วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/33 (1)


พระอาจารย์
12/33 (561216E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
16 ธันวาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  รู้ไปโง่ๆ นี่แหละ ไม่ต้องคิดมาก  พอมันคิดมาก..ละเลย  จะได้มั้ย จะถึงมั้ย...ทุกข์แล้ว นี่ละเลย นี่คือจิตทั้งนั้นเลยนะ ...ไม่ใช่ให้ไปดูมันนะ ไม่ใช่ให้ไปถือหางให้มันนะ

ให้ละนะ ละซะก่อน ...ทำไมถึงต้องละ เพื่อให้จิตมันเหลือแค่ดวงเดียว คือดวงรู้ดวงเห็น ...นั่นแหละสมาธิ นั่นแหละคือสมาธิที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ

เพราะนั้นตัวกายใจนี้จึงเป็นฐาน อย่าออกนอกฐานกายใจ อย่าอยู่โดยที่ไม่อยู่บนฐานกายใจ ...ดูเอา ตั้งแต่ตื่นลืมตามาถึงปัจจุบันกี่ชั่วโมง แล้วรู้สึกตัว มีตัวกี่นาที นับเอา ...เห็นมั้ย มันเว้นช่องว่างกี่ชั่วโมง

หมายความว่าไง ศีลนี่ทะลุบกพร่องอย่างยิ่ง อย่าถามหาสมาธิหรือปัญญาเลย ปัญญา...นู่นนน ไม่รู้อยู่ไหนเลย ...คอยประเมินตัวเองอยู่อย่างนี้ ทุกวัน..ต้องประเมินนะ ...เมื่อวานได้แค่นี้ ห้านาที พรุ่งนี้กูต้องได้หกนาที


โยม –  ประเมินที่รู้กายใช่ไหมคะ ที่อยู่กับตัวเอง

พระอาจารย์ –  ใช่ ก็ลองเทียบดูซิ ไล่ดูเหอะ ประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เช้ามานี่


โยม –  มันไม่ต่อเนื่องน่ะค่ะ ได้ไหมคะ

พระอาจารย์ –  เออ ไม่เป็นไร คือเอาโดยเฉลี่ย เข้าใจมั้ย


โยม –  คือมันสองสามนาทีแล้วก็เว้นช่วง

พระอาจารย์ –  เออ มันต้องอย่างนั้นก่อน ค่อยปะติดปะต่อทีหลัง เรียกว่าเก็บทีละเม็ดๆ ไป คือเหมือนกับเส้นประ แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้น นี่ ...ไม่งั้นมันก็จะมีแต่ถอยหลัง

แต่ถ้าทบทวนไว้ ว่าวันนี้กับเมื่อวาน ...ตื่นนอนขึ้นมา แล้วก็ทวนดูซิ เมื่อวานได้ถึงสิบนาทีมั้ย โดยเฉลี่ย โดยทั้งวันเลย ยี่สิบสี่ชั่วโมง เออ นี่ วันนี้ตั้งใจใหม่ เอาให้มากกว่านั้น

ถ้าวันไหนมันน้อยลงกว่านั้น วันมะรืนมะเรื่องนี่ต้องชดเชย หมายความว่า ต้องตั้งใจให้ยิ่งขึ้นกว่านั้นอีก ...นี่ เขาเรียกผู้ที่ตั้งใจภาวนาจริงๆ จะต้องมีเป้าหมายอย่างนี้ จะต้องมีสัจจะอธิษฐานอยู่กับตัวเองนะ

เพราะนั้นไม่ใช่สัจจะธิษฐานแบบไปตั้งไว้ “เอาล่ะวะ วันนี้กูจะรู้ตัวทั้งวันเลย” ...ไอ้นี่เกินไป ไอ้นี่บ้า เป็นไปไม่ได้ เข้าใจมั้ย ...ให้ประเมินกับนี่ เออ เมื่อวานได้แค่ไหน วันนี้ต้องไม่ต่ำกว่านั้น

แล้วก็ค่อยขยับขึ้นมา ค่อยๆ ขยับขึ้นมา นี่เขาเรียกว่าพัฒนาขึ้น มีความใส่ใจมากขึ้น มีความตั้งใจมากขึ้น ไม่ใช่ให้มันอยู่ไปวันๆ หรือว่าภาวนา...ก็ภาวนาไปแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ  ได้ก็ช่าง ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร 

