วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/35


พระอาจารย์
12/35 (561216G)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
16 ธันวาคม 2556


พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ดูไปอยู่ไป  มันเห็น มันปรากฏ มันแสดง มันหยั่งเข้าไปเห็นถึงความเป็นจริง ...แต่ก็บอกแล้วไงว่า มันยังไม่เชื่อโดยร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก

ก็ยังต้องทำต่อไปอย่างนั้น ที่เดิมน่ะ จนกว่ามันจะแล้วจะเลิกกันไป ไม่หวน คือเป็นสมุจเฉท ...ก็ความเป็นจริงก็มีอยู่แค่นั้น โลก ขันธ์ เป็นแค่ธาตุหนึ่งธรรมหนึ่ง แค่นั้นเอง

ใจก็เป็นแค่ธาตุหนึ่งธรรมหนึ่ง แต่ว่าแสดงอาการไม่เหมือนกัน ...ใจเป็นธาตุรู้ ...กาย ขันธ์ เป็นธาตุไตรลักษณ์ เป็นธาตุเกิดดับ หมุนเวียน แปรปรวน สลับไปมา...แต่ไม่มีชีวิต ไม่มีบุคคล

มันก็เห็นไป..เหมือนเดิม ซ้ำๆ ลงไป ...พอเผลอพอเพลิน หรือว่าไปที่ไหน ต้องมีธุระปะปังอะไรออกไปคิดออกไปปรุง ก็อย่าไปเผลอเพลินหลงระเริงไปกับอาการคิดปรุงนั้นๆ

ก็กลับมาอยู่ที่ความเป็นธาตุ ความเป็นรู้อย่างนี้ อยู่กับกายเป็นฐานอยู่อย่างนี้ ไม่ออกไปนอกเนื้อนอกตัว นอกกายนอกใจ ...ก็ทำอยู่แค่นั้นเอง ความรู้ความเข้าใจมันก็จะแสดงผุดโผล่ให้เห็นเป็นระยะๆ ของมันไป 

มันจะเลิกละเพิกถอนได้แค่ไหน..ช่างหัวมัน มันก็ละไปในตัวของมันไปเอง ...จนกว่ามันไม่มีอะไรให้ละ นั่นแหละ มันก็จะรู้เองว่าไม่มีอะไรให้ละแล้ว ไม่รู้จะทำไปทำไม ไม่รู้จะดูอะไร มันหมด..ก็แสดงว่ามันหมด

แต่ตอนนี้มันยังไม่หมด มันก็รู้อยู่ข้างในว่ามันยังไม่หมด มันยังต้องมีการทำ การรู้ การดู การเห็น...อยู่ต่อเนื่องไป ...หมายความว่ามรรคนี่ยังต้องอาศัย ยังต้องดำเนิน

จนกว่ามันจะบอกว่า ไม่จำเป็นต้องรู้ต้องเห็นอะไรแล้ว มันไม่มีอะไรที่มันไม่รู้ไม่เห็นแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องการจะรู้ ต้องการจะเห็น ต้องการจะหาความเป็นจริง หรือจะรู้ความเป็นจริงกับมันแล้ว...มันก็หมด

แต่ตอนนี้ยังมี...อะไรที่มันเป็นเราของเราอีก..มากมายมหาศาล ยังไม่หมดสิ้นซึ่งความเป็นเราโดยสิ้นเชิง แม้แต่เรื่องของกาย เรื่องของ..โดยโลก โดยรวมของสองโลกที่บอก กามภพกับรูปภพนี่

มันก็ยังไม่เป็นสิ้นเชิง มันก็ยังต้องทำอยู่...ยังประมาทไม่ได้ ยังเนิ่นช้าไม่ได้ ยังวางใจไม่ได้ ยังวางไม่ลงจริงๆ ...ถ้ามันวางลง ก็เรียกว่าพลิกฝ่ามือเป็นหลังมือแล้ว 

นั่น มันพลิกๆ มันพลิกไปเลย ตอนนั้นมันจะเป็นลักษณะที่มันเกิดผลแล้ว...เพราะนั้นผลมันก็เกิดความซาบซึ้งในธรรม เป็นกำลัง มันจะเป็นกำลังหนุนเนื่องต่อๆ กันไป

เพราะนั้นไอ้ตัวปีติหรือว่าตัวปัสสัทธิในธรรมนี่ ...มันเป็นตัวกำลังที่จะหนุนให้เกิดผล เกิดความรู้ความเข้าใจเนื่องจากเดินมาตามครรลองในองค์ของมรรคอย่างชัดเจน โดยไม่ลังเลสงสัยหรือว่าเนิ่นช้านั่นเอง

มันก็กินผลไปในตัวของมันเอง นั่นน่ะ ไม่มีจบที่อื่น จบที่กายใจปัจจุบัน ...ถ้าไม่จบที่กายก็จบที่ใจ ไม่ไปจบที่อื่นหรอก ...ดับที่เหตุ ต้องดับที่เหตุ คงไว้แต่รู้เห็น


โยม –  พระอาจารย์คะ พอดีมีน้องที่เขาเคยมาอยู่ คือพอเขาผ่านช่วงที่เขารู้ๆๆ จนเขารู้สึกว่าเขาไม่ทำอะไร พอเขาไม่ทำอะไรปุ๊บนี่ มันก็ไปทำงานแบบไม่มีปัญหา 

ตอนนี้เขาก็รู้สึกกับงานว่าเขาไม่มีอะไรทำ ทีนี้เขาก็จะปล่อยแล้วค่ะ เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่มีอะไรทำ เช้าขึ้นมาก็ทำงาน กับงานคือว่าไม่มีปัญหา

พระอาจารย์ –  นั่นแหละมันหลงรู้ บอกแล้วว่าต้องทำงานในกาย ต้องให้มันมาจับคู่กับกาย มันจะเป็นธรรมเดี่ยวไม่ได้ มันจะต้องเป็นธรรมคู่ มันจะต้องมารู้เห็นกับสิ่งหนึ่งคือกายคือศีล

เพื่ออะไร ...เพื่อให้เกิดความถ่องแท้ในขันธ์ในกาย ...เพราะนั้นถ้ามันอยู่แบบเลื่อนๆ ลอยๆ ถึงจะรู้อยู่ก็ตาม แล้วไม่มีปัญหาอะไรก็ตาม นี่ก็เรียกว่าหลง...หลงรู้

บอกแล้วอย่าทิ้งกาย ยังทิ้งกายไม่ได้ ยังต้องใช้กายเป็นเครื่องระลึกคู่กันกับรู้อยู่อย่างนั้นแหละ จนกว่ามันจะอยู่กับกายโดยที่ไม่มีกาย...ไม่ใช่อยู่โดยที่ไม่สนใจกายเลยอย่างนี้

