วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 12/12


พระอาจารย์
12/12 (560922C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 กันยายน 2556



พระอาจารย์ –  คือยังไงๆ มันยังออกจากความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้  ยังไงก็ทุกข์แน่ๆ 

ก็ยังมี “เรา” ไปรองรับขันธ์อยู่  เข้าไปอ้างกรรมสิทธิ์ในขันธ์นี่ ...ประเภท ภบท.5 ... รู้จัก ภบท.5 มั้ย  สทก.1  อย่างนี้ คือเอกสารสิทธิ์แบบที่ดิน...ซึ่งไม่ใช่ของกู แต่กูบอกว่าของกูน่ะ แล้วก็เอามาซื้อขายกันอุตลุดปี้ป่นไปหมด 

ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่ได้เป็นของใคร แม้กระทั่งของราชการ ...ราชการก็บอกว่าของกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ไอ้ชาวบ้านก็บอกว่าผมมี สทก.1 ผมมี ภบท.5  ก็ทะเลาะกัน 

แต่ถ้าผืนดินพูดได้มันก็บอกว่า “มึงบ้ากันรึเปล่า กูเคยบอกมั้ยว่ากูเป็นของใครเลย”

เนี่ย กายนี่คือก้อนดินนั่นน่ะ ...แต่ตอนนี้พวกเราก็ว่าถือโฉนด...ครอบครองแบบเป็นโฉนดอยู่นะ ...เออ ถ้าเป็น สทก.  ภบท. ยังพอหวาดระแวงว่าเดี๋ยวกูจะถูกไล่รึเปล่า ...แต่นี่มันแบบ “กูถือโฉนดอยู่นะ”

ก็จนกว่ามันจะละเลิกเพิกถอนสิทธิการครอบครองในตัวของมันเองน่ะ ... ทีนี้ยุ่งล่ะสิ ไม่มีที่อาศัยแล้ว “เรา” เนี่ย ยุ่งเลยนะ “เรา” ไม่มีที่อยู่แล้วนะ “เรา” ก็กลายเป็นผีเร่ร่อน เริ่มไม่มีที่อยู่แล้วเรา เห็นมั้ย การอ้างสิทธิ์ในขันธ์ จากความไม่รู้

ถามว่าทำไมเราพูดถึงดินแล้วมันเป็นเรื่องเดียวกันได้ล่ะ ...เห็นมั้ยว่าธรรมนี่เป็นเรื่องเดียวกันนะ มันไม่ได้แตกต่างกันเลย  ฟังดูเหมือนกับเป็นคนละเรื่องกันนะ แต่จริงๆ ก็เหมือนกันนั่นแหละ 

ไม่ต้องไปพิจารณาอะไรซับซ้อนเลย มันเรื่องเดียวกัน จะหยิบยกอะไรมันก็เรื่องเดียวกันหมดน่ะ คือ...เป็นการถือครองกรรมสิทธิ์โดยที่ไม่มีสิทธิ์ ในขันธ์และโลก

จะทำยังไงจะไม่ให้มันถือครองได้อีก ...วิธีแก้พระพุทธเจ้าบอกว่า  ถ้ามันไม่มี “เรา” น่ะ มันจะมีใครอ้างสิทธิ์เล่า หือ 

แต่ถ้ายังมี “เรา” อยู่ ...ถึงจะห้าม หรือจะบอกว่า เออ ห้ามเราไปอ้างสิทธิ์นะ แต่ "เรา" ยังมีอยู่เมื่อไหร่ ...เดี๋ยว อย่าเผลอนะ เดี๋ยวกูอ้างจนได้น่ะ

นี่แหละที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดแต่เหตุ พระตถาคตสอนให้เห็นธรรมที่เข้าไปสู่ความดับที่เหตุนั้นๆ

จำให้แม่น จำให้มั่น ในหลักการภาวนา จะได้ไม่ผิดพลาดจากการภาวนา  

มันอาจจะได้ผลที่มันเป็น accessory อะไรบ้าง  มันก็มีน่ะ แต่อย่าไปบ้ากับมัน อย่าไปจริงจังจนลืมเนื้อลืมตัว ลืมกายลืมใจ ลืมศีลสมาธิปัญญาที่กำลังเพาะบ่มอยู่ 

เนี่ย ยังอยู่ในขั้นที่เรียกว่าเพาะบ่มอยู่ เอามาใช้งานยังแทบไม่ได้เลย ...คือ ถ้ามันใช้งานได้แล้ว มันก็คงไม่ต้องมาหาเรา แล้วไม่ต้องมาฟังเราหรอก 

เพราะนั้นอนุโลมได้โดยที่ไม่ต้องมีเจโต....ว่ามันยังไม่ได้ใช้งานได้ (โยมหัวเราะกัน)  มันอยู่ในขั้นเพาะบ่มอินทรีย์  ศีลยังไม่มี ยังไม่พอ สมาธิยังไม่พอ ปัญญายังไม่เดินเต็มตัวเต็มสูบ

รถมันมีสี่สูบ มันวิ่งได้แค่ครึ่งสูบ วิ่งไปสำลักน้ำมันบ้างสำลักอากาศบ้างเพราะไม่สมดุล มันกึ่กๆๆๆ มันก็เลยไปไม่ถึงไหน แวะข้างปั๊ม ข้างถนน ข้างร้านค้า ข้างป่าเหวดงดอยที่ไหนไม่รู้

