้ตัวนั่นแหละคืองานหลัก คือศีลสมาธิปัญญารวมอยู่ที่นี่ มรรครวมอยู่ที่นี้แล้ว 

ไม่ต้องไปวิจารณญาณไปถึงที่เคยอ่าน หรือที่เคยฟังคนนั้นเขาพูด “คุณน่ะรู้ยังไม่ครบมรรคเลย จะอยู่ในมรรคได้อย่างไร” นี่ กูก็ชักแหยงๆ แล้ว ใช่มั้ย

พอได้ยินว่า... “ไม่เคยนั่งสมาธิ จิตไม่เคยรวมถึงขั้นอัปปนาแล้วมันจะเดินในมรรคได้อย่างไร” ...ก็ เอ้า นี่ กูต้องไปหลับตาอีกแล้วโว้ย


โยม –  พระอาจารย์คะ แล้วเราจะจำเป็นมั้ยว่าเราจะต้องนั่งสมาธิอย่างนี้ฮ่ะ

พระอาจารย์ –  คือมันเป็นรูปแบบที่เอื้อน่ะ ... ก็ถ้ายืนทำกับข้าวอยู่นี่ แล้วยืนทำกับข้าวรู้ตัว กับนั่งสมาธิรู้ตัวนี่  อันไหนมันจะมีความมุ่งมั่นกว่ากัน

โยม –  ยืนทำกับข้าว

พระอาจารย์ –  ก็ยืนทำกับข้าวไป เออ เข้าใจมั้ย ...แต่ถ้ายืนทำกับข้าวแล้วมันไม่เอื้อต่อการรู้ตัวนี่ ...ไปหลับตาซะ

โยม –  แล้วพอเวลามันนั่งสมาธิอย่างนี้ฮ่ะ มันจะแบบ...คือเป็นคนฟุ้งซ่านน่ะฮ่ะ พระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ก็อย่าไปนั่ง เพราะเราไปนั่งแล้วเราไปบังคับ

โยม –  เพราะว่ามันจะแบบวิ้งๆๆๆ แล้วมันจะอึดอัดมากอย่างนี้ฮ่ะ มันจะแก้

พระอาจารย์ –  อย่าไปแก้ อย่าหนี ...ถ้าโยมว่า วิ้งๆๆ เป็นโยมน่ะ โยมก็ทุกข์  ถ้าวิ้งๆ ก็คือวิ้งๆ ...เรื่องของมัน แน่ะ แล้วโยมจะไปยุ่งอะไรกับมัน หือ

โยมไปยุ่งกับมัน ก็หมายความว่าขันธ์นี่เป็นของเราร้อยเปอร์เซ็นต์น่ะ เข้าใจมั้ย  ...คือพยายามมองในแง่นี้ก่อน เออ ชั่งหัวมัน ชั่งหัวมัน เอาให้หัวมันนี่เท่าดอยเชียงดาวเลย กองเท่าดอยเชียงดาว

เรานี่หลายกองแล้วนะ หัวมันของเรานี่เต็มโลกเลย มากกว่ามันที่มีอยู่ในตลาด ...ชั่งหัวมันลูกเดียว มันจะเกิด มันจะไม่เกิด  มันจะมี มันจะไม่มี  มันจะดั่งใจ มันจะไม่ดั่งใจ  

มันจะปรากฏบ้าบอคอแตกในความคิดความเห็น...ชั่งหัวมัน ... เอารู้เอาเห็นๆ เอากายเอาใจ เอารู้ปัจจุบันเป็นหลัก นอกนั้นชั่งหัวมัน เอางี้ซะก่อน

อู้ย หัวมันเราเต็มพะเนินเลย มากสูงยิ่งกว่าดอยเชียงดาวอีก กว่าจะทิ้ง กว่าจะลบหัวมันออก ว่ามันไม่มีอะไรหรอก นั่น สุดท้าย...จากชั่งหัวมันนะ แล้วจะเห็นว่ามันไม่มีอะไร ไอ้มันๆๆๆ น่ะ มันไม่มีอะไร

ทีนี้ก็เบาแล้ว ไม่ต้องชั่งหัวมันแล้ว ไม่มีมันให้ชั่ง ก็เลยต้องทิ้งตราชั่ง...ไอ้ตราชั่งก็คือเรา ก็เลยไม่มีเราไปชั่งมัน เออ ก็ไม่มีมันให้ชั่งแล้วกูจะชั่งอะไร นะ กว่าที่มันจะเห็นความเป็นอนัตตา มันไม่มีตัวตนในเรา

