วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/31 (2)


พระอาจารย์
12/31 (561216C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
16 ธันวาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  12/31  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ที่ว่าหาย...คือความรู้ตัว หรือตัวที่กำลังทำอิริยาบถอะไรอยู่ ...คือตัวกายนี่ที่กำลังนั่ง ที่กำลังลุก ที่กำลังหมุนหันนี่จะหายไปเลย

แต่ถ้าว่าตีนหนึ่งนี่ออกไป แล้วอีกตีนหนึ่งยังหยั่งอยู่ คอยหยั่งไว้ มันก็จะมีทั้งสองจิตอยู่คู่กัน ...นี่หมายถึงภาวะที่ยังต้องข้องแวะอยู่ในการงานนะ

แต่ถ้าสมมุติว่ามันออกจากหน้าที่การงาน สองตีนนี่ต้องอยู่ตรงนี้เลยนะ ...ไอ้ตีนนอกนี่ไม่ไปแล้ว ไอ้ตีนนอกนี่คือจิต เข้าใจมั้ย คือจิตส่งออกนอก ...เพราะนั้นเราถึงบอกว่า กายนี่เป็นใหญ่

ต้องเอากายนี้เป็นใหญ่ จิตนี้เป็นรองนะ กายเป็นใหญ่จิตเป็นรอง ...เพราะไอ้ตัวจิตหรือตัวที่มันยื่นมือยื่นตีน ยื่นแขนยื่นขาออกไปนี่ มันจะลากให้ออกนอกศีลตลอดเวลาเลย

เราถึงบอกว่าต้องเอากายเป็นหลัก และต้องเอากายเป็นใหญ่ เอากายเป็นประธาน ...จิตน่ะละไว้ก่อน หรือไม่เอามันไว้เลย...ก็ยังได้เลย

เพราะนั้นเราไม่สอนให้ดูจิต แต่เราสอนให้เท่าทันแล้วละจิต ...ต้องเท่าทัน ไม่ใช่ให้ดู เข้าใจมั้ย ถ้าไปดูนี่หมายความว่า เพลินล่ะกู ดูไปดูมานี่กายจะหายไปเลยนะ ตัวนี่ที่กำลังนั่งจะหายไปเลย

ตัวความรู้สึกของกายที่กำลังอยู่ในท่านั่ง ยืน เดิน ...มันจะถูกกลืนอยู่ในการรู้แล้วก็ไปจ่ออยู่ที่จิตเลย นี่เขาเรียกว่าการดูจิตที่ยังไม่มีฐาน ที่ยังไม่มีฐานของศีล ที่ยังไม่มีฐานของสมาธิ...ไม่ได้ มันจะเลื่อนลอย

แต่ถ้าไม่สนใจเลย ไม่ต้องไปดูมันหรอกจิต ...แค่ทันว่า เออ คิดๆ มีคิด รู้ว่ากำลังคิด รู้ว่าอารมณ์ไม่ดี รู้ว่ากำลังหงุดหงิด นี่ ให้ทันว่ามันมีอาการนี้อยู่ แล้วไม่ต้องไปดูมัน

ไม่ต้องไปสนใจมัน ...ถึงแม้มันจะไม่ดับ มันจะอยู่เหมือนเป็นแมงหวี่แมงวัน ตอมหูตอมตา ตอมกายตอมรู้อยู่อย่างนี้ ...อย่าไปใส่ใจในมัน นี่เขาเรียกว่าละหรือวาง

คำว่าละ คำว่าวางจิตนี่ ไม่ได้หมายความว่าการละการวางจิต แล้วจิตดวงนั้นมันจะดับ เข้าใจมั้ย ไม่ใช่ว่าละแล้วต้องดับ ...ละ คือไม่เข้าไปแยแสใยดี วางซะ อยากมี..มีไป อยากหงุดหงิดก็หงุดหงิดไป

