วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 12/7



พระอาจารย์
12/7 (560822A)
22 สิงหาคม 2556


พระอาจารย์ –  เป็นไง

ถาม –  ก็พยายามทำอย่างที่พระอาจารย์บอก คือรู้ตัว ...บางทีก็รู้ รู้ตัว รู้กาย  บางทีก็อานาปานสติไป  แต่ทีนี้พอมันปวด เรื่อยๆ  สักพักมันเบา  พอเบาเสร็จ มันเหมือนกับตัวมันใหญ่ขึ้นน่ะ แล้วก็มันจะหนัก ตัวหนักเหมือนก้อนหินเลย  

ก็รู้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ลองเอาหัวแม่มือแตะกันดู ขยับหัวแม่มือแตะกันดูว่า เอ๊ มันคิดไปเองรึเปล่า มันก็รู้สึกตัวปกติอยู่ มันก็เป็นสักพักนึงก็หาย  สักครู่ใหญ่ๆ พอหายเสร็จมันก็กลับมาปวดอะไรอย่างนี้ฮะ  ก็พยายามทำอย่างที่อาจารย์บอก คือรู้ไปเรื่อยๆ ...อย่างนี้ก็ถือว่ายังถูกอยู่ไหม