วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/35


พระอาจารย์
12/35 (561216G)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
16 ธันวาคม 2556


พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ดูไปอยู่ไป  มันเห็น มันปรากฏ มันแสดง มันหยั่งเข้าไปเห็นถึงความเป็นจริง ...แต่ก็บอกแล้วไงว่า มันยังไม่เชื่อโดยร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก

ก็ยังต้องทำต่อไปอย่างนั้น ที่เดิมน่ะ จนกว่ามันจะแล้วจะเลิกกันไป ไม่หวน คือเป็นสมุจเฉท ...ก็ความเป็นจริงก็มีอยู่แค่นั้น โลก ขันธ์ เป็นแค่ธาตุหนึ่งธรรมหนึ่ง แค่นั้นเอง

ใจก็เป็นแค่ธาตุหนึ่งธรรมหนึ่ง แต่ว่าแสดงอาการไม่เหมือนกัน ...ใจเป็นธาตุรู้ ...กาย ขันธ์ เป็นธาตุไตรลักษณ์ เป็นธาตุเกิดดับ หมุนเวียน แปรปรวน สลับไปมา...แต่ไม่มีชีวิต ไม่มีบุคคล

มันก็เห็นไป..เหมือนเดิม ซ้ำๆ ลงไป ...พอเผลอพอเพลิน หรือว่าไปที่ไหน ต้องมีธุระปะปังอะไรออกไปคิดออกไปปรุง ก็อย่าไปเผลอเพลินหลงระเริงไปกับอาการคิดปรุงนั้นๆ

ก็กลับมาอยู่ที่ความเป็นธาตุ ความเป็นรู้อย่างนี้ อยู่กับกายเป็นฐานอยู่อย่างนี้ ไม่ออกไปนอกเนื้อนอกตัว นอกกายนอกใจ ...ก็ทำอยู่แค่นั้นเอง ความรู้ความเข้าใจมันก็จะแสดงผุดโผล่ให้เห็นเป็นระยะๆ ของมันไป 

มันจะเลิกละเพิกถอนได้แค่ไหน..ช่างหัวมัน มันก็ละไปในตัวของมันไปเอง ...จนกว่ามันไม่มีอะไรให้ละ นั่นแหละ มันก็จะรู้เองว่าไม่มีอะไรให้ละแล้ว ไม่รู้จะทำไปทำไม ไม่รู้จะดูอะไร มันหมด..ก็แสดงว่ามันหมด

แต่ตอนนี้มันยังไม่หมด มันก็รู้อยู่ข้างในว่ามันยังไม่หมด มันยังต้องมีการทำ การรู้ การดู การเห็น...อยู่ต่อเนื่องไป ...หมายความว่ามรรคนี่ยังต้องอาศัย ยังต้องดำเนิน

จนกว่ามันจะบอกว่า ไม่จำเป็นต้องรู้ต้องเห็นอะไรแล้ว มันไม่มีอะไรที่มันไม่รู้ไม่เห็นแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องการจะรู้ ต้องการจะเห็น ต้องการจะหาความเป็นจริง หรือจะรู้ความเป็นจริงกับมันแล้ว...มันก็หมด

แต่ตอนนี้ยังมี...อะไรที่มันเป็นเราของเราอีก..มากมายมหาศาล ยังไม่หมดสิ้นซึ่งความเป็นเราโดยสิ้นเชิง แม้แต่เรื่องของกาย เรื่องของ..โดยโลก โดยรวมของสองโลกที่บอก กามภพกับรูปภพนี่

มันก็ยังไม่เป็นสิ้นเชิง มันก็ยังต้องทำอยู่...ยังประมาทไม่ได้ ยังเนิ่นช้าไม่ได้ ยังวางใจไม่ได้ ยังวางไม่ลงจริงๆ ...ถ้ามันวางลง ก็เรียกว่าพลิกฝ่ามือเป็นหลังมือแล้ว 

นั่น มันพลิกๆ มันพลิกไปเลย ตอนนั้นมันจะเป็นลักษณะที่มันเกิดผลแล้ว...เพราะนั้นผลมันก็เกิดความซาบซึ้งในธรรม เป็นกำลัง มันจะเป็นกำลังหนุนเนื่องต่อๆ กันไป

