วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 12/9


พระอาจารย์
12/9 (560822C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 สิงหาคม 2556


พระอาจารย์ –  เอาเหอะ ถูกด่าก็ด่าไป จะภาวนา ...ช่างหัวมัน เดี๋ยวก็ไปแล้ว เดี๋ยวก็ออกจากสังคมไปแล้ว นะ 

แต่ก็ไม่ได้ไปปฏิเสธในสิ่งที่ว่าภายนอกแบบไม่ดูดาย ...ก็เรียกว่าเข้าใจ ต้องเข้าใจ  คือไม่ใช่ไปเพอร์เฟ็คภายนอกเลย ...ก็เรียกว่าพอให้ตามน้ำไป นะ

แต่ว่ากิจวัตร ข้อวัตร นั่งสมาธิ ฟังธรรม ทำวัตรเช้าค่ำนี่ ...มันเป็นเครื่องทรมานตน มันเป็นเครื่องฝึกตน เพื่อให้เกิดขันติ เพื่อให้เกิดความไม่ขี้เกียจ เพื่อเอาชนะกิเลสตัวขี้เกียจ 

แล้วก็ไปฝึกที่จะชนะถีนมิทธะ ...ถ้าไม่ลุกขึ้นมานั่งสมาธิตีสาม มันจะไม่รู้จักการฝืนถีนมิทธะหรอก ถ้ามันไปอยู่กุฏิคนเดียวน่ะมันไม่มีทางหรอก ถ้าไม่ได้ความเพียรระดับที่จะตั้งใจทำความเพียรจริงๆ 

เพราะนั้นอย่าไปนั่งหลับ พยายามเอาชนะ ด้วยการเจริญสติให้มาก ให้แข็ง รู้ให้มั่น ...  แล้วมันจะชนะถีนมิทธะ ความง่วง ความซึม  

แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาภาวนา รักษากายรักษาใจ ...อย่าลืมกายอย่าลืมใจ อย่าลืมรู้ อย่าลืมตัว อย่าให้ห่างจากตัว อย่าให้ไกลจากตัว อย่าให้จิตมันออกนอกตัว อย่าให้จิตมันห่างจากตัว

ทำอย่างนี้ ใครจะว่าบ้าก็ว่าไป ใครจะว่าไม่มีปฏิสัมพันธ์ ใครจะว่านิสัยไม่ดี เอาแต่ตัวเอง ...คนมันว่า เป็นธรรมดาของคน ...นกกา ถ้ามันไม่ทาสีให้เป็นกาเหมือนกัน มันก็บอกว่าไม่ใช่กา

ก็เราจะพยายามออกจากสีดำ ความมืดบอด มันก็ต้องไม่เอา...เพราะมันกลมกลืนกันไม่ได้อยู่แล้ว  

มันไปกลมกลืนกับโลก มันไปกลมกลืนกับกิเลสในโลก มันไปกลมกลืนกับกิเลสของคนในโลก ...มันไม่มีทางเข้าไปกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้ว ...จะออกห่างจากมัน มันต้องไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

อย่าไปหวน อย่าไปกลัวว่าจะไม่เหมือนคนอื่น ...ทำไม จะไปเหมือนกับกิเลสคนอื่นเขาทำไม ...ถ้าจะออกจากกิเลส มันจะต้องไม่เหมือนกับคนที่มีกิเลสสิ ...มันคนละประเภทกันนะ

แต่ว่าความที่เราก็ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่หมด  คราวนี้ก็กลัว สร้างความกลัวว่าจะเข้ากับคนไม่ได้ หรือว่าคนไม่ยอมรับ ...ก็ต้องเอากายเดียวใจเดียว เกิดคนเดียวตายคนเดียว  เออ เอางั้นดิ

แต่เราก็ไม่ได้ไปหาเรื่องทะเลาะคนอื่น เราก็ไม่ได้ทำความเบียดเบียนคนอื่น  เราก็อยู่ในลักษณะของภาวนารักษากายใจไป ...ไม่ผิดหลักพระพุทธเจ้า ไม่ผิดหลักหลวงปู่ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย 

เอาธรรมเป็นหลัก เอาศีลสมาธิปัญญาเป็นหลัก  แล้วผลนี่ มันมีค่าอเนกอนันต์ ... อานิสงส์ของผู้ที่รักษาศีลอย่างยิ่งยวด สมาธิอย่างยิ่งยวด สติอย่างยิ่งยวดนี่ ไม่อดไม่จน ท่านถึงเรียกว่าธรรมรักษาผู้ปฏิบัติธรรมเองแหละ

อย่าไปหวั่นไหวกับคำพูด เสียงนกเสียงกา...ของกิเลส ของความไม่รู้ของมนุษย์  

และอย่าเอาความไม่รู้ ความเห็นจากความไม่รู้ของมนุษย์นี่ มาเป็นเงื่อนไข มาเป็นข้อบังคับ มาเป็นตัวที่ครอบงำการกระทำ จนดิ้นไม่ออก ...ไม่งั้นมันจะหนี มันจะหลุดจากอุ้งมือมาร เงื้อมมือมารไม่ได้ คำว่ามารคือขันธมาร สังขารมาร 

