วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/34 (2)


พระอาจารย์
12/34 (561216F)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
16 ธันวาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  12/34  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นไม่มีวิธีการไหนหรอกที่ง่าย ไม่มีวิธีการไหนที่เร็วกว่ากันหรอก ไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ไม่ว่าจะเป็นเจโตวิมุติล้วนๆ

ไม่ว่าจะเป็นเจโตกึ่งปัญญาวิมุติ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาวิมุติ ไม่มีวิธีการไหนยากง่ายกว่ากันเลย ...มันจะต้องมีความเพียรอย่างยิ่งเท่ากันเลย ไม่สบายหรอก แล้วก็ไม่ได้ผลแบบรวดเร็วทันใจด้วย

เพราะนั้นตัวที่จะวัดผล ให้ถามเลยว่า วันนี้รู้ตัวได้กี่เปอร์เซ็นต์ มันดีขึ้นหรือมันเลวลง หรือมันคงที่มั้ย แล้วก็มันสม่ำเสมอทุกวันมั้ย ...นั่นแหละถามไว้

อย่าถามว่าผลคืออะไร ถามว่าไอ้ที่ทำน่ะได้แค่ไหน มากหรือน้อยลง ...ถ้ามันน้อยลง แล้วจะทำยังไงดี ให้มันน้อยลงไปเรื่อยๆ หรือไง หรือจะให้มันมากขึ้นเพิ่มเติมขึ้น

นั่นน่ะไปดูเอา วัดเอา แล้วพัฒนาขึ้นมาเอง จนมันเต็มๆ ...ลืมตาตื่นยันหลับตานอน ไม่ลืมเลย ไม่ลืมเลยแม้แต่ปัจจุบันหนึ่งของกายที่ปรากฏ ...นั่นน่ะเต็ม

ถ้าจะตั้งเป้า...ให้ตั้งเป้าตรงนี้  ...อย่าไปตั้งเป้าว่าจะหลุดพ้นเมื่อไหร่...ไอ้นั่นน่ะฝันหวาน ฝันกลางวัน แล้วก็จะฝันข้ามคืน พอหลับปุ๊บ เหาะไปถึงนิพพานยังได้เลย ...จิตปรุงแต่งหลอกได้หมด

ให้ถามตัวเอง ให้ดูตัวเอง ทบทวนตัวเองอยู่ตลอดว่า...มันทำได้มากขึ้นรึยัง สามารถรู้ตัวได้มากขึ้นรึยัง ได้ถี่ไหม ได้ต่อเนื่องไหม แข็งแรงดีไหมในการรู้

แข็งแรงยังไง ...คือไอ้ตรงไหนที่มันขาดน่ะ มันจะขาดประจำ เช่น เวลาแต่งตัว เวลากินข้าว แน่ะ เวลาโทรศัพท์คุย เวลามีไลน์เข้า อย่างงี้ มันจะลงที่เดิม เข้าใจมั้ย

มันก็ลืม ตัวก็จะหาย แล้วก็เข้าไปจมอยู่ในนั้น ...ตรงนี้คือจุดยากของแต่ละคน มันจะมีจุดยากไม่เหมือนกัน  เราก็จะต้องมาแก้จุดของตัวเองให้ได้ มาอุดช่องโหว่ช่องว่าง ช่องเล็ดรอดของจิตที่มันไหลออกไป

ต้องตั้งสติให้ดี ต้องตั้งใจให้แรง ต้องตั้งให้แรงกว่าที่ความเคยชินคุ้นเคย ไม่งั้นมันก็ลงร่องเดิม วนลงที่เดิมๆ อยู่อย่างงี้ ...เพราะเราจะอยู่ในกิจวัตรซ้ำซากนะ การใช้ชีวิตน่ะ มันจะเป็นกิจวัตรเดิมๆ น่ะ

อย่างโยมนักดนตรีนี่ เวลาเล่นเปียโน ไม่ต้องถาม มันไม่รู้สึก...แทบจะไม่รู้สึกได้เลยถึงนิ้วที่กระทบเลย ...มันจะอยู่ในเสียง แล้วก็อิ่มเอม มีความอิ่มเอมอยู่ในนั้น