มันจะอยู่ในร่องนี้อยู่ตลอด แล้วมันมีแต่จะถอยลง มันไม่มีก้าวขึ้นเลย มันจะไม่มีพัฒนาขึ้นมาเองได้เลย ...มันไม่เหมือนผลไม้ที่ว่ารอไปนานๆ แล้วมันก็สุกงอม ...มันจะต้องทำ มันจะต้องเจริญขึ้นมา 

ถ้าไม่เจริญถ้าไม่รักษาไว้ เดี๋ยวกูจะแตกให้เห็นเลย สมาธิก็จะแตกให้เห็นเลย ...เพราะอะไร  ธรรมชาติของจิตผู้ไม่รู้นี่ มันเหมือนอากาศ มันล่องลอย มันเบา มันไม่มีมวล มันไม่มีน้ำหนัก 

มันไม่มีที่บรรจุของมันได้เลย คือมันจะไปๆๆๆ โดยธรรมชาติของจิตปรุงแต่ง โดยธรรมชาติของอวิชชาตัณหา มันจะลอย ด้วยอำนาจของโมหะมันจะพากระจัดกระจาย 

แล้วพอมันไปเจอรูป ปุ๊บ..เกาะ เจอเสียงปุ๊บ..เกาะ กระทบปุ๊บ พอมันกระทบ..ปุ๊บเกาะ พอเกาะปุ๊บ มันปรุงเป็นสัญญา มันปรุงเป็นภาษา เป็นข้อความ เป็นความเห็น มันปรุงเป็นอารมณ์ มันปรุงเป็นกิเลส

แล้วไอ้นี่ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก หูก็ได้ยินแล้ว มีตามากระทบตรงนี้อีก ปึ๊บ มันไปจับ ...กี่กายแล้วล่ะ กี่เรื่องแล้วล่ะ ทั้งกายเขาทั้งกายเราที่อยู่ตรงนั้นน่ะ

เห็นมั้ยว่ากายมันมีหลากหลายกายยังไง มันจึงรู้สึกว่า..หนักว่ะ เอ๊อะ หนักอกหนักใจ มีแต่เรื่อง ... เราถามก่อน มันหนักยังไง มันมีมวลตรงไหน มันมีน้ำหนักมากดทับตรงไหน ..จริงๆ มันไม่มีนะ

แล้วทำไมมันถึงหนัก ...เพราะจิตที่ไม่รู้นี่มันไปหมาย  พอไปหมายปุ๊บ มันไปจริงจัง  พอไปจริงจังปั๊บ ทุกอย่างมันเที่ยง  พอทุกอย่างมันเที่ยง นี่ มันมีมวล มันมีน้ำหนักขึ้นมา 

มันเลยรู้สึกจับต้องได้เป็นอัตตาขึ้นมา มันไม่เป็นอนัตตา มันก็เลย..ไอ้นั่นก็ยังมี ไอ้นี่ก็ยังหนัก ...ทั้งที่ว่ามันไม่มีอะไรหรอก แต่ด้วยความที่จิตไม่รู้นี่มันไปหมายไว้ มันก็เลยมีน้ำหนัก

มันก็รู้สึกเป็นจริงเป็นจัง เที่ยงขึ้น เป็นตัวตนแข็งแรงขึ้น มีมวลขึ้น หนาแน่นขึ้น ..มันก็เลยบีบ กด ทับขึ้นมา มันก็หนัก เหนื่อย ทำงานทั้งวันกลับมานี่หมดแรงเลยนะ มันหนัก มีแต่เรื่องๆ นี่ เข้าใจมั้ยว่าจิตมันปรุง

แต่ถ้าเราขวนขวายใส่ใจในการที่จะไม่เอาห้าเอาสิบอะไรกับมัน นี่เขาเรียกว่า วางมันซะก่อน ...ยังละมันไม่ได้โดยเด็ดขาด ก็วางมันซะก่อน วางไว้ เรื่องของมัน..ไม่สน  ตาเห็นรูป..วางซะ ไม่สน

ใครจะดี ใครจะถูก ใครจะผิด หูได้แว่วเสียงคนนั้นคนนี้มา ไม่ต้องไปกระโดดงับเหมือนหมางับกระดูก ...มางับกายไว้ งับให้แน่นเลย เอาสติมามัดไว้ เอาสติเป็นเชือกมัดจิตรู้จิตเห็นนี่ มัดกายนี่