นี่เรียกว่ามันอยู่โดยไม่สนใจกายแบบดื้อๆ โง่ๆ ...ก็ยังโง่ ก็ยังไม่รู้อะไร  ถึงจะไม่มีอะไร แต่มันก็ไม่รู้อะไร ไม่รู้ความเป็นจริงว่ากายคืออะไร ขันธ์คืออะไร โลกคืออะไร ก็อยู่ไปแบบสัมภเวสี ลอยไปลอยมา

ภาวนา..จะกี่เดือนกี่ปีกี่ชาติไม่รู้น่ะ...ถ้ามันยังออกจากกายไม่ได้ ละกายไม่ได้  ก็ยังออกจากการภาวนาโดยเอากายเป็นที่ระลึกรู้ไม่ได้ ...กายใจมันเป็นมรรคตลอดเวลา

เมื่อใดออกจากความรู้ตัว เมื่อนั้นก็เกิดความเผลอเพลิน เมื่อนั้นก็เกิดการสุดโต่งไปในทางความพอใจ-ไม่พอใจ มันก็คล้อยไปตามความอยากและตามความไม่อยาก ...เมื่อใดไม่อยู่กับกาย เมื่อนั้นก็หลง

เมื่อใดที่มันอยู่ในมรรค อยู่ในกายก็อยู่ในมรรค ก็อยู่ด้วยความเรียนรู้ดูเห็น ด้วยความเข้าใจความเป็นจริงของกายขันธ์...ซึ่งเป็นขันธ์หยาบ เป็นขันธ์ที่รองรับขันธ์ละเอียดอยู่ภายใน

ถ้ามันยังไม่รู้จริงรู้แจ้งในเรื่องของกาย มันก็จะไม่รู้ในขันธ์ทั้งหลายเลยที่มันเป็นส่วนละเอียด ... เมื่อใดที่ไม่อยู่กับกาย เมื่อนั้นมันก็จะไปสร้างทุกข์ในจิตตัวเองแล้วก็จิตผู้อื่น

นั่น มันก็สร้างทุกข์ทั้งในกายตนเอง แล้วก็กายคนอื่น ...แล้วมันจะเกิดความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เอาชนะกัน เอาถูกเอาผิดให้กัน ว่าร้ายกัน กล่าวโทษกัน ชิงชังให้กัน รักใคร่กัน 

นี่ เมื่อใดที่มันออกนอกกายปัจจุบันรู้ปัจจุบัน เมื่อใดที่มันออกนอกแล้วมันไปทำอาการนั้นๆ น่ะ ...โดยเจตนาบ้าง ไม่เจตนาบ้างก็ตาม ...มันจะเกิดเป็นผล คือกรรมวิบากสะท้อนกลับมา

ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง ...ยังไงมันก็ต้องมีผลสนอง สะท้อนกลับคืนมาเป็นวิบากอย่างแน่นอน

แต่เมื่อใดที่มันหยุดอยู่กับกายใจปัจจุบัน หยุดอยู่ในองค์มรรค เดินอยู่ในเส้นทางของมรรค ...การกระทำคำพูดที่ออกไปนอกองค์มรรคที่เป็นกรรมและวิบาก กุศลบ้าง อกุศลบ้าง ...มันก็ไม่เกิด

มันก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลแห่งวิบากตามหลังมา เป็นความเร่าร้อนต่อไปในภายภาคหน้า

เพราะนั้น จะปฏิบัติกี่ปีกี่เดือน จะเคยปฏิบัติวิธีการไหนอย่างไร ถ้ายังละเลิกเพิกถอนจากความเป็นตัวเรา กายเรา กายเขาของเขาไม่ได้ ...ยังไงก็ต้องมาภาวนาอยู่ที่กายที่ตัวของตัวเอง

เป็นเครื่องยืนยัน เป็นเครื่องระลึกรู้ เป็นเครื่องสืบค้นความเป็นจริงภายในกาย หาปัญญาในกายให้เกิด ให้เข้าใจ ...แล้วก็ทิ้งกายคนอื่นซะ แล้วก็ทิ้งกายอดีตกายอนาคตซะ

กายดีกายร้าย กายถูกกายผิดของคนอื่น...ของตัวเองก็ทิ้ง ให้เหลือแต่กายนั่งนอนยืนเดินที่เป็นกายปัจจุบัน ...มันจึงจะข้ามพ้นกาย มันจึงจะข้ามพ้นการเกิดมามีกายเป็นคน การเกิดมามีกายเป็นสัตว์

กายคนกายสัตว์มันก็เหมือนกัน มีรากเหง้าเดียวกัน คือดินน้ำไฟลม สสารพลังงานเหมือนกัน  เพียงแต่การประกอบรวมกันเป็นรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามอำนาจกรรมวิบากเท่านั้นเอง

แต่ว่าโดยรากเหง้าของกายแล้วนี่ มันก็คืออณูธาตุ อะตอม สสารพลังงานที่ไม่มีความสูงต่ำดำขาว ดีร้ายถูกผิดอะไร มันไม่ได้ดีกว่าใคร ถูกกว่าใครหรอก

การภาวนาก็เพื่อให้เห็นความเป็นจริงของกาย ว่ากายจริงๆ ที่เราอยู่ที่เราใช้มันนี่...มันยังเข้าใจไม่พอ มันยังเข้าใจไม่ถึง มันยังเข้าไม่ถึงสภาพที่แท้จริงของกาย

มันก็รู้จักกายปลอมๆ มันก็รู้จักกายปลอมปนด้วยความคิด ด้วยความเห็น ด้วยความปรุง ด้วยภาษา ด้วยบัญญัติ ...มันก็จะเป็นเหตุให้เกิดกายนี้ พากายนี้ไปสร้างความเป็นสุขเป็นทุกข์ให้ตัวเองและให้ผู้อื่น

เป็นการเบียดเบียนซึ่งกันและกันบ้าง เป็นการยกย่องบูชาบ้าง...ก็แล้วแต่มันไปทำ มันก็ได้ทั้งในแง่ดี-แง่ไม่ดี ...แต่ว่าในแง่ดีก็มีผล ในแง่ไม่ดีมันก็มีผลกลับมาทั้งหมด แล้วมันไม่มีคำว่าหยุดยั้ง จบสิ้น 

มันก็เหมือนกับเป็นการหมุนวนอยู่ในอาการนั้นๆ ซ้ำซากเหมือนเดิม ...แต่ในการที่กลับมาภาวนาอยู่กับกาย ภาวนาอยู่กับรู้นี่ มันจะเกิดปัญญา เกิดความเข้าใจในความเป็นจริงของกาย

เมื่อมันเข้าใจความเป็นจริงของกายว่ากายนี้จริงๆ คืออะไร ไม่ได้เป็นใครของใครอย่างไร ...การเข้ามาหมุนวน มาจับจองเอาก้อนดินน้ำไฟลม ก้อนสสารพลังงานในโลกที่ก่อรวมกันเป็นกองขันธ์กองกายนี่ มันก็ไม่เกิดขึ้นอีก