แล้วทุกอย่างมันก็จะเป็นไปตามครรลองของ...ศีลอย่างไร สมาธิอย่างนั้น  สมาธิอย่างไร ปัญญาอย่างนั้น ...นี่ เป็นไปตามนั้น  

เมื่อถึงขั้นเดินในมรรค เดินด้วยปัญญา เดินด้วยการรู้การเห็น เนื้อตัว ขันธ์ ตัวเอง ภายในภายนอก ตลอดเวลาแล้ว ...ความลุล่วง แจ้งชัด ในก้อนธรรม กองธรรม ทั้งหลายทั้งปวง ปรากฏการณ์ที่แวดล้อมขันธ์ ตั้งแต่ขันธ์นี้ออกไป จนถึงสิ่งที่กระทบขันธ์นี่ 

มันก็จะเกิดความรู้แจ้งชัดเจน เข้าใจ ในการปรากฏ ในการตั้ง ในการดับ ในที่มา ในที่ไป ในเหตุที่ตั้ง ในเหตุที่ดับ ...นี่ เรียกว่ามันเดินด้วยปัญญา มันก็เข้าใจ เกิดความรู้แจ้ง แทงทะลุปรุโปร่งเป็นเนื้อเดียวกัน 

ธรรมเดียวกัน ที่หมายเดียวกัน เกิดเหมือนกัน ตั้งอยู่เหมือนกัน ดับไปเหมือนกัน ...ไม่มีผิดแผกแตกต่าง จนเกิดการเข้าไปคัดสรร แบ่งดีแบ่งร้าย แบ่งดีแบ่งชั่ว แบ่งถูกแบ่งผิด แบ่งมากแบ่งน้อย ...หมดการแบ่งแยกไปในธรรม

เนี่ย มันด้วยความรู้ ความเข้าใจในปัญญา  มันก็จะเห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นหนึ่งในการเกิดในการตั้งในการดับ มีสภาพอาการลักษณะแบบเดียวกัน อย่างเดียวกัน ไม่ผิดแผกแต่ประการใด

แล้วในการเกิด ในการตั้ง ในการดับ  ก็เป็นไปอยู่บนฐาน บนรากเหง้า บนฐานของความไม่มีอะไร คือว่างเปล่า  

ตรงนี้ ความเป็นเรา ความเป็นตัวเรา ความรู้สึกของเรานี่ ที่จะไปหมายในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในการเกิดก็ตาม ในการตั้งก็ตาม ในการดับไปก็ตาม ...ความเป็นเรามันก็จะหมายไม่ได้ 

มันจะไม่ออกไปหมายกับสิ่งที่ไม่มีอะไร บนความไม่มีอะไร มันจะไปหมายกับอะไร ...เพราะนั้นตัวเรา ความรู้สึกเป็นเรา มันก็จะค่อยๆ เกิดความจางคลาย เกิดความถอนตัวของมันเอง 

ที่มันถอนนี่ ไม่ใช่เราไปบังคับดับมัน...ไม่ใช่เอาเราไปดับเรา  แต่เอาความจริงที่มันรู้มันเห็นนี่ มันจึงจะถอนตัวมันเองออก ...เพราะมันเห็นแล้วว่า ในการเกิด ไม่มีอะไรในการเกิด ในการตั้งอยู่ ไม่มีอะไรอยู่ในการตั้งนั้น ในการดับไป ก็ไม่มีอะไรในการดับไปนั้น

เนี่ย การรู้การเห็นที่มันเห็นความเป็นจริงของธรรมที่ปรากฏ ตั้งแต่ขันธ์นี้ออกไป มันไม่มีอะไรในการเกิด ในการตั้ง ในการดับ ...แล้วเราผู้เข้าจะไปจับจอง เราผู้เข้าจะไปก่อเกิด เราผู้เข้าจะไปหมายมั่นกับสิ่งที่ไม่มีอะไร มันจะไปหมายอะไร 

มันก็ค่อยๆ ถอน ถอยตัวของมันเองออกจากการหมายมั่นในสิ่งต่างๆ ...จนกว่ามันจะตลอดในธรรม มันก็จะถอนความหมายมั่น หมายมั่นในที่นั้นในที่นี้ ในอาการนั้น ในลักษณะอารมณ์นี้ ในการกระทำของรูปนี้ ในนามที่ปรากฏอย่างนี้ ในรูปที่แสดงอย่างนี้ ...มันก็ถอยถอน ถอยถอนจากความเป็นเราออก

จนมันรู้รอบเห็นรอบ รู้ตลอดเห็นตลอด รู้แจ้งโดยตลอดแห่งธรรมทั้งหลายทั้งปวง ...มันก็ถอนออกจากธรรมทั้งหลายทั้งปวง โดยหมดสิ้นความเป็นเราในสิ่งต่างๆ ในสรรพสิ่ง ในธรรมทั้งหลายทั้งปวง


นี่ถ้ามันตั้งเป้าอย่างนี้ แล้วก็การปฏิบัติเพื่อเป็นไปเพื่อจุดนี้แล้วนี่ ...นี่คือความงดงามของสมณะ ของนักบวชที่แท้จริง ...ไม่ใช่งดงามเพียงแค่ข้อวัตร ไม่ได้งดงามเพราะว่าอยู่ในที่ที่สวย สงบ สว่าง หรูหรา หรือว่าเป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนในโลก

สมณะที่แท้จริงนี่ เป็นผู้สงบ สมณะแปลว่าผู้สงบ ..พระนี่ คือเป็นผู้ที่หลุดพ้น พระที่แท้จริง ภิกขุแปลว่าผู้ขอ สมณะผู้สงบ

ทั้งหมดนี่เป็นไปเพื่อเข้าสู่ความเป็นพระ คือหลุดพ้นจากทุกข์  คือผู้ที่รู้แจ้งตามความเป็นจริงของขันธ์และโลกโดยตลอด ไม่ติด ไม่ขัด ไม่ข้อง ไม่คา ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ...ก้าวข้ามได้หมด ปัญญาก้าวข้ามได้หมด 

ไอ้ที่ยังข้ามไม่ได้มันก็ติด ...ติดก็ไม่เป็นไร ติดก็รู้ว่าติด  จนกว่ามันจะข้ามได้ มันก็แจ้ง  ...ถ้าไม่แจ้ง ถ้าไม่ทะลุ ในสิ่งที่มันติด ที่มันขัดที่มันข้องที่มันคาอยู่แล้ว มันก็ข้ามไม่ได้

มันก็จะซ้ำๆๆ  ย้ำๆๆ อยู่อย่างนั้น...เอาจนกว่ามันจะทะลุปรุโปร่ง... "อ้อ ไม่มีอะไร" ...ปล่อย ปล่อยเคสนั้น คอร์สนั้นไป ทีละเคสๆ ไปอย่างนี้ 

ก็ก้าวข้ามไปๆๆ ...จนไม่มีอะไรมาขวางกั้น มาปิดกั้น มาปิดบัง มาคาข้อง มาทำให้ใจดวงนี้เศร้าหมองขุ่นมัวอีก ... นี่เขาเรียกว่าเป็นพระเต็มตัวเต็มใจ เต็มขันธ์ บริสุทธิ์ จนถึงที่สุด หมดจด

เพราะนั้น พระที่อยู่ไปวันๆ ก็มี พระที่อยู่ไปเพื่อเป้าหมายอื่นก็มี พระที่ไม่มีอะไรจะทำแล้วก็มาเป็นพระก็มี เยอะแยะไปหมด มันมีหลายสกุล นะ ...ก็คือลูกชาวบ้านมาบวช แล้วก็แล้วแต่อุปนิสัย นะ

เพราะนั้นการที่มีครูบาอาจารย์นี่ ครูบาอาจารย์นี่จะเป็นคนที่คอยถือหางเสือไว้ ...เพราะตัวมันยังไม่รู้จักหรอกว่าหางเสือมันคืออะไร แล้วมันจะไปทางไหน  

ครูบาอาจารย์จะเป็นคนถือหางเสือให้ก่อน แล้วพอมันไปได้แล้วก็ไม่ผิดทางแล้วนั่นแหละ ...แต่ถ้ามันไม่มีครูบาอาจารย์นี่ มันจะไปแบบไม่มีทิศทาง คือไปตามสันดาน ว่างั้นเถอะ 

เพราะนั้นครรลองของการจะเข้าสู่ดวงจิตผู้รู้ ถึงดวงจิตผู้รู้ หรือว่าใจนี่ คือเป็นที่ตั้งของใจ ...มันจะต้องมาตามลำดับ สติในปัจจุบัน สติในขันธ์ สติในกาย สติในอิริยาบถ แล้วก็รู้เห็นทุกอากัปกริยาอาการที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบันขันธ์ ...อันนี้คือลำดับต่อไป 

แต่ลำดับแรกนี่ มันจะไปรู้ทุกอาการในทุกลักษณะของขันธ์หรือภายนอกนี่ไม่ได้  ถ้ามันจะรู้ในระดับนั้น ต้องเป็นมหาสติแล้ว ...เพราะนั้นในระดับเริ่มต้น ต้องเริ่มจากสติในกายในศีลก่อน เป็นกรอบใหญ่ 

แล้วก็อย่ามักมาก อย่าโลภมากในการที่...'ไอ้นั่นก็ยังจะต้องรู้ ไอ้นี่ก็ต้องมีสติระลึกรู้กับมัน' ... มันจะหลายๆๆ มันจะแตกแขนงไป 

เอาแค่ยืนเดินนั่งนอน อะไรที่มันปรากฏในกายนี่...เอาให้ทั่ว เอาให้ตลอด เอาให้รอบในกองกาย ปัจจุบันกาย กองอาการ กองความรู้สึก กองเวทนา...เฉพาะกายนี่

จนจิตมันรวมเป็นหนึ่ง มันตั้งมั่น  ดวงจิตผู้รู้มันก็จะชัดเจนขึ้นมา ... ทีนี้มันก็อยู่กับรู้ เดินให้รู้ นั่งอยู่กับรู้ หยิบจับฉวย พูดคุย ก็อยู่กับรู้ ...มันจะมีรู้ฝังอยู่ข้างในแล้ว 

นี่เขาเรียกว่าได้ฐานของสมาธิดีแล้ว พอควรแล้วนี่ มันจะอยู่กับอิริยาบถ นั่งก็อยู่ในรู้ เดินก็อยู่กับรู้ ยืนก็อยู่กับรู้ นิ่งก็อยู่กับรู้ ขยับ ไหว ก็อยู่กับรู้ มันมีรู้อยู่คู่กันกับกายเลยไม่หายไปไหน

