วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/26 (2)


พระอาจารย์
12/26 (561111A)
11 พฤศจิกายน 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 12/26  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้น คำว่าเพิกถอนความยึดมั่นถือมั่นในกายนี่ ...มันจะต้องเป็นศีลในระดับมหาศีล สมาธิในระดับมหาสมาธิ 

คือเต็ม...มันจะต้องเต็มในศีล บริบูรณ์ในศีล  มันจะต้องเต็มในสมาธิ บริบูรณ์ในสมาธิ

เพราะนั้นคำว่าเต็มในศีลนี่ หมายความว่า...ทุกปัจจุบันขณะ ทุกปัจจุบันเวลา ทุกวินาทีที่มันผ่านไปนี่...มันจะไม่มีคำว่าห่างหายจากกายนี้เลย

เรียกว่าเป็นเส้นตรงแบบไม่เว้นวรรคขาดตอน ไม่มีช่องว่างที่จะให้จิตนี่ มันเล็ดรอด ผุดโผล่ ไหลออก...ไปสร้างภพสร้างชาติที่อื่นเลย

เพราะนั้นเมื่อไม่มีช่องว่างให้จิตนี่มันไหลออกนอกกายไปได้แม้แต่เสี้ยวปัจจุบันหนึ่งนี่ ...นั่นน่ะเป็นเหตุให้สมาธิน่ะเป็นมหาสมาธิ ...กายก็เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ด้วยความชัดเจนปรากฏอยู่

ถึงจุดนั้นน่ะ ...ทุกสิ่งทุกอย่างมันเปิดเผยความเป็นจริงหมดเลย  กายก็เปิดเผยความเป็นจริงด้วยความสว่าง

เพราะจิตนี่มันถูกรวมไว้เป็นหนึ่ง...แบบไม่มีปรุงไม่มีแต่ง ไม่มีออกมาเป็นความคิด ออกมาเป็นบัญญัติ ออกมาเป็นภาษา ออกมาเป็นอดีต ออกมาเป็นอนาคต...แม้แต่เสี้ยวปัจจุบันหนึ่งในมหาสมาธิ

ภาวะตรงนั้นจึงเรียกว่าเกิดสภาวะที่เรียกว่าสว่างกายสว่างใจขึ้นมา ...มันจึงจะสิ้นความสงสัยในความเป็นกาย มันจึงจะเกิดภาวะที่เรียกว่ารู้แจ้งในกาย

มันแจ้ง สว่าง ไม่มีอะไรปกคลุมปิดบัง...แม้แต่เป็นฝ้าเป็นหมอก เป็นเสี้ยวอณูหนึ่งของมลทินคืออวิชชาในส่วนของกาย

เพราะฉะนั้น เรียนรู้เรื่องของกายจนถึงจุดนี้...ถึงจุดนี้จุดเดียวนี่ คือพระอนาคามี ...ตั้งแต่ต้นนี่ การปฏิบัติมาจนถึงระดับพระอนาคามีนี่...คือเป็นการเรียนรู้เรื่องกายล้วนๆ

แต่นี่บางคน บางท่าน เล่นไปเอาธรรมของพระอรหันต์มาภาวนา ...คือไปเอาจิต เอาอารมณ์ เอาสภาวะละเอียดประณีตมาเป็นเครื่องระลึกรู้กำหนดรู้

มันก็เหมือนกับเด็กอนุบาลน่ะ แต่ไปเปิดตำราของดอกเตอร์ ...มันจะเข้าใจอะไร ...อนุบาลก็ต้องเรียนเขียน ก.ไก่ ให้เป็นก่อน นี่...ก.ไก่ - ก.กาย

ไม่อย่างนั้นแล้วก็มาแบ่งพวกแบ่งพรรค แบ่งว่าภาวนาแบบหยาบ ภาวนาแบบติด ภาวนาแบบพื้นๆ ...ก็พื้นสิ ถ้าไม่มีพื้นแล้วมันจะเดินในอากาศหรือไง

คือธรรมชาติของกายในขันธ์ หรือธรรมชาติประจำกายในขันธ์นี่...มันมีกายเดียว  

แต่พอขันธ์นี่มันมาอยู่กับจิตมนุษย์ปุถุชน...ที่มันมีกิเลส ที่มันมีความเป็นเรานี่ ...ความปรากฏของกายหรือลักษณะของกายนี่ มันกลับมีเป็นอเนกอนันต์ เรียกว่านับไม่ถ้วน

แล้วกายที่มันปรากฏตามประสาปุถุชน หรือคนไม่ภาวนา หรือคนที่ภาวนาแบบมั่วซั่วนี่ ...กายที่มันปรากฏนั่นมันว่าจริงหมด ...ว่าจริงหมด...แล้วก็จริงกว่ากายจริงๆ ด้วย