ทุกข์ที่เนื่องด้วยการกระทำของกาย ทุกข์ที่เนื่องด้วยการปรากฏขึ้นของกาย ที่มันต้องมากระทบสัมผัสกับเหตุต่างๆ ปัจจัยต่างๆ ในโลกนี่ ...มันก็ไม่มี

ทุกข์ที่มันมีก็เพราะว่าเห็น ทุกข์ที่มันมีก็เพราะว่าได้ยิน ทุกข์ที่มันมีก็เพราะว่าได้ลิ้มรส ได้ดมกลิ่นที่พอใจ-ไม่พอใจ ทุกข์ที่มันมีเพราะว่ามีจิตคิดนึกปรุงแต่ง สัญญาความจำ ความเห็นในกาย 

ถ้ามันไม่มีกาย ทุกข์เหล่านี้มันก็หมด ไม่สามารถก่อสร้าง ก่อเกิดขึ้นมาได้อีกต่อไป ...นี่ การเรียนรู้เรื่องกายจึงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องหยาบ ไม่ใช่เรื่องรอง ไม่ใช่เรื่องที่ไว้ทีหลัง ที่รู้เมื่อไหร่ก็ได้

มันเป็นงานเบื้องต้น เป็นงานจำเพาะหน้า เป็นงานเร่งด่วน...แข่งกับอายุขัยอายุขันธ์ แข่งกับความตาย ซึ่งไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ ตอนไหนที่ไหนอย่างไร ลักษณะใด

ไม่ใช่ยังไม่ทันเรียนรู้เรื่องกาย ยังไม่ทันเห็นกายในแง่มุมที่เป็นความเป็นจริงใดความเป็นจริงหนึ่งเลย ก็ตายซะแล้ว กายก็แตกเน่าเปื่อยไหม้เผาดับจมหายไปในผืนดินซะแล้ว

กว่าจะได้มาตั้งกายตั้งธาตุขึ้นมา ตั้งรู้ตั้งเห็น ตั้งความมีศรัทธาขึ้นมาในการปฏิบัตินี่ ไม่รู้อีกกี่ปีอีกกี่ชาติ ...และกว่าจะตั้งภาวนาขึ้นมาว่าตั้งอยู่ที่กาย ตั้งอยู่ที่รู้ ก็ไปงกๆ เงิ่นๆ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ อีกตั้งนมนานกาเล

จึงถึงบอกว่า อย่าเห็นอะไรสำคัญกว่ากาย กับการรู้ตัวในปัจจุบัน  ผูกจิตผูกใจ ผูกรู้ผูกเห็นไว้อยู่กับปัจจุบัน..คือตัว ไม่ไปสำคัญมั่นหมายในที่อื่นที่นอกเหนือจากกายที่มันปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

นั่นน่ะ ถ้ามันสามารถทำได้อย่างนั้น เมื่อใดที่ทำได้อย่างนั้น เมื่อนั้นเรียกว่าภาวนาอยู่ ภาวนาเป็น ...เมื่อภาวนาเป็น ภาวนาอยู่แล้ว ก็ต้องภาวนาอยู่ด้วยความต่อเนื่องไม่ขาดสาย

มันจึงจะเกิดความพอกพูนขึ้นซึ่งสมาธิและปัญญา ...จิตที่ไม่รู้มันก็จะรู้ จิตที่ไม่เห็นมันก็จะเห็น  จิตที่ไม่เคยรู้ มันก็จะรู้  จิตที่ไม่เคยเห็น มันก็จะเห็นความเป็นจริง  จิตที่มันเคยโง่ มันก็จะฉลาด

จิตที่ไม่มีปัญญา มันก็จะมีปัญญา เห็นความเป็นจริงของขันธ์ เห็นความเป็นจริงของโลก เห็นความเป็นจริงของกาย เห็นความเป็นจริงของสรรพสิ่ง ซึ่งมันไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน

เมื่อมันเห็นความเป็นจริงในกายจริงๆ ตามจริง เมื่อมันเห็นความเป็นจริงในขันธ์ทั้งห้า เป็นจริงตามจริง ...มันก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรในขันธ์ห้า ไม่มีตัวตนใดตัวตนหนึ่งตั้งอยู่ในขันธ์ห้า

เมื่อมันเห็นความเป็นจริงถึงที่สุดในขันธ์ห้าอยู่อย่างนั้นน่ะ ...มันก็ทิ้งขันธ์ห้า มันก็ไม่เข้าไปจับจองเป็นเจ้าของในขันธ์ห้า มันก็ไม่เข้าไปเป็นสุขเป็นทุกข์ในขันธ์ห้า มันก็ไม่เข้าไปหาสุขหาทุกข์ในขันธ์ห้า ทั้งตัวเองและตัวผู้อื่น 

มันก็ปล่อย มันก็วาง มันก็สลัดออกในการเข้าไปถือครองครอบครอง ...ความเป็นทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงที่มันเกิดขึ้นนี่ มันเกิดขึ้นจากความเป็นเราเข้าไปครอบครองในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในอาการใดอาการหนึ่ง ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

เมื่อมันไม่มีเราเข้าไปครอบครองในอาการใดอาการหนึ่ง ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรียกว่าขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรียกว่าเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรียกว่ารูป ไม่ว่าจะเป็นเรียกว่าเหตุการณ์ต่างๆ นานา ในโลกในจักรวาล 

มันก็ไม่เดือดร้อน มันไม่มีเราไปเป็นทุกข์เป็นสุขกับอะไร ...ผู้นั้นก็เรียกว่าเป็นผู้ที่หลุดพ้นจากขันธ์ห้า ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่เรียกว่าหลุดพ้นไปจากโลกสมมุติ โลกบัญญัติ  

ผู้นั้นก็ยังเป็นผู้ที่หลุดพ้นไปจากโลกตามความเป็นจริง ไม่หวนคืนมาในโลก มารับรู้เรื่องราวในโลกผ่านขันธ์ห้าอีกต่อไป ...การรับรู้เรื่องราวในโลกมันก็จะรับรู้ผ่านขันธ์ห้า ถ้ามันไม่มีขันธ์ห้า มันก็จะไม่มีโลกโดยปริยาย 

ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงนี่ จุดเริ่มต้นมันอยู่ที่ตัวกายนี้เองเป็นหลัก ...ถ้าไม่เริ่ม ถ้าไม่ฝึก ถ้าไม่อบรม ให้จิตมันอยู่กับปัจจุบันกายนี่ มันจะมีแต่ความวุ่นวายสับสน ลังเลสงสัย ไม่มีอะไรชัดเจนเป็นหลักเป็นฐานได้เลย

เพราะจิตมันจะไม่เกิดความเป็นหนึ่ง ความตั้งมั่นเป็นสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ไม่รวมเป็นรู้เป็นเห็นกับกาย กับปัจจุบันสรรพสิ่ง ด้วยความตั้งมั่นและเป็นกลาง