บ่มไว้ๆ รู้ตัวเข้าไว้ๆ  มีอะไรเกิดขึ้น...รู้ตัว ไม่มีอะไรเกิดขึ้น...รู้ตัว กำลังโกรธ...รู้ตัว กำลังทำอะไร...รู้ตัว  กำลังถูกด่าก็รู้ตัว กำลังโดนด่าหรือกำลังด่าเขาก็รู้ 

เนี่ย เอารู้ตัวเข้าไว้ ...ไม่ว่ามันจะเกิดเหตุการณ์อะไร บ้าบอคอแตกขนาดไหน ดีร้ายถูกผิด รับได้-รับไม่ได้ขนาดไหน ...รู้ตัวเข้าไว้

เอาศีลสมาธิปัญญา อยู่กับศีลสมาธิปัญญาเป็นรากฐาน เป็นหลักเข้าไว้ ...ไม่ต้องไปนึกหาคำภาวนาในขณะนั้นหรอก รู้ตัวเข้าไว้ ... เอาง่ายๆ นี่เขาเรียกว่าบ่มๆๆ บ่มอินทรีย์ บ่มๆๆ บ่มศีลสมาธิปัญญา หมักไว้

ให้มันได้ที่ ...เหมือนบ่มไวน์ ถ้ามันไม่ได้ที่ ไม่ได้เวลา มันก็กินไม่ได้ มันไม่ได้ราคา  มันต้องได้ที่ ยิ่งนานยิ่งเก่า อย่างบรั่นดีนี่ ...นี่ต้องหมักบ่มอย่างนาน แบบซีลแบบสนิทเลยนะ น้ำไม่เข้าอากาศไม่เข้า เชื้อราหรืออะไรต่างๆ ไม่เข้า นั่นน่ะมันถึงจะมีคุณค่าขึ้นมา

ไอ้นี่บ่มยังไม่ทันถึงวันก็จะเอามากินแล้ว ว่าใช้ได้แล้ว ...มันมักง่ายๆ 

อย่ารีบใช้ ...อย่าเพิ่งไปอาจหาญต่อโลก อย่าเพิ่งไปอาจหาญต่อกิเลสในโลก อย่าเพิ่งไปอาจหาญต่อคนในโลก ...ไม่งั้นกลับมานี่ซิบๆ จนถึงแขนขาดหัวหลุดกระเด็นเลยน่ะ 

ให้มันได้ที่ ...ทีนี้ อาจหาญในธรรม มันมีความอาจหาญอยู่ภายใน ...หมายความว่าอะไร อะไรจะเกิด...ไม่กลัว อะไรที่คาดแล้วไม่เป็นดั่งคาด...ไม่กลัว อะไรที่หมายแล้วไม่เป็นดั่งที่หมาย...ไม่กลัว ไม่ว่าจะเกิดอะไร ไม่กังวล ...นี่อาจหาญ

ไม่ต้องมานั่งคิด นอนคิด ยืนคิด กังวล ก่อนที่จะไป ก่อนที่จะทำ ก่อนที่จะไปเจอ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์   แต่มันอาจหาญ อยู่ตัว ...นี่เขาเรียกว่าไม่กลัวกิเลส

พอถึงขั้นที่ว่าไม่กลัวกิเลส มันจะตรงข้ามกันคือ...กิเลสกลัว  กิเลสนี่หลบเลย หลบลี้หนีหายเลย ... ต่อให้เป็นกิเลสภายนอก ต่อให้เป็นกิเลสภายในก็ตาม

มันกลัวหมด กระเด็นกระดอน เข้ามาไม่ถึง  ละลายหาย สลายสิ้น ตั้งแต่กระทบ ตั้งแต่เห็น ตั้งแต่ได้ยิน ตั้งแต่หูตาจมูกลิ้น  เข้าไม่ถึง พลานุภาพของศีลสมาธิปัญญา...ที่ดีแล้วนะ ...นี้หมายถึงได้ที่ดีแล้วนะ

ก็สร้างขึ้นเอง ทำขึ้นเอง เจริญขึ้นเอง เป็น อัตตาหิ อัตโน นาโถ  คร่ำเคร่งอยู่ภายใน เพียรเพ่งอยู่ภายใน ขวนขวายอยู่ภายใน อย่างนี้แหละ นึกน้อมอยู่ภายใน ทำความรู้ทำความเห็นอยู่ภายใน ...จำคำเหล่านี้ไว้เถอะ มันสอนจิตได้

คอยสอนไว้ อย่าให้มันไปรู้ภายนอก อย่าให้มันไปฝากผีฝากไข้กับภายนอก อย่าให้มันไปหมายมั่นกับอะไรภายนอก ...ทั้งที่จับต้องได้ ทั้งที่จับต้องไม่ได้ 

จับต้องได้คือต่อหน้าในปัจจุบัน จับต้องไม่ได้คืออดีตอนาคต ...อย่าไปหมาย อย่าไปมั่น อย่าไปฝาก อย่าไปเอามาเป็นธุระจนถึงขั้นลืมเนื้อลืมตัว

ถ้าอยู่ในลักษณะกิจวัตรอย่างนี้ นิสัยอย่างนี้ ...อานิสงส์ของศีลสมาธิปัญญา ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรม  คำว่าธรรมย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรม คือธรรมที่เรียกว่าศีลสมาธิปัญญานี้เอง

ไม่ต้องกลัวลำบาก ไม่ต้องกลัวว่าจะอยู่กับโลกไม่ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีแต่เรื่องมากขึ้น ...มันจะเป็นไปตามสภาพธรรม ครรลองธรรม สมควรแก่ธรรม ตามเหตุตามปัจจัยแห่งการปรากฏของธรรมนั้นๆ

