วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/24 (1)


พระอาจารย์
12/24 (561027B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
27 ตุลาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –   ฝึกให้มาก อดทนกับตัวเองให้มาก อดทนกับกิเลสของตัวเองให้มาก

อย่าปล่อยให้มันมีอำนาจ จนกระชากความรู้สึกตัวออกไป จนกระชากออกจากศีลสมาธิปัญญาที่ตั้งอกตั้งใจจะทำออกไป

แพ้บ้าง-ชนะบ้าง ไม่มีปัญหา ...แต่อย่าปล่อยจนที่เรียกว่า ไม่พยายามเลย ...ไม่ใช่ว่ามันหลุด มันรั่ว มันไหลตรงนั้น ก็ปล่อยให้มันเป็นอยู่อย่างนั้นน่ะ

ทุกครั้งที่คุย...ก็หลุดทุกครั้งที่คุย...แล้วก็ปล่อยให้มันหลุดทุกครั้งที่คุยต่อ  ทุกครั้งที่กินข้าวก็ลืมตัว ทุกครั้งที่กินข้าวก็ไม่รู้ตัว...แล้วก็ปล่อยให้มันไม่รู้ตัวทุกครั้งที่กินข้าวอย่างนั้นน่ะ

อาบน้ำก็อาบกันทุกวัน ก็ยังลืมทุกวัน ไม่รู้ตัวทุกวัน แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้นน่ะ ...ไอ้อย่างเงี้ย ภาษาเราว่า..น่าตบโหลก  ...มันต้องพัฒนาขึ้นสิ

ไอ้ที่ไหนมันรั่ว ไอ้ที่ไหนมันไม่มีสติ ซ้ำซากๆ ก็ปล่อยให้มันไม่มีสติซ้ำซากๆ ...แล้วถามว่ามันจะพัฒนาขึ้นได้อย่างไร มันจะมีกำลังของสติสมาธิปัญญาเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

แต่มาฟังเราพูดทุกครั้ง ก็อยากสำเร็จเร็วๆ ทุกครั้งน่ะ แต่ก็ปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้นทุกครั้ง ...มันจะสำเร็จได้ยังไง มันจะหลุดพ้นได้ยังไง มันจะเกิดมหาสติ มหาสมาธิ มหาปัญญา ได้ยังไง 

คิดเอา เอาหัวแม่ตีนคิดเอา ไม่ต้องเอาหัวคิดหรอก ...มันก็เห็นแล้วว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน ที่ไหนน่ะ  ทำไมไม่แก้เล่า ทำไมไม่เติมลงไปเล่า ...ก็จุดบกพร่องมันอยู่ตรงนี้ ก็เห็นอยู่ทุกวี่ทุกวันซ้ำซากน่ะ

ส่วนไอ้เวลาที่โกรธ เวลาที่มีอารมณ์กิเลสมันทะลุขึ้นมานี่ เออ ไอ้นี่มันยังยากหน่อย ไม่ว่ากันเท่าไหร่หรอก ยังไม่สมควรถูกด่าเท่าไหร่หรอก

แต่ไอ้กิจวัตรเนี่ย ก็ปล่อยให้หลงซ้ำซาก ลืมซ้ำซาก  สติขาด สติหายซ้ำซาก  ปล่อยให้มันใช้ชีวิตกันแบบเลื่อนๆ ลอยๆ เคยชิน ไม่มีอะไรก็ไม่เห็นต้องรู้อะไร

ไม่เห็นต้องเข้มงวดในการที่จะต้องตั้งสติในการกิน ไม่เห็นจะต้องเข้มงวดในการตั้งสติ ตั้งรู้ ตั้งเห็นในการอาบน้ำ ในการนั่งขี้นั่งเยี่ยว ทุกวันน่ะ หือ

เคยที่จะรู้ตัวไหมขณะขี้น่ะ  ขณะเบ่งน่ะ เคยรู้สึกถึงการเบ่งจริงๆ มั้ย  เคยรู้สึกถึงการขี้แล้วกับก่อนขี้มั้ย เคยรู้สึกถึงกายจริงๆ บ้างมั้ย

กลับเป็นความเคยชินที่ปล่อยให้มันล่วงผ่านล่วงเลยไปแบบ...ไม่มีอะไร ไม่เห็นเป็นอะไร ไม่เห็นจะต้องรู้ทำไม ไม่เห็นจะต้องมีสติ ก็ไม่เห็นเป็นสุข ก็ไม่เห็นเป็นทุกข์แล้วนี่ ...นี่เคยชิน

เห็นมั้ยว่าเวลาที่เจริญสติสมาธิปัญญามันก็มี...อย่ามาอ้างว่าไม่มีเวลา  พอมีเวลาอย่างนี้ ก็ไม่มีสติ กินก็มีเวลาเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าไปกินบนหัวใคร หรือใครมานั่งกินบนหัวเรา ใช่มั้ย