อยากจะมีความสุขหรือมีความทุกข์ มีความอยากหรือมีความไม่อยากอะไรก็ตาม ...คือไม่ใช่วางแล้วต้องดับ เข้าใจมั้ย หรือจะต้องดูจนกว่ามันจะดับแล้วค่อยมาดูกายต่ออย่างเนี้ย


โยม –  ก็แค่รู้มันเฉยๆ

พระอาจารย์ –  เออ ให้เห็นๆ เข้าใจมั้ย ให้เห็นว่ามันมีอยู่ แล้วก็ไม่แยแสมัน


โยม –  แล้วกลับมาดูกาย

พระอาจารย์ –  ตรงเนี้ยคือฐาน เข้าใจมั้ยว่ากายใจเป็นฐาน


โยม –  แต่กายนี่ เวลาดูหนูไม่รู้จะดูยังไง

พระอาจารย์ –  ที่ไหนก็ได้ ขอให้มันเป็นกายปัจจุบัน ...มันจะเป็นก้อนทั้งก้อนก็ได้ หรือเป็นความรู้สึก ที่ก้น ที่เข่านี่ มันตึงมันแน่นไหม หัวไหล่ มันยืดมันหยุ่นนี่ขยับ หมุนหันอย่างนี้

มันมีความรู้สึกยังไง เนี่ย แค่เนี้ย ง่ายๆ หยั่งไว้ๆๆๆ แค่หยั่งไว้ๆๆๆ ...ไม่ต้องกลัวว่าเพ่ง ที่กลัวน่ะ...กลัวว่าไม่มีตัวกายอยู่ ไอ้ที่กลัวน่ะตัวนั้น  ...กลัวไม่มีตัว ทั้งๆ ที่ว่าตัวมี เข้าใจมั้ย ตัวคือกาย

คือพวกเราอยู่ทั้งวันนี่ อยู่กับตัวนะ แต่ไม่เคยมีตัวอยู่เลยนี่ มันได้ยังไง เข้าใจมั้ยว่ามันผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากองค์ศีล นี่ มันเหมือนไม่ใช่เป็นคนเลย ทั้งๆ ที่ว่า...ถามว่าภพชาติปัจจุบันเราเป็นคนหรือเป็นผี หือ


โยม –  เป็นคนค่ะ

พระอาจารย์ –  อือ เป็นคน แล้วอะไรมันแสดงความเป็นคน


โยม –  กายค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ ถ้าไม่มีกายน่ะ เป็นผี เทวดา พรหม เปรต อสุรกาย สัตว์นรก นั่นแหละไม่มีกาย ไม่มีกายหยาบ ...แต่เรามีกายมาเป็นคนในภพชาติปัจจุบัน แต่ไม่เคยมีตัวอยู่กับปัจจุบันเลย


โยม –  ลืมกาย

พระอาจารย์ –  มันลืมไปเลย เพราะนั้นในระหว่างที่มันลืมไปเลย มันเป็นอะไร หือ เป็นอะไร


โยม –  ไม่ใช่คน

พระอาจารย์ –  เออ ไม่ใช่คน ส่วนมากจะเป็นยักษ์ แล้วก็เป็นผีที่ล่องลอยไปมา เข้าใจรึยัง ท่านถึงอธิบายว่าศีลนี้เป็นเหมือนกับเครื่องหมายแสดงความเป็นคน ศีลคือขอบเขตของความเป็นคน ศีลคือรั้วกางกั้นกิเลส

ของมีแต่ไม่รักษา ...ไม่รักษายังไม่พอนะ ยังไปหาของใหม่อีก ...นักปฏิบัติธรรมมันชอบได้สภาวะอะไรใหม่ๆ แปลกๆ น่ะ ได้อย่างนั้น เห็นอย่างนี้ สภาวะจิตมันเป็นอย่างนั้น สภาวะละเอียดอะไรพวกนี้ไป