ข้าศึกของพวกเราส่วนมากตอนนี้คือความเผลอ ลอย หาย ...ไอ้เรื่องความคิด ไอ้เรื่องความทุกข์ ไอ้เรื่องอารมณ์ มันยังพอเห็นพอทันในขณะนั้นได้ ...แต่พอมันไม่มีอะไรแล้วนี่ มันจะหาย มันไม่อยู่ มันไม่มีรู้อยู่ มันไม่มีกายอยู่ 

ตรงเนี้ยมันเป็นรอยโหว่ของสัมปชัญญะ ของความต่อเนื่องในสติ ของความต่อเนื่องในกายในศีล ...มันก็เหมือนกับเป็นถ้วยน้ำ โอ่งน้ำ ที่มันรั่ว ...มันไม่เต็ม 

ก็ต้องอุด ...จะยากจะขนาดไหนก็ต้องอุดรอยรั่วเหล่านี้ให้ได้  อย่าปล่อยให้เผลอ ให้เพลิน ให้หาย รีบกำชับสติสมาธิขึ้น ระลึก ตั้งมั่น ทุกครั้งที่เผลอ ทุกครั้งที่หาย ...อย่าปล่อยให้มันลอย อย่าไปอยู่กับอารมณ์เลื่อนลอย

คืออารมณ์ทุกอย่างน่ะ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ว่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์สบาย ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์สุข ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โปร่งเบา ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดี ...อย่าไปเกลือกกลั้วอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น

ทำความรู้กายไว้ ทำความรู้ทำความเห็นกับกายไว้ จนชำนาญ จนยืนหยัดมั่นคง ยืนยาวคราวไกลในสติในกาย ในสติในรู้  มรรค...ที่เรียกว่าจะเป็นทางเดินในมรรคคือปัญญานี่...มันจึงจะเดินได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ใช่แหว่งๆ วิ่นๆ เห็นบ้างบางขณะ 

บอกแล้วถ้ามันเห็นด้วยความต่อเนื่องในกาย...นี่เหมือนกับรูปปั้น เหมือนกับหุ่นกระบอก  แล้วมีผี...เหมือนผี คือใจนี่สิงอยู่ เป็นรู้เป็นเห็น คู่กันอยู่อย่างนั้น และต่างคนต่างเป็นอิสระซึ่งกันและกัน

บ่มให้มันพอ บ่มให้มันเต็ม บ่มให้มันได้ที่ บ่มอินทรีย์ ...ช้าก็ช่างมัน เร็วก็ช่างมัน ไม่ต้องไปนึก ไม่ต้องไปหาวิธีมาช่วย  

พอมันเริ่มคิด...ไม่เอา ๆ พอมันเริ่มจะหาอะไรที่ใหม่กว่าดีกว่า...ไม่เอา หาอะไรที่มันถูกกว่า...ไม่เอา นี่ คิดทั้งนั้นเลย...ไม่เอา

กล้าละ...ความคิดของเจ้าของ  กล้าละ...ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ที่นอกเหนือจาก “นี้” ไป ... ต้องกล้า ต้องละ ความรู้ในกายจึงจะเกิดความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย ไม่เว้นวรรคขาดตอน

ทำกายให้ไม่เว้นวรรคขาดตอนให้ได้ นี่คืองานหลักของทุกคน คือการเติมศีลให้เต็มนั่นเอง สมาธิก็จะเขยิบขึ้นเหมือนเงาตามตัว ศีลมี...สมาธิเกิดเท่านั้น ศีลเท่าไหร่...สมาธิเท่านั้น 

จิตก็จะแนบแน่นมั่นคงอยู่ภายใน ตั้งมั่นอยู่ภายใน  หลังจากตั้งมั่นแล้ว อาการรู้อาการเห็นจะชัดเจนขึ้นตามลำดับ ...นั่นหมายความว่าศีลสมาธินี้เพียงพอแก่การเกิดปัญญา เพียงพอแก่ญาณปัญญา

อย่าไปเปลี่ยน อย่าไปโลเลในวิธีการ ทำกายให้แจ้งในที่เดียว แจ้งหมดในธรรม  มันจะแจ้งเอง มันจะเข้าใจเอง 

ซึ่งตอนนี้มันจะรู้สึก อาจจะรู้สึกบ้างว่า “มันจะเข้าใจได้ยังไงวะ มันจะไปแจ้งในเรื่องทั้งหมดสามโลกธาตุได้ยังไงวะ กูมองไม่เห็นทางเลย ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย”...ตามตรรกะนะ

แต่เอาเหอะ เชื่อพระพุทธเจ้าไว้ก่อน จิตหนึ่งกายหนึ่ง เอโกธัมโม เอกังจิตตัง เข้าสู่จิตเอกก็เข้าถึงธรรมเอก ซึ่งเป็นธรรมเดียวทั้งหมดเลย ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากนี้เลย 

ทุกคำพูดทุกคำกล่าวที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ แล้วเหล่าสาวกจารึกตามมาด้วยความจดจำคำพูด ไม่มีคำว่าผิดพลาดคลาดเคลื่อนเลย 

ปริยัติที่ท่านตราไว้พูดไว้ ในที่ต่างๆ ในสถานการณ์ต่างๆ ในบุคคลต่างๆ ไม่มีอะไรที่มาขัดแย้งกันในองค์ศีลสมาธิปัญญา ในองค์มรรค ในคำพูดของท่านเลย

แต่ไอ้ปัญญาในระดับของพวกเรานี่คือปัญญาแบบหัวไอ้เรืองน่ะ ...มันจะหาช่องโหว่ ช่องขัดแย้ง ช่องที่ว่าไม่เหมือนกัน ช่องที่มาลบล้างกันอยู่ตลอด 

แต่ถ้าเข้าไปถึงมรรคจริงๆ แล้ว เข้าถึงผลจริงๆ แล้ว ...ทุกการกระทำคำพูด ทุกสิ่งที่ท่านสอน เป็นปัจจัยสนับสนุนซึ่งกันและกันตลอด ทุกบททุกบาท

นั่นแหละ เอ้า ตามนี้ พอได้กำลัง แล้วก็ไปทำกันเอาเอง


..............................