เพราะนั้นไอ้ตัวปีติหรือว่าตัวปัสสัทธิในธรรมนี่ ...มันเป็นตัวกำลังที่จะหนุนให้เกิดผล เกิดความรู้ความเข้าใจเนื่องจากเดินมาตามครรลองในองค์ของมรรคอย่างชัดเจน โดยไม่ลังเลสงสัยหรือว่าเนิ่นช้านั่นเอง

มันก็กินผลไปในตัวของมันเอง นั่นน่ะ ไม่มีจบที่อื่น จบที่กายใจปัจจุบัน ...ถ้าไม่จบที่กายก็จบที่ใจ ไม่ไปจบที่อื่นหรอก ...ดับที่เหตุ ต้องดับที่เหตุ คงไว้แต่รู้เห็น


โยม –  พระอาจารย์คะ พอดีมีน้องที่เขาเคยมาอยู่ คือพอเขาผ่านช่วงที่เขารู้ๆๆ จนเขารู้สึกว่าเขาไม่ทำอะไร พอเขาไม่ทำอะไรปุ๊บนี่ มันก็ไปทำงานแบบไม่มีปัญหา 

ตอนนี้เขาก็รู้สึกกับงานว่าเขาไม่มีอะไรทำ ทีนี้เขาก็จะปล่อยแล้วค่ะ เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่มีอะไรทำ เช้าขึ้นมาก็ทำงาน กับงานคือว่าไม่มีปัญหา

พระอาจารย์ –  นั่นแหละมันหลงรู้ บอกแล้วว่าต้องทำงานในกาย ต้องให้มันมาจับคู่กับกาย มันจะเป็นธรรมเดี่ยวไม่ได้ มันจะต้องเป็นธรรมคู่ มันจะต้องมารู้เห็นกับสิ่งหนึ่งคือกายคือศีล

เพื่ออะไร ...เพื่อให้เกิดความถ่องแท้ในขันธ์ในกาย ...เพราะนั้นถ้ามันอยู่แบบเลื่อนๆ ลอยๆ ถึงจะรู้อยู่ก็ตาม แล้วไม่มีปัญหาอะไรก็ตาม นี่ก็เรียกว่าหลง...หลงรู้

บอกแล้วอย่าทิ้งกาย ยังทิ้งกายไม่ได้ ยังต้องใช้กายเป็นเครื่องระลึกคู่กันกับรู้อยู่อย่างนั้นแหละ จนกว่ามันจะอยู่กับกายโดยที่ไม่มีกาย...ไม่ใช่อยู่โดยที่ไม่สนใจกายเลยอย่างนี้

นี่เรียกว่ามันอยู่โดยไม่สนใจกายแบบดื้อๆ โง่ๆ ...ก็ยังโง่ ก็ยังไม่รู้อะไร  ถึงจะไม่มีอะไร แต่มันก็ไม่รู้อะไร ไม่รู้ความเป็นจริงว่ากายคืออะไร ขันธ์คืออะไร โลกคืออะไร ก็อยู่ไปแบบสัมภเวสี ลอยไปลอยมา

ภาวนา..จะกี่เดือนกี่ปีกี่ชาติไม่รู้น่ะ...ถ้ามันยังออกจากกายไม่ได้ ละกายไม่ได้  ก็ยังออกจากการภาวนาโดยเอากายเป็นที่ระลึกรู้ไม่ได้ ...กายใจมันเป็นมรรคตลอดเวลา

เมื่อใดออกจากความรู้ตัว เมื่อนั้นก็เกิดความเผลอเพลิน เมื่อนั้นก็เกิดการสุดโต่งไปในทางความพอใจ-ไม่พอใจ มันก็คล้อยไปตามความอยากและตามความไม่อยาก ...เมื่อใดไม่อยู่กับกาย เมื่อนั้นก็หลง