ขี้ก็ขี้คนเดียว ไม่ได้ขี้สองคน มีใครมากวนมั้ย ...จะว่าไม่มีเวลารึไง พูดอยู่ได้ว่าไม่มีเวลา ...ไอ้เวลามีกลับไม่ดู เวลามีกลับไม่มีสติ

“โอ้ย ทั้งวันผมไม่มีเวลาเลย ต้องทำงาน” นั่น พูดมาได้ ...ทั้งสำนักงานทั้งที่ทำงาน มันมาขี้ในห้องส้วมเดียวกับมันรึไง  อย่ามาอ้าง กิเลสมันชอบอ้าง

แล้วมันก็กลืนกินเวลาไป ...เวลาที่ล่วงแล้วไปผ่านไป เอาคืนไม่ได้นะ ...กายที่หายไป ขาดไป เอาคืนไม่ได้ จะไปฟ้องร้องศาลปกครอง เอาคืนมาก็ไม่ได้ ขอความคุ้มครองก็ไม่ได้

เพราะนั้น ต้องทำให้ได้ ต้องมีสติขึ้นมาให้ได้  ต้องฝึก ต้องฝืน ต้องทวน...ความเคยชิน คือกิเลสโมหะอย่างนึง ...นี่ ถึงมันจะยาก มันก็ไม่เกินกำลังหรอก

ยากน่ะรู้ว่ายาก ...แต่มันไม่เกินกำลัง...ของคน ของผู้ที่ใฝ่ดี ของผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ...ไม่มีข้อกำกับ ไม่มีข้อขีดคั่นแต่ประการใด

มีแต่กิเลสน่ะมันเป็นตัวขวาง มีแต่ความรู้สึกเคยชินน่ะมันเป็นตัวขวาง ... เพราะนั้นตัวที่ขวางมรรคผลและนิพพาน ไม่ใช่ใคร ...“เรา” นั่นเอง เป็นสัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์

อย่าไปบอกว่าคนต่างศาสนา คนไม่มีศาสนา คนที่ปฏิบัติผิดปฏิบัติไม่ตรงนี่ เป็นตัวที่ปิดบังมรรคผลนิพพาน  ...“เรา” นั่นแหละปิดบังมรรคผลนิพพานด้วยตัวเอง...มันไม่ทำเองน่ะ

ความรู้สึกที่เคยชิน ความรู้สึกต่างๆ นานา ที่เป็นความรู้สึกของเรานั่นน่ะ มันเป็นตัวขวางมรรค ...ต้องก้าวให้ข้าม ต้องผ่านให้ได้...กับความเคยชิน 

ทุกกระบวนการของกาย ทุกกิจกรรมของกาย ทุกพฤติกรรมของกาย ...จะต้องมีอาการเข้าไปรู้เข้าไปเห็นให้ได้ ...ไม่ขาดระยะ ไม่ขาดสายเลย

มันจะต้องเห็นกาย ต้องตรงต่อกายจริงๆ ...ใจรู้ใจเห็นนี่ มันจึงจะแจ้ง มันจึงจะทะลุ มันจึงจะปรุโปร่ง มันจึงจะแทงตลอด...โดยไม่สงสัยว่า นี้คืออะไร นี้เป็นใคร นี้เป็นของใคร

ถ้าเรียกว่ากายนี่เป็นก้อน ก็เรียกว่าสับจนเละอ่ะ จนทุกอณูเลยนั่นน่ะ มันถึงจะหายสงสัย  ไม่ว่าไอ้นั่นก็ยังเป็นเรา ไอ้นี่ก็ยังเป็นเรา ไอ้นั่นไม่เป็นเราแล้วไอ้นี่ยังเป็นเราอยู่ แน่ะ

ไม่ใช่ว่าพอกายเฉยๆ รู้สึกไม่เป็นเรา ...แต่พอกายมีความเมื่อยความปวด รู้สึกเป็นเราอีกแล้ว แน่ะ ...มันตลอดมั้ยนี่ มันเข้าใจกายตลอดมั้ยนี่

เดินไปเดินมาก็รู้สึกว่าเป็นอะไรลอยๆ ไม่มีเรา เป็นธาตุเป็นก้อน ...แต่อย่าได้เหยียบหนามหรือเตะเสี้ยนนะ...“เรา” มาอีกแล้ว เอ้า ...แน่ะ มันตลอดมั้ยนี่

ทั้งๆ ที่ว่า เสี้ยนตำหนามตำ หรือเตะตอ มันก็คือเนื่องด้วยกายทั้งนั้นน่ะ คือมันเป็นอาการที่เนื่องด้วยกายทั้งนั้น ...แต่พอมีอาการนี้ปึ้บนี่...เราเจ็บ เราหงุดหงิด เราไม่สบายใจ เรากลัวตาย..มาเลย ไม่รู้มาจากไหน