แต่นี่ยังเห็นเป็นมัน เป็นเขา เป็นเรา เป็นนั้น เป็นนี้ ...เป็น something else , something wrong , somebody , someone , sometime  เห็นมั้ย some…some…some ซ้ำซากอยู่ใน something else  

มันไม่มีอะไรในนั้น เข้าใจมั้ย ... จนกว่ามันไม่มี something else, something wrong ในขันธ์ในโลก นั่นแหละเขาเรียกว่าหายสงสัยเลยแหละ มันไม่มีอะไรจริงๆ ...นั่นน่ะคือความจริงสูงสุด คืออนัตตา

แต่เพราะว่ามันยัง... “เอ๊ มันยังมีอะไรอยู่รึเปล่า มันยังมีเราอยู่รึเปล่าในแขน มันน่าจะมีแขนอยู่ในเรา มันน่าจะมีเราอยู่ในความคิด เออ มันยังเป็นของเรา” เห็นมั้ย ยังมีอะไรแฝงอยู่ใช่มั้ย 

กิเลสแอบแฝง ในโลกในขันธ์ ...แล้วปัญญา ภูมิปัญญายังแยกไม่ออก ...แล้วไม่คิดจะแยก นี่ โคตรแย่เลย นี่ โง่แบบเกิดมาโง่ แล้วตายแบบโง่ เกิดมามืดแล้วก็ตายไปมืด

แต่ได้ฟังแล้วคิดจะแยกอยู่ เริ่มที่จะจุดเทียนขึ้นมา ...ไม่ต้องว่าเทียนน่ะ ไม้ขีดดีกว่าพวกเราน่ะ (หัวเราะกัน) เดี๋ยวก็ลมพัดหายอีกแล้ว ...คือยังหาเทียนไม่เจอไง 

ถ้าเจอเทียนแล้วมันก็ยังพอประคับประคองเพราะมีไส้เทียนอยู่ ใช่มั้ย มันก็เห็นพอส่องทางได้ ...แต่นี่จุดไม้ขีด มาทีละฟู่ ฟู่ เดี๋ยวดับ เดี๋ยวลมพัดหาย

ก็จุดไม้ขีด...หมดกลักแล้ว พอแล้ว พักก่อน (หัวเราะกัน)  พักเพราะอะไร หาเงินซื้อกลักไม้ขีดไม่ได้ ... ไม่มีวาสนาแล้วเรา หาเงินหนึ่งบาทมาซื้อไม้ขีดจุดไม่พอแล้ว มันหมดแล้วแหละวาสนา 

แน่ะ มาขอไม้ขีดจากเรา ...จะขอยังไง ของกู กูไม่ให้ ...ของใครของมัน กายใครกายมัน มรรคใครมรรคมัน ศีลใครสมาธิมัน มันเป็นของส่วนตัวนะ จำเพาะกายจำเพาะตนนะ

นี่ ต้องเข้าใจนะ ธรรมพระพุทธเจ้าเป็นสาธารณะ ใครมีปัญญาก็หาได้ ใครไม่มีปัญญาก็หาไม่เจอ ...มัวแต่รอ มัวแต่หา มัวแต่ขอ...ไม่ได้

กายใจมีอยู่ทุกปัจจุบัน เพราะนั้นก็จุดบ่อยๆ จุดบ่อยๆ หนึ่งขณะๆ...หนึ่งขณะรู้หนึ่งขณะเห็น  เมื่อกี้เราพูดแล้ว หนึ่งขณะรู้หนึ่งขณะเห็นนี่ เหมือนกับจุดประกาย จุดไม้ขีดหนึ่งก้าน

ถ้าเทียบเหมือนกับหลอดไฟหนึ่งวัตต์ หนึ่งแรงเทียน มันเกิดความสว่างขึ้น...ตั้งหนึ่งแรงเทียน  แต่ถ้าที่ว่าหนึ่งแรงเทียนนี่ เทียบกับมืดตึ้บนะ แค่หนึ่งแรงเทียนนี่ก็เรียกว่าสว่างในระดับนึงแล้ว ขณะนึงนี่