แรกๆ มันยังมัดไม่แน่นหรอก มัดหลวมๆ ...แค่มัดหลวมๆ นี่ก็จะตายอยู่แล้ว ไม่ถึงหนึ่งวินาทีสองวินาทีก็ไปแล้ว เนี่ย ...แต่ต้องอาศัยถี่ๆ มันแพ้ความถี่ กิเลสน่ะ มันแพ้ความขยัน

ความคุ้นเคยความเคยชินนี่ จะแพ้ความขยันหรือความเพียร ...ถ้าเรายังเพียรตั้งใจใส่ใจ น้อมนำ โอปนยิโก น้อมกลับๆ หยั่งรู้หยั่งเห็นอยู่ในกายๆๆ มันจะสร้างความคุ้นเคยที่ไม่เคยคุ้นมาก่อน

คือคุ้นกับการรู้ตัวมากขึ้น แล้วมันจะมีความเป็นอัตโนมัติ ...พอทำอะไรด้วยความไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันจะฉุก เหมือนกับฉุกคิดขึ้นมา มันเป็นชวนะ...อึ๊ เอ๊ะ เมื่อกี้รู้ตัวรึเปล่าวะ

มันจะตรวจสอบตัวมันเองเลย มันเป็นอัตโนมัติขึ้นมา ...มันจะรู้สึกว่าไอ้การกระทำการพูดการคิดโดยที่ไม่รู้ตัว ไม่มีสติกำกับกาย ไม่มีสติกำกับปัจจุบันกายไว้นี่ ...มันจะรู้สึกว่าผิดพลาดคลาดเคลื่อน 

มันจะรู้สึกว่าไม่สมบูรณ์ มันจะรู้สึกว่าเหมือนขาดอะไรไป ...มันจะรู้ มันจะมีความรู้สึกตัวนี้ ...นี่แค่ขั้นศีล-สมาธินะ ยังไม่ใช่ขั้นปัญญาเลยนะ เราจึงจะต้องฝึกจนคุ้นเคยในศีลสมาธิปัญญาอย่างยิ่ง 

เหมือนกับบ่ม บ่มอินทรีย์ เหมือนกับบ่มรากฐานของศีลสมาธินี่ให้มันแน่น ไม่โยกคลอนแคลน ไม่เหลาะแหละโลเล ไม่อ่อนปวกเปียก มันจะแน่น แข็งแกร่งขึ้นๆ นี่ มันจะสร้างรากฐานของปัญญาต่อไป

ทีนี้พอมันแข็งแกร่ง รากฐานมันแน่นหนามั่นคงดีแล้วนี่ ...การอยู่กับเนื้อกับตัวนี่ มันไม่รู้สึกเป็นเรื่องลำบากเลย มันเป็นเรื่องสบายๆ แล้วมันก็อยู่ได้โดยที่ว่าไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ในการรู้ตัวนี้

ซึ่งแรกๆ การรู้ตัวนี่เป็นทุกข์นะ เพราะมันฝืน ฝืนความอยาก-ความไม่อยากของเรา ที่มันคุ้นเคยกับการล่องลอยเผลอเพลิน และคุ้นเคยกับการคิดการนึก

พอจับมันมาอยู่กับการรู้ตัว ...ไอ้การคิดการนึกน่ะมันไม่สะดวก มันไม่คล่อง มันไม่เป็นไปตามที่มันเคยเป็น ตรงนี้มันจะรู้สึกอึดอัดแล้วก็รู้สึกว่าเป็นทุกข์


โยม –  นี่พูดถึงเรียกว่าเพ่งรึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  ไม่เพ่งหรอก แค่หยั่งๆ มา มันก็ไม่ค่อยชอบแล้ว มันจะเดือดร้อนแล้ว


โยม –  แล้วถ้าแรกๆ ถ้าอยากรู้กายเรื่อยๆ ก็เพ่งไปก่อนรึเปล่าคะ เหมือนเพ่งแล้วก็กดไว้ว่าอยู่กับกายนี้ มันนั่งอยู่ ทำอะไรอยู่