เพราะฉะนั้น การที่เอาสติมาระลึกอยู่ในกายศีลกายปัจจุบัน...ซึ่งเป็นกายเดียว กายอันเดียวที่มีอยู่ในขันธ์  ...เป็นกายจริงๆ ที่มีอยู่ในขันธ์ ...คือกายศีลนี่

การเอาสติมากำหนดอยู่ที่กายปัจจุบันนี่ จึงเรียกว่าเป็นการรวมกายให้เป็นหนึ่ง จากมหันต์กาย อเนกกายนี่ ...ด้วยอำนาจของสติ การระลึกรู้อยู่กับกาย เรียกว่ากายานุสสติปัฏฐาน ...มันจึงเป็นการรวมกายให้เป็นหนึ่ง

เพราะไอ้กายที่มันเป็นอเนกอนันต์กายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี่ มันก็เกิดขึ้นมาจากจิต ...เมื่อรวมกายให้เป็นหนึ่ง จิตที่มันจะไปสร้างกายอเนกอนันต์...มันก็ไม่ไป

มันก็เป็นการรวมกายรวมจิตให้เป็นหนึ่งเหมือนกัน พร้อมกัน ...เมื่อรวมกายเป็นหนึ่ง จิตก็จะเป็นหนึ่ง...หนึ่งรู้หนึ่งเห็นกับกายหนึ่งปัจจุบัน...คือกายศีลนั่นเอง

ถ้าไม่เริ่มที่รากฐานของศีล ถ้าไม่เริ่มที่รากฐานของกายปัจจุบันนี่ ...มันจะไปตรงไหน มรรคอยู่ตรงไหน ทางเดินในมรรคคืออะไร ...มันก็ตีนลอย เลื่อนลอย คลาดเคลื่อนไปหมด

เพราะอะไร ...เพราะว่าธรรมชาติของจิตผู้ไม่รู้ หรือว่าจิตเรา จิตอวิชชาตัณหาอุปาทานนี่ ...สภาวะจิตเหล่านี้มันเบา มันลอย มันล่องลอยไปมา มันทะยานออก มันไม่มีน้ำหนัก มันฟุ้งกระจาย

พอมันฟุ้งกระจายออกด้วยความเบาความลอยนี่ โดยธรรมชาติของความลอยนี่ ...เวลามันไปปะกับอะไรนี่ อย่างปะกับเสียงปั๊บ มันก็ไปเกาะกับเสียง มันไปปะกับรูปที่เห็น มันก็ไปเกาะอยู่กับรูปที่เห็น

ไอ้คำว่าไปเกาะนี่ คือมันไปก่อเกิดภพ ก่อเกิดความเป็นเรา ก่อเกิดกายสังขาร...กับสิ่งที่มันไปปะโดยผัสสะ...ผ่านอายตนะ ...แต่ถ้ามันไม่ปะอะไรนี่ มันก็ล่องลอย เลื่อนลอย หาย  อยู่ในภาวะหาย ลอย ใจลอย

แล้วถ้าไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสภายนอกมาเป็นที่ให้เกาะ เป็นที่ให้แต่งต่อเติมต่อ ...เดี๋ยวก็มีความคิดขึ้นมาเอง มันก็เกาะกับความคิดของมันเอง ...จากลอย...ก็มาเกาะกับความคิด

แล้วเดี๋ยวก็มีความเห็นขึ้นมา มันก็เกาะกับความเห็น ปรุงแต่งต่อเป็นอารมณ์ เป็นความรู้สึก ดี-ร้าย ถูก-ผิด คุณ-โทษ ...เนี่ย คือธรรมชาติของปุถุชน ปุถุจิต

หรือแม้แต่เป็นนักภาวนาด้วยซ้ำ เอ้า พวกนักดูจิตดูอะไรนี่ แล้วก็ไปเอาล่อเอาเถิดกับมัน ...มันเหมือนกับไปอยู่ในความเลื่อนลอยเคว้งคว้างน่ะ

เนี่ย ที่ว่ามันทิ้งรากฐานของกาย มันทิ้งรากฐานของศีล ...นี่ มันทิ้งรากฐานของปัจจุบันขันธ์น่ะ

เพราะนั้นเมื่อมีสติมากำหนดระลึกรู้อยู่กับกาย  มันก็เหมือนกับคอยหน่วงคอยถ่วงไว้...ถ่วงจิตไว้ ไม่ให้มันล่องลอยออก ...มันก็เกิดภาวะหนักแน่นในกายขึ้น มันก็เกิดภาวะจิตนี่หนักแน่นขึ้น

ไอ้คำว่าหนักแน่นขึ้นนี่ ก็คือความหมายว่ามันมั่นคงอยู่ในกาย  มันมีน้ำหนัก มันมีน้ำหนัก...ด้วยอำนาจของสตินี่ มันน้อมกลับๆ มันก็ทิ้งน้ำหนักลงมา จิตมันก็หนัก...ไม่เบา ไม่ลอย