แทร็ก 12/11


พระอาจารย์
12/11 (560922B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 กันยายน 2556



พระอาจารย์ –  เราเคยเปรียบแล้วไงว่า...ถ้าหมามันมากัดกันหน้าบ้านนี่ แล้วก็ได้ยินเสียงมันกัดกัน ไม่ต้องออกไปดูมัน แล้วแกล้งทำเป็นไม่สนใจมัน นั่งก็รู้ว่านั่ง เสียงก็หายไป

แต่ถ้าไม่รักษากายไว้ ไม่รักษารู้กับกายไว้ ...มันจะหันไปมองก่อน แล้วก็ลุกไปดู  แล้วก็ไปเห็น ว่ามันกัดคน ...นั่นเริ่มแล้ว เริ่มมีความรู้มากขึ้นมาแล้วนะ ว่า "เอ๊ะ คน"

แล้วก็ออกไปถามว่า “เดินยังไงให้หมากัด”  คนมันก็จะตอบว่า “มึงเลี้ยงหมายังไงให้หมามากัดกู” แน่ะ เอาแล้ว จะได้เรื่องแล้ว เข้าใจมั้ย...เพราะส่งออกนอก เพราะรู้มากเกิน 

แต่ถ้านั่งอยู่ตรงนี้ ความรู้จะจบอยู่แค่รู้ว่า “เสียงหมากัด” ...จากนั้นมาจะมีอะไรเกิดขึ้น ช่างหัวมัน  ถ้ามันมาเอาเรื่องมันมาหาเอง (โยมหัวเราะกัน) หรือมันไม่มาก็ไม่ต้องไปหาเรื่อง ...นี่ อยู่อย่างนี้

แต่ว่าจิตนี่มันจะดิ้น ดีดออกไป ...เข้าใจว่ามันดีดออกไปหาความรู้ภายนอกมั้ย ให้เกิดความลึกซึ้งเลยว่า “มันกัดไปกี่เขี้ยววะ แล้วมันกัดแล้วมันเจ็บขนาดไหน เลือดมันออกซิบๆ หรือว่าเนื้อติดไปด้วย” ... เนี่ย คือยืดยาวนะ คือความยืดยาว

แต่ถ้านั่งอยู่เฉยๆ แล้วก็ได้ยินแค่เสียง แล้วก็พยายามรักษาอาการรู้ว่านั่งไว้ มันจบนะ...ตรงนี้มันจบ  มันไม่มีความรู้อะไรเพิ่มมา ... แต่ไอ้ความอยากรู้นี่มี...มีแน่ๆ เข้าใจมั้ย  มันพึ่บๆๆ ...มันจะไป


โยม –  อยากจะไป

พระอาจารย์ –  อยากจะลุกไปฟัง...แบบไปให้มันถ่องแท้ ให้มันรู้แจ้ง ให้มันแทงตลอด ในการกัดกันของหมานั้น ... คือ...มันจะไปแทงตลอดในการกัดของหมาทำไม (โยมหัวเราะกันหึๆ)

ก็ถามว่าถ้ามันไปแจ้งแทงตลอดในการกัดของหมานี่ มันเข้ามรรคผลได้มั้ย ...เออ ถ้ามันได้มรรคผลจากการเข้าไปแจ้งในการกัดของหมานั้นน่ะ ไปเหอะ อยากไปก็ไปเลย จะสนับสนุน ...แต่นี่มันไม่แจ้งในมรรคและผล

แต่การที่ไม่ไปรู้กับมันนี่ ไม่ต้องไปรู้ความเป็นจริงของมันนี่ ...แต่มารู้ความเป็นจริงของนั่งนี่ อันนี้ได้มรรคผล...ยืนยัน ...ไม่ใช่ยืนสิ นั่งยัน...ว่าต้องเป็นอย่างนี้

แต่คราวนี้ว่า นิสัยนี่  ไอ้คำว่านิสัยที่มันอยากรู้อยากเห็น แล้วมันเข้าใจว่าความรู้ความเห็นที่ได้นั้นน่ะเรียกว่าไม่โง่ ฉลาด ...แล้วมันก็เลยเหมาตีขลุมว่าเรียกว่าปัญญา แล้วมันจะเกิดความแตกฉาน รู้รอบ

ฟุ้งนะ เรื่องราวต่างๆ นี่...แทนที่วันหนึ่งจะมีสักหนึ่งเรื่องสองเรื่อง  มันก็มีเพิ่มมาอีก ทับถมมาอีก ให้ต้องคิดต้องจำ ให้ต้องกังวล ให้ต้องมีธุระ ให้ต้องไม่จบธุระได้ง่ายๆ

คือถ้าพูดในภาษาคนโลก มันก็เหมือนไอ้อย่างที่เรามาทำมาภาวนาอย่างนี้ เขาก็มองว่ามันประเภทเอาแต่ตัวรอดนี่หว่า เห็นแก่ตัว