มันจึงตกอยู่ภายใต้อาการสับสนและลังเล ไขว่คว้า กระเสือกกระสน ดิ้นรน ทะเยอทะยาน อลหม่าน วุ่นวี่วุ่นวาย ...เป็นความเศร้าหมอง เป็นความขุ่นมัวอยู่ภายใน

นี่ หลักของการภาวนาก็มีอยู่แค่นี้ ทำความรู้ตัวให้เกิด ให้ได้ ให้เป็น  แล้วก็รักษาความรู้ตัวให้ได้นาน ให้ได้ต่อเนื่อง ...เหล่านี้ทั้งหมดนี้ที่พูดมาก็คือการเจริญมรรค

เวลาการภาวนานี่ ให้เจริญมรรคเป็นหลัก ...ไม่ใช่ไปเจริญผล ไม่ใช่ไปอยากได้ผล ไม่ใช่ไปอยากได้ความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ไปอยากได้ความละความวาง ไม่ใช่ไปอยากได้ความหลุดความพ้น

แต่ให้ได้เจริญมรรคอย่างเดียว ผลมันก็จะตามมา ตามเหตุแห่งการประกอบมรรค ...ประกอบเท่าไหร่ ต่อเนื่องมากน้อยอย่างไร ขาดตกบกพร่องอย่างเล็กน้อยหรืออย่างมาก ผลก็จะเป็นตามเหตุที่เข้าไปประกอบในองค์มรรคนั่นเอง

แต่ถ้าประกอบผิดศีลผิดธรรม ผิดองค์มรรค หรือว่านอกองค์มรรค ผลมันก็จะไม่เกิดในการที่ว่าจะละวางเพิกถอนความเป็นเรา หรือจิตที่เป็นเราเข้าไปหมายมั่นในทุกสิ่ง

นี่แหละคือหัวใจของการภาวนา นี่ล่ะคือหัวใจของการที่ว่ารู้ตัวไปทำไม ทำไมจะต้องรู้แค่นี้ ทำไมจะต้องรู้จำเพาะตัวจำเพาะกาย ทำไมถึงรู้ที่อื่นไม่ได้ ทำไมถึงปล่อยให้มันล่องๆ ลอยๆ ไม่ได้ 

เพราะมันจะไม่เข้าใจความเป็นจริงของตัวเอง ว่ากายใจคืออะไร กายขันธ์คืออะไร กายธาตุคืออะไร กายเรา กายไม่ใช่เราคืออะไร กายไหนเป็นกายที่ทำให้เกิดทุกข์

แล้วกายไหนเป็นกายที่ไม่ทำให้เกิดสุขและทุกข์ กายไหนที่ออกจากสุขและทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง มันก็จะเข้าใจขึ้นมาภายในตัวของมันเอง จนมันไม่มาอาศัยอยู่ในกายนี้ เป็นที่เกิดเป็นที่ตายอีกต่อไป

อย่าไปรู้ที่อื่น อย่าไปรู้กับเรื่องราวอื่น ที่นอกเหนือ ที่เกินจากกายนี้ออกไป ...แล้วทุกอย่างมันก็จะหดลงสั้นลง ความคิด ความนึก ความทะเยอทะยานของจิต ความกระเสือกกระสนของอารมณ์ต่างๆ นานา 

ความดิ้นรนขวนขวายในที่ต่างๆ มันก็น้อยลงไปเอง หดตัวของมันลงมาเอง ...มารวมอยู่แค่รู้แค่เห็น กับสิ่งที่มันถูกรู้ สิ่งที่มันถูกเห็น...ก็คือกาย เป็นกรอบ เป็นหลัก


...................................




วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/34 (2)


พระอาจารย์
12/34 (561216F)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
16 ธันวาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  12/34  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นไม่มีวิธีการไหนหรอกที่ง่าย ไม่มีวิธีการไหนที่เร็วกว่ากันหรอก ไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ไม่ว่าจะเป็นเจโตวิมุติล้วนๆ

ไม่ว่าจะเป็นเจโตกึ่งปัญญาวิมุติ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาวิมุติ ไม่มีวิธีการไหนยากง่ายกว่ากันเลย ...มันจะต้องมีความเพียรอย่างยิ่งเท่ากันเลย ไม่สบายหรอก แล้วก็ไม่ได้ผลแบบรวดเร็วทันใจด้วย

เพราะนั้นตัวที่จะวัดผล ให้ถามเลยว่า วันนี้รู้ตัวได้กี่เปอร์เซ็นต์ มันดีขึ้นหรือมันเลวลง หรือมันคงที่มั้ย แล้วก็มันสม่ำเสมอทุกวันมั้ย ...นั่นแหละถามไว้

อย่าถามว่าผลคืออะไร ถามว่าไอ้ที่ทำน่ะได้แค่ไหน มากหรือน้อยลง ...ถ้ามันน้อยลง แล้วจะทำยังไงดี ให้มันน้อยลงไปเรื่อยๆ หรือไง หรือจะให้มันมากขึ้นเพิ่มเติมขึ้น

นั่นน่ะไปดูเอา วัดเอา แล้วพัฒนาขึ้นมาเอง จนมันเต็มๆ ...ลืมตาตื่นยันหลับตานอน ไม่ลืมเลย ไม่ลืมเลยแม้แต่ปัจจุบันหนึ่งของกายที่ปรากฏ ...นั่นน่ะเต็ม

ถ้าจะตั้งเป้า...ให้ตั้งเป้าตรงนี้  ...อย่าไปตั้งเป้าว่าจะหลุดพ้นเมื่อไหร่...ไอ้นั่นน่ะฝันหวาน ฝันกลางวัน แล้วก็จะฝันข้ามคืน พอหลับปุ๊บ เหาะไปถึงนิพพานยังได้เลย ...จิตปรุงแต่งหลอกได้หมด

ให้ถามตัวเอง ให้ดูตัวเอง ทบทวนตัวเองอยู่ตลอดว่า...มันทำได้มากขึ้นรึยัง สามารถรู้ตัวได้มากขึ้นรึยัง ได้ถี่ไหม ได้ต่อเนื่องไหม แข็งแรงดีไหมในการรู้

แข็งแรงยังไง ...คือไอ้ตรงไหนที่มันขาดน่ะ มันจะขาดประจำ เช่น เวลาแต่งตัว เวลากินข้าว แน่ะ เวลาโทรศัพท์คุย เวลามีไลน์เข้า อย่างงี้ มันจะลงที่เดิม เข้าใจมั้ย

มันก็ลืม ตัวก็จะหาย แล้วก็เข้าไปจมอยู่ในนั้น ...ตรงนี้คือจุดยากของแต่ละคน มันจะมีจุดยากไม่เหมือนกัน  เราก็จะต้องมาแก้จุดของตัวเองให้ได้ มาอุดช่องโหว่ช่องว่าง ช่องเล็ดรอดของจิตที่มันไหลออกไป