นี่แปลว่าอะไร ...แปลว่ามันยังไม่แจ้ง มันไปแจ้งในตอนที่มันไม่มีอะไร สบายๆ ธรรมดานี่แจ้ง โอ้ย ไม่มีเราเลย ดูดี ...แต่ให้นั่งสมาธิ อย่าลุก สามชั่วโมง เดี๋ยวดูไม่ดีแล้ว

ไอ้ว่า “ไม่เป็นเราๆ” ไอ้ตอนเริ่มนั่งเนี่ย สักครึ่งชั่วโมง ไม่ต้องถึงสาม ...ถ้าจะให้ชัด ขัดสมาธิสองชั้นเลย เรียกว่าสมาธิเพชร ไม่ถึงสิบห้านาที...“เรา” มาเป็นกระบิเลย “เราตายแน่ๆ” อย่างเนี้ย มันพูดไว้ก่อนเลย 

ไอ้ที่ว่าไม่มี ไม่มีเราน่ะ มายังไง ฮึ ...เห็นมั้ย มันยังทับถมอยู่ภายในอีกมากนะ ...แล้วเอาเวลาไปทำอะไรกันอยู่  

เวลาที่จะถอดถอน เวลาที่จะละเลิก เวลาที่จะเข้าไปเห็นสภาพความเป็นจริงนี่ ...มันกลับปล่อยให้ไปสนุกเพลิดเพลินกับเรื่องราวต่างๆ นานา ที่ผ่านทางหูทางตา ผ่านทางอดีตอนาคต จากการคิดและจำ

เห็นมั้ยว่ากิเลสที่มันยังทับถมนอนเนื่องอยู่ภายในนี่ มันกลืนกินจนไม่รู้จะละออกตอนไหนเลย ...ดูเหมือนไม่มีๆ  แต่สักพักก็...มีอีกแระ  ดูเหมือนไม่มีๆ ...มาอีกแระ

เห็นมั้ยว่ามันประมาทไม่ได้ ...ถ้าไม่ได้เข้าถึงหัวมัน ตีจนตายนี่ ยังไว้ใจไม่ได้ ยังประมาทไม่ได้ ...ต้องเข้มงวดในศีล ในสติ ต้องเข้มงวดในสมาธิ แบบไม่ละไม่วางเลย

อย่างอื่นละวางหมด ...แต่ไม่ละวางอย่างเดียวคือศีลสมาธิปัญญา ปัจจุบันกายปัจจุบันรู้นี่แหละ ...อย่าไปอยู่ในอารมณ์ อย่าไปอยู่กับแค่อารมณ์ ว่างบ้าง เบาบ้าง ไม่มีอะไรบ้าง สุขบ้าง สบายบ้าง ลอยบ้าง

ต้องอยู่ในรู้ ต้องอยู่กับรู้ ต้องอยู่ในกาย ต้องอยู่กับกาย ที่มันแสดงอาการทุกขณะอาการ ทุกขณะความรู้สึกของกาย...จริงๆ  ต้องอยู่กับมันจริงๆ ต้องเห็นกับมันจริงๆ ต้องรู้กับมันจริงๆ...ตลอด

อย่าไปอยู่ในอารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ไม่ว่าจะสงบ จะว่าง จะเบา จะสบาย  ไม่ว่าจะมีอะไรหรือไม่มีอะไร  อย่าไปอยู่ในอารมณ์ อยู่ในอารมณ์แล้วไม่มีกาย ไม่มีความเป็นจริง ไม่มีขันธ์

รู้จักขันมั้ย ขันที่ไว้ตักน้ำ ... กายนี่...เหมือนขันน้ำนี่  แล้วไอ้น้ำในขันนี่เขาเรียกว่านาม...นามขันธ์ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั่นคือน้ำในขันธ์ ...อารมณ์ก็คือนาม

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าอารมณ์น่ะมันอยู่ในขันธ์ หา แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นน้ำในขันหรือน้ำนอกขัน รู้ยังไง ...มันต้องถือขันไว้ แล้วก็ดูอยู่ตอนที่มันถือขันอยู่ มันถึงจะเห็นว่าน้ำนี่เป็นน้ำในขัน ไม่ใช่น้ำนอกขัน

ถ้ามันไม่มีขัน ถ้าไม่ถือขันไว้น่ะ  มันอาจจะเป็นน้ำในแก้ว หรือน้ำที่มันลอยอยู่ในอากาศ หรือน้ำที่มันเจิ่งนองอยู่บนถนน ...ก็น้ำเหมือนกันน่ะ แต่มันเป็นน้ำนอกขัน

เข้าใจมั้ย คำว่าอารมณ์...ถ้ามีแต่อารมณ์ลอยๆ น่ะ มันจะเป็นอะไรที่มันนอกขันธ์ ไม่ใช่เรื่องในขันธ์