โยม –  ใช่

พระอาจารย์ –  ก็พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เห็นแก่มึงนี่ (หัวเราะกัน)  พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นแก่ตัว คือ...อัตตาหิ อัตโน นาโถ ...ถ้าไม่เอาตัวให้รอดเสียก่อน จะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร

ตาก็บอด หูก็หนวก เดินก็หลังค่อม  แต่ไปแบกคนนี่เป็นขบวนรถบัสเลย  ซึ่งไอ้คนที่เดินตามนี่ก็ตาบอด หูหนวก หลังค่อมเหมือนกันน่ะ ...มันจะไปไหนกัน ไม่รู้นะ  ถามว่าไปไหนกัน เราบอก...ไม่รู้นะ

ทำตาให้มันตื่นก่อน เดินให้มันตรงก่อน หลังอย่าค่อม แค่นั้นแหละ ...ถ้าลืมตาได้ เดินตรงได้นี่ พูดได้...พอประมาณ  ...ถ้าพูดได้ไม่จำกัดนี่ หมายความว่า...จบแล้ว

แต่เพราะมันยังมีงานค้างอยู่ ... อนากุลา จ กมฺมนฺตา การงานไม่คั่งค้าง เป็นมงคลอย่างยิ่ง ไปอ่านดู มงคล ๓๘  เริ่มตั้งแต่ อเสวนา จ พาลานํ ...เจอแค่ อเสวนา จ พาลานํ  ก็ตายตั้งแต่บทแรกแล้ว (หัวเราะกัน)

จิตนี่ คือ พาลานํ  ...มันพาออกไปพาลหาเรื่อง โดยสร้างเรื่องนั้นน่ะ รูปของเรื่อง ลักษณะของเรื่องนั้นว่าเป็นกุศล เป็นของดีงาม เป็นของสวยงามก็ได้ ... แต่ถ้าเป็นภาษาเรา เราเรียกว่าเป็น พาลานํ ...เป็นพาล

แต่พวกหมู่เราหมู่ชนนี่ หรือหมู่ผู้ปฏิบัติ  มักจะคบคนพาลเป็นมิตร เป็นเพื่อนคู่คิด เป็นมิตรคู่กาย เป็นเพื่อนตายเพื่อนเป็น ...ให้ความสำคัญยิ่งกว่าศีลสมาธิปัญญา

การไม่คบคนพาล คือไม่เข้าไปข้องแวะเกาะเกี่ยว ไม่เข้าไปร่วมรู้ร่วมเห็น สมคบคิด ร่วมคิด สุมหัวกันไปปล้น สุมหัวกันไปจี้ชิง สุมหัวกันไปลักขโมย สุมหัวกันไปเมามายในอารมณ์ในโลกทั้งหลายทั้งปวง 

นี่เขาเรียกว่ามันเข้าไปสุมหัวกัน หรือภาษาเรียบร้อยก็เรียกว่า...เกิดภาวะเกลือกกลั้วมัวเมา หรือลุ่มหลงมัวเมาไปกับความคิด

เพราะนั้นจุดแรก มงคลข้อแรกเลย อเสวนา จ พาลานํ  ถ้าไม่คบพาลแล้ว จิตมันก็จะตั้งอยู่ในที่อยู่ในฐานปัจจุบัน  ...ซึ่งเดี๋ยวมันก็มาอีกคนพาลน่ะ มันเกาะเกะๆ กะๆ เก้ๆ กังๆ เดี๋ยวก็มาอีก ทั้งพาลนอกทั้งพาลในนะ

พาลภายนอกก็การกระทำคำพูดของสัตว์มนุษย์ ...เพราะมนุษย์ที่ล้อมรอบเรา ก็คือมนุษย์ที่มีกิเลส มนุษย์ผู้อยู่ด้วยความไม่รู้  การกระทำคำพูดก็แสดงมาจากความไม่รู้ ก็คือกิเลสล้วนๆ นั่นแหละ ...นั่นกิเลสภายนอก

แล้วตัวเองก็กิเลสเต็มหัวเลย ...ก็กิเลสภายใน คือความคิดความเห็นของตัวเองนั่นแหละ เห็นมั้ยว่า มันอยู่ในดงพาลเลยนะ 

การเกิดมาในโลก ในสามโลก เหมือนกับเกิดมาในหมู่คนพาล ...นานๆ จะมีอริยะเยี่ยมมา ส่องแสงมา ให้มันโงหัวเงยหน้าเงยตาขึ้นมา รับแสงสว่าง ...เหมือนพระมาลัยมาโปรดสัตว์นรกน่ะ

แต่สิ่งแวดล้อมนี่พาลทั้งหมดเลย ...แม้กระทั่งอยู่คนเดียวไม่เจอใคร จิตมันก็เป็นพาล หาเรื่องให้ออกนอกอยู่ตลอด  ให้มีให้เป็น น่าจะมี น่าจะเป็น ต้องมีต้องเป็นให้ได้ ต้องได้ 

นั่งภาวนาอยู่ดีๆ มันก็ว่า “ต้องให้ได้ๆ” มันจะบ้าหรือไง “ถ้าไม่ได้แล้วกูจะโกรธเลยนะเนี่ย  ถ้าวันนี้ทำแล้วไม่ได้ผลนี่จะเลิกทำแล้ว”  เนี่ย บีบบังคับมันเหลือเกิน

ละ วาง ...อย่าไปข้อง อย่าไปแวะ อย่าไปซ้องสุมกับมัน  ถึงแม้มันจะมาอยู่ตลอดเวลาก็ตาม มันจะมาชักชวนอยู่ตลอดเวลาก็ตาม ...ให้มองไว้ว่านี่ “พาล” หาเรื่อง มันหาเรื่อง มันจะพาให้เราไปเกิดเรื่อง 

ดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่เอา เอาแต่นั่งกับรู้ ...อันนี้เอาได้ เอามันให้มาก เอามันเข้าไปๆ ...ดีกว่านี้ก็ไม่เอา ชั่วกว่านี้ก็ไม่ไป

ลองกันดู...หลายๆ ตั้งหน่อย  หลายๆ วัน หลายๆ เดือน หลายๆ ปี  จนมันเป็นเส้นตรง ไม่ออกจากนั่งนอนยืนเดินเลย  ...แล้วดูซิ ลองดูซิว่าผลมันจะเป็นยังไง 

ให้มันลองกันจริงๆ ให้มันทำกันจริงๆ ดูซิ ... อย่ามาเล่นๆ อย่ามาตะขิดตะขวงใจ อย่ามาแค่พอเป็นพิธี

ถ้ามันลองกันจริงๆ ทำกันจริงๆ นี่ ลองดูสักหนึ่งปี ลองดูสักหนึ่งเดือน  ดูสิว่าถ้ามันจะรู้กายโดยที่ไม่สนใจเรื่องอื่นเลยจริงๆ นี่ มันจะเป็นผลยังไงบ้าง  

อย่ามัวแต่คิด อย่ามัวแต่เอาข้อมูลมาประมวลหรือว่ามาวิเคราะห์ อนาไลซ์ (analyze) ว่าถ้าอย่างนี้แล้วมันจะเป็นอย่างนี้มั้ย...อย่า  ตรงนี้วางไว้เลย ...ถ้าไลซ์เสร็จก็ไหลเลยน่ะ

มัวแต่วิเคราะห์ มัวแต่นั่งรอ มัวแต่คิดว่า คิดว่าๆ อยู่นั่น ...ทำมันลงไปเลย ไม่ว่าใครสำนักไหนจะว่ายังไง ไม่รู้น่ะ  เอาอย่างนี้ๆๆ นอกจากนี้ไม่เอา ...ลองมันสักเดือนนึงก็ไม่น่าจะช้าเกินไปหรอกมั้ง ถ้ากลัวตามคนอื่นเขาไม่ทันน่ะ

ลองดูสิ ทำดูสิ...แต่เอาให้จริงนะ ... ทีนี้มันหายสงสัยเองแหละ มันไม่ได้หายสงสัยเพราะถูกเราบังคับ แต่มันจะหายสงสัยในตัวของมันเองว่า...ที่พระพุทธเจ้าพูดนี่จริงอย่างไร

ศีลจริงอย่างไร สมาธิจริงอย่างไร มันเนื่องกันจริงอย่างไรมันเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อกันอย่างไร ศีลสมาธิปัญญา แล้วก็ปัญญามารักษาสมาธิศีลอย่างไร ...ทีนี้มันไม่ต้องถามใคร มันไม่ต้องรอให้ใครมาชี้บอกว่าอย่างนี้ถูกอย่างนี้ผิดแล้ว

แต่เพราะมันทำแบบละล้าละลัง ไม่เอาจริงเอาจังลงไปในที่เดียวฐานเดียว ...นึกดูให้ดี ไม่มีพระอริยะสายหลวงปู่มั่นองค์ไหนที่ไม่พิจารณากายนะ ทั้งในแง่ที่เป็นอสุภะ หรือทั้งในแง่ที่เป็นกายคตาสติ เป็นเบื้องต้น เป็นท่ามกลาง จนที่สุด

มันเป็นประเพณี มันเป็นอริยะประเพณี ไม่ใช่ปุถุประเพณี หรือว่าจารีตธรรมเนียมนะ ...แต่เป็นอริยะวิสัย เป็นอริยะธรรมเนียม เป็นอริยมรรค เป็นอริยปฏิบัติ 

ท่านไม่ล่วงเกินศีลสมาธิปัญญา ท่านไม่ก้าวข้ามศีลสมาธิปัญญา ท่านไปตามอริยประเพณี เป็นธรรมเนียม ท่านไม่ล่วงเกินคำกล่าวสอนของพระพุทธเจ้าเลย

เพราะท่านทำแล้ว ยิ่งทำท่านยิ่งเชื่อว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ แล้วสองพันห้าร้อยกว่าปี  ไม่มีแตกคอกนอกคอกออกเลยจากศีลสมาธิปัญญา 

นี่ไม่ใช่เรื่องสำนัก เราไม่ได้พูดเรื่องสำนักเลยนะ ...เราพูดการปฏิบัติในแนวทางของมรรคนี่ จะไม่นอกคอกจากศีลสมาธิปัญญาได้เลย แล้วมายืนประกาศก้องกับโลกว่าจบแล้วสิ้นแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ

ท่านถึงเรียกว่าเพชรน้ำเอกหรือทองน้ำหนึ่ง ทองบริสุทธิ์มีค่าขึ้นมา แล้วไม่มีทางคืนเดิม ...เหมือนนมกับเนย ถ้ามันได้เป็นเนยแล้วไม่มีทางกลับเป็นนม จะไปทำยังไงมันก็ไม่มีทางเป็นนมเหมือนเดิม แต่นมน่ะทำให้เป็นเนยได้ แต่ถ้าทำให้เป็นเนยแล้ว ไม่มีทางกลับเป็นนม

จิตของอริยะเหมือนกัน มันจะต้องยืนยันในความเป็นอริยะจิตนี่ได้ด้วยตัวตนของมันเอง  ไม่ใช่ให้ใครมายืนยันให้แทน ไม่ใช่ไปอ่านเอาตำรามายืนยันให้ ...มันจะต้องเป็นปัจจัตตัง มันชัด