เมื่อใดที่มันอยู่ในมรรค อยู่ในกายก็อยู่ในมรรค ก็อยู่ด้วยความเรียนรู้ดูเห็น ด้วยความเข้าใจความเป็นจริงของกายขันธ์...ซึ่งเป็นขันธ์หยาบ เป็นขันธ์ที่รองรับขันธ์ละเอียดอยู่ภายใน

ถ้ามันยังไม่รู้จริงรู้แจ้งในเรื่องของกาย มันก็จะไม่รู้ในขันธ์ทั้งหลายเลยที่มันเป็นส่วนละเอียด ... เมื่อใดที่ไม่อยู่กับกาย เมื่อนั้นมันก็จะไปสร้างทุกข์ในจิตตัวเองแล้วก็จิตผู้อื่น

นั่น มันก็สร้างทุกข์ทั้งในกายตนเอง แล้วก็กายคนอื่น ...แล้วมันจะเกิดความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เอาชนะกัน เอาถูกเอาผิดให้กัน ว่าร้ายกัน กล่าวโทษกัน ชิงชังให้กัน รักใคร่กัน 

นี่ เมื่อใดที่มันออกนอกกายปัจจุบันรู้ปัจจุบัน เมื่อใดที่มันออกนอกแล้วมันไปทำอาการนั้นๆ น่ะ ...โดยเจตนาบ้าง ไม่เจตนาบ้างก็ตาม ...มันจะเกิดเป็นผล คือกรรมวิบากสะท้อนกลับมา

ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง ...ยังไงมันก็ต้องมีผลสนอง สะท้อนกลับคืนมาเป็นวิบากอย่างแน่นอน

แต่เมื่อใดที่มันหยุดอยู่กับกายใจปัจจุบัน หยุดอยู่ในองค์มรรค เดินอยู่ในเส้นทางของมรรค ...การกระทำคำพูดที่ออกไปนอกองค์มรรคที่เป็นกรรมและวิบาก กุศลบ้าง อกุศลบ้าง ...มันก็ไม่เกิด

มันก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลแห่งวิบากตามหลังมา เป็นความเร่าร้อนต่อไปในภายภาคหน้า

เพราะนั้น จะปฏิบัติกี่ปีกี่เดือน จะเคยปฏิบัติวิธีการไหนอย่างไร ถ้ายังละเลิกเพิกถอนจากความเป็นตัวเรา กายเรา กายเขาของเขาไม่ได้ ...ยังไงก็ต้องมาภาวนาอยู่ที่กายที่ตัวของตัวเอง

เป็นเครื่องยืนยัน เป็นเครื่องระลึกรู้ เป็นเครื่องสืบค้นความเป็นจริงภายในกาย หาปัญญาในกายให้เกิด ให้เข้าใจ ...แล้วก็ทิ้งกายคนอื่นซะ แล้วก็ทิ้งกายอดีตกายอนาคตซะ

กายดีกายร้าย กายถูกกายผิดของคนอื่น...ของตัวเองก็ทิ้ง ให้เหลือแต่กายนั่งนอนยืนเดินที่เป็นกายปัจจุบัน ...มันจึงจะข้ามพ้นกาย มันจึงจะข้ามพ้นการเกิดมามีกายเป็นคน การเกิดมามีกายเป็นสัตว์

กายคนกายสัตว์มันก็เหมือนกัน มีรากเหง้าเดียวกัน คือดินน้ำไฟลม สสารพลังงานเหมือนกัน  เพียงแต่การประกอบรวมกันเป็นรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามอำนาจกรรมวิบากเท่านั้นเอง

แต่ว่าโดยรากเหง้าของกายแล้วนี่ มันก็คืออณูธาตุ อะตอม สสารพลังงานที่ไม่มีความสูงต่ำดำขาว ดีร้ายถูกผิดอะไร มันไม่ได้ดีกว่าใคร ถูกกว่าใครหรอก

การภาวนาก็เพื่อให้เห็นความเป็นจริงของกาย ว่ากายจริงๆ ที่เราอยู่ที่เราใช้มันนี่...มันยังเข้าใจไม่พอ มันยังเข้าใจไม่ถึง มันยังเข้าไม่ถึงสภาพที่แท้จริงของกาย