นี่คือสมาธิ นี่เรียกว่าสัมมาสมาธิ ...กายก็หนัก ไม่ขาด ไม่ลุ่ย ไม่หาย ไม่ล่องลอยกระจัดกระจายแบบไม่รู้หายไปไหน ...นี่ ฐานนะนี่ กายก็เป็นฐาน ใจก็เป็นฐาน 

ไม่ใช่ไปล่องลอยอยู่ในกายที่จับต้องไม่ได้คือกายสังขาร ...ซึ่งไอ้กายสังขารนี่คือกายอเนกอนันต์ มีนับไม่ถ้วน มีทุกแง่มุม 

แล้วมันไม่ใช่กายของมันเองอย่างเดียว มันมีกายคนอื่นด้วยแทรกขึ้นมาอีก ปะปนกันอยู่นั่นน่ะ เป็นล้านๆๆ กายเลย

มันก็เลยเกิดภาวะความมีความเป็นล้านๆๆ เรื่อง เล็กใหญ่น้อยบ้างกระจัดกระจายเต็มไปหมด ...เกิดความเศร้าหมอง มีแต่เราๆๆ มีแต่เขา มีแต่เรามีแต่เขาอยู่ในกายที่เป็นกายสังขารนั่น

นี่คือผลของการที่มันไม่รวมกายให้เป็นหนึ่ง ไม่มีศีล ...ท่านถึงบอกว่าไม่มีศีลแล้วจิตเศร้าหมอง

เพราะมันไปสร้างกายใหม่ มันไปสร้าง "เรา" อยู่ในกายใหม่ขึ้นมา นับไม่ถ้วน ...ดี-ร้าย ถูก-ผิด เป็นคุณ-เป็นโทษ เป็นสุข-เป็นทุกข์ อยู่ในนั้นน่ะ

นี่เรียกว่าการภาวนาแบบไม่เห็นคุณค่าของศีล ไม่อยู่ในองค์ในกรอบของศีล ...พอไปเจอกายไหนจิตไหน มันตกอยู่ในอารมณ์ไหนอารมณ์หนึ่ง ก็ไปเกาะ ไปผูกไว้ให้เที่ยง ...นี่ มันชอบน่ะ

พอเขาแสดงความเป็นจริงว่าไม่เที่ยง...ก็ทุกข์แล้ว ...นี่ พอเริ่มปฏิบัติในแง่มุมของการปฏิบัติก็ไปเที่ยวทำให้มันไม่มีอะไร ให้มันดับ

สุดท้ายความดับก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็เกิด ...ก็พยายามจะทำให้มันดับตลอดเวลา นั่นแหละดูให้มันดับตลอดเวลา ดูจิตให้มันดับ ไม่มีอะไร 

เห็นมั้ย พอดูจิตดับไม่มีอะไร มันจะรู้สึกเลยว่าได้ผล ...มีเราเข้าไปเป็นผู้ได้ผล มีความดับ ไม่มีจิตที่มีความคิด ไม่มีอารมณ์ ว่างหมด มีเราสบายเลย ...ไม่รู้จักรึไง สักกายเต็มๆ อยู่นี่น่ะ

หรือถ้าเป็นในแง่สมถะก็พยายามหาอุบายกำหนด...ให้จิตมันเกิดภาวะสงบ แล้วก็มีอารมณ์สงบ...ก็ยึดความสงบ ให้เที่ยงอยู่อย่างนั้น

ทุกอย่างที่พูดมานี่ มันล้วนแต่ออกนอกศีลหมด เป็นการภาวนานอกกรอบ เป็นการภาวนานอกขันธ์ เป็นการหาความรู้ความเห็น หามรรคหาผลนอกขันธ์ นอกปัจจุบัน นอกศีล นอกสมาธิ นอกปัญญา

พวกนี้เป็นมิจฉาหมด มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาปัญญาหมด แต่ก็ยังเห่อเหิมกันในสภาวะ..ว่าดี ว่าเลิศ ...ก็รับรองกันไป ก็รับรองกันมา

มันพาให้ปั่นป่วนในธรรม ในความเป็นจริงของธรรม ในความเป็นจริงของขันธ์ ในความเป็นจริงของมรรค ในความเป็นจริงของศีลสมาธิปัญญา

กลายเป็นภาวนาเพื่อให้ได้อะไรๆ  ต้องให้ได้อะไรที่มันเหมือนกับที่เขาได้ หรือที่เชื่อกัน  ถ้าได้อย่างนี้แล้วจะได้ผลเป็นระดับนี้ระดับนั้น ...บ้ากันใหญ่ บ้าธรรมกันใหญ่ บ้าผลน่ะ


(ต่อแทร็ก 12/27)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น