วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/34 (1)


พระอาจารย์
12/34 (561216F)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
16 ธันวาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  แล้วอย่างทุกวันนี้ หนูเดินจงกรมน่ะค่ะ แค่เอาเท้ากระทบพื้นอย่างนี้ ก็เหมือนรู้กายอยู่ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  แค่นั้นน่ะ


โยม –  แล้วอย่างแบบแฟนนี่ เขาชอบนั่งสมาธิอย่างนี้ จะดูกายยังไงได้น่ะคะ

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่านั่ง ก้นกระทบพื้น รู้มั้ย


โยม –  แต่ไม่ต้องแบบพุทโธอะไรอย่างนี้ แค่รู้กาย

พระอาจารย์ –  ไม่ต้อง มันเกินหมด เข้าใจว่ามันเกินมั้ย


โยม –  อืม แล้วสวดมนต์ก็รู้แค่ว่าเรากำลังสวด

พระอาจารย์ –  พนมมือ ปากขยับ แค่นั้นแหละ นั่นคือรูปแบบ ...นั่งสมาธิ ก็นั่ง...แล้วก็เวลาจะนั่ง จะเริ่มนั่งนะ อย่าเพิ่งรีบนั่ง ขยับนั่งให้ดี

แล้วก็กำหนดไว้ว่า ไม่เอาอะไร จะไม่เอาอะไรเลย จะนั่งเฉยๆ แล้วก็ดูว่านั่งเฉยๆ กูจะไม่เอาอะไร ...พอจิตมันจะว่า...เอ อย่างนั้นดีมั้ย ไม่เอาๆ ...เอานั่ง นั่งเอานั่ง นั่งเอารู้


โยม –  ถ้านั่งแล้วมันปวดเมื่อย ก็ให้รู้ว่ามันปวดมันเมื่อย

พระอาจารย์ –  หน้าด้าน ทนไป ดูไปทนไป ...เท่าที่จะทนได้


โยม –  แต่ถ้าหนูไม่ชอบนั่ง ก็เดินก็ได้ใช่ไหมคะ เดินจงกรมให้รู้เท้ากระทบพื้น ให้รู้

พระอาจารย์ –  อาการหมุน อาการหัน เวลาลมพัดกระทบ..เย็น เนี่ย พวกนี้ดูได้หมด ...แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องตกอกตกใจ ถ้ามันรู้อยู่ที่ขาแล้วมีลมมากระทบก็ไปรู้ที่ลม แล้วต้องรีบวิ่งกลับมารู้ที่ขา เข้าใจมั้ย


โยม –  รู้ไปตามธรรมชาติของมัน

พระอาจารย์ –  เออ ง่ายๆ มันจะรู้ไปทั่ว อะไรก็ได้ที่เป็นกาย เพราะกายไม่ได้แปลว่าขา เพราะกายไม่ได้แปลว่าลม เพราะกายไม่ได้แปลว่าร้อน เพราะกายไม่ได้แปลว่าขยับ

กายคือทุกสิ่งนั่นแหละ ทุกอาการนั่นแหละ คือไม่มีอาการที่แท้จริงของกาย เข้าใจมั้ย เพราะนั้นเวลาเราไปกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์..ไอ้ที่ว่าเพ่งๆๆ น่ะ เพราะเราไม่เข้าใจ

คือจะไปเอาลมเป็นเที่ยงน่ะ กายเป็นลม ลมเป็นกาย อย่างเนี้ย ...แล้วก็ถ้าออกจากลมหรือว่าลืมลมเมื่อไหร่ อู้หูย เหมือนกับไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาน่ะ ตกใจ รีบหาลม สร้างลมขึ้นมา

กายไม่ได้แปลว่าลมอย่างเดียวนะ ลมก็ได้ เมื่อยก็ได้ ตึงแน่นก็ได้ หรือเป็นทึบๆ หนาๆ ก็ได้ ...รูปลักษณ์ที่แท้จริงของกายไม่มี ไม่ได้แปลว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

กายไม่เที่ยงนะๆ อย่าไปคิดว่ากายเที่ยง แล้วจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างเดียวนะ เพราะนั้นในการเดินนี่ เดินไปเถอะ ตรงไหนมันกระทบชัด รู้ชัดขึ้นมา...ก็รู้ตรงนั้น

พอมันเริ่มมีอะไรมาสอดแทรกเป็นการกระทบ หรือความปรากฏของเวทนากายอื่น..ก็รู้ไป เข้าใจมั้ย ไล่เลียงอยู่ อย่าให้มันออกนอกกรอบกายเท่านั้น


โยม –  แล้วถ้าบางทีจิตมันออกไปข้างนอกนี่ล่ะคะ เดินๆ อยู่ก็ไปคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้