เมื่อใดที่มันอยู่ในระดับนั้น มันจะชัดเจนในความเป็นกายที่แท้จริง ที่ไม่ใช่สัตว์บุคคลและเป็นตัวเราของเรา ...ทีนี้มันก็จะเริ่มง่ายขึ้นไปเอง ตอนนี้มันไม่ลื่นไถลแล้ว ไม่ค่อยเถลไถลออกไปนอก นอกกายนอกขันธ์นอกปัจจุบัน

มันก็จะอยู่ๆๆ มันมีการอยู่ อยู่กับที่อยู่กับฐานอยู่ ...แล้วมันก็เข้าใจ มันก็เกิดความแจ้งในที่ในฐานที่มันอยู่นั่นแหละ ที่ใจมันอยู่ ที่มันรู้อยู่กับอะไร อยู่ในกายมันก็แจ้งในกาย อยู่กับขันธ์มันก็แจ้งกับขันธ์

ตรงนั้นเรียกว่าญาณ ตรงนั้นเรียกว่าปัญญา ความรู้ความเห็น...ก็คือรู้เห็นขันธ์ตามความเป็นจริงนั่นแหละ คือความเห็นที่ประเสริฐสุด 

ปัญญาที่ว่าประเสริฐสุด ไม่ใช่ปัญญาไปรู้ว่าจักรวาลมีที่สุดคืออะไร มนุษย์อวกาศหรือว่ามนุษย์ต่างดาวมีมั้ย อยู่ในโลกไหน แล้วมันไปรับรู้ไปเห็นอะไร นั้นไม่เรียกว่าปัญญา

ปัญญาอันประเสริฐคือการรู้แจ้งในกองขันธ์ เข้าใจว่า...ที่มาที่ไปของขันธ์คืออะไร มันเป็นใคร มันเป็นอะไร มันเป็นของใคร แล้วที่สุดมันคืออะไร และในการที่มันปรากฏขึ้นเนี้ย มันปรากฏเพื่อใคร เพื่ออะไร 

นี่ มันก็เข้าใจ การเป็นไปของขันธ์โดยรวม โดยไม่สงสัยลังเลในอาการของขันธ์ ของตัวมันเอง ที่ใจอยู่อาศัยกัน ...นั่นแหละปัญญาอันประเสริฐ

มันไม่ได้รู้มากมายก่ายกองอะไรหรอก แค่กองขันธ์ห้าแค่นี้แหละ ...เราถึงบอกไงว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงว่าเจ็ดวันเจ็ดเดือนเจ็ดปี ...เพราะมันแค่นี้เอง มันไม่มาก 

มันไม่ใช่...โอ้ย เป็นเรื่องที่จะต้องเรียนรู้อย่างหลายชาติหลายภพ  หลาย ...ไอ้ที่หลายนี่เพราะดัดสันดาน ที่มันไม่ยอมอยู่ตรงนี้เท่านั้นเอง ดัดสันดานที่มันชอบเห็นว่าตรงโน้นตรงนี้มีค่ามีความหมายกว่าน่ะ

นี่เขาเรียกว่าบารมีเพื่อให้มันเกิดสันดานในศีลสติสมาธิ ...เพราะนั้นพอควบคุมสันดานของจิตได้แล้วในระดับนึง คราวนี้ความรอบรู้ในกองขันธ์นี่มันไม่ใช่ของใหญ่โตมโหฬารหรอก 

การรอบรู้ในกองกายก็ไม่ใช่มันมากมายมหาศาลขนาดไหน ...ก็เท่านี้ แต่ละคนก็น้ำหนักตัวประมาณห้าสิบ-เจ็ดสิบโล ... เห็นมั้ย มันไม่ใช่ว่าหนักเป็นพันเป็นหมื่นกิโล ที่มันมีมวลสารที่มันประกอบกันมากมายมหาศาลอะไร ...มันก็แค่นี้

พระพุทธเจ้าถึงบอก ถ้ามันรวบรวมจิต รวบรวมใจอยู่ในกองกายกองขันธ์ได้แล้วนี่ ...ถ้าอยู่ได้จริงนี่ เจ็ดวันเจ็ดเดือนเจ็ดปี มันก็แจ้ง มันก็รู้โดยตลอดนะ มันก็เข้าใจโดยทั่วโดยรวม

แต่ว่าตอนนี้ต้องดัดสันดาน... ก็เรียกว่าฝึกจิต...ฝึกด้วยสตินะ ไม่ใช่ด้วยการอยาก ไม่ใช่ด้วยการบังคับ ไม่ใช่ด้วยการที่ไปดุด่าว่ากล่าว หรือไปโกรธไปเกลียดไปเคียดให้มัน 

แต่ต้องฝึกจิตด้วยสติให้มันเกิดการสำรวมรู้ สำรวมเห็นอยู่ภายใน ...นี่เขาเรียกว่าฝึกจิตด้วยสติ เอาสติไปควบคุมจิต ...ไม่ใช่เอาความอยากเอาความไม่อยากไปบังคับจิต ถ้าอย่างนั้นน่ะเครียด