พระอาจารย์ –  เพ่งเลย ...เออ เพ่งไปเหอะ ...ถามตัวเองว่า “ทำอะไรอยู่” ท่องไว้ ถามไว้สักวันละหมื่นครั้ง ถ้าถามหมื่นครั้งก็แปลว่ารู้ตัวได้หมื่นครั้งน่ะ

แต่ไม่ใช่ถามแบบนกแก้วนกขุนทองนะ ถามแล้วก็ส่องลงมาเลยว่ากำลังนั่งจริงๆ กำลังยืนอยู่จริงๆ ...แล้วก็เมื่อรู้การนั่งการยืนอยู่จริงๆ แล้วถ้าจะให้มันอยู่นานนี่ไม่ใช่แค่กดเพ่งไว้อย่างเดียว เข้าใจมั้ย 

หมายความว่า เอาสตินี่ไล่ ไล่ความรู้สึกให้ทั่ว เช่นระหว่างยืนนี่ มันจะไปชัดอยู่ที่ขาใช่มั้ย ที่มันเกร็งอยู่ที่ขาที่ข้ออย่างนี้ แล้วมันก็รู้สึกจับมาที่การเหยียดของขา ก็อย่าไปกดอยู่ที่การเหยียดของขาอย่างเดียว 

กระจายให้มันรู้ ขึ้นบนลงล่าง ให้มันอยู่ในกาย มีความรู้สึกที่เอวเป็นยังไง ที่หลังที่ไหล่เป็นยังไง ที่คอ ที่หน้า ขึ้นไปลงมา แล้วก็กลับมา แล้วขยับเขยื้อนนี่ พยายามดูอิริยาบถย่อยในอิริยาบถใหญ่

เหมือนกับให้จิตมันทำงานอยู่ในกาย ...ตรงนี้คือสัมปชัญญะ มันจะเป็นตัวสร้างสัมปชัญญะคือความต่อเนื่อง มันจะเกิดความรู้ ไม่ใช่รู้ขณะหนึ่งแล้วก็หาย รู้ขณะแล้วก็หายๆ

มันจะเป็นตัวที่สร้างสัมปชัญญะ คือเกิดความรู้ต่อเนื่อง เกิดสติที่ต่อเนื่อง ...คำว่าสัมปชัญญะก็คือสติที่ต่อเนื่องนั่นเอง ทีนี้มันจะจากที่เป็นขณะก็ยืดยาวขึ้น

จากวินาทีหนึ่งหายๆ มันก็จะเป็นหนึ่งนาที สองนาที สามนาที ห้านาที...จนจบอิริยาบถ จนเชื่อมอิริยาบถใหญ่ ...สติก็แข็งแกร่งขึ้น พร้อมกับกายก็ชัดเจนขึ้น

พร้อมกับสมาธิก็ตั้งมั่นอยู่กับภายในมากขึ้น จิตส่งออกน้อยลง ...ถึงส่งออกก็เป็นแค่เบาๆ เบาๆ ล่องลอยไม่มีน้ำหนัก มันจะลอยอยู่แบบไม่มีน้ำหนัก

ไม่มีน้ำหนักคือไม่พอที่จะให้ลากไปพูดไปคิดตามมัน นั่นแหละเขาเรียกว่ามันไม่มีน้ำหนัก ...แต่มันยังปรุงอยู่นะ ยังไม่หยุด แต่ว่าเหมือนแมงหวี่แมงวันมาตอม

แต่ว่าไม่เข้าไปตบไปตีกับมัน ไม่เข้าไปทะเลาะเบาะแว้งกับมัน ไม่เข้าไปคิดจะทำอะไรกับมันดี ...นั่น มันแค่ตอมๆ พอให้รำคาญแค่นั้นเอง ก็ช่างมัน

แต่ว่างานใหญ่หลักใหญ่ก็คือ อย่าลืมกาย อย่าออกจากกาย อย่าเอารู้ออกห่างกาย  ต้องมัดเลย จนแนบแน่น ...เข้าใจคำว่าแนบแน่นมั้ย แนบแน่นนี่หมายความว่า จิตนี่ไม่เคลื่อนเลย มีแต่รู้กับเห็น

แล้วสิ่งที่มันรู้กับเห็นมีสิ่งเดียว ไม่มีสิ่งอื่นเลย ...กายคนอื่นก็ไม่เห็น มันเห็นแต่กายมันเอง  และกายข้างหน้าข้างหลังก็ไม่เห็น ...มันเห็นแต่กายปัจจุบัน มีแต่กายปัจจุบัน

