วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/31 (1)


พระอาจารย์
12/31 (561216C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
16 ธันวาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  มาจากไหนนี่

โยม –  มาจากกรุงเทพค่ะ


พระอาจารย์ –  เคยมามั้ย

โยม –  ไม่เคยค่ะ


พระอาจารย์ –  เป็นคนกรุงเทพรึ มาฟังธรรม หรือมาเอาเหรียญ

โยม –  จะมาฟังธรรม แล้วก็อยากหาวิธีปฏิบัติธรรมที่ถูกจริตกับหนูน่ะค่ะ


พระอาจารย์ –  เคยปฏิบัติธรรมมั้ย

โยม –  ก็พยายามดูกายดูจิตน่ะค่ะ ถ้ามีสติก็จะพยายามรู้ทัน แล้วก็ปฏิบัติแบบสวดมนต์ไหว้พระเดินจงกรมน่ะค่ะ


พระอาจารย์ –  เอ้า นั่งให้สบาย มันเมื่อย ...ขันธ์นี่มันเป็นทุกข์ กายมันเป็นทุกข์โดยธรรมชาติ

จริตนี่...ไม่มี ไม่มีภาวนาถูกจริตหรอก มันมีแต่ว่าภาวนาถูกใจ “เรา” รึเปล่า ...คือมันจะเอาไอ้ที่เราอยาก แล้วก็ไอ้ที่เราชอบแค่นั้นเอง มันก็บอกว่าเป็นจริต อันไหนไม่ชอบก็ว่าไม่ถูกจริต

เพราะนั้นไอ้คำว่า จริตๆ อะไรนี่ ที่ว่าต้องแบบนั้น ต้องอย่างนี้ ต้องกำหนดตรงนั้น กำหนดตรงนี้ ให้มันถูกนิสัย ...นี่ มันเป็นการที่ถูกใจตามเราอยากเท่านั้นเอง

เพราะนั้นที่เราบอกนี่ เราจะไม่บอกจริต แต่เราจะบอกหลัก ...จริตไม่สำคัญเท่าหลัก

หลักของการปฏิบัติ เป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรม ก็คือเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ...พ้นทุกข์นะ  ต้องเข้าใจว่า “พ้นทุกข์” นะ ...ไม่ใช่ “ดับทุกข์” นะ

ต้องเข้าใจอย่างนี้ซะก่อน ให้มันตรงก่อน ว่าไม่ใช่เป็นการดับทุกข์ แต่เป็นการภาวนาเพื่อให้เกิดการพ้นทุกข์ ไม่อยู่ใต้อำนาจทุกข์สุขในโลก และในขันธ์ ...นี่คือเป้าหมาย

เพราะนั้น การที่จะเข้าสู่วิถีแห่งการหลุดพ้น หรือว่าพ้นจากทุกข์ คำว่าหลุดพ้นนี่คือพ้นจากทุกข์ ...ท่านจึงวางหลักหรือวิถีแห่งการปฏิบัติว่า มรรคมีองค์ ๘ เป็นวิถีแห่งการปฏิบัติ เป็นหลักของการปฏิบัติ

ถ้ามรรคมีองค์แปดนี่ มานั่งไล่ทีละตัวก็ขี้เกียจแล้ว แต่ว่าในภาคของการปฏิบัติจริงๆ นี่ มันมีแค่ ๓ คือศีลสมาธิปัญญา จริงๆ ก็คือความหมายเดียวกันกับมรรคแปดนั่นแหละ

แต่ว่ามรรคแปดนั่นเป็นแบบในตำราหรือว่าวิชาการ แต่ในการเอามาปฏิบัตินี่ มันก็รวมๆ กันได้สามคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ..แล้วต้องเป็น ศีล-สมาธิ-ปัญญาด้วย จำไว้นะ

ไม่ใช่สมาธิ-ปัญญา-ศีล ไม่ใช่ปัญญาอย่างเดียว ไม่ใช่ปัญญา-ศีล-สมาธิ ...มันจะต้องเป็น ศีล-สมาธิ-ปัญญา..ตามลำดับ ...เพราะศีลเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เพราะสมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา

มันจะเกิดสมาธิไม่ได้เลยถ้าไม่มีศีล แล้วมันจะเกิดปัญญาไม่ได้เลย ถ้าไม่มีศีล-สมาธิ ...แล้วในศีล-สมาธิ-ปัญญา มันยังมีทั้งมิจฉาศีล มิจฉาสมาธิ มิจฉาปัญญา แล้วก็มีทั้งสัมมาศีล สัมมาสมาธิ สัมมาปัญญา

ส่วนมากนักภาวนานี่ มันผิดตั้งแต่ออกเดินแล้ว..เริ่มปฏิบัติแล้ว คือมันผิดตั้งแต่ศีลแล้ว ...เพราะหัวผิด ท้ายก็เบี้ยวหมด  พอตั้งต้นผิดนะ คลาดเคลื่อนแล้วนี่ ท่ามกลาง ที่สุด มันผิดเป้าไปหมดเลย

เหมือนเล่นฟุตบอลน่ะ ต้องยิงประตู ...วันนี้มันจะเตะกับเขมร มันจะต้องยิงประตูฝ่ายเขมร  แต่มันหันกลับมายิงประตูตัวมันเอง เอาแต้ม ได้แต้ม

เอ้า นึกว่าชนะ ก็ได้แต้มนี่ ...เออ นี่เขาเรียกว่ามันตั้งลูกผิดแล้วก็หันหน้าผิด มันก็พลิกหัวเป็นท้าย พลิกปลายเป็นต้น สับสนๆ จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า มันจะต้องเริ่มให้ตรงก่อน

แล้วก็หันหน้าให้มันตรง...ว่าฝั่งตรงข้ามน่ะ ต้องยิงเข้าประตูฝั่งตรงข้าม ไม่ใช่มายิงประตูตัวเอง ...นี่เขาเรียกว่าสัมมา มันต้องตั้งให้ตรงก่อน ตั้งกายตั้งใจให้มันตรงต่อมรรค...อย่างไร

ทำไมถึงผิดตั้งแต่ศีล ...เพราะพวกเราเข้าใจว่าคือ ศีล ๕ มี ๕ ข้อ  หรือศีล ๘ มี ๘ ข้อ  ศีล ๑๐ มี ๑๐ ข้อ  ศีล ๒๒๗ มี ๒๒๗ ข้อ ...แล้วมันจะเอาศีลไหนดีล่ะ เยอะเกิน หลายข้อเกิน

แต่ศีลที่เป็นสัมมา ศีลที่จะเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ...สัมมาสมาธิ และสัมมาญาณะคือปัญญานี่ มีข้อเดียว...มีข้อเดียวคือกาย คือปัจจุบันกาย ปกติกาย ธรรมดากายนี่

จริงๆ น่ะ ในความหมายคำแปลของคำว่าศีล ท่านแปลตรงตัวอยู่แล้ว...ศีลแปลว่า ปกติกายวาจา ...แต่ถ้าศีลข้อห้ามนี่ท่านเรียกว่าศีลบัญญัติ สิกขาบท หรือศีลสมมุติ ศีลวิรัติ นี่ท่านใช้คำอย่างนี้นะ

แต่ถ้าโดยความหมายที่แท้จริงของคำว่าศีล โดยตัวของมัน..ตัวศีลเลยจริงๆ นี่ก็คือคำว่า ปกติกายวาจา เพราะนั้นเวลาเริ่มต้นการปฏิบัติ ก็ต้องเริ่มมานับหนึ่งที่ศีลนี่เอง เริ่มเจริญรักษาศีล

เข้าใจคำว่ารักษาศีลมั้ย ไม่ใช่รักษาตามข้อห้าม แต่รักษาศีลหนึ่ง...คือศีลเดียว คือศีลกาย คือศีลปัจจุบัน คือรักษากายนั่นเอง ...เอาสตินี่แหละมารักษากายรักษาศีล

กายมีอยู่แล้ว แค่รักษา กายปกติทุกคนมีอยู่แล้ว ปัจจุบันกายทุกคนมีอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปทำขึ้นมาใหม่ นี่เขาเรียกว่ารักษาศีล ...คือสิ่งที่มันมีอยู่แล้วนั่นแหละแต่ไม่รักษา คือไม่กลับมารู้มาเห็น ไม่กลับมาอยู่กับมัน