แต่ถ้าเอาสติไปควบคุมระงับรักษาจิตไว้นี่  คือคอยรู้คอยเห็น คอยน้อม คอยทวน คอยกลับมา...ด้วยการระลึกรู้ ไม่ใช่กลับมาด้วยการบังคับหรือการกดข่ม อย่างนี้ ...ระลึกรู้มันก็กลับแล้ว 

ระลึกรู้แล้วก็น้อม น้อม ท่านให้น้อมกลับ หยั่งรู้...กลับมาหยั่งรู้ดูเห็นในกองกาย ในกองอิริยาบถ ในกองเวทนาของกาย เหล่านี้  เย็นร้อนอ่อนแข็งพวกนี้

ทำแบบไม่เว้นวรรคขาดตอน ทำแบบไม่เปลี่ยนงาน ทำแบบซ้ำซาก วนเวียนซ้ำซากๆ วนไปวนมา ...มันจะไปที่อื่นก็ไม่ไป เพราะมันจะชักจูงให้ออกนอกไปหานั้นหานี้อยู่ตลอด 

แล้วมันจะอ้างเงื่อนไขว่าสำคัญกว่าดีกว่าก็ตาม...ไม่เอา นี่ ...นี่เขาเรียกว่าดัดสันดานจิตเรา ตัวเรา ความเห็นเรา ความเคยชินของเราเหล่านี้

ศีลสติมันก็ค่อยๆ มีกำลังเหนือจิตปรุงแต่ง ...เริ่มมีกำลังแต่ยังไม่ชนะนะ  หมายความว่าพอจะทัดทานกันได้ ...แล้วตอนนี้ผู้ปฏิบัติก็ต้องพากเพียรรักษาสติอย่างยิ่งยวดล่ะ เมื่อรู้ที่หมายที่ตั้งที่แท้จริงว่าควรอยู่ที่ไหน ตั้งที่ไหน

เพราะนั้นคนที่จะเข้าถึงสติที่แท้จริงหรือว่าที่ตั้งที่ฐานที่แท้จริงก็คือ...ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ก็น่าจะรู้แล้วว่า ออกนอกนี้ไปเป็นทุกข์ ไม่ไปแล้ว บังคับให้ไปก็ไม่ไปแล้ว  แต่ไปเมื่อจำเป็น แน่ะ ไม่ใช่ว่าตัดเป็นขายขาด

ถ้าตัดเป็นขายขาดนั่นน่ะเขาเรียกว่าพระอนาคา ...หมายความว่าต่อให้โลกถล่มฟ้าทลาย กายแตกดับกูก็ไม่ไป นี่มันจะรู้ ... เรียกว่าภูมิปัญญาสติสมาธิระดับนั้น ไม่คลาดเคลื่อนเลย 

แต่ถ้าระดับต่ำกว่านั้น...ยังมี ... ให้ไปก็ไป ยังต้องไปอยู่ ...แต่ว่าไม่ไปเป็นอาจิณ ไม่ไปตามสันดานความอยาก ไปตามกาล ไปตามเหตุ

คือมันยังมีสงเคราะห์ญาติ ...ภายนอก เป็นญาติ เอาภายนอกมาเป็นญาติ ...มันยังไม่เบ็ดเสร็จ แต่มันก็รู้ว่าที่อยู่ไหน ฐานอยู่ไหน แล้วก็กลับมารักษาที่รักษาฐานอยู่ ...ไม่ทิ้งฐาน ...เดี๋ยวผู้ก่อการร้ายมันจะตี มันจะยึดไป ไอ้ผู้ก่อการร้ายคืออวิชชาหรือว่า “เรา” นั่นเอง มันจะยึด

นี่แหละการภาวนา ...ให้เห็นคุณค่าของการภาวนา ...ความหมายของการเป็นพระที่แท้จริง 

แล้วก็การเป็นพระในยุคปัจจุบัน ที่เขาเข้าใจว่าหน้าที่การงานของพระที่สำคัญคืออะไร ตามประสาของพระในยุคนี้สมัยนี้...ที่มันต่างกับพระในยุคของหลวงปู่มั่น หลวงปู่สิงห์ หลวงตามหาบัวนี่

ที่ท่านคร่ำเคร่งอยู่ในป่าองค์เดียวผู้เดียว ฟังเทศน์ฟังธรรมเสร็จท่านก็เร้นเลย หนีเลย ไม่คลุกคลีหมู่คณะ แล้วก็ต่างคนต่างไป หรืออย่างมากก็ไปด้วยกันแค่คนสองคน 

แล้วก็ไปหาที่อยู่ที่ภาวนา ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างดูกายดูใจ ต่างคนต่างดูกิเลสละกิเลสของตัวเองไป เป็นงานหลัก เป็นอาชีพหลักจริงๆ

ท่านไม่ได้มาข้องแวะกับการจะหาที่สร้างที่อยู่ ที่อาศัย ที่นุ่งห่ม ที่กิน ที่เอร็ดอร่อย ...นึกดูว่าสมัยโบร่ำโบราณ ได้ข้าวก้อนนึงกับพริกกับเกลือแค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว พอให้มีเรี่ยวแรงเดินจงกรมนั่งสมาธิ ไม่เป็นลม