ต้องตั้งสติให้ดี ต้องตั้งใจให้แรง ต้องตั้งให้แรงกว่าที่ความเคยชินคุ้นเคย ไม่งั้นมันก็ลงร่องเดิม วนลงที่เดิมๆ อยู่อย่างงี้ ...เพราะเราจะอยู่ในกิจวัตรซ้ำซากนะ การใช้ชีวิตน่ะ มันจะเป็นกิจวัตรเดิมๆ น่ะ

อย่างโยมนักดนตรีนี่ เวลาเล่นเปียโน ไม่ต้องถาม มันไม่รู้สึก...แทบจะไม่รู้สึกได้เลยถึงนิ้วที่กระทบเลย ...มันจะอยู่ในเสียง แล้วก็อิ่มเอม มีความอิ่มเอมอยู่ในนั้น

แต่ถ้ากระทบที่นิ้วนี่ กูไม่รู้จะเล่นไปทำไม สังเกตดูนะ พอมันกลับมารู้อากัปกริยากายนี่ ความสุขความทุกข์ในเสียงนี่มันจะหายไปเลย ...แล้วพอมันหายไป ก็ไม่รู้จะทำทำไม มันจะหยุดเลย มันจะหาสุขไม่ได้

แต่ถ้าปล่อยให้เพลิดเพลินล่องลอยไป เออ มันจะมีความไหลเลื่อนไป อยู่อย่างงั้น หลงเพลินไปในอารมณ์ ในรูปในเสียงที่มันปรุงขึ้น มีจินตนาการอยู่

เพราะนั้น ที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านวางกฎหยาบๆ ศีลหยาบๆ ไว้ว่า ไม่ประโคมดนตรี เพราะเหล่านี้มันคืออะไร ...มันทำให้รั่วไหล ไม่รู้ตัวได้ง่าย ทำให้การรู้ตัวที่ง่ายกลายเป็นยากไป

ทำไมท่านไม่ให้นอนที่นอนสูง ทำไมท่านไม่ให้นอนที่นอนนิ่ม นั่น มึงนอนกระดานซะบ้าง จะได้นอนหลับไม่ค่อยดี จะได้ตื่นๆ หลับๆ เข้าใจป่าว

ทั้งหมดนี่ท่านวางไว้เป็นอุบาย เหมือนกับว่า เพื่ออะไร...เพื่อให้กลับมารู้ตัวได้เร็วได้ง่าย ...เออ ถ้านอนสบายแล้วไม่ค่อยอยากตื่นน่ะ มันหลับ ไม่รู้ตัว มันมาตื่นรู้ตัวไม่ได้

เพราะนั้นศีลที่แท้จริงนี่คือตัวนี้ ...นอกนั้นเป็นศีลนอก และเป็นศีลนอกที่มันเป็น accessory เข้าใจมั้ย มันเป็นบริวารที่มันคอยมาเป็นเหตุเกื้อหนุน

แต่ว่าตัวเหตุจริงๆ ตัวศีลคือปัจจุบันกาย...รู้ตัว ตัวนี้เป็นหลัก หัวใจของศีลอยู่ตรงนี้ เพราะนั้นถ้าจับหัวใจศีลได้แล้วก็รักษาหัวใจศีลได้นี่

ผลที่ได้คือ หนึ่ง ไม่เบียดเบียนคน ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นเลย ไม่เบียดเบียนแม้กระทั่งสรรพสิ่ง ...นี่คืออานิสงส์ของศีลที่เรียกว่าหัวใจของศีล


โยม –  ยังไงหรือคะที่ไม่เบียดเบียน

พระอาจารย์ –  ตัวที่มันออกไปเบียดเบียนคืออะไร


โยม –  ความคิด

พระอาจารย์ –  ความคิดตัวเรา ความเห็นตัวเรา พวกนี้คือการเบียดเบียน

เมื่อใดที่มันอยู่ในศีล รักษาศีลอย่างยิ่งนี่ มันไม่มีเรา ...มันจะมีแต่รู้ว่านั่ง เข้าใจมั้ย หรือมีเราก็เป็นแค่เรานั่งอยู่ในปัจจุบัน จะไม่มีเราออกไปข้างหน้าข้างหลัง ...มันจึงไม่มีจิตที่ไปเบียดเบียน เข้าใจมั้ย 


โยม –  เพราะมันอยู่กับตัวเองตลอด

พระอาจารย์ –  เพราะมันอยู่กับตรงนี้ตลอด ...แล้วมันก็ไม่เบียดเบียนตัวเอง ด้วยการที่มันไปคิดถึงตัวเองข้างหน้า ที่เลว ที่ดี ที่จะมีสุข ที่จะเป็นทุกข์

เห็นมั้ย มันคิดเองแล้วมันทุกข์เองใช่มั้ย ...มันก็ไม่เบียดเบียนตัวมันเองด้วย ไม่ใช่แต่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นนะ  ผู้ใดที่รักษาศีลจริง จะไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นเลย

แต่ถ้าศีลห้าศีลแปดนี่ เบียดเบียนตลอด ...ระหว่างที่มันกำลังว่าไม่โกหกนี่ จิตมันโกหกแล้ว เข้าใจมั้ย จิตมันบอกว่าเดี๋ยวครั้งหน้ากูจะไปยังไง ครั้งนี้ไว้ก่อน ฝากไว้

ตอนนี้ก็พูดๆๆ ไปว่า ไม่โกหก กูรักษาศีลอยู่ ...มันติดปาก เนี่ย แต่จิตมันไปแล้ว มันสร้างสภาวะข้างหน้าข้างหลังอยู่แล้ว มันมีการเบียดเบียนไปพร้อมกันเลย

แต่ข้างนอกก็รักษาภาพไว้ เนี่ย ไม่ด่าคน ปากไม่ด่า..ใจด่า พูดเนี่ย เขาถึงบอกไง ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ พูดนี่ดี เป็นขวาหมดเลย ลึกๆ ข้างในกูซ้ายเต็มๆ ก็ได้นี่

เห็นมั้ย คำว่าเบียดเบียนมันเกิดได้ ขณะที่ดูท่าทางมีศีล ...นี่ เพราะศีลพวกนี้มันเป็นแค่รูปลักษณ์ แล้วเป็นศีลที่ไว้จำกัดตัวเราข้างหน้าข้างหลัง ตัวเราที่ออกไปทำอะไรกับผู้อื่น ให้เกิดความเดือดร้อน


โยม –  เกิดบางอย่างเราคิดไม่ตรงกับเขาอย่างนี้น่ะค่ะ เราก็ต้องเงียบไว้ หรือว่า...