เออ เหลือกายเดียวเหลือจิตเดียวแล้ว นี่ ตรงนี้ ปัญญาจะค่อยๆ พอกพูนตรงนี้  จนชำนาญ ...พอมันชำนาญแล้วนี่ ก็เรียกว่า...มันก็จะรักษาความสมดุล 

ระหว่างตรงเมื่อใดที่...จุดที่มันรู้มันเห็นแล้วมันอยู่กับกายได้ด้วยความเป็นธรรมดา แล้วไม่ห่างกาย แล้วอยู่ตัวในกายของมันนี่ ...เรียกว่ามรรคมันเริ่มสมังคี ศีลสมาธิปัญญาเริ่มรวมกันด้วยความสมดุลแล้ว

ถึงตรงนี้มันจะแยกไม่ออกแล้วว่า อันไหนเป็นศีล-สมาธิ-ปัญญา นี่ มันอยู่ด้วยความพอดี บริบูรณ์ในขณะปัจจุบันๆ ทุกปัจจุบันไป

ตรงนี้ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ตรงนี้ที่เรียกว่าเดินอยู่ท่ามกลางความพอดีในปัจจุบัน ...กายใจไม่ล้ำเลย นั่งตรงไหนรู้ตรงนั้น ยืนตรงไหนก็รู้อยู่กับยืนตรงนั้น

จิตไม่มีกายข้างหน้า จิตไม่ล้ำไปกายข้างหลัง จิตไม่ล้ำไปกายอดีต จิตไม่ล้ำไปกายอนาคต จิตไม่ล้ำไปในกายคนอื่น ...นี่มันอยู่พอดีกับกายของมันทุกอิริยาบถ เรียกว่ามันสมดุลอยู่กับปัจจุบันกายปัจจุบันขันธ์

แล้วก็รักษาความเต็มพอดีกับปัจจุบันกายปัจจุบันรู้ไป ต่อเนื่องไป ...นี่เขาเรียกว่าเส้นทางหรือว่าทางเดินของมรรค หรือว่าวิถีแห่งมรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทา หรือว่าทางสายกลาง ...เนี่ย จะเรียกยังไงก็ได้

แต่ว่ามันจะยาวหรือมันจะสั้นนี่ ก็อยู่ที่ความพากเพียรและความเข้าใจ แล้วก็ความใส่ใจ แล้วก็ความอดทน แล้วก็ความขยันหมั่นเพียร แล้วก็ความที่จะมีวิจารณญาณในการแยกแยะอะไรเป็นอะไร

พวกนี้มันจะเป็นตัวสนับสนุนให้มรรคนี่...เชื่อมมรรคให้ต่อเนื่องเป็นสาย …และเมื่อเดินอยู่บนเส้นทางของมรรค ไม่ต้องถามหาปัญญาเลย  เมื่อมันอยู่ตรงจุดนี้แล้วนี่ ปัญญามาไม่ขาดสาย 

ปัญญามันไม่ได้มาจากความคิด ปัญญาไม่ได้มาจากความจำ ปัญญาไม่ได้มาจากการตรึกตรอง ปัญญาไม่ได้มาจากการไปถาม ไปอ่าน ไปฟังมาเลย

แต่ปัญญามันจะเกิดขึ้นในองค์มรรค ด้วยการที่อะไรมากระทบ อะไรมาสัมผัสมัน...ไม่ว่าจะเป็นภายในตัวของมันตัวของขันธ์เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขันธ์ภายนอก มากระทบสัมผัสมัน

ทุกอย่างที่มากระทบสัมผัสมัน ...มันจะเป็นเครื่องแสดง เครื่องบ่งบอกถึงความเป็นจริง เครื่องบ่งบอกถึงความที่เรายังเข้าใจกับคลาดเคลื่อนผิดพลาดอย่างไร

มันก็จะเห็นความจริงในการกระทบสัมผัส ทุกการกระทบสัมผัสเลย ...เพราะนั้นในท่ามกลางการเดินมรรค อยู่ในมรรคนี่ ปัญญาจะมาแบบไม่ขาดสายเลย


(ต่อแทร็ก 12/33  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น