เดี๋ยวนี้พระก็สรรหาของกิน รสชาตินี้ไม่ถูกจริตไม่ถูกปากไม่ถูกกับสัปปายะ เขาเรียกว่ามันอยู่เพื่อกิน มันไม่ได้กินเพื่ออยู่ ...แต่ถ้าภาวนาจริงๆ นี่มันกินเพื่ออยู่ พอได้ดำรงขันธ์ แล้วก็ไปพากเพียร 

อาศัยเวลาที่มีนี่ ไม่ไปนั่งขบคิดถึงหน้าที่การงาน ที่ว่าจะทำอะไรดี ภายนอก...ท่านก็เอาเวลาไปอยู่กับเนื้อกับตัว พิจารณากาย พิจารณาจิต พิจารณาขันธ์ พิจารณาสภาพความเป็นจริง การปรากฏขึ้น การดับไป 

มันมาอย่างไร มันตั้งอย่างไร มันดับอย่างไร ดูมันเข้าไป ท่านก็ดูตัวท่านเองอยู่เงียบๆ คนเดียว ไม่ได้ข้องแวะกับหน้าที่การงาน ไม่ข้องแวะกับหมู่คณะด้วยซ้ำ นานๆ ถึงจะมารวมกันฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วก็แยกย้ายกันไป

นี่ถ้าฟังดู เห็นมั้ยว่าความงดงามของพระนี่ มันไม่ได้เป็นที่เดือดเนื้อร้อนใจกับโลก กับคนในโลกเลยแต่เดี๋ยวนี้พระไปที่ไหนนี่ เขากระโดดหนีเลย (หัวเราะ) กลัวแจกซองมั่ง กลัวมาหลอกกูรึเปล่ามั่ง เป็นงั้นไป 

พระ...มีความงดงามที่มาจากความหมั่น ขยัน พากเพียร  ละกิเลสของตัวเอง คอยเฝ้าจดจ้องดูกิเลสของตัวเองว่ามันจะเกิดมั้ย จะได้ละทัน 

แต่ถ้าไม่มีสติจดจ้องคอยสังเกตอยู่นะในกายในขันธ์ มันไม่รู้หรอกว่ากิเลสมันเกิดขึ้นตอนไหน แล้วทำตามกิเลสไปมากน้อยเท่าไหร่แล้ว... ถ้ามันไม่มีสติตัวเดียว มันจะไม่รู้ มันจะเป็นการละกิเลสได้มั้ย

แต่ถ้ามันมีสติจดจ้องอยู่ในกายในขันธ์นี่ มันก็จะเห็นเลยว่ากิเลสมันเกิดขึ้นตอนไหน จะได้ละทัน วางได้ ...คำว่าวางก็หมายความว่า ไม่เข้าไปทำตามมัน ไม่เข้าไปทำตามความโกรธ ไม่ไปทำตามความอยาก ไม่ไปทำตามความไม่อยาก ไม่ไปทำตามความรักความชอบอย่างเนี้ย

ก็เรียกว่าละกิเลสแล้ว ถึงแม้มันจะไม่ดับไปก็ตาม แต่ก็เรียกว่าละแล้ว... ไม่ทำตามมัน ก็เรียกว่าเป็นการละการวาง ...วางได้มาก ละได้มากก็กิเลสก็หมดลงไปมาก 

ละได้เด็ดขาดก็หมายความว่าละตรงไหนก็ดับตรงนั้น กิเลสก็ดับอยู่ตรงนั้น เหมือนกับไม่มีอำนาจเหนือขันธ์ เหนือความเป็นจริงของกายของขันธ์ ...กาย-ขันธ์ก็แสดงความเป็นจริงขึ้นมาให้ชัดเจนขึ้นตามลำดับ 

เอ้า มีอะไรจะถามมั้ย...เนี่ยล่ะ


โยม –  ก็ทำตามที่หลวงพ่อบอกค่ะ อย่างดูกายหยาบๆ มันก็เห็นจิตบ้าง เห็นซ้อนกันเยอะบ้าง เหมือนกับว่าพอติดดี แล้วก็เห็นว่าไอ้ดีมันมีซ้อนอกุศลอยู่บ้าง แต่ที่มันเกิดขึ้นชัดก็คือว่า มันมีโกรธ ที่เคยเป็นอยู่เรื่องงานน่ะค่ะ แล้วก็พอนิ่งๆ แล้วมันก็ผุดขึ้นมาตรงกลางอกค่ะ มันเป็นพึ่บขึ้นมา พอเกิดขึ้นมาแล้วก็จิตมันก็ยิ้มค่ะ เหมือนกับว่าดีใจ อุ้ย เกิดขึ้นกับเรา แล้วหลังจากนั้นก็ไม่เกิดอีกเลย เนื่องจากเกิดความอยากให้เกิดอีกเจ้าค่ะ แล้วก็ดูไปเรื่อยๆ บางครั้งก็ไม่รู้ว่าอันนี้คิดอยู่หรือรู้อยู่ค่ะ

พระอาจารย์ –  อย่าไปสงสัยกับอะไร ...แล้วก็ไอ้อาการเล็กๆ น้อยๆ ที่มันผุดโผล่อะไรขึ้นมาแล้วมันเข้าไปเห็นเข้าไปละเข้าไปดับได้ ก็อย่าไปดีใจเสียใจอะไรกับมัน มันเป็นแค่เบี้ยบ้ายรายทาง ไม่ใช่มรรคไม่ใช่ผลที่แท้จริงหรอก