เพราะนั้นมันจะเป็นเรื่องในขันธ์ต้องมีกาย ต้องถือกาย...ถือขันไว้  ต้องมีสติที่เข้าไประลึก แล้วก็ถือขัน...คือรู้อยู่เห็นอยู่ในกาย

มันจึงจะไม่เรียกว่าออกนอกขัน มันจึงจะไม่เรียกว่าหลงออกนอกขันธ์ มันจึงจะไม่เรียกว่าไปหาความเป็นจริงนอกขันธ์ มันจึงจะไม่เรียกว่าไปหาความเป็นจริงนอกมรรค

เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็เปรียบขันธ์น่ะเป็นกองเหมือนกัน ท่านเรียกว่าขันธ์  แต่ว่าขันธ์ในความหมายของพระพุทธเจ้า ท่านมี ธ.ธง แล้วก็การันต์ ...คือแปลโดยตามตรงตามภาษาก็แปลว่า กอง มีห้ากอง 

การรวมกันเป็นมนุษย์นี่ มันมีอยู่ ๕ ลักษณะรวมกัน ประชุมกัน ...แต่ที่สำคัญในความเป็นคนคือ มันจะต้องมีกายเป็นที่รองรับของขันธ์ทั้ง ๔ ที่เป็นนาม

ถ้าไม่มีกาย...จะไม่เป็นคน ถ้าไม่มีกาย...จะไม่เรียกว่าขันธ์ ๕  ....เราถึงบอกว่าอย่าไปอยู่กับอารมณ์ลอยๆ เพราะมันออกนอกขันธ์

อาจจะดูดี อาจจะดูวิเศษ อาจจะดูเลิศเลอ อาจจะดีอย่างที่คนอื่นเขาบอกว่าดี ...แต่มันเป็นความดีนอกขันธ์ มันเป็นความเป็นไปนอกขันธ์ มันเป็นความเป็นจริงที่ออกนอกขันธ์ ...ซึ่งไม่จริง

ถึงมันจะจริงตามภาษา ถึงมันจะจริงตามที่คนอื่นเขาว่า ถึงมันจะจริงอย่างที่คนอื่นเขาอยากให้เห็น  แต่พระพุทธเจ้าบอกว่ามันไม่จริง ...พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็นความเป็นจริง...ในขันธ์ใครขันธ์มัน


(ต่อแทร็ก 12/24  ช่วง 2)



วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/23 (2)


พระอาจารย์
12/23 (561027A)
27 ตุลาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 12/23  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะคนเราทั่วไปนี่ แต่ละคนประเภท world wide web (www.)  แล้วก็ www. ประเภทจ่ายค่าธรรมเนียมแบบไม่อั้น ใช้กันแบบไม่อั้น ไม่มีคำว่าเช็คบิล ไม่มีคำว่าติดหนี้ ไม่มีคำว่าถูกตัดลิงก์

อาศัย "เรา” เป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมอยู่ตลอด  จะเอาความสุขในการเพลิดเพลิน ในการเห็น ในการได้ยิน  นั่นน่ะ ไปหาความสุข ...มันก็ลิงก์ออกไปอยู่ตลอด

แล้วก็ปล่อยให้มันลิงก์ออกไปอยู่ตลอด ออกไปหาอยู่ตลอด ตามรูปตามเสียง ตามอายตนะ ตามผัสสะ ...ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่ยังไม่มีในปัจจุบัน อนาคตมันก็ยังไปหา

รูปไม่มีปัจจุบัน มันยังไปหารูปอนาคตบ้าง รูปที่มันดับไปแล้วบ้าง มันก็ยังไปหา เอ้า เสียงที่ดับไปแล้ว คำชมที่เคยถูกชม คำด่าที่เคยถูกด่า มันก็ยังไปหา

รู้ตัวกันบ้างรึเปล่านี่ ว่ามีชีวิตอยู่กับเหล่านี้ ทั้งวี่ทั้งวัน ตลอดวี่ตลอดวัน จนไม่มีเวลาว่าง ไม่มีเวลาเว้น ไม่มีเวลาหยุด ไม่มีเวลาพักน่ะ ...เนี่ย รู้มันก็ยังไม่รู้เลยว่ามันเป็นอย่างนี้ 

พอกลับมารู้มาเห็นแล้ว เคยมั้ยล่ะ...ที่มารู้มาเห็นความเป็นไปของมันอย่างนี้ แล้วเกิดความสะพรึงกลัวขึ้นมา กลัวในความเป็นไปเป็นมา...ที่เคยเป็นไปเป็นมา แล้วกำลังเป็นไปเป็นมาอยู่อย่างนี้

เห็นมั้ยว่า พอกลับมาเจอศีลสมาธิปัญญา ...ปัญญาเบื้องต้นนี่มันเห็นความน่ากลัว...ของเรา ของจิตเรา ที่ไปมาแบบไร้รูปแบบ ไร้แบบแผนน่ะ