พระอาจารย์ –  ก็ให้รู้ว่าหลง


โยม –  แล้วก็กลับมา

พระอาจารย์ –  กลับมา  อย่าไปเอาห้าเอาสิบ เดือดเนื้อร้อนใจ...จะทำยังไงกับมันดี อย่างนี้ เขาเรียกว่าไปวิพากษ์วิจารณ์มัน ไปเดือดเนื้อร้อนใจกับมัน

หลุดแล้วหลุดไป กายก็อยู่ตรงนี้ ไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องไปวิ่งวนค้นหา ไม่ต้องไปหาทางแก้ทางกันอะไร หลุดใหม่ก็รู้ใหม่ หลุดอีกก็รู้อีก แค่นี้ โง่ๆ เขาเรียกว่าภาวนารู้แบบโง่ๆ กับกายโง่ๆ อย่างนี้ 

เดี๋ยวๆ มันก็ว่า “จะได้อะไร” “เอ๋ย คงไม่ไหว คงไม่ถึง คงไม่ถึงไหน” ...เนี่ย ทิ้งเลย นี่คือจิตหมดเลย  อย่าไปตาม หรือไปจริงจังกับความคิด ความลังเลสงสัยในการประกอบกระทำการรู้ตัวอยู่ 

จิตน่ะจะเป็นตัวขัดขวางอยู่ตลอดเวลา มันจะให้ไปหาอะไรที่ดีกว่า ให้อะไรที่มันเร็วกว่า ให้อะไรที่มันง่ายกว่า ให้อะไรที่มันให้ผลชัดเจนกว่า อยู่อย่างนี้ ...เราจะต้องสู้กับจิตเราตัวนี้

จนกว่ามันจะสยบ จนกว่าจิตน่ะมันจะหมอบราบคาบ จนกว่าจิตน่ะมันจะอ่อนนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง ไม่อหังการ ...นี่เขาเรียกว่าบรรเทา เรียกว่าระงับ นี่เรียกว่าระงับนิวรณ์

พอมันระงับนิวรณ์ปุ๊บนี่ ให้สังเกตดูเวลาเดินจงกรมนะ ถ้ามันระงับนิวรณ์ได้เมื่อไหร่ การเดินไปเดินมานี่มัน มันจะเกิดความมันในการเดิน เดินแบบ..เออ อยู่ได้ เดินได้โดยที่ว่าไม่มีเวลา ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง 

มันจะเพลิดเพลินในการเดิน ...แล้วก็รู้ตัวอยู่ด้วยนะ แต่ว่ามันไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ไม่คอยดูว่า..เอ๊ะ กี่โมงแล้ว ตั้งไว้กี่นาทีวะ เนี่ย มันจะไม่อย่างงั้น มันจะเดินไปแบบติดลมเลย นี่เรียกว่ามันอยู่ตัว ระงับนิวรณ์


โยม –  แล้วถ้ายังไม่ถึงขนาดนั้นก็คือต้องกำหนดไหมคะ ว่าวันหนึ่งประมาณ ๑๕ นาที

พระอาจารย์ –  คือตามหลักก็ต้องอย่างนั้น เพราะว่ากิเลสมันชอบจะเรื่อยเฉื่อยอยู่เรื่อย คือมันจะตีความเข้าข้างประโยชน์ของตัวเอง ...เพราะนั้นต้องเอาตัวสัจจะนี่เป็นตัวแก้และกัน 

กันกิเลสขี้เกียจ กันกิเลสมักง่าย กันเราแบบสบายๆ คือ...นั่ง แล้วเคยนั่งครึ่งชั่วโมง แล้วมันนั่งได้ วันนี้นั่งไม่ได้ อย่างนี้ พอเริ่มถึงยี่สิบนาที จะไปให้ได้แล้ว เพราะว่าจิตไม่สงบ จิตไม่รวม มันแตกกระสาน ...ต้องอดทน


โยม –  มีสัจจะ

พระอาจารย์ –  ทำไมต้องให้อดทน เพื่อให้เห็นว่า...ไม่มีสิ่งใดเกิดแล้วไม่ดับเอง  จนกว่ามันจะเห็นว่า ไม่มีอะไรเกิดแล้วมันไม่ดับไปเอง

แต่ไอ้ “เรา” นี่ มันจะไปพยายามดับเอง เข้าใจมั้ย คือถ้าลุกแล้วก็หายหมด  นี่ มันจะปัดสวะทันทีเลย แต่ที่อดทนเพื่อให้เห็นว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา

เกิด..มันก็เกิดของมันเอง ฟุ้ง..มันก็ฟุ้งของมันเอง ...มันตั้งอยู่ มันจะนานมันจะช้า มันจะเร็ว เราก็ไปลิมิทเวลามันไม่ได้ ดูซิ มันจะถึงแค่ไหน ...นี่ ทน เอากายเป็นฐาน แล้วก็เอารู้เป็นฐาน อยู่อย่างนี้ แล้วก็ทน 