มรรคผลอยู่ที่ ทำความแจ้งในกายให้ได้ ถ้าไม่แจ้งในกาย ถ้าไม่แจ้งใน “เรา...กายเป็นของเรา ตัวเรา” แล้วนี่  มันไม่มีทางเดินไปโดยแข็งแกร่งในองค์มรรคได้เลย 

เพราะนั้นไอ้เบี้ยบ้ายรายทางมันก็เกิด ระหว่างนี้ ระหว่างที่เริ่มต้นภาวนา กำลังภาวนา มันเจริญสติในกายในจิตในปัจจุบัน มันก็จะเห็นตรงนั้นดับมั่ง เห็นแล้วก็ทันดับพอดีกันมั่ง ...พอให้ปลื้มอกปลื้มใจบ้างเป็นธรรมดา


โยม – (หัวเราะ) หลง

พระอาจารย์ –  แต่มันไม่ใช่เป็นที่สนับสนุนในองค์มรรคให้เข้มแข็งเลย เข้าใจมั้ย มันเป็นเบี้ยบ้ายรายทาง มันยังไม่ใช่เป็นหลัก  ...ศีลเป็นหลัก สมาธิเป็นหลัก ปัญญาเป็นหลัก 

หมายความว่าตัวศีลคือกาย สมาธิคือจิตหนึ่งตั้งมั่นอยู่กับกายเป็นหลัก แล้วปัญญาคือการรู้แจ้งในกายเสียก่อน ตรงนี้มันจึงจะเกิดความเข้มแข็งในองค์มรรค

ถ้ามันละ “ตัวเรา” ออกจาก “เรา” ไม่ได้ ออกจากกายไม่ได้แล้วนี่  การเดินไปในองค์มรรคนี่ มันจะกะพร่องกะแพร่งอย่างที่สุดเลย


โยม –  พระอาจารย์คะ ตรง “รัก” นี่ หนูว่ามันยากที่สุดเลย เพราะรู้สึกตัวเองรัก...รักไอ้ตัวนี้มาก เอาใจใส่กับมันเป็นพิเศษ แล้วก็พอเห็นแล้วบางครั้งก็ท้อ...เอ๊ จะทำได้ยังไง ไอ้ตัวนี่มันยังแบบชัดมากน่ะฮ่ะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องทำอะไรน่ะ ดูไปเหอะ ดูความเป็นตัวของมันไป รู้ตัวไป ...ทำอะไรก็รู้ตัวไป ทำไปตามความอยากก็รู้ไป ละไม่ได้ก็รู้ว่าละไม่ได้  ก็ให้มันรู้ไว้ ให้อยู่กับตัวไว้ก่อน


โยม –  หนูเป็นตรงที่ว่าเวลาไปทำงานน่ะฮ่ะ  ถ้าเราดูชัดนี่ ไอ้นี่ทำไม่รู้เรื่อง มันจะทำไม่ได้ ตัดสินใจก็ไม่ได้ ก็เหมือนกับต้องหยุดดู แล้วก็ไปทำอย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  แล้วมันจะค่อยๆ ปรับสมดุลไปเองน่ะ ...ทำไปเถอะ เรียนรู้ไป มันจะเรียนรู้ด้วยตัวของมันเอง แล้วมันจะรู้ว่า คิดขนาดไหนถึงจะไม่หลง ไม่คิดเลยแล้วทำอะไรไม่เป็นเลยก็ไม่ได้

มันก็จะรู้เอง มันจะปรับในตัวของมันไป ไม่ต้องไปกังวลหรือสงสัย...ในการที่มันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการประมวล การเรียนรู้นี่มันจะประมวลวิถี แล้วก็ผลในตัวของมันเอง แล้วมันก็จะปรับในตัวของมันไป

อย่าทอดทิ้งการรู้ตัวเท่านั้นเอง ทุกอย่างมันจะเป็นการเรียนรู้ แล้วมันจะเกิดการปรับให้มันสมดุลระหว่างเหตุที่กระทำกับผลที่ได้รับ ...แล้วมันจะเกิดความสมดุลในเหตุและผลที่ตามมา

และก็โดยไม่คลาดเคลื่อนจากศีลสมาธิปัญญาด้วย อันนั้นน่ะมันจะเป็นตัวมาตรฐาน ...แล้วมันก็เกิดความชำนาญในตัว การใช้สติ การดำรงชีวิต การดำเนินชีวิต อยู่ในโลกแล้วก็อยู่ในมรรค แล้วก็อยู่ในศีลสมาธิปัญญาด้วย มันอยู่ได้พร้อม

นี่เขาเรียกว่ามีความรู้ตัวทั่วพร้อมเกิดขึ้นเอง ด้วยความเข้าอกเข้าใจกุศโลบาย หรือว่าวิธีการ หรือว่าหลักการในการใช้ศีลสมาธิปัญญา ในการดำเนินชีวิต ดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างไร ...มันเป็นปัญญาที่เข้าไปประมวล