แต่ในขณะหนึ่งแรงเทียนนี่ ถามว่า มันจะรู้แจ้งแทงตลอดมั้ยเนี่ยในความมืดตึ้บ ...แค่นี้กูก็ชนตอแล้ว ก้าวลงจากเก้าอี้กูก็ปึ้ง นี่หนึ่งแรงเทียน ชน ล้ม เจ็บ ปวด

เอ้า ลุกบ่อยๆ เป็นมั้ยๆ ...ศีล สติ เออ ก็รู้อีกๆ กายก็มีให้รู้อยู่ตลอด ไม่ต้องไปสร้างรูปสร้างตัวขึ้นมาใหม่ หรือไปทำตัวขึ้นมาใหม่ มันก็มีตัวของมันอยู่แล้ว ก็รู้ลงไป 

ก็หลายๆ รู้ หลายๆ ขณะ ...หนึ่งแรงเทียนก็เป็นสองแรงเทียน  สามแรงเทียน ขึ้นไป แล้วก็...อ้าว หลอดขาดอีกแล้ว เอ้า ไม่เป็นไร ไม่ต้องไปหาซื้อตลาด นี่ มันสร้างขึ้นทำขึ้นได้

ธรรมเป็นสาธารณะ ศีลเป็นสาธารณะ สมาธิเป็นสาธารณะ ปัญญาเป็นสาธารณธรรม ...มันไม่ต้องไปหาไปซื้อ ไปแบ่งปันสรรส่วนกับใคร 

หยิบจับ ตรงไหน ก็ขึ้นมาเป็นธรรมได้ เป็นสาธารณะ ...ก็สร้างความสว่าง รู้ขึ้น เห็นขึ้นมาทุกปัจจุบันขณะ


โยม –  มันจะรู้แบบออโต้เลยใช่มั้ยคะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  เออ ถ้ามันรู้ด้วยความขยันน่ะ มันก็จะรักษาความเป็นออโต้ของมันเอง ...มันก็จะรู้ว่าทำอย่างไรเทียนไม่ดับ อย่างไรไฟไม่ขาด


โยม –  ถึงแม้ว่ามันจะมีพากย์อยู่ ถูกมั้ยพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  จะมีอะไรก็ตาม มันไม่สนใจหรอก 

เพราะนั้นเมื่อสะสมแรงเทียน ความสว่างขึ้นภายในใจดวงนี้แล้วนี่ สว่างด้วยศีล สว่างด้วยสติ สว่างด้วยสมาธิแล้วนี่ ทัศนะวิสัย มุมมอง มันต่างกันนะ กับความมืด ในทัศนะวิสัยที่มันมืด 

ในทัศนะวิสัยที่มันเห็นด้วยความสว่าง มีความสว่างอยู่ มันจะเห็นเลยว่าคนละเรื่อง คนละเรื่องเลยกับความที่มันเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนี้ในความมืด เข้าใจว่ามันเป็นอย่างนั้นในความมืด ...มันคนละเรื่องเลย

เพราะความสว่างที่เกิดขึ้นจากมรรค เกิดจากการเจริญสติ รักษาศีล เจริญสมาธิ รักษาสมาธิ เจริญปัญญาการรู้การเห็นอยู่ภายในนี่ ...มันคนละเรื่องกับที่มันเคยเข้าใจในความมืดเลย

และทัศนะวิสัยมันก็กว้างออกไปเรื่อยๆ ...ไอ้นี่เขาเรียกว่าโลกวิทู คำว่ารู้แจ้งแทงตลอดในสามโลกธาตุน่ะ 

ความสว่างนี้ก็กระจายออก นี่เขาเรียกว่า นัตถิ ปัญญา สมาอาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี ...ไม่มีอะไรมาปิดบังแสงสว่างของปัญญาได้เลย แสงสว่างของใจได้เลย 

สว่างไปถึงไหนมืดหายตรงนั้น ความสว่างไปตรงไหน จะให้มืดมากมืดน้อย มืดนิดเดียว ไม่มีอยู่ได้ ถ้าความสว่างไปถึง ...นี่ ความสว่างของปัญญา ความสว่างของใจ

เพราะนั้นอย่าประมาทแค่รู้เป็นขณะ ...แต่ก็อย่าตายแค่รู้กับขณะเดียว เข้าใจมั้ย มันก็ต้องสะสมพอกพูน ต่อเนื่อง เป็นสัมปชาโน เป็นสัมปชัญญะ เป็นทัสสนะที่มันเห็นอยู่ด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว 