ตัวที่เข้ามารักษาศีลนั่นคือสตินั่นเอง มาคุ้มครองศีล มาอยู่เคียงข้างศีล มาคอยดูแล ทะนุบำรุงรักษาศีล ก็คือกายนี่เอง ...ทุกคนมีกาย ทุกคนมีก้อนกายก้อนศีล เป็นสมบัติติดเนื้อติดตัวมา

ไม่ใช่เสื้อผ้า ข้าวของเงินทอง หน้าที่การงาน เป็นสมบัติติดตัวมานะ ไอ้นี่มาหาเอาใหม่... แต่ไอ้สมบัติที่ได้มาจากความเป็นมนุษยสมบัตินี่คือ สองขา สองแขน หนึ่งตัว หนึ่งหัว และหนึ่งใจ

นี่เรียกว่ามนุษยสมบัติ มันเป็นสมบัติติดตัวมาตั้งแต่เกิด และทุกคนเกิดมาพร้อมกับก้อนศีลก้อนกาย  ...แล้วก้อนศีลก้อนกายนี้เขาแสดงความปกติอยู่ตลอดเวลา

แต่ด้วยความที่ไม่รู้จักความเป็นก้อนศีล ความเป็นก้อนกายกับก้อนศีลเป็นก้อนเดียวกันนี่ ...การเจริญรักษาศีลมันจึงคลาดเคลื่อน ไปรักษาศีลนอกกายใจ

เพราะนั้นหน้าที่แรกเลย...ที่พวกเรามาเริ่มปฏิบัติ...แล้วมันยังไม่มี หรือบกพร่องอย่างยิ่งเลยก็คือ ไม่มีศีลเลย ...ต่อให้สมาทานศีล ๒๒๗ อย่างพระ รักษาแบบเป๊ะเลย ก็ไม่มีทางสงบเป็นสมาธิด้วยอำนาจของศีลนี้ได้โดยตรง

แต่ถ้ามารักษาศีลหนึ่ง..ตัวเดียวนี่...ด้วยสติ  ระหว่างการนั่ง แล้วก็รู้กับอาการนั่ง...โดยที่ไม่ขาดหายจากการรู้ว่ากำลังนั่ง หรือรู้สึกในอาการนั่ง...ด้วยความสม่ำเสมอ ต่อเนื่องไม่ขาดสาย

นี่ ไม่เกินห้านาที มันจะเกิดความสงบตั้งมั่นขึ้นมาเลย โดยที่ไม่ต้องไปหลับตาก็ยังได้

เห็นมั้ยว่า แค่รักษาศีลตรงไปตรงมา ตรงต่อการรักษาศีล แล้วก็ตรงต่อความหมายของศีลที่แท้จริงนี่ แล้วก็เข้าไปรักษาตรงปัจจุบัน ผลก็เกิดตรงปัจจุบัน...คือสมาธิก็เกิดตรงนี้ ไม่ต้องรอเลย

ไม่ต้องไปทำสมาธิเลย ทำศีลตัวเดียวนี่ ด้วยสติ สมาธิก็บังเกิดขึ้นตามลำดับ  หนึ่งบวกหนึ่งต้องเท่ากับสอง ไม่เป็นสามไม่เป็นสี่ไม่เป็นห้า แล้วก็ไม่เป็นติดลบ ...นี่จำไว้เลยว่าเหตุปัจจัย

ถ้าท่านทุกรายทั้งหลายทั้งปวงนี่ หรือว่าทุกผู้ทุกคนนี่ รักษาศีลได้แค่ไหน..สมาธิจะได้เท่านั้น ...ไม่มากไม่น้อยกว่านั้นหรอก ไม่มีคำว่าฟลุ้ค ไม่มีคำว่าบังเอิญ ไม่มีคำว่าโชคดี

ไม่มีคำว่า เอ๊ะ มันมาได้ยังไงวะ มันมาจากไหน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ...นี่ ธรรมนี่ การปรากฏของธรรม การเจริญในธรรมนี่ มันตรงไปตรงมาๆ

เพราะนั้นพวกเราถ้าอยากได้สมาธิมากๆ จะทำอย่างไร จะไปกำหนดความสงบขึ้นมาหรือ จะไปอยู่คนเดียวหรือ จะไปปลีกวิเวกหรือ จะลาออกจากงานหรือ ...ก็ไม่สงบหรอก