โยม –  แต่สุดท้ายปัญญาที่แท้จริงมันเกิดเองหรือเจ้าคะ เราไม่ได้คิดเอา

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ความคิด ...ปัญญาไม่ใช่ความคิด ปัญญาไม่ใช่การจำ ปัญญาไม่ใช่การที่วิเคราะห์ แต่ปัญญาก็คือการรู้การเห็นโดยตลอด โดยรอบ โดยเข้าไปถึงรากเหง้าของการปรากฏขึ้นที่แท้จริง ของการปรากฏขึ้นจริงๆ นั่นแหละคือปัญญา

คือการสว่างรู้สว่างเห็นนั่นแหละ มันจะเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ...ไม่ใช่ไปสว่างด้วยคิด สว่างด้วยจำ สว่างด้วยการค้น สว่างด้วยการหาการควาน พวกนี้ มันไม่ใช่ปัญญา นี่เขาเรียกว่าปัญญาแบบหูหนาตาเล่อ ได้แล้วก็จะติดแล้วก็ข้องในปัญญาเหล่านั้นด้วย

แต่ปัญญาที่เป็นปัญญาที่แท้จริง มันจะละวางในตัวของมันเอง ละวางในสิ่งที่มันรู้สิ่งที่มันเห็น แล้วก็ละวางในการที่ตัวมันรู้ ตัวมันเห็นด้วย ...คือมันไม่มีเราในการรู้การเห็นพร้อมกัน  นั่นน่ะเขาเรียกว่าญาณทัสสนะ เป็นแค่การรู้การเห็น ...ไม่ใช่การรู้การเห็นของใคร


โยม –  บางครั้งความคิดทำให้มันเบี้ยวไปเลยค่ะ เหมือนกับว่ารู้แล้วถ้าไม่คิดมันก็ไม่ปรุง แต่มีหลายครั้งที่พลาดด้วยความคิดน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็รู้อยู่แล้ว ก็ละความคิดไป ...จนกว่าจะไม่คิด จนกว่าจะออกจากความคิด จนกว่าจะไม่อาศัยความคิดมาเป็นตัวสนับสนุน จนกว่าจะอาศัยแต่ศีลสมาธิปัญญาเป็นตัวสนับสนุนถ่ายเดียว มันก็สามารถแก้ปัญหาได้ลุล่วงไปหมดเองน่ะ

ทำให้มาก ถ้าทำมากแล้วมันเข้าใจในตัวของมันเองน่ะ ...ทำอย่างเดียว ก็บอกว่ารู้ตัว ทุกครั้งที่มีปัญหา ทุกครั้งที่สงสัย รู้ตัวอย่างเดียว กลับมาตรงที่ รู้มั้ยว่ากำลังนั่ง รู้มั้ยว่ากำลังเดิน ถามตัวเองไว้ คอยถามไว้


โยม –  แล้วก็บางทีถ้าเกิดว่ายังสับสนอยู่ รู้ว่าสับสนแล้วหยุดคิดไปเลยอย่างนี้

พระอาจารย์ –  เออ กลับมาเลยว่ากำลังนั่งสับสนหรือยืนสับสัน แค่นั้นแหละ ...อย่าพยายามไปแก้กันความสับสน มันจะยิ่งไปกันใหญ่ 

เหมือนเขามาชวนทะเลาะ แล้วก็เข้าไปในกลุ่มที่เขากำลังตะลุมบอนน่ะ ...เจ็บ บอกให้เลย เจ็บตัว  ...ก็ถอยห่างออกจากการตะลุมบอน เข้าใจป่าว 

เพราะนั้นตัวที่จะถอยห่างหรือที่รอดปลอดภัย  ก็คือต้องกลับมาบ้าน คือกลับมาอยู่ที่กายใจเลย ว่านั่งหรือยืนหรือเดินนี่ ...ก็จะออกจากการที่ มันยกพวกตีกัน...แล้วอยากดูอยากรู้อยากเห็นว่าเขามีตายกันกี่ศพ  นี่ เดี๋ยวก็โดนลูกหลงน่ะ บอกให้เลย อย่างนั้นแหละ


โยม –  มันไม่ต้องเข้าใจก็ได้

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องเข้าใจอะไรมันหรอก เรื่องของหมูหมากาไก่ บอกให้เลย... ไม่ใช่ธุระของเรา นะ ...กลับมาอยู่กับบ้าน กลับมาอยู่กับกาย กลับมาอยู่กับศีล กลับมาอยู่กับความรู้ตัว...แก้อย่างนี้ก่อน เอาอย่างนี้ก่อน  

จนกว่ามันจะเชื่อว่าวิธีนี้แก้ได้ แก้ได้จริงด้วย ...เดี๋ยวตัวมันเชื่อ คราวนี้พอมันเริ่มเชื่อแล้วมันก็จะหายโง่ไประดับนึงแล้ว ปัญญาก็เกิดขึ้นในระดับนึงแล้ว

แต่ก่อนเคยจะไปเอาชนะคะคานกับอารมณ์ จะไปเอาชนะคะคานกับการละกิเลส การทำให้มันหาย ทำให้มันดับนี่ หรือทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิมนี่ มันก็จะชนะความโง่แบบเดิมๆ ที่มันเข้าใจว่าเป็นปัญญาได้ 

คือปัญญาจริงๆ คือหนีเลย ถอยเลย ...ไม่ใช่หนีกิเลส แต่ไม่เข้าไปมีไปเป็นในมัน ... นั่นน่ะเขาเรียกว่าละวาง ถอยห่าง ออกจาก


……………………..


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น