พระอาจารย์ –  เงียบไว้ ไม่ต้องออกความเห็น อดทน ยอมถูกล่วงเกิน


โยม –  ให้เขาว่าหรือพูดอะไร

พระอาจารย์ –  อือ ดูถูกก็ได้ เพราะมันดูถูกนี่...ไม่ได้ดูถูกกายหรอก มันดูถูกเรา เออ ดูถูกเข้าไป ล่วงเกินเข้าไป จนหมด “เรา” เลย  เอาไปเลย เอาไปจน “เรา” ไม่มีให้ถูกล่วงเกินเลย เข้าใจมั้ย

แต่ถ้ายังรักษาความเป็น "เรา" ไว้ จะไม่ให้ใครล่วงเกินเลย แปลว่ามันหวง “เรา” ไว้ มันไม่ยอมสูญเสียความเป็นเรา เข้าใจมั้ย มันไม่ยอมละ

เพราะนั้นการที่ว่าอดทนไว้นี่ แล้วมันดูเหมือนถูกจาบจ้วงล่วงเกิน ด้วยการกระทำคำพูด มันรู้สึกว่าตัวนี่เสียหาย ตัวเรานี่เสียหาย ...กายไม่เสียหายนะ ตาไม่เสียหายนะ หูไม่เสียหาย ใครเสียหาย


โยม –  ตัวเรา

พระอาจารย์ –  เออ แล้วมันไม่ยอมให้เราเสียหาย เข้าใจมั้ย มันก็พยายามจะไปสร้างอาณาเขตของเรา หรือว่าตกแต่งความเป็นเรานี่ ให้ใครล่วงเกินไม่ได้ ...นี่เขาเรียกว่าสร้างความแข็งแกร่งหรือว่าปั้น ปั้นน้ำขึ้นมาเป็นตัว


โยม –  แต่ถ้าอย่างบางคนเขามีมิจฉาทิฏฐิอย่างนี้ แล้วอยากจะให้เขามีความเห็นที่ถูก

พระอาจารย์ –  สอนตัวเองๆ


โยม –  ก็เรื่องของเขา ไม่ต้องไปเรื่องของชาวบ้านเขา

พระอาจารย์ –  กิเลสคนอื่นแก้ไม่ได้ ...ไอ้ที่มันมาไล่ใครกันอยู่นี่ หรือว่าห้ามคนนั้นห้ามคนนี้  มันห้ามกิเลสคนอื่นไม่ได้ มันไปเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นคนอื่นไม่ได้ มันจะไปบังคับให้มาเห็นอย่างเดียวกันไม่ได้ มันถึงเดือดร้อนไง

แต่ไอ้ที่ห้ามได้แก้ได้คือตัวเอง คือกิเลสของเจ้าของนั่นเองที่แก้ได้ ...แล้วคนอื่นเขามาแก้กิเลสเราเองได้มั้ย อยู่คู่กันนี่แก้ได้มั้ย เข้าใจมั้ย ไม่มีใครแก้ให้กันได้นะ

แต่ว่าบอกได้ เตือนได้ แล้วก็..เรื่องของมึง จะทำ-ไม่ทำ ต้องน้อมเอาเองน่ะ ...นี่ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าความเป็นจริงมันเป็นอย่างงี้นะ

เพราะนั้นถ้าจะไปมุ่งแก้คนอื่นนี่ แก้ไม่ได้ แต่มุ่งที่แก้ตัวเอง ...พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า พึงติเตียนตน ไม่ไปติเตียนผู้อื่น  พึงเพ่งโทษตัวเอง ไม่ไปเพ่งโทษผู้อื่น

เพราะว่าการที่เพ่งโทษตัวเอง มันก็จะรู้เห็นจุดบกพร่องของกิเลสที่มันเกิดมา ยึดมั่นถือมั่นอย่างไร ลักษณะไหน เข้มข้นแค่ไหน มากหรือน้อย เออ แล้วมันยังต่อเนื่องแค่ไหน

มันก็จะเห็น แล้วมันก็จะค่อยๆ สลาย ทำลาย ทำลายได้..ทำลาย เจือจางได้..เจือจาง  ถ้ายังวางอะไรกับมันไม่ได้..เอาวางไว้ก่อน อดทนกับมันไปก่อน ...มันก็จะเห็น

แต่ว่าเป้าหมายสูงสุดคือว่า กูกับมึงจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ จะต้องออกไปให้สิ้น นี่คือเป้าหมายสูงสุด ...แต่ว่าบางครั้งบางตัว เออ มันละได้ คล้ายๆ กับไม่เอาธุระ นี่ เขาเรียกว่าวางได้

แต่มันก็มีบางเรื่องนี่ วางแล้ว..ได้บ้างไม่ได้บ้าง นี่ ...แล้วก็ยังมีอีกบางเรื่อง..วางไม่ได้เลย ยังจะเอาอยู่นั่น จะเอากับมันอยู่นั่นแหละๆ อย่างนั้น ...นั่นก็ต้องทน

นี่เพราะอะไร ...กำลังของสติปัญญาที่มันเข้าไปเห็นความเป็นจริงน้อย ไม่สามารถเพิกถอนความเป็นเราที่เข้าไปครอบครองอาการนั้นเป็นเราเป็นเขาได้ ...นี่มันจะยังแรง มันยังไม่ยอม

มันจะเอาผิดเอาถูกให้ได้ ทั้งๆ ที่ว่า ไม่มีหรอกใครผิดใครถูกน่ะ ไม่มีอะไรผิดอะไรถูกหรอก ...จริงๆ น่ะ จิตมันหลอก แล้วมันก็มี "เรา" เข้าไปรับสมอ้างขึ้นมา แค่นั้นเอง ปัญหา

ทนไปก่อน เดี๋ยวก็มีปัญญาขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยๆ มันก็แยกออก อันไหนจริงอันไหนเท็จ อันไหนเป็นข้อความเท็จ อันไหนเป็นคำรับสมอ้างขึ้นมาเลื่อนๆ ลอยๆ ...มันทิ้งหมดเลย

ทิ้งจนขนาดไหน ...จนเหลือความเป็นจริงแค่สองสิ่งคือกายกับใจ...ไม่มีสามนะ ไม่มีเป็นสามขึ้นมาเลยนะ มีแค่สองคือกายกับใจ 

แล้วเป็นกายอะไรก็ไม่รู้ แล้วเป็นใจอะไรก็ไม่รู้ ...สองตัวแค่นั้นเอง สามโลกธาตุเหลือแค่นั้นน่ะ 

เอ้า เท่านี้แหละ พอเข้าใจมั้ย


โยม –  พอเข้าใจค่ะ

พระอาจารย์ –  ให้เข้าใจหลักการ แล้วก็รู้ที่เดียว อย่างอื่นไม่ต้องไปรู้อะไร ไม่ต้องไปสนใจอะไร


(ต่อแทร็ก 12/35)




วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/34 (1)


พระอาจารย์
12/34 (561216F)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
16 ธันวาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  แล้วอย่างทุกวันนี้ หนูเดินจงกรมน่ะค่ะ แค่เอาเท้ากระทบพื้นอย่างนี้ ก็เหมือนรู้กายอยู่ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  แค่นั้นน่ะ