แต่ถ้ากระทบที่นิ้วนี่ กูไม่รู้จะเล่นไปทำไม สังเกตดูนะ พอมันกลับมารู้อากัปกริยากายนี่ ความสุขความทุกข์ในเสียงนี่มันจะหายไปเลย ...แล้วพอมันหายไป ก็ไม่รู้จะทำทำไม มันจะหยุดเลย มันจะหาสุขไม่ได้

แต่ถ้าปล่อยให้เพลิดเพลินล่องลอยไป เออ มันจะมีความไหลเลื่อนไป อยู่อย่างงั้น หลงเพลินไปในอารมณ์ ในรูปในเสียงที่มันปรุงขึ้น มีจินตนาการอยู่

เพราะนั้น ที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านวางกฎหยาบๆ ศีลหยาบๆ ไว้ว่า ไม่ประโคมดนตรี เพราะเหล่านี้มันคืออะไร ...มันทำให้รั่วไหล ไม่รู้ตัวได้ง่าย ทำให้การรู้ตัวที่ง่ายกลายเป็นยากไป

ทำไมท่านไม่ให้นอนที่นอนสูง ทำไมท่านไม่ให้นอนที่นอนนิ่ม นั่น มึงนอนกระดานซะบ้าง จะได้นอนหลับไม่ค่อยดี จะได้ตื่นๆ หลับๆ เข้าใจป่าว

ทั้งหมดนี่ท่านวางไว้เป็นอุบาย เหมือนกับว่า เพื่ออะไร...เพื่อให้กลับมารู้ตัวได้เร็วได้ง่าย ...เออ ถ้านอนสบายแล้วไม่ค่อยอยากตื่นน่ะ มันหลับ ไม่รู้ตัว มันมาตื่นรู้ตัวไม่ได้

เพราะนั้นศีลที่แท้จริงนี่คือตัวนี้ ...นอกนั้นเป็นศีลนอก และเป็นศีลนอกที่มันเป็น accessory เข้าใจมั้ย มันเป็นบริวารที่มันคอยมาเป็นเหตุเกื้อหนุน

แต่ว่าตัวเหตุจริงๆ ตัวศีลคือปัจจุบันกาย...รู้ตัว ตัวนี้เป็นหลัก หัวใจของศีลอยู่ตรงนี้ เพราะนั้นถ้าจับหัวใจศีลได้แล้วก็รักษาหัวใจศีลได้นี่

ผลที่ได้คือ หนึ่ง ไม่เบียดเบียนคน ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นเลย ไม่เบียดเบียนแม้กระทั่งสรรพสิ่ง ...นี่คืออานิสงส์ของศีลที่เรียกว่าหัวใจของศีล


โยม –  ยังไงหรือคะที่ไม่เบียดเบียน

พระอาจารย์ –  ตัวที่มันออกไปเบียดเบียนคืออะไร


โยม –  ความคิด

พระอาจารย์ –  ความคิดตัวเรา ความเห็นตัวเรา พวกนี้คือการเบียดเบียน

เมื่อใดที่มันอยู่ในศีล รักษาศีลอย่างยิ่งนี่ มันไม่มีเรา ...มันจะมีแต่รู้ว่านั่ง เข้าใจมั้ย หรือมีเราก็เป็นแค่เรานั่งอยู่ในปัจจุบัน จะไม่มีเราออกไปข้างหน้าข้างหลัง ...มันจึงไม่มีจิตที่ไปเบียดเบียน เข้าใจมั้ย 


โยม –  เพราะมันอยู่กับตัวเองตลอด

พระอาจารย์ –  เพราะมันอยู่กับตรงนี้ตลอด ...แล้วมันก็ไม่เบียดเบียนตัวเอง ด้วยการที่มันไปคิดถึงตัวเองข้างหน้า ที่เลว ที่ดี ที่จะมีสุข ที่จะเป็นทุกข์

เห็นมั้ย มันคิดเองแล้วมันทุกข์เองใช่มั้ย ...มันก็ไม่เบียดเบียนตัวมันเองด้วย ไม่ใช่แต่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นนะ  ผู้ใดที่รักษาศีลจริง จะไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นเลย