มันก็รู้จักกายปลอมๆ มันก็รู้จักกายปลอมปนด้วยความคิด ด้วยความเห็น ด้วยความปรุง ด้วยภาษา ด้วยบัญญัติ ...มันก็จะเป็นเหตุให้เกิดกายนี้ พากายนี้ไปสร้างความเป็นสุขเป็นทุกข์ให้ตัวเองและให้ผู้อื่น

เป็นการเบียดเบียนซึ่งกันและกันบ้าง เป็นการยกย่องบูชาบ้าง...ก็แล้วแต่มันไปทำ มันก็ได้ทั้งในแง่ดี-แง่ไม่ดี ...แต่ว่าในแง่ดีก็มีผล ในแง่ไม่ดีมันก็มีผลกลับมาทั้งหมด แล้วมันไม่มีคำว่าหยุดยั้ง จบสิ้น 

มันก็เหมือนกับเป็นการหมุนวนอยู่ในอาการนั้นๆ ซ้ำซากเหมือนเดิม ...แต่ในการที่กลับมาภาวนาอยู่กับกาย ภาวนาอยู่กับรู้นี่ มันจะเกิดปัญญา เกิดความเข้าใจในความเป็นจริงของกาย

เมื่อมันเข้าใจความเป็นจริงของกายว่ากายนี้จริงๆ คืออะไร ไม่ได้เป็นใครของใครอย่างไร ...การเข้ามาหมุนวน มาจับจองเอาก้อนดินน้ำไฟลม ก้อนสสารพลังงานในโลกที่ก่อรวมกันเป็นกองขันธ์กองกายนี่ มันก็ไม่เกิดขึ้นอีก

ทุกข์ที่เนื่องด้วยการกระทำของกาย ทุกข์ที่เนื่องด้วยการปรากฏขึ้นของกาย ที่มันต้องมากระทบสัมผัสกับเหตุต่างๆ ปัจจัยต่างๆ ในโลกนี่ ...มันก็ไม่มี

ทุกข์ที่มันมีก็เพราะว่าเห็น ทุกข์ที่มันมีก็เพราะว่าได้ยิน ทุกข์ที่มันมีก็เพราะว่าได้ลิ้มรส ได้ดมกลิ่นที่พอใจ-ไม่พอใจ ทุกข์ที่มันมีเพราะว่ามีจิตคิดนึกปรุงแต่ง สัญญาความจำ ความเห็นในกาย 

ถ้ามันไม่มีกาย ทุกข์เหล่านี้มันก็หมด ไม่สามารถก่อสร้าง ก่อเกิดขึ้นมาได้อีกต่อไป ...นี่ การเรียนรู้เรื่องกายจึงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องหยาบ ไม่ใช่เรื่องรอง ไม่ใช่เรื่องที่ไว้ทีหลัง ที่รู้เมื่อไหร่ก็ได้

มันเป็นงานเบื้องต้น เป็นงานจำเพาะหน้า เป็นงานเร่งด่วน...แข่งกับอายุขัยอายุขันธ์ แข่งกับความตาย ซึ่งไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ ตอนไหนที่ไหนอย่างไร ลักษณะใด

ไม่ใช่ยังไม่ทันเรียนรู้เรื่องกาย ยังไม่ทันเห็นกายในแง่มุมที่เป็นความเป็นจริงใดความเป็นจริงหนึ่งเลย ก็ตายซะแล้ว กายก็แตกเน่าเปื่อยไหม้เผาดับจมหายไปในผืนดินซะแล้ว

กว่าจะได้มาตั้งกายตั้งธาตุขึ้นมา ตั้งรู้ตั้งเห็น ตั้งความมีศรัทธาขึ้นมาในการปฏิบัตินี่ ไม่รู้อีกกี่ปีอีกกี่ชาติ ...และกว่าจะตั้งภาวนาขึ้นมาว่าตั้งอยู่ที่กาย ตั้งอยู่ที่รู้ ก็ไปงกๆ เงิ่นๆ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ อีกตั้งนมนานกาเล