โยม –  แล้วอย่างแบบแฟนนี่ เขาชอบนั่งสมาธิอย่างนี้ จะดูกายยังไงได้น่ะคะ

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่านั่ง ก้นกระทบพื้น รู้มั้ย


โยม –  แต่ไม่ต้องแบบพุทโธอะไรอย่างนี้ แค่รู้กาย

พระอาจารย์ –  ไม่ต้อง มันเกินหมด เข้าใจว่ามันเกินมั้ย


โยม –  อืม แล้วสวดมนต์ก็รู้แค่ว่าเรากำลังสวด

พระอาจารย์ –  พนมมือ ปากขยับ แค่นั้นแหละ นั่นคือรูปแบบ ...นั่งสมาธิ ก็นั่ง...แล้วก็เวลาจะนั่ง จะเริ่มนั่งนะ อย่าเพิ่งรีบนั่ง ขยับนั่งให้ดี

แล้วก็กำหนดไว้ว่า ไม่เอาอะไร จะไม่เอาอะไรเลย จะนั่งเฉยๆ แล้วก็ดูว่านั่งเฉยๆ กูจะไม่เอาอะไร ...พอจิตมันจะว่า...เอ อย่างนั้นดีมั้ย ไม่เอาๆ ...เอานั่ง นั่งเอานั่ง นั่งเอารู้


โยม –  ถ้านั่งแล้วมันปวดเมื่อย ก็ให้รู้ว่ามันปวดมันเมื่อย

พระอาจารย์ –  หน้าด้าน ทนไป ดูไปทนไป ...เท่าที่จะทนได้


โยม –  แต่ถ้าหนูไม่ชอบนั่ง ก็เดินก็ได้ใช่ไหมคะ เดินจงกรมให้รู้เท้ากระทบพื้น ให้รู้

พระอาจารย์ –  อาการหมุน อาการหัน เวลาลมพัดกระทบ..เย็น เนี่ย พวกนี้ดูได้หมด ...แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องตกอกตกใจ ถ้ามันรู้อยู่ที่ขาแล้วมีลมมากระทบก็ไปรู้ที่ลม แล้วต้องรีบวิ่งกลับมารู้ที่ขา เข้าใจมั้ย


โยม –  รู้ไปตามธรรมชาติของมัน

พระอาจารย์ –  เออ ง่ายๆ มันจะรู้ไปทั่ว อะไรก็ได้ที่เป็นกาย เพราะกายไม่ได้แปลว่าขา เพราะกายไม่ได้แปลว่าลม เพราะกายไม่ได้แปลว่าร้อน เพราะกายไม่ได้แปลว่าขยับ

กายคือทุกสิ่งนั่นแหละ ทุกอาการนั่นแหละ คือไม่มีอาการที่แท้จริงของกาย เข้าใจมั้ย เพราะนั้นเวลาเราไปกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์..ไอ้ที่ว่าเพ่งๆๆ น่ะ เพราะเราไม่เข้าใจ

คือจะไปเอาลมเป็นเที่ยงน่ะ กายเป็นลม ลมเป็นกาย อย่างเนี้ย ...แล้วก็ถ้าออกจากลมหรือว่าลืมลมเมื่อไหร่ อู้หูย เหมือนกับไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาน่ะ ตกใจ รีบหาลม สร้างลมขึ้นมา

กายไม่ได้แปลว่าลมอย่างเดียวนะ ลมก็ได้ เมื่อยก็ได้ ตึงแน่นก็ได้ หรือเป็นทึบๆ หนาๆ ก็ได้ ...รูปลักษณ์ที่แท้จริงของกายไม่มี ไม่ได้แปลว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

กายไม่เที่ยงนะๆ อย่าไปคิดว่ากายเที่ยง แล้วจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างเดียวนะ เพราะนั้นในการเดินนี่ เดินไปเถอะ ตรงไหนมันกระทบชัด รู้ชัดขึ้นมา...ก็รู้ตรงนั้น

พอมันเริ่มมีอะไรมาสอดแทรกเป็นการกระทบ หรือความปรากฏของเวทนากายอื่น..ก็รู้ไป เข้าใจมั้ย ไล่เลียงอยู่ อย่าให้มันออกนอกกรอบกายเท่านั้น


โยม –  แล้วถ้าบางทีจิตมันออกไปข้างนอกนี่ล่ะคะ เดินๆ อยู่ก็ไปคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้

พระอาจารย์ –  ก็ให้รู้ว่าหลง


โยม –  แล้วก็กลับมา

พระอาจารย์ –  กลับมา  อย่าไปเอาห้าเอาสิบ เดือดเนื้อร้อนใจ...จะทำยังไงกับมันดี อย่างนี้ เขาเรียกว่าไปวิพากษ์วิจารณ์มัน ไปเดือดเนื้อร้อนใจกับมัน

หลุดแล้วหลุดไป กายก็อยู่ตรงนี้ ไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องไปวิ่งวนค้นหา ไม่ต้องไปหาทางแก้ทางกันอะไร หลุดใหม่ก็รู้ใหม่ หลุดอีกก็รู้อีก แค่นี้ โง่ๆ เขาเรียกว่าภาวนารู้แบบโง่ๆ กับกายโง่ๆ อย่างนี้ 

เดี๋ยวๆ มันก็ว่า “จะได้อะไร” “เอ๋ย คงไม่ไหว คงไม่ถึง คงไม่ถึงไหน” ...เนี่ย ทิ้งเลย นี่คือจิตหมดเลย  อย่าไปตาม หรือไปจริงจังกับความคิด ความลังเลสงสัยในการประกอบกระทำการรู้ตัวอยู่ 

จิตน่ะจะเป็นตัวขัดขวางอยู่ตลอดเวลา มันจะให้ไปหาอะไรที่ดีกว่า ให้อะไรที่มันเร็วกว่า ให้อะไรที่มันง่ายกว่า ให้อะไรที่มันให้ผลชัดเจนกว่า อยู่อย่างนี้ ...เราจะต้องสู้กับจิตเราตัวนี้

จนกว่ามันจะสยบ จนกว่าจิตน่ะมันจะหมอบราบคาบ จนกว่าจิตน่ะมันจะอ่อนนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง ไม่อหังการ ...นี่เขาเรียกว่าบรรเทา เรียกว่าระงับ นี่เรียกว่าระงับนิวรณ์

พอมันระงับนิวรณ์ปุ๊บนี่ ให้สังเกตดูเวลาเดินจงกรมนะ ถ้ามันระงับนิวรณ์ได้เมื่อไหร่ การเดินไปเดินมานี่มัน มันจะเกิดความมันในการเดิน เดินแบบ..เออ อยู่ได้ เดินได้โดยที่ว่าไม่มีเวลา ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง 

มันจะเพลิดเพลินในการเดิน ...แล้วก็รู้ตัวอยู่ด้วยนะ แต่ว่ามันไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ไม่คอยดูว่า..เอ๊ะ กี่โมงแล้ว ตั้งไว้กี่นาทีวะ เนี่ย มันจะไม่อย่างงั้น มันจะเดินไปแบบติดลมเลย นี่เรียกว่ามันอยู่ตัว ระงับนิวรณ์