แต่ถ้าศีลห้าศีลแปดนี่ เบียดเบียนตลอด ...ระหว่างที่มันกำลังว่าไม่โกหกนี่ จิตมันโกหกแล้ว เข้าใจมั้ย จิตมันบอกว่าเดี๋ยวครั้งหน้ากูจะไปยังไง ครั้งนี้ไว้ก่อน ฝากไว้

ตอนนี้ก็พูดๆๆ ไปว่า ไม่โกหก กูรักษาศีลอยู่ ...มันติดปาก เนี่ย แต่จิตมันไปแล้ว มันสร้างสภาวะข้างหน้าข้างหลังอยู่แล้ว มันมีการเบียดเบียนไปพร้อมกันเลย

แต่ข้างนอกก็รักษาภาพไว้ เนี่ย ไม่ด่าคน ปากไม่ด่า..ใจด่า พูดเนี่ย เขาถึงบอกไง ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ พูดนี่ดี เป็นขวาหมดเลย ลึกๆ ข้างในกูซ้ายเต็มๆ ก็ได้นี่

เห็นมั้ย คำว่าเบียดเบียนมันเกิดได้ ขณะที่ดูท่าทางมีศีล ...นี่ เพราะศีลพวกนี้มันเป็นแค่รูปลักษณ์ แล้วเป็นศีลที่ไว้จำกัดตัวเราข้างหน้าข้างหลัง ตัวเราที่ออกไปทำอะไรกับผู้อื่น ให้เกิดความเดือดร้อน


โยม –  เกิดบางอย่างเราคิดไม่ตรงกับเขาอย่างนี้น่ะค่ะ เราก็ต้องเงียบไว้ หรือว่า...

พระอาจารย์ –  เงียบไว้ ไม่ต้องออกความเห็น อดทน ยอมถูกล่วงเกิน


โยม –  ให้เขาว่าหรือพูดอะไร

พระอาจารย์ –  อือ ดูถูกก็ได้ เพราะมันดูถูกนี่...ไม่ได้ดูถูกกายหรอก มันดูถูกเรา เออ ดูถูกเข้าไป ล่วงเกินเข้าไป จนหมด “เรา” เลย  เอาไปเลย เอาไปจน “เรา” ไม่มีให้ถูกล่วงเกินเลย เข้าใจมั้ย

แต่ถ้ายังรักษาความเป็น "เรา" ไว้ จะไม่ให้ใครล่วงเกินเลย แปลว่ามันหวง “เรา” ไว้ มันไม่ยอมสูญเสียความเป็นเรา เข้าใจมั้ย มันไม่ยอมละ

เพราะนั้นการที่ว่าอดทนไว้นี่ แล้วมันดูเหมือนถูกจาบจ้วงล่วงเกิน ด้วยการกระทำคำพูด มันรู้สึกว่าตัวนี่เสียหาย ตัวเรานี่เสียหาย ...กายไม่เสียหายนะ ตาไม่เสียหายนะ หูไม่เสียหาย ใครเสียหาย


โยม –  ตัวเรา

พระอาจารย์ –  เออ แล้วมันไม่ยอมให้เราเสียหาย เข้าใจมั้ย มันก็พยายามจะไปสร้างอาณาเขตของเรา หรือว่าตกแต่งความเป็นเรานี่ ให้ใครล่วงเกินไม่ได้ ...นี่เขาเรียกว่าสร้างความแข็งแกร่งหรือว่าปั้น ปั้นน้ำขึ้นมาเป็นตัว


โยม –  แต่ถ้าอย่างบางคนเขามีมิจฉาทิฏฐิอย่างนี้ แล้วอยากจะให้เขามีความเห็นที่ถูก

พระอาจารย์ –  สอนตัวเองๆ


โยม –  ก็เรื่องของเขา ไม่ต้องไปเรื่องของชาวบ้านเขา

พระอาจารย์ –  กิเลสคนอื่นแก้ไม่ได้ ...ไอ้ที่มันมาไล่ใครกันอยู่นี่ หรือว่าห้ามคนนั้นห้ามคนนี้  มันห้ามกิเลสคนอื่นไม่ได้ มันไปเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นคนอื่นไม่ได้ มันจะไปบังคับให้มาเห็นอย่างเดียวกันไม่ได้ มันถึงเดือดร้อนไง