ด้วยความเป็นเส้นตรง ไม่ขาดไม่แหว่ง ...รักษา ยังไงก็ต้องเจริญ ต้องรักษาสติ ยังไงก็ต้องเจริญ ต้องรักษาสมาธิ ยังไงก็ต้องเจริญ ต้องรักษาการรู้การเห็นคือปัญญาภายใน

ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะไม่เกิดความเข้มข้น เข้มแข็ง มั่นคง หนักแน่น แนบแน่น หนัก อยู่ภายใน ...เหมือนกับตัวศีลสมาธิปัญญานี่มันเป็นตัวทิ้งถ่วง...ทิ้งถ่วงในขันธ์น่ะ 

ถ้ามันไม่มีตัวนี้คอยเป็นน้ำหนักที่มันทิ้งรั้งถ่วงไว้ในขันธ์นี่ ...มันจะเบา จิตจะเบา แล้วมันจะลอยไปแบบอากาศธาตุ เหมือนไม่มีน้ำหนัก มันก็จะลอย ...มีอะไรพัดมันก็จะไปกับสิ่งนั้น 

รูปมากระทบก็ไปกับรูป เสียงมากระทบก็ไปกับเสียง ความคิดเกิดขึ้นก็ไปกับความคิด อารมณ์เกิดขึ้นก็ไปกับอารมณ์ ...มันจะไปแบบล่องลอยไปหมด เพราะมันไม่มีน้ำหนัก

แต่ด้วยศีลสมาธิปัญญาที่มันทับ ฝึกไว้ แน่นไว้ มันก็จะเหมือนมีน้ำหนักมั่นคงอยู่ภายใน ...อะไรมาก็ไม่ไหว ไม่หวั่นไหว ...อาจจะแค่เผยอๆ แค่นั้นเอง

แล้วตรงนี้ ไอ้ตรงที่มันแค่เผยอแล้วไม่ไป ...ตรงนี้ๆ สำคัญ เป็นขั้นที่เขาเรียกว่า...ประหาร เป็นขั้นที่เรียกว่าจะสมุจเฉท

แต่ถ้าไปบังคับแบบ ปิด กดเลย นี่เขาเรียกว่าสมถะ ...รู้จักรึยังว่าสมถะคืออะไร นี่ประเภทว่าไม่ให้มึงโผล่หัวมาเลย นี่ปึ่บเลย เข้าใจมั้ย 

เพราะนั้นระหว่างการที่ไม่ให้มันโผล่เลยนี่ กับการอยู่ในลักษณะที่สงบ สยบ กิเลสมันสยบ ...แต่ว่าไม่ได้ห้ามทีเดียว นี่มันจะอยู่ในลักษณะพอดี

เหมือนฝาปล่องไฟ ที่เขามีฝาปิดกันปล่องไฟน่ะ เออ มันไม่ได้ซีลใช่มั้ย มันไม่ได้ขันน็อตปิด แต่ถ้ามีใครจุดไฟ มันก็ปุ๊บเปิดขึ้น เนี่ย คล้ายๆ อย่างนี้ 

คือความพอดีของมรรคนี่ ของศีลสมาธิปัญญา ...ไม่ใช่ว่าปิดสนิท ซีลเลยๆ อย่างนั้น เคยเห็นปล่องไฟระเบิดมั้ย เคยเห็นโรงงานนิวเคลียร์ระเบิดมั้ย  นั่นแหละเพราะมันปิดอย่างนี้ 

แล้วอยู่ที่ว่าไอ้ตัวโครงสร้างของปล่องไฟ โครงสร้างของอาคารนั้นจะแน่นหนามั้ยล่ะ ถ้ามันแน่นหนา มันไม่ทันระเบิดก่อนตาย ก็ไปเกิดปุ้ง ระเบิดไปอยู่พรหมโลกซะ ...นี่อรูปแล้ว

แต่ถ้าอยู่ในมรรคนี่ มันจะอยู่อย่างนี้ เป็นปล่องที่ไม่ได้ซีล แล้วก็...เออ ขึ้นมากูก็เห็นโว้ย ควันสีเขียว ควันสีแดง ควันสีเหลือง ...มันก็เห็น 