เนี่ย ถ้าเริ่มต้นไม่ดี ถ้าเริ่มต้นไม่เป็น ถ้าเริ่มต้นผิด ผลที่ได้นี่คลาดเคลื่อนหมดเลย มันจะคลาดเคลื่อนหมดเลย ละเลิกเพิกถอนกิเลสตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้เลย โดยเด็ดขาดและโดยเบ็ดเสร็จ

เพราะนั้นสิ่งที่พวกเรายังขาดในตอนแรกนี่คือ หนึ่ง...ศีลไม่มี  เมื่อศีลไม่มี สอง...สัมมาสมาธิไม่เกิด ...ไม่มีฐานสองตัวนี้...จบข่าว จบข่าวเลย ไม่ต้องพูดถึงปัญญาเลย

อย่านึกว่าดูจิตเป็นปัญญาล้วนๆ นะ...ไม่ใช่นะๆ  มันจะไม่มีอะไรล้วนๆ เลยนะ ...ไตรสิกขา เรียกว่าสมังคี ศีลสมาธิปัญญาเป็นมรรคสมังคี

การเจริญมรรคก็คือการเจริญอยู่ในองค์ศีลสมาธิปัญญา จนเกิดมรรคสมังคี ...หมายความว่าศีลสมาธิปัญญามันสมดุลเป็นหนึ่งเดียวกัน ขาดกันไม่ได้ เหมือนก้อนเส้า ...รู้จักก้อนเส้าไหม


โยม –  ไม่รู้จักค่ะ

พระอาจารย์ –  เวลาเราไปเข้าแคมป์ในป่าแล้วเราจะต้มน้ำ ต้องเอาหินมาวางกี่กอง...ต้องมีสามกอง สามก้อน เข้าใจมั้ย สองก้อนไม่ได้ ก้อนเดียวไม่ได้ ต้มน้ำไม่ได้

ท่านถึงเปรียบศีลสมาธิปัญญาเป็นสามเส้า จะขาดตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้..หม้อเอียง ใช่มั้ย ขนาดมีสาม แล้วสูงต่ำไม่เท่ากัน หม้อยังเอียงเลย...ก็พอต้มน้ำได้ เออ แต่ไม่สมบูรณ์

แต่ถ้าสองไม่ต้องพูดถึง ไม่ได้กินมันหรอก  ถ้าหนึ่งนี่ไม่ต้องถามเลย กินของดิบไปแล้วกัน ...ของดิบกินแล้วก็ปวดท้อง ถ่ายท้อง อาหารเป็นพิษ...นั่นแหละคือผลๆ

แต่ว่าถ้ามันสามก้อนสมดุลกัน รสชาติจะกลมกล่อม ไม่เป็นพิษไม่เป็นภัยในภายหลัง ...นั่นคือผลในองค์มรรค คือความพ้นทุกข์ ตั้งแต่บรรเทาทุกข์ ตั้งแต่ออกจากทุกข์

คือเริ่มต้นออกจากทุกข์แบบไปเช้า-เย็นกลับๆ แล้วมันก็จะออกจากทุกข์แบบ one way ticket...เที่ยวเดียว ไม่กลับ ...นั่นน่ะคือผลในองค์มรรค

แต่ว่าถ้าเราไม่เข้าใจว่าก้อนเส้าคืออะไร แล้วเราตั้งก้อนเส้าดีรึยัง แล้วไอ้ที่เราทำนี่เป็นก้อนเส้าหรือมันเป็นกองขี้หมา ...มันตั้งอะไรไม่ได้ มันล้มเหลวหมด

เข้าใจมั้ย มันจะล้ม ล้มระเนนระนาดแล้วสำคัญว่ามันล้มแล้วมันไม่ยอมรับว่ามันล้ม มันล้มแล้วมันยังดันทุรังว่าใช่อยู่ๆ ...ไอ้ตรงนี้เขาเรียกว่าเกินเยียวยา