แต่ไอ้ที่ห้ามได้แก้ได้คือตัวเอง คือกิเลสของเจ้าของนั่นเองที่แก้ได้ ...แล้วคนอื่นเขามาแก้กิเลสเราเองได้มั้ย อยู่คู่กันนี่แก้ได้มั้ย เข้าใจมั้ย ไม่มีใครแก้ให้กันได้นะ

แต่ว่าบอกได้ เตือนได้ แล้วก็..เรื่องของมึง จะทำ-ไม่ทำ ต้องน้อมเอาเองน่ะ ...นี่ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าความเป็นจริงมันเป็นอย่างงี้นะ

เพราะนั้นถ้าจะไปมุ่งแก้คนอื่นนี่ แก้ไม่ได้ แต่มุ่งที่แก้ตัวเอง ...พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า พึงติเตียนตน ไม่ไปติเตียนผู้อื่น  พึงเพ่งโทษตัวเอง ไม่ไปเพ่งโทษผู้อื่น

เพราะว่าการที่เพ่งโทษตัวเอง มันก็จะรู้เห็นจุดบกพร่องของกิเลสที่มันเกิดมา ยึดมั่นถือมั่นอย่างไร ลักษณะไหน เข้มข้นแค่ไหน มากหรือน้อย เออ แล้วมันยังต่อเนื่องแค่ไหน

มันก็จะเห็น แล้วมันก็จะค่อยๆ สลาย ทำลาย ทำลายได้..ทำลาย เจือจางได้..เจือจาง  ถ้ายังวางอะไรกับมันไม่ได้..เอาวางไว้ก่อน อดทนกับมันไปก่อน ...มันก็จะเห็น

แต่ว่าเป้าหมายสูงสุดคือว่า กูกับมึงจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ จะต้องออกไปให้สิ้น นี่คือเป้าหมายสูงสุด ...แต่ว่าบางครั้งบางตัว เออ มันละได้ คล้ายๆ กับไม่เอาธุระ นี่ เขาเรียกว่าวางได้

แต่มันก็มีบางเรื่องนี่ วางแล้ว..ได้บ้างไม่ได้บ้าง นี่ ...แล้วก็ยังมีอีกบางเรื่อง..วางไม่ได้เลย ยังจะเอาอยู่นั่น จะเอากับมันอยู่นั่นแหละๆ อย่างนั้น ...นั่นก็ต้องทน

นี่เพราะอะไร ...กำลังของสติปัญญาที่มันเข้าไปเห็นความเป็นจริงน้อย ไม่สามารถเพิกถอนความเป็นเราที่เข้าไปครอบครองอาการนั้นเป็นเราเป็นเขาได้ ...นี่มันจะยังแรง มันยังไม่ยอม

มันจะเอาผิดเอาถูกให้ได้ ทั้งๆ ที่ว่า ไม่มีหรอกใครผิดใครถูกน่ะ ไม่มีอะไรผิดอะไรถูกหรอก ...จริงๆ น่ะ จิตมันหลอก แล้วมันก็มี "เรา" เข้าไปรับสมอ้างขึ้นมา แค่นั้นเอง ปัญหา

ทนไปก่อน เดี๋ยวก็มีปัญญาขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยๆ มันก็แยกออก อันไหนจริงอันไหนเท็จ อันไหนเป็นข้อความเท็จ อันไหนเป็นคำรับสมอ้างขึ้นมาเลื่อนๆ ลอยๆ ...มันทิ้งหมดเลย

ทิ้งจนขนาดไหน ...จนเหลือความเป็นจริงแค่สองสิ่งคือกายกับใจ...ไม่มีสามนะ ไม่มีเป็นสามขึ้นมาเลยนะ มีแค่สองคือกายกับใจ 

แล้วเป็นกายอะไรก็ไม่รู้ แล้วเป็นใจอะไรก็ไม่รู้ ...สองตัวแค่นั้นเอง สามโลกธาตุเหลือแค่นั้นน่ะ 

เอ้า เท่านี้แหละ พอเข้าใจมั้ย


โยม –  พอเข้าใจค่ะ

พระอาจารย์ –  ให้เข้าใจหลักการ แล้วก็รู้ที่เดียว อย่างอื่นไม่ต้องไปรู้อะไร ไม่ต้องไปสนใจอะไร


(ต่อแทร็ก 12/35)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น