ที่มันไปก่อกรรม ไปสร้างภพไปสร้างชาติ ไปสร้างเงื่อนไข ไปสร้างความผูกพัน ไปสร้างความหมายมั่น ไปสร้างความจริงจังในสิ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตนจริงๆ จังๆ

พอมันมีการระลึกรู้อยู่กับเนื้อกับตัว มันเห็นแล้วมันกลัว ...เห็นมั้ยว่าผู้ใดที่มีศีลสมาธิปัญญา ผู้นั้นน่ะจะเห็นความน่ากลัวของวัฏฏะสงสาร เห็นความน่ากลัวของการเกิด-ตายที่ไม่มีคำว่าจบและสิ้น ไม่มีทางออก

แต่ถ้าไม่ทำแล้วมันไม่เห็น ถ้าไม่ทำแล้วมันจะไม่กลัว ...อย่างที่เป็นกันอยู่ในโลก นี่ ไม่กลัว ไม่กลัวการเกิด ไม่กลัวการตาย ไม่กลัวการที่เป็นคน ไม่กลัวในการที่มีชีวิตอยู่อย่างนี้

ต่อให้มีชีวิตอยู่อย่างนี้กี่ชาติๆ ก็ไม่กลัว ...ลึกๆ มันจะถูกปกปิดไว้หมดเลย แล้วมันจะบอกเลย “แล้วกูจะมาปฏิบัติทำไม” นี่ ไม่กลัวอะไร ...อาจหาญเหลือเกินในการเกิดการตาย

กลายเป็นว่า พระอรหันต์น่ะ โอ้ย ใจเสาะ ขี้กลัว  พระอริยะใจเสาะขี้กลัว แค่นี้ก็กลัวแล้ว  ผมยังไม่เห็นกลัวเลย ไม่เห็นทุกข์เลย ...นี่ มันอวดดี อหังการน่ะ "เรา"

อหังการต่อการเกิดการตาย อหังการต่อชรา พยาธิ มรณะ โสกะ  อหังการต่อการวนเวียนซ้ำซากไม่มีการจบและสิ้น ...มันกลับบอกว่า เรื่องเล็กๆ ไม่เห็นน่ากลัวเลย

ไอ้อย่างนี้คบไม่ได้ อย่าไปคบมัน ...ที่ว่าไม่คบกันนี่เพราะอะไร ทำไมถึงต้องออกจากโลก ออกจากคนในโลก ...ก็คบกันไปคบกันมา เดี๋ยวก็เป็นพวกเดียวกัน เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ซ้ำซากอยู่อย่างนี้

เพราะนั้นเมื่อปฏิบัติแล้ว มันจะดีดตัวออกจากโลก มันจะดีดตัวออกจากบุคคล สังคม ออกจากความเป็นไป การกระทำคำพูดของบุคคลในโลก แล้วคนในโลกก็จะรู้สึกว่า..ไอ้คนนี้มันแตกต่างไปจากกู

ต้องเจอแน่ๆ อย่างนี้ ที่จะถูกมองว่า "มันบ้าก็ปล่อยให้มันบ้าไปเถอะ ชั้นไม่บ้า ให้มันบ้าภาวนาไป ให้มันบ้าอยู่คนเดียวไป ให้มันบ้าไม่เหมือนผู้เหมือนคนเขาไป"

นี่ ด่าได้ถูก ด่าได้งาม ด่าได้ตรง ด่าได้ชัด ...เพราะกูจะไม่เป็นผู้เป็นคนอีกต่อไปแล้ว  เพราะกูจะไม่มาเป็นเพื่อนกับมึงอีกแล้ว 

เพราะกูจะไม่มาเป็นลูกมึง เพราะกูจะไม่มาเป็นแม่มึง  เพราะกูจะไม่มาเป็นผัวมึง ไม่มาเป็นเมียมึงอีกแล้ว ...อย่างเขาว่า ปล่อยให้มันไม่เป็นผู้เป็นคนไป...นี่ถูก ใช่เลย ตรงเป๊ะ

แต่ถ้ายังมีปัญญาน้อย ยังไม่ทัน ยังมีความคุ้นเคยในธรรมเนียมของโลก มันกลัว...กลัวจะไม่เหมือนเขา กลัวเขาจะไม่ยอมรับ กลัวจะไม่เป็นพวกเดียวกัน

เห็นมั้ย กลัวธรรมเนียม กลัวผิดธรรมเนียมโลก กลัวผิดธรรมเนียมในสังคม ...ก็เลยต้องถอยกลับ ไม่เอาดีกว่า ถอยดีกว่าแต่มันถอยอะไร ...ถอยจากศีลสมาธิปัญญา ไม่ได้ถอยออกจากโลกเลย