มันก็วนเวียนๆ ยังฟุ้งอยู่อย่างนี้ ฟุ้งแบบระเบิดระเบ้ออยู่อย่างนี้ ดูสิ ใครจะแน่กว่ากัน ...จนกว่า ถ้าความหน้าด้านหน้าทนมากกว่านะ เดี๋ยวก็เห็นเองน่ะ มันน่ะไปก่อน กายยังอยู่ รู้ยังอยู่ ...เออ นี่ มันจะเห็น 

พอมันเห็นแล้วคราวนี้ มันเริ่มเห็นที่สุดของลักษณะอาการของขันธ์ของกิเลส ทีนี้ไม่ค่อยกลัวแล้ว ไม่ค่อยกังวลแล้ว ...ต่อให้จะมีอารมณ์ไหนมา ต่อให้มันจะคิดแค่ไหน ก็รู้ ไม่มีปัญหา

เสร็จแล้วก็มาตายอยู่กับเวทนาเมื่อยนี่แหละ บอกให้เลย เวทนาในกาย เวทนาสุขทุกข์ในกาย ตัวทุกข์ของกายนี่ ไม่ใช่ฆ่ามันง่ายๆ เลย ...ค่อยๆ เรียนรู้ไป เวทนากายละเอียดที่สุด ยึดที่สุด

จิตเรานี่ยึดเวทนาในกายที่สุดคือความปวด ความทุกข์ในกาย แล้วก็กายจะฉีกขาด กายจะแตกดับนี่ มันกลัวที่สุด มันเกลียดที่สุด มันหวงที่สุดเลยกายในเวทนานี่

ที่พวกเราชอบพูด มักจะพูดกันน่ะว่า...ตายน่ะไม่กลัว กลัวตอนเจ็บก่อนตาย ใช่มั้ย ...มันจะกลัวเวทนาของตรงนั้นที่สุดเลย ไม่อยากเผชิญ แล้วไม่กล้าเผชิญเลย 

เพราะนั้นการที่เรานั่งสมาธินานๆ นี่เพื่ออะไร ...ไม่ได้เอาดีเอาเด่อะไร ไม่ได้เอาสงบ-ไม่สงบอะไรหรอก ...เอาที่ว่าจะหน้าด้านทนกับเวทนา แล้วก็สืบค้นความเป็นจริงของเวทนาได้แค่ไหน

มันต้องทำความสืบค้นเพื่อให้เกิดปัญญาน่ะ ...เพราะถ้ายังห้ามเวทนากายไม่ได้ ตายทุกข์ ตายแบบไม่ยอมตาย ตายแบบเรายังติดค้างอยู่กับเวทนา ...ยังไงก็เกิดมาเป็นคนแน่ๆ

เพราะนั้นเรื่องกายนี่...ถึงบอกว่าการภาวนาตลอดสาย เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แปดสิบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์นี่ กายล้วนๆ เลย ...อีกยี่สิบเปอร์เซ็นต์เรื่องของจิตเรื่องของนาม

แต่แปดสิบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์นี่ เป็นเรื่องของกายกับรูป กายเนื้อกับกายรูปๆ นี่ ...ถ้าแก้ปัญหานี้ได้ ออกจากปัญหาว่ากายเนื้อนี่เป็นเรา รูปที่เป็นเราเห็น รูปที่เรานึกว่าอย่างนู้นอย่างนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้

แค่นึกถึงรูปคนที่ไม่ชอบนี่ กูก็หงุดหงิดแล้ว เห็นมั้ย แค่รูปที่นึกนะ นี่คือรูปที่เนื่องด้วยกายนะ ...เพราะนั้น แค่ออกจากกายเนื้อกับกายรูป สองตัวนี่ เฮ้อ ถอนหายใจสักสิบเฮือก สบาย

เพราะนั้นการภาวนานี่ มันต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ...อย่าไปประมาทว่ากายนี่ ใครๆ ก็รู้ได้ ใครๆ ก็รู้เป็น ...ก็จริงน่ะ ไม่ใช่ว่ายากอะไรเลยนะ การว่านั่งแล้วก็รู้ว่านั่งนี่ ปวดเมื่อยนี่ 

หรือหนาวนี่ ตอนนี้กำลังหนาว นี่ชัดเลย ง่ายๆ ใครๆ ก็รู้ได้ ...แต่ไอ้ที่ยากก็คือ ทำยังไงมันจะไม่ลืมเลย ไอ้นี่ล่ะโคตรยาก ทำยังไงถึงจะไม่ลืมในทุกอิริยาบถของกาย...ที่มันแสดงแบบง่ายๆ ธรรมดาๆ นี่แหละ


(ต่อแทร็ก 12/34  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น