โยม –  แล้วถ้ายังไม่ถึงขนาดนั้นก็คือต้องกำหนดไหมคะ ว่าวันหนึ่งประมาณ ๑๕ นาที

พระอาจารย์ –  คือตามหลักก็ต้องอย่างนั้น เพราะว่ากิเลสมันชอบจะเรื่อยเฉื่อยอยู่เรื่อย คือมันจะตีความเข้าข้างประโยชน์ของตัวเอง ...เพราะนั้นต้องเอาตัวสัจจะนี่เป็นตัวแก้และกัน 

กันกิเลสขี้เกียจ กันกิเลสมักง่าย กันเราแบบสบายๆ คือ...นั่ง แล้วเคยนั่งครึ่งชั่วโมง แล้วมันนั่งได้ วันนี้นั่งไม่ได้ อย่างนี้ พอเริ่มถึงยี่สิบนาที จะไปให้ได้แล้ว เพราะว่าจิตไม่สงบ จิตไม่รวม มันแตกกระสาน ...ต้องอดทน


โยม –  มีสัจจะ

พระอาจารย์ –  ทำไมต้องให้อดทน เพื่อให้เห็นว่า...ไม่มีสิ่งใดเกิดแล้วไม่ดับเอง  จนกว่ามันจะเห็นว่า ไม่มีอะไรเกิดแล้วมันไม่ดับไปเอง

แต่ไอ้ “เรา” นี่ มันจะไปพยายามดับเอง เข้าใจมั้ย คือถ้าลุกแล้วก็หายหมด  นี่ มันจะปัดสวะทันทีเลย แต่ที่อดทนเพื่อให้เห็นว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา

เกิด..มันก็เกิดของมันเอง ฟุ้ง..มันก็ฟุ้งของมันเอง ...มันตั้งอยู่ มันจะนานมันจะช้า มันจะเร็ว เราก็ไปลิมิทเวลามันไม่ได้ ดูซิ มันจะถึงแค่ไหน ...นี่ ทน เอากายเป็นฐาน แล้วก็เอารู้เป็นฐาน อยู่อย่างนี้ แล้วก็ทน 

มันก็วนเวียนๆ ยังฟุ้งอยู่อย่างนี้ ฟุ้งแบบระเบิดระเบ้ออยู่อย่างนี้ ดูสิ ใครจะแน่กว่ากัน ...จนกว่า ถ้าความหน้าด้านหน้าทนมากกว่านะ เดี๋ยวก็เห็นเองน่ะ มันน่ะไปก่อน กายยังอยู่ รู้ยังอยู่ ...เออ นี่ มันจะเห็น 

พอมันเห็นแล้วคราวนี้ มันเริ่มเห็นที่สุดของลักษณะอาการของขันธ์ของกิเลส ทีนี้ไม่ค่อยกลัวแล้ว ไม่ค่อยกังวลแล้ว ...ต่อให้จะมีอารมณ์ไหนมา ต่อให้มันจะคิดแค่ไหน ก็รู้ ไม่มีปัญหา

เสร็จแล้วก็มาตายอยู่กับเวทนาเมื่อยนี่แหละ บอกให้เลย เวทนาในกาย เวทนาสุขทุกข์ในกาย ตัวทุกข์ของกายนี่ ไม่ใช่ฆ่ามันง่ายๆ เลย ...ค่อยๆ เรียนรู้ไป เวทนากายละเอียดที่สุด ยึดที่สุด

จิตเรานี่ยึดเวทนาในกายที่สุดคือความปวด ความทุกข์ในกาย แล้วก็กายจะฉีกขาด กายจะแตกดับนี่ มันกลัวที่สุด มันเกลียดที่สุด มันหวงที่สุดเลยกายในเวทนานี่

ที่พวกเราชอบพูด มักจะพูดกันน่ะว่า...ตายน่ะไม่กลัว กลัวตอนเจ็บก่อนตาย ใช่มั้ย ...มันจะกลัวเวทนาของตรงนั้นที่สุดเลย ไม่อยากเผชิญ แล้วไม่กล้าเผชิญเลย 

เพราะนั้นการที่เรานั่งสมาธินานๆ นี่เพื่ออะไร ...ไม่ได้เอาดีเอาเด่อะไร ไม่ได้เอาสงบ-ไม่สงบอะไรหรอก ...เอาที่ว่าจะหน้าด้านทนกับเวทนา แล้วก็สืบค้นความเป็นจริงของเวทนาได้แค่ไหน

มันต้องทำความสืบค้นเพื่อให้เกิดปัญญาน่ะ ...เพราะถ้ายังห้ามเวทนากายไม่ได้ ตายทุกข์ ตายแบบไม่ยอมตาย ตายแบบเรายังติดค้างอยู่กับเวทนา ...ยังไงก็เกิดมาเป็นคนแน่ๆ

เพราะนั้นเรื่องกายนี่...ถึงบอกว่าการภาวนาตลอดสาย เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แปดสิบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์นี่ กายล้วนๆ เลย ...อีกยี่สิบเปอร์เซ็นต์เรื่องของจิตเรื่องของนาม

แต่แปดสิบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์นี่ เป็นเรื่องของกายกับรูป กายเนื้อกับกายรูปๆ นี่ ...ถ้าแก้ปัญหานี้ได้ ออกจากปัญหาว่ากายเนื้อนี่เป็นเรา รูปที่เป็นเราเห็น รูปที่เรานึกว่าอย่างนู้นอย่างนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้

แค่นึกถึงรูปคนที่ไม่ชอบนี่ กูก็หงุดหงิดแล้ว เห็นมั้ย แค่รูปที่นึกนะ นี่คือรูปที่เนื่องด้วยกายนะ ...เพราะนั้น แค่ออกจากกายเนื้อกับกายรูป สองตัวนี่ เฮ้อ ถอนหายใจสักสิบเฮือก สบาย

เพราะนั้นการภาวนานี่ มันต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ...อย่าไปประมาทว่ากายนี่ ใครๆ ก็รู้ได้ ใครๆ ก็รู้เป็น ...ก็จริงน่ะ ไม่ใช่ว่ายากอะไรเลยนะ การว่านั่งแล้วก็รู้ว่านั่งนี่ ปวดเมื่อยนี่ 

หรือหนาวนี่ ตอนนี้กำลังหนาว นี่ชัดเลย ง่ายๆ ใครๆ ก็รู้ได้ ...แต่ไอ้ที่ยากก็คือ ทำยังไงมันจะไม่ลืมเลย ไอ้นี่ล่ะโคตรยาก ทำยังไงถึงจะไม่ลืมในทุกอิริยาบถของกาย...ที่มันแสดงแบบง่ายๆ ธรรมดาๆ นี่แหละ


(ต่อแทร็ก 12/34  ช่วง 2)