นี่เขาเรียกว่าหวนคืน  เข้าใจคำว่าหวนคืนมั้ย ...กลัวเพื่อนไม่รัก กลัวเข้ากับเพื่อนไม่ได้ กลัวคนอื่นเขาเข้าใจผิด จะต้องกลับไปทำให้เหมือนเดิมน่ะ ที่มีกิเลสแบบเดิม ที่จะต้องเฮฮาๆ ไปๆ มาๆ

แล้วก็ต้องไปแสวงหาสุขและทุกข์กับเขา เขาให้ไปหาที่ไหนเป็นสุขก็ต้องเป็นสุขกับเขา ต้องทำให้เหมือนเขา ...ก็มาเกิด-ตายเป็นพวกเดียวกันแล้วกัน เอาป่าว หรือจะอยู่ในศีลสมาธิปัญญา

เพราะนั้นโดยสันดาน โดยนิสัย โดยสัญชาติ โดยลักษณะ โดยคุณสมบัติของศีลสมาธิปัญญา ...เมื่อผู้ใดอยู่กับศีลสมาธิปัญญา ผู้ใดจะอาศัยศีลสมาธิปัญญาเป็นทางดำเนินของกายของจิตนี่

ยังไงๆ มันจะต้องออกจากโลก ยังไงๆ ก็ต้องออกจากความเป็นไปในโลก ยังไงๆ มันก็ต้องออกจากความเป็นบุคคลในโลก ...นี่ ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

เพราะนั้น เข้มแข็งเข้าไว้ หน้าด้านเข้าไว้ หน้าด้านเดินในมรรคน่ะ ไม่ฟังเสียงรอบข้างนกกาหมาไก่...ไม่เอา ...เดินไปตามเส้นทางของมรรค ท่ามกลางทางสายเปลี่ยว ไปผู้เดียว เดินคนเดียว

เพราะทางนี้มันจำเพาะคนคนเดียว ...พี่น้องก็เอาไปไม่ได้ พ่อแม่รักกันขนาดไหนก็เอาไปกันไม่ได้ เมียผัวรักกันปานจะกลืนก็เอาไปกันไม่ได้ มันไปคนเดียว...เดี่ยวๆ จริงๆ

เพราะนั้นจะต้องทนต่อคำพูด คำตำหนิ คำกล่าว ความเห็น ลักษณะกริยาท่าทางของคนรอบข้าง ที่เขาดูว่า “มันบ้าไปแล้วมั้ง ระวังนะอย่าไปใกล้มัน เดี๋ยวจะเป็นอย่างมัน”  นี่ มันจะต้องเจอ

หรือว่ามีการแบ่งชนชั้นกันน่ะ ...เขาไปไหนๆ อาจจะไม่เรียก ไม่คบ หรือว่าไม่ชวน  เพราะว่าไปแล้วมันไม่สนุก ทำให้กลุ่มเขาที่เคยสุขสักร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะเหลือแค่แปดสิบเพราะมึงไปด้วย

ก็ต้องเจอกับเหล่านี้ ...แลกมั้ยล่ะ กล้าแลกมั้ย ...ต้องกล้าแลกนะ กล้าแลกกับความสุขความเข้าใจของคนในโลกที่เคยมีเคยเป็น แลกจนไม่ต้องแลกแล้ว จนไม่รู้สึกว่าต้องแลกแล้ว นั่นน่ะใช่เลย

ที่นี้ก็เดินดุ่ยๆ ดุ่มๆ อยู่ภายในกายใจคนเดียว โดยที่ไม่อนาทรร้อนใจกับความเป็นไปของโลกและสัตว์โลก ...แน่หรือไม่แน่ล่ะ  ...ถ้าอย่างนี้ล่ะแน่ ทีนี้มึงพูดมาก็หมูหมากาไก่จริงๆ แล้ว

แรกๆ ก็ต้องทำเป็นมองมันเหมือนเป็นหมูหมากาไก่ก่อน ...แต่ตอนนี้หมูหมากาไก่จริงๆ แล้ว  ไม่สน ไม่แคร์โลก ไม่แคร์คนในโลก ไม่แคร์ความเป็นไปในโลก ไม่แคร์ความเห็นคนในโลก

ไม่แคร์อารมณ์ในโลก ไม่แคร์ ไม่มายด์ ไม่เก็ท ...ไปด้วยความมั่นคงภายใน เรียบง่าย เป็นกลางแต่มั่นคง ...ถ้าอย่างเงี้ย จบแน่ จบกิจ จบขันธ์ จบจิต จบธรรม จบจากการเกิดการตาย

เห็นมั้ยมันมีวันจบ มันมีจุดจบ มันมีที่จบ มันมีบทสรุป ...เพราะนั้นมรรคนี่มันมีตัวสรุป มันมีผลเป็นที่สุด...สุดแล้วสุดเลย จบแล้วจบเลย ไม่มีภาคย่อยสองสามสี่ ไม่มีต่อเป็นภาคนั้นภาคนี้ ...จบคือจบ