แล้วก็ไปทำให้สงบก็ไม่สงบหรอก หรือสมมุติว่ามันสงบขึ้นจากการกระทำ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นสมาธิที่แท้จริง ...เพราะสมาธิที่แท้จริงไม่ได้แปลว่าสงบ

สมาธิแปลว่าจิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นกลาง อยู่กับปัจจุบัน ...นั่นแหละความหมายของคำว่าสมาธิที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ

เพราะนั้นถ้าอยากได้ความสงบ ได้ความตั้งมั่นที่เป็นสัมมาสมาธิ ...อย่าถามหาความสงบ...ให้ถามหาศีลดีกว่า...มีมั้ย  ให้ถามหาว่ารักษาศีลได้ต่อเนื่องมั้ย มันมีการเว้นวรรคขาดตอนในองค์ศีลมั้ย

มันทะลุมั้ย มันขาด มันบกพร่อง มันด่างพร้อย มันต่อกันไม่ติดเลย มันไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลยหรือเปล่า ...นี่ ตรงถามตรงนี้ก่อน ต้องถามถึงเหตุนะ...เหตุของสมาธิมันมาจากศีลนะ

เหตุของสมาธิที่มันตั้งได้ เกิดได้ มากขึ้น น้อยลงนี่ มันอยู่ที่ศีลนะ ...ไม่ได้อยู่ที่ความอยาก ไม่ได้อยู่ที่วิธีการ ไม่ได้อยู่ที่อุบาย ไม่ได้อยู่ที่ไปกำหนดตรงนั้นตรงนี้ แล้วมันจะสงบ จะตั้งมั่นได้เร็ว ได้นาน


โยม –  หนูขอถามค่ะ อย่างที่พระอาจารย์บอกก็คือเหมือนให้รู้กายไป ให้พยายามรู้กายเรื่อยๆ เพราะเป็นการรักษาศีล เพราะมีศีล เรารู้กายเรื่อยๆ มันก็จะได้สมาธิไปด้วย 

แต่อย่างนี้  ถ้าหนูรู้กายว่าหนูนั่งอยู่ แต่ขณะเดียวกันหนูฟังพระอาจารย์เทศน์อย่างนี้ หนูก็แค่สับสนว่า เอ๊ะ หนูจะรู้กายไปด้วย แล้วหนูจะฟังเทศน์ด้วย แล้วมันควรจะอยู่ตรงไหน

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องส่งออกมาฟัง รู้กายที่เดียว


โยม –  ให้หนูรู้กาย แต่ว่าอย่างนี้ เวลาฟัง หนูก็ต้องคิดตาม

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องคิด ฟังไปเรื่อยๆ


โยม –  ก็เหมือน คือให้เราพยายามรู้กาย แล้วก็...ฟังก็เหมือนฟังผ่านๆ  ...แล้วก็เวลาทำงานล่ะคะพระอาจารย์ เวลาทำงานอย่างนี้ บางทีเราก็แบบต้องไปโฟกัสที่เรื่องงาน แล้วเราจะรู้กายได้ยังไงคะ

พระอาจารย์ –  ฝึกไปเรื่อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็รู้ไป


โยม –  ฝึกว่า นี่กำลังทำงาน มือกำลังขยับ ร่างกายเคลื่อนไหวทำอะไร ให้รู้ไว้เรื่อยๆ

พระอาจารย์ –  ใช่ แบ่งจิตมา รู้จักคำว่าแบ่งจิตมาหน่อยไหม จิตที่มันทุ่มออกไป ก็แบ่งไว้ส่วนหนึ่ง


โยม –  อ๋อ ให้อยู่กับตัวเราไว้ด้วย

พระอาจารย์ –  เหมือนเอาตีนหยั่งๆ ไว้นะ อย่าไปกระโดดสองตีนเข้าไป เข้าใจมั้ย


โยม –  อ๋อๆๆ เข้าใจค่ะ

พระอาจารย์ –  ไอ้ถ้าอย่างนั้นน่ะ ถ้ากระโดดสองตีนเข้าไปนี่ หมายความว่าไง ...หมายความว่าตัวนี่ กายนี่จะหาย เข้าใจมั้ย



(ต่อแทร็ก 12/31  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น