เพราะนั้นการมาฟังจากเรานี่ ที่ไม่เคยฟังมาก่อนนี่  เราจะต้องว่ากันตั้งแต่อนุบาล...ไม่ใช่ประถมนะ ...แล้วก็เริ่มเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ ค.ควาย ฆ.ระฆัง ง.งู จ.จาน ...ถึง จ.จาน นี่ จบ

จ.จาน..ใจ  จ.จาน..จบ  พอแล้ว ไม่ต้อง ฮ.นกฮูก เลอะเทอะ เรียน ก.ไก่ ถึง จ.จาน...กายกับใจๆ ...ไม่ใช่จิตด้วยนะ กาย-ใจ ไม่ใช่จิตนะ จิตนี่ละมันเลยๆ ละเลย ไร้สาระ

จิตคือความไร้สาระ อย่าไปเอามาเป็นสาระ แล้วก็อย่าไปหาสาระในมัน ...สาระอยู่ตรงนี้ กายคือศีล ต้องการให้เห็นกายตามความเป็นจริง เป็นอันดับแรก ...ขันธ์มีกี่ตัว


โยม –  ห้าตัวค่ะ

พระอาจารย์ –  ห้าตัว อะไรหยาบที่สุด


โยม –  รูป

พระอาจารย์ –  คือกาย ...นี่ หยาบยังไม่เห็นเลย มันจะไปเห็นละเอียดยังไง หือ ถ้าไม่เห็นหยาบก่อน มันจะไปเห็นกลาง ละเอียด และสุดละเอียด สุดประณีตในขันธ์อย่างไร

ปัญญาขั้นหยาบ ปัญญาที่เห็นของหยาบๆ นี่ ยังไม่เห็นเลย ยังไม่สร้างเลย แล้วก็ยังไม่มุ่งมั่นลงไปในปัญญาขั้นหยาบ เพื่อให้เห็นขันธ์หยาบ เพื่อให้ออกจากขันธ์หยาบๆ เพื่อให้ทิ้งขันธ์หยาบๆ ยังไม่สามารถเกิดได้

มันจะไปทิ้งขันธ์ละเอียด เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณได้อย่างไร ...วิญญาณนี่รู้นะ วิญญาณนี่มีตั้งแต่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ กายวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ มโนวิญญาณ

แล้วอย่างแค่ระดับอนุบาลนี่ มีสิทธิ์เหรอจะไปละถึงวิญญาณได้ วิญญาณกับรู้นี่ มันแทบจะตัวเดียวกันเลยนะ ระบบประสาทการรับรู้กับจิตดวงผู้รู้

แล้วก็ระหว่างจิตที่รู้ที่เห็นโดยที่มีกิเลสรู้กิเลสเห็น กับจิตผู้รู้ที่ไม่มีกิเลสรู้กิเลสเห็น ระดับนั้นน่ะ มันจะแยกออกได้อย่างไร นั่นน่ะปัญญาสุดประณีตแล้ว

แต่นี่หยาบยังไม่แจ้งเลยอ่ะ คือจริงๆ น่าจะบอกว่า...เออ อนุบาลยังไม่ได้เข้าเลยนะ แต่ดันไปอ่านตำราของดอกเตอร์ แล้วก็พยายามจะไปสอบทานว่าผ่านรึยังๆ

ไปไกลๆ เลย นี่ ถ้ามาใกล้เรานี่ จะบอก...มึงไปไกลๆ เลย ไปเรียนอนุบาลก่อน แล้วก็ค่อยตามลำดับ ประถมก่อน มัธยมมา มัธยมต้น มัธยมปลาย ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก

นี่ ต้องตามลำดับไปอย่างนี้ ...เพราะขันธ์มีตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด สุดละเอียด สุดประณีต มันต้องเริ่มไปตามลำดับ เมื่อมันละขันธ์หนึ่งได้ ปัญญามันก็จะพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ กลาง สูง ละเอียด นั่น


(ต่อแทร็ก 12/32)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น