แต่ความเป็นไปในโลก...ไม่จบ  ความเกิดความตายของคนในโลก...ไม่มีคำว่าจบ  สุข-ทุกข์...ไม่มีคำว่าจบ  เสวยสุข-เสวยทุกข์...ก็ไม่มีคำว่าจบ

พากเพียร บากบั่น อดทน ไม่ท้อถอย ไม่ขี้เกียจ นี่คือคุณลักษณะของผู้ปฏิบัติธรรม ...ไม่ใช่หยิบโหย่ง ไม่ใช่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ไม่ใช่ขี้เกียจ ไม่ใช่ขี้กังวล ไม่ใช่เป็นคนขี้เลือก ไม่ใช่เป็นคนมากเรื่องเรื่องมาก

มันจะเป็นการสร้างนิสัยของนักรบนะ เหมือนนักรบเลยนะ ...อาจหาญ ไม่หวั่นเกรง ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงทั้งอดีตและอนาคต  ไม่กลัวกิเลสที่จะมา...และที่กำลังมี...และที่ดับไปแล้ว

ไม่กลัว ...มาเหอะ เท่าไหร่ก็เท่านั้น ...ก็จะตั้งหลักตั้งมั่นอยู่ในที่นี้ที่เดียว ไม่ไปตายกับกิเลส ไม่ไปตามกับกิเลส ไม่ไปอยู่ใต้กิเลส ...จะอยู่ที่นี้ที่เดียว

อยู่จนกว่ามันจะลอยเหนือกิเลส จนกิเลสมันเข้าไม่ถึง จนมันกิเลสมันแยกออกไป ไม่มีหน้าตาตัวตนเหมือนเราของเรา

ตอนนี้กิเลสกับเรานี่หน้าเหมือนกัน อารมณ์กับเรานี่หน้าเหมือนกัน ความคิดความเห็นหน้าเหมือนกันกับเรา แม้แต่กายยังหน้าเหมือนเราเลย ...ทุกอย่างหน้าเหมือนเราหมดเลย เป็นเราหมดเลย

แต่ต่อไปต่อมานี่ จะเห็นว่า...หน้ามันไม่เหมือนเราหมดเลย  หน้าเหมือนมัน...ไม่เหมือนเรา หน้าเป็นแบบมัน...ไม่เป็นแบบเรา

แล้วจะเข้าใจเองน่ะ...ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นอะไร เพื่อให้เห็นอะไร พระพุทธเจ้าบอกว่าความจริงคืออะไร อยู่ที่ไหน

พระพุทธเจ้าไม่เคยเอาของที่ไม่จริงมาสอน พระพุทธเจ้าไม่เคยเอาของโกหกมาพูด ...คำกล่าวคำพูดของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นคำกล่าวอ้างเลื่อนๆ ลอยๆ

ไม่ใช่คิดนึกฝันเฟื่อง คิดเอาเองพิจารณาเอาเองแบบลอยๆ เหล่านี้ พวกนี้ คือตำรับตำราที่มีอยู่ในปัจจุบันจากนักวิชาการทั้งหลาย ทั้งวิชาการในศาสนา และทั้งวิชาการทางโลก

แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้ากล่าว สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สิ่งที่พระพุทธเจ้าบอก สิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำ สิ่งที่พระพุทธเจ้าชี้แนะ ...ล้วนแล้วแต่เป็นความจริงทั้งสิ้น

ขอให้เชื่อว่า...ศีลนี่มีจริงอย่างนี้ ทำอย่างนี้  สมาธิมีจริงอย่างนี้ ทำอย่างนี้  ปัญญามีอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ...แล้วเอาไปใช้ ต้องเอาไปใช้ให้ได้

ไม่ใช่แค่รู้นะ ไม่ใช่แค่เข้าใจนะ ...ต้องเอาไปใช้ในชีวิตให้ได้ ทุกที่ ทุกสถาน ทุกกาล ทุกเมื่อ ทุกขณะปัจจุบัน...จนไม่ว่าง จนไม่เว้น จนไม่ห่างจากศีลสมาธิปัญญา...แม้แต่ปัจจุบันเดียว

เนี่ย จึงเรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติจริง เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติชอบ เป็นผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้ปฏิบัติอันควร 

ถ้ายังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า...ทุกปัจจุบันอยู่ด้วยศีลสมาธิปัญญา ยังไม่เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ...ถ้าเป็นผู้ที่ยังตั้งใจที่จะปฏิบัติ แต่ยังไม่ได้ถึงทุกขณะปัจจุบัน  ยังเรียกว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติตรง ...แค่ตรง แต่ยังไม่ดี 

เอาให้มันทั้งดี เอาให้มันได้ทั้งตรง ทั้งชอบ และก็ทั้งควร ...ถ้าควรน่ะหมายความว่าได้ผลแล้ว ไม่เกิดแล้ว รู้แล้วว่าไม่เกิดแล้ว...นั่นน่ะผลอันควร