นี่เขาเรียกว่าตรงนี้คือการขัดเกลา ทำความจางคลาย ...มันก็จะเห็นว่าระดับไอน้ำที่มันพ่นออกมานี่ source (ต้นเหตุ ต้นกำเนิด) มันคืออะไร น้ำกับไฟ ใช่มั้ย

แล้วทำไมถึงระเบิด เพราะมันไม่มีทางออก...ก็ระเบิด  เพราะน้ำกับไฟมันก็มีแรงดัน อำนาจแรงดันนั้นคือความทะยานอยาก คือตัณหา

แต่พอมันเปิดๆๆๆ ...เดี๋ยวน้ำก็แห้ง บอกให้เลย  ต่อให้หม้อใหญ่ขนาดไหนก็แห้ง เข้าใจมั้ย ...เพราะตัวมันเอง มันจะต้องสุมตัวของมันเอง 

กิเลสคือความเร่าร้อน กิเลสคือความร้อน มันมีความเผาไหม้ในตัวของมันเองอยู่แล้ว มันไม่อยู่เฉย มันไม่อยู่นิ่งหรอก มันไม่เที่ยงหรอก ...มันจะแตกตัวของมันเองอยู่ตลอด ต่อให้ไม่มีอะไรมากระทบด้วย เอ้า

ต่อให้มันขาดจากอายตนะภายนอกแล้วนะ หรือว่ามันไม่สนใจในอายตนะภายนอก คือตาหูจมูกลิ้นกาย เหลือแต่จิตของมันเอง มันยังแตกตัวของมันอยู่ตลอดเวลาเลย 

นี่คือธรรมชาติของกิเลสที่มันจะแตกตัวของมันเอง ...แต่ว่ามันไปแล้วไปลับไง มันไม่เก็บมันไม่กักไว้ นี่เขาเรียกว่าในออก นอกเข้าไม่ได้ ...นอกเข้าไม่ได้คือไม่มีใครไปเติมน้ำ

แต่คราวนี้ว่าพวกเรา มือหนึ่งก็เติม มือหนึ่งก็ปิด มือกูจะเติมหรือกูจะปิด แล้วกูจะทำยังไงให้มันระเบิดออกมา แล้วไม่กลับมาเติมมันอีก คือกูจะทำลายหม้อมันทิ้งเลย 

นี่คือพยายามทำลายขันธ์ ทำให้ขันธ์นี่แตกมั่ง อะไรมั่ง ว่ากันไป ...มันก็เลยเกิดอาการนักภาวนาโคตรมั่ว มั่วไปมั่วมา สับสน แล้วก็ถกเถียงกันไปมา เอาถูกเอาผิด เอาดีเอาร้าย เอาคุณเอาโทษ ต่อกัน ต่อธรรม 

ทั้งที่ว่าธรรมคือธรรม เป็นหนึ่งอยู่อันเดียว ...ทำไมต้องไปวิตกวิพากษ์วิจารณ์ธรรมเล่า ไปเอาถูกเอาผิดกับธรรมเล่า

ธรรมไม่มีถูก ธรรมไม่มีผิดนะ ธรรมมีแต่ความจริงนะ  เขาปรากฏอย่างนี้จริง เขาตั้งอยู่อย่างนี้จริง เขาดับไปจริง ...นี่จริงแค่เนี้ย มีความจริงอยู่แค่นี้

เขาไม่ได้ว่าถูก หรือตั้งมาด้วยความว่า “กูถูกนะ อย่ามาเรียกกูผิดนะ” เนี่ย ไม่มี ...มันก็ตั้งขึ้นมาเฉยๆ อย่างเงี้ย ...มึงจะว่าถูกหรือผิด กูก็ตั้งของกูอย่างเงี้ย หมดเวลากูดับ มึงอยากจะให้กูอยู่ กูก็จะดับ มีปัญหามั้ย

เนี่ย นี่คืออิสระธรรม นี่คือธรรมธาตุ นี่คือธรรมชาติ นี่คือธรรมตามจริง นี่คือ เอโก เอกัง เอกจิต เอกธรรม คือธรรมเอก

เพราะนั้นกว่าที่มันจะเข้าไปยอมรับ เข้าไปเห็นธรรมเอก...ต้องเดินอยู่ในมรรคอย่างเข้มข้นจริงๆ ไม่ขาดสาย


(ต่อแทร็ก 12/17)