จึงถึงบอกว่า อย่าเห็นอะไรสำคัญกว่ากาย กับการรู้ตัวในปัจจุบัน  ผูกจิตผูกใจ ผูกรู้ผูกเห็นไว้อยู่กับปัจจุบัน..คือตัว ไม่ไปสำคัญมั่นหมายในที่อื่นที่นอกเหนือจากกายที่มันปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

นั่นน่ะ ถ้ามันสามารถทำได้อย่างนั้น เมื่อใดที่ทำได้อย่างนั้น เมื่อนั้นเรียกว่าภาวนาอยู่ ภาวนาเป็น ...เมื่อภาวนาเป็น ภาวนาอยู่แล้ว ก็ต้องภาวนาอยู่ด้วยความต่อเนื่องไม่ขาดสาย

มันจึงจะเกิดความพอกพูนขึ้นซึ่งสมาธิและปัญญา ...จิตที่ไม่รู้มันก็จะรู้ จิตที่ไม่เห็นมันก็จะเห็น  จิตที่ไม่เคยรู้ มันก็จะรู้  จิตที่ไม่เคยเห็น มันก็จะเห็นความเป็นจริง  จิตที่มันเคยโง่ มันก็จะฉลาด

จิตที่ไม่มีปัญญา มันก็จะมีปัญญา เห็นความเป็นจริงของขันธ์ เห็นความเป็นจริงของโลก เห็นความเป็นจริงของกาย เห็นความเป็นจริงของสรรพสิ่ง ซึ่งมันไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน

เมื่อมันเห็นความเป็นจริงในกายจริงๆ ตามจริง เมื่อมันเห็นความเป็นจริงในขันธ์ทั้งห้า เป็นจริงตามจริง ...มันก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรในขันธ์ห้า ไม่มีตัวตนใดตัวตนหนึ่งตั้งอยู่ในขันธ์ห้า

เมื่อมันเห็นความเป็นจริงถึงที่สุดในขันธ์ห้าอยู่อย่างนั้นน่ะ ...มันก็ทิ้งขันธ์ห้า มันก็ไม่เข้าไปจับจองเป็นเจ้าของในขันธ์ห้า มันก็ไม่เข้าไปเป็นสุขเป็นทุกข์ในขันธ์ห้า มันก็ไม่เข้าไปหาสุขหาทุกข์ในขันธ์ห้า ทั้งตัวเองและตัวผู้อื่น 

มันก็ปล่อย มันก็วาง มันก็สลัดออกในการเข้าไปถือครองครอบครอง ...ความเป็นทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงที่มันเกิดขึ้นนี่ มันเกิดขึ้นจากความเป็นเราเข้าไปครอบครองในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในอาการใดอาการหนึ่ง ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

เมื่อมันไม่มีเราเข้าไปครอบครองในอาการใดอาการหนึ่ง ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรียกว่าขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรียกว่าเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรียกว่ารูป ไม่ว่าจะเป็นเรียกว่าเหตุการณ์ต่างๆ นานา ในโลกในจักรวาล 

มันก็ไม่เดือดร้อน มันไม่มีเราไปเป็นทุกข์เป็นสุขกับอะไร ...ผู้นั้นก็เรียกว่าเป็นผู้ที่หลุดพ้นจากขันธ์ห้า ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่เรียกว่าหลุดพ้นไปจากโลกสมมุติ โลกบัญญัติ  

ผู้นั้นก็ยังเป็นผู้ที่หลุดพ้นไปจากโลกตามความเป็นจริง ไม่หวนคืนมาในโลก มารับรู้เรื่องราวในโลกผ่านขันธ์ห้าอีกต่อไป ...การรับรู้เรื่องราวในโลกมันก็จะรับรู้ผ่านขันธ์ห้า ถ้ามันไม่มีขันธ์ห้า มันก็จะไม่มีโลกโดยปริยาย 

ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงนี่ จุดเริ่มต้นมันอยู่ที่ตัวกายนี้เองเป็นหลัก ...ถ้าไม่เริ่ม ถ้าไม่ฝึก ถ้าไม่อบรม ให้จิตมันอยู่กับปัจจุบันกายนี่ มันจะมีแต่ความวุ่นวายสับสน ลังเลสงสัย ไม่มีอะไรชัดเจนเป็นหลักเป็นฐานได้เลย