มันชัดในตัวของมันเองว่าอะไรคืออะไร กายคืออย่างไร ไม่ใช่เราอย่างไร  สมาธิคืออะไร สงบคืออะไร มันเนื่องกันอย่างไร มันประกอบกันอย่างไรแล้วมันทำให้เกิดการรู้การเห็น ความเป็นจริงคืออะไร ความไม่จริงคืออะไร แล้วมันทิ้งความไม่จริงออกได้ขนาดไหน

โดยอาศัยปฏิกิริยากระทบ หรือผัสสะที่มาแวดล้อมนี่แหละ หรือว่าเหตุการณ์ความเป็นไปในโลกในขันธ์นี่แหละ เป็นแบบทดสอบ ทั้งมิดเทอม ทั้งเอนทรานซ์ หรือว่าจะได้แค่สอบซ่อม

พอถึงขั้นเอนทรานซ์ก็รู้ด้วยตัวของมันเองว่าเอนทรานซ์ แล้วกู...ไม่ติด หรืออ้อ ติด  มันจะต้องรู้ด้วยตัวของมันเองอย่างนี้แหละ  โดยอาศัยนี่ สิ่งแวดล้อมนี่ ที่เป็นที่อยู่ ที่เสพ ที่ใช้ ที่ข้อง ที่เกี่ยว ที่แตะ ที่กระทบ

ถ้ามันดำรงมั่นอยู่ในองค์มรรคนี่ มันจะเห็นเลยว่า คืบ วา กระเบียด หุน ขณะ ไม่มีเคลื่อนเลย  เห็นน่ะ เห็นเองนะ มันต้องเห็นเองนะ ...อย่ามาถามนะ ว่าหนูอยู่ไหน หนูได้ไหน หนูถูกมั้ย หนูยังมีกิเลสอยู่มั้ย ...อย่ามาถาม เดี๋ยวเจอ

จนกว่ามันจะชัดเจนในองค์มรรคแล้วมันจะประเมินแบบทดสอบได้เลยว่า ตก, พอใช้, ผ่านว่ะ ...ซึ่งจะ...เอ๊ะผ่านจริงรึเปล่า ...เอ๊อ ผ่านว่ะ ...เอ ผ่านจริงหรือเปล่า ...เฮ้ย ผ่านแน่ๆ ว่ะ 

นี่ มันจะต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในการเห็นในการได้ยินเรื่องราวเก่าๆ คนหน้าเดิมนี่ อารมณ์เดิมนั่นแหละ ชัดเลย มันจะชัดเลยว่า...จิตนี่มันเคลื่อนไปตกในฟากอัตตะ กามะ หรือเปล่า อย่างไร

แล้วในระหว่างท่ามกลางที่มันเดินอยู่โดยความเป็นปกติ มันก็มีความถ่องแท้ ในอาการทั้งสองสิ่ง กายคืออะไร ใจคืออะไร ในตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลา ลึกซึ้งลงไปๆ เรื่อยๆ... จน “เรา” นี่ จนความรู้สึก “ของเรา” นี่ จนความเป็น “ตัวเรา” นี่ มันหาย หาไม่เจอ

อย่าว่าแต่ในขันธ์...ในสามโลกธาตุยังหา “เรา” ไม่เจอเลย  ...อยู่ในมรรคนี่แหละ อยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา รู้โง่ๆ กับกายโง่ๆ นี่แหละ  จนหา “เรา” ไม่เจอในสามโลกธาตุ อย่าว่าแต่ในขันธ์เลย

เมื่อมันหา “เรา” ไม่เจอในสามโลกธาตุหรือในขันธ์แล้วนี่ ...มันจะมี “เรา” ไปยินดีตรงไหนเล่า มันจะมี “เรา” เข้าไปยินร้ายกับอะไรเล่า ...ต่อให้ขันธ์ตัวนี้มันแตกตายต่อหน้า มันยังไม่มี “เรา” เข้าไปยินดีหรือยินร้ายเลย 

เหมือนไม่ใช่เรื่องของใคร เหมือนไม่ใช่เรื่องของเรา เหมือนเป็นอะไรอย่างนึงที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ  เป็นกลางๆ แล้วมันแสดงอาการเหล่านี้ออกมา

เนี่ย คือผลแห่งการปฏิบัติในองค์มรรค ...ไอ้นอกเหนือจากผลที่ได้จากองค์มรรคตรงนี้นะ ไอ้นั่นเขาเรียกว่า accessory จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร

แต่ถ้าได้ไอ้ผลอย่างนั้นแต่ไม่ได้ผลอย่างนี้ อย่ามาพูดว่าเป็นนักปฏิบัติ ...และไอ้สิ่งที่มันได้นอกเหนือจากผลอันนี้ มันไม่สามารถจะมาช่วยให้เกิดผลอันนี้ได้ด้วย 

เพราะว่ามรรคเป็นทางเอก เป็นทางสายเอก จะต้องเดินอยู่บนเส้นทางเดียว จะต้องเดินอยู่บนวิธีเดียว ไม่มีวิธีอื่น ...คือศีลสมาธิปัญญาในปัจจุบัน

เหล่าพระอริยะนี่ก็กล่าวขานสืบทอดเป็นตำนานมาสองพันห้าร้อยกว่าปี ก็อยู่ในแวดวงอย่างนี้ ...ไอ้เครื่องทรงนี่คือไอ้ accessory เพิ่มเติมอะไรนี่อีกเรื่องนึง  แต่มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องโต ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปขวนขวายอะไรกับมัน

ไอ้ที่ควรขวนขวายคือตรงนี้ ตรงนี้...ว่ามันนั่งอยู่มั้ย อะไรมันนั่ง การนั่งเป็นใคร มันมีอะไรแฝงเร้นอยู่ในการนั่งนี้มั้ย ...ไอ้นี่ต้องขวนขวาย ต้องทำความสำเหนียก ต้องทำความโยนิโส ต้องทำความนึกน้อม โอปนยิโกอยู่เสมอ มรรคจึงบังเกิด มรรคจึงชัดเจน

เมื่อมรรคบังเกิดชัดเจนขึ้น มันจะชัดเจนในความที่อะไรไม่ใช่มรรค อะไรออกนอกมรรค ...คือความสุดโต่งไปในทั้งสองข้างนั่นเอง คือจิตที่มันไพล่ไปทางยินดีบ้างยินร้ายบ้าง ดีใจเสียใจ เป็นสุขเป็นทุกข์นี่แหละ...กับอะไร ทำไม เพราะอะไร

มันก็จะเห็นเองว่า อ้อ ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์  จะไปบ้าอะไรกับมันนักหนา ถอย...ไอ้เสือถอย  จิตมันก็หดกลับมา “...อ้อ ไม่มีอะไร ...เออ ไม่มีอะไร  ...อ๊ะ ไอ้นี่ยังมี กูไม่ถอย”  ก็เห็นว่าโง่อยู่

แต่ก็เห็นแล้วก็รู้ว่ายังโง่อยู่นะ มันจะเห็นด้วยความจำใจหรือว่าจงใจหรือว่าเจตนาจะให้มันอยู่อย่างนั้น ...คือกูออกไม่ได้เอง ยังออกไม่ได้ เพราะว่ากูยังให้ค่าว่ายังมีอะไรอยู่ในนั้น ยังบ้าอยู่ ...นี่รู้อยู่ รู้ตัวด้วยว่ากูยังยึดอยู่

นี่ อย่างความเมื่อย อ่ะ เอาง่ายๆ ใกล้ๆ ...ก็มันยังเมื่อยอยู่นี่หว่า ก็ “เรา” ยังเมื่อยอยู่นี่หว่า เห็นมั้ย...เห็น ก็รู้ว่าติด ติดก็รู้ว่าติดอยู่  ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ต้องไปบังคับให้มันออกจาก “เรา” ตรงนี้ ...ก็มันออกไม่ได้ ปัญญามันยังไม่ถึง

ก็บอกว่าเตรียมอนุบาล จะไปเอาปัญญาขั้นปริญญาโท มันจะออกได้อย่างไรจากกายเราเวทนาเรา  ก็อยู่กันไปแบบทู่ซี้  เรียกว่าตอนนั้นลักษณะที่ต้องอยู่กับมันอย่างทู่ซี้นี่ เรียกว่าต้องอยู่ด้วยความอดทน มี “เรา” ผู้อดทนกับมัน

ก็ยังต้องเอา “เรา” มาอดทนกับมันอีก  ถ้าไม่เอา “เรา” มาอดทน เดี๋ยว “เรา” มันจะวิ่งออกนอก วิ่งไปอดีต วิ่งไปในอนาคต วิ่งไปในสถานะ สถานที่ เหตุการณ์ที่มันจะเป็นสุข 

มันก็จะไปจำลอง มันก็จะไปแปลงขันธ์ สร้างขันธ์มารองรับใหม่...ที่น่าจะเป็นสุข ที่น่าจะสบายกว่านี้ ที่มันเที่ยง ที่มันจับต้องได้ ...นี่ จิตเริ่มทำงานแล้วๆ 

มันทำงานแค่นี้ว่า "เราเจ็บ" ตรงนี้ไม่พอนะ มันไปทำงานล่วงหน้าไปอีกว่า “ถ้าอย่างนี้แล้วมันไม่เจ็บแน่ๆ ถ้าอย่างนี้กายจะสบาย” ไอ้อย่างนี้ก็มี ยึดก็ยึด อยากได้สุขก็อยากได้ ตอนนี้...ก็ชั่งมันสิ

รู้จักตราชั่งจีนมั้ย ศีลสมาธิปัญญามันอยู่ตรงนี้ คือน้ำหนักตรงนี้  มันก็เริ่มเบาๆ ...ไอ้ตรงโน้นเริ่มไปจดจ่อกับมันใช่มั้ย ไอ้นี่เขาเรียกว่ามิจฉาสมาธิ จดจ่ออยู่ในความคิด คิดมันเข้าไปๆ “ถ้ากูเอาออกๆๆ” 

แทนที่เราบอกให้ซ้ำซากๆๆๆ ตรงนี้  มันดันไปซ้ำซากๆๆ ตรงโน้น ...ก็นี่ เอาออกเลย

ศีลสมาธิปัญญาที่มันคอยถ่วง คอยให้เป็นตราชั่งพอสมดุลน่ะ มันก็ล้มระเนนระนาด ...ผลที่ได้ “เออ สบาย สุข”  นี่ ติดแล้วๆ มันเอาสุขมาล่อไง สบาย สมปรารถนา

เข้าใจคำว่าสมปรารถนามั้ย...สมดั่งที่กูอยาก สมดั่งที่ตัณหากูสร้างไว้ สมดั่งที่พ่อกูสั่งมาคืออวิชชา นี่บอกให้เลยถึงโคตรเหง้ามัน  แต่ภาษากวีก็ว่าสมปรารถนา นี่ฟังเพราะดี


(ต่อแทร็ก 12/12)