แต่ถ้าพยายามตั้งใจอยู่ไม่ละไม่วาง ไม่เลิก ไม่ท้อถอย ไม่หนี ไม่ทิ้ง  แล้วมันยังมีอาการเว้นวรรคขาดตอน เว้นบ้าง ขาดหายไปบ้าง ...เรียกว่ากำลังทำให้มันตรง พยายามให้มันตรง

อย่าละเสียซึ่งความพยายามอย่างนี้ อย่าท้อ ...มันลำบาก มันยากแค่ตอนต้นเท่านั้น  ถ้ามันผ่านยุคนี้ สมัยนี้ ช่วงนี้ไปได้แล้ว มันก็เดินสบายขึ้น คล่องขึ้น

เหมือนเราเขียนหนังสือในทุกวันนี้ ที่เราเขียนได้แบบไม่ติดไม่ขัด ว่าเขียนยังไง ผสมประโยคยังไง ตัวพยัญชนะนี้เขียนว่ายังไง จะต้องไปเปิดแบบแผนตำราถึงจะเขียนได้ นี่ ไม่ต้องเลย มันคล่อง

แต่แรกๆ นี่มันเขียนไม่เป็น แม้แต่พยัญชนะยังเขียนไม่ถูกเลย จำก็ไม่ได้ว่ามีกี่ตัว เขียนก็เขียนผิด หัวมันเข้าข้างในหรือหัวออกนอกวะ  เนี่ย แรกๆ มันจะเป็นอย่างนี้

เหมือนกัน ศีลสมาธิปัญญาของผู้เริ่มต้นการปฏิบัติก็จะเป็นอย่างนี้ ...แต่อย่าทิ้งการพากการเพียร การเขียนการอ่านภายในอย่างนี้ มันจะเกิดความคล่อง ความชำนาญ ความคุ้นเคยในศีลสมาธิปัญญา 

จนมันเป็น...เรียกว่าอัตโนมัติ ชำนาญขั้นระดับอัตโนมัติ ...มันจะรู้สึกเลยว่า เมื่อใดที่อยู่โดยไม่มีศีลสมาธิปัญญาแล้ว มันจะรู้สึกในตัวของมันเองว่าอยู่ไม่ได้ มันมีความเดือดเนื้อร้อนใจในตัวของมันเอง

ที่มันเคยสุขเคยสบายกับการคิด เคยสุขเคยสบายกับการไปในที่ต่างๆ ภายนอก ข้างหน้าข้างหลังอะไรก็ตาม ...มันกลับเห็นว่าเหล่านี้คือทุกข์ คือมีแต่เรื่อง 

โดยอัตโนมัติมันจะเห็นอย่างนี้ มันเห็นตรงนี้ คือตรงต่อธรรม ตรงต่อความเป็นจริง ...แต่ทุกวันนี้พวกเราไม่เห็นกันอย่างนี้...ใช่ไหม มันเห็นผิด มันเห็นกลับด้านกันน่ะ

มันกลับเห็นไปว่า การที่กลับมาเห็นตัวเองยืนเดินนั่งนอน เห็นความรู้สึกในความเป็นกาย เป็นแค่กองก้อน ก้อนกองตึงแน่นปวดเมื่อยแข็งหนักเบา ...นี่ มันกลับเห็นว่าตรงนี้ไม่สนุก ไม่มีความสุข

แต่ไปเห็นในความคิด ปล่อยให้มันคิด ไปเห็นเรื่องราวอดีตอนาคตแล้วมันรู้สึกมีความสนุก ...เห็นมั้ยว่ามันเห็นกลับด้านกัน เห็นมืดเป็นสว่าง เห็นสว่างเป็นมืด

เหล่านี้ท่านเรียกว่า เป็นความเห็นจากเรา เป็นความเห็นจากอวิชชา เป็นความเห็นจากความไม่รู้ เป็นความเห็นที่เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ...คือเป็นความเห็นที่มืดบอด ผิดสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ

พอฝึกไปๆ อยู่ในศีลสมาธิปัญญา นี่ ทบทวนไป ทวนกระแสความเห็นความคิดมันไว้ ...การรู้การเห็นมันก็จะตรงตามธรรม

อันไหนควรเห็น อันไหนควรรู้ อันไหนไม่ควรเห็น อันไหนไม่ควรรู้ อันไหนควรจริงจัง อันไหนไม่ควรจริงจัง หรืออันไหนควรไม่จริงจังกับมันเลยโดยสิ้นเชิง

ความเห็นเหล่านี้ท่านเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ มันก็จะค่อยๆ เห็นตามสภาพที่แท้จริง ตรงต่อสภาพที่แท้จริง โดยไม่ต้องคอยบังคับ หรือต้องบังคับอย่างยิ่งแล้ว ...มันเป็นไปตามสภาพอย่างนี้


(ต่อแทร็ก 12/24)