เพราะจิตมันจะไม่เกิดความเป็นหนึ่ง ความตั้งมั่นเป็นสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ไม่รวมเป็นรู้เป็นเห็นกับกาย กับปัจจุบันสรรพสิ่ง ด้วยความตั้งมั่นและเป็นกลาง

มันจึงตกอยู่ภายใต้อาการสับสนและลังเล ไขว่คว้า กระเสือกกระสน ดิ้นรน ทะเยอทะยาน อลหม่าน วุ่นวี่วุ่นวาย ...เป็นความเศร้าหมอง เป็นความขุ่นมัวอยู่ภายใน

นี่ หลักของการภาวนาก็มีอยู่แค่นี้ ทำความรู้ตัวให้เกิด ให้ได้ ให้เป็น  แล้วก็รักษาความรู้ตัวให้ได้นาน ให้ได้ต่อเนื่อง ...เหล่านี้ทั้งหมดนี้ที่พูดมาก็คือการเจริญมรรค

เวลาการภาวนานี่ ให้เจริญมรรคเป็นหลัก ...ไม่ใช่ไปเจริญผล ไม่ใช่ไปอยากได้ผล ไม่ใช่ไปอยากได้ความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ไปอยากได้ความละความวาง ไม่ใช่ไปอยากได้ความหลุดความพ้น

แต่ให้ได้เจริญมรรคอย่างเดียว ผลมันก็จะตามมา ตามเหตุแห่งการประกอบมรรค ...ประกอบเท่าไหร่ ต่อเนื่องมากน้อยอย่างไร ขาดตกบกพร่องอย่างเล็กน้อยหรืออย่างมาก ผลก็จะเป็นตามเหตุที่เข้าไปประกอบในองค์มรรคนั่นเอง

แต่ถ้าประกอบผิดศีลผิดธรรม ผิดองค์มรรค หรือว่านอกองค์มรรค ผลมันก็จะไม่เกิดในการที่ว่าจะละวางเพิกถอนความเป็นเรา หรือจิตที่เป็นเราเข้าไปหมายมั่นในทุกสิ่ง

นี่แหละคือหัวใจของการภาวนา นี่ล่ะคือหัวใจของการที่ว่ารู้ตัวไปทำไม ทำไมจะต้องรู้แค่นี้ ทำไมจะต้องรู้จำเพาะตัวจำเพาะกาย ทำไมถึงรู้ที่อื่นไม่ได้ ทำไมถึงปล่อยให้มันล่องๆ ลอยๆ ไม่ได้ 

เพราะมันจะไม่เข้าใจความเป็นจริงของตัวเอง ว่ากายใจคืออะไร กายขันธ์คืออะไร กายธาตุคืออะไร กายเรา กายไม่ใช่เราคืออะไร กายไหนเป็นกายที่ทำให้เกิดทุกข์

แล้วกายไหนเป็นกายที่ไม่ทำให้เกิดสุขและทุกข์ กายไหนที่ออกจากสุขและทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง มันก็จะเข้าใจขึ้นมาภายในตัวของมันเอง จนมันไม่มาอาศัยอยู่ในกายนี้ เป็นที่เกิดเป็นที่ตายอีกต่อไป

อย่าไปรู้ที่อื่น อย่าไปรู้กับเรื่องราวอื่น ที่นอกเหนือ ที่เกินจากกายนี้ออกไป ...แล้วทุกอย่างมันก็จะหดลงสั้นลง ความคิด ความนึก ความทะเยอทะยานของจิต ความกระเสือกกระสนของอารมณ์ต่างๆ นานา 

ความดิ้นรนขวนขวายในที่ต่างๆ มันก็น้อยลงไปเอง หดตัวของมันลงมาเอง ...มารวมอยู่แค่รู้แค่เห็น กับสิ่งที่มันถูกรู้ สิ่งที่มันถูกเห็น...ก็คือกาย เป็นกรอบ เป็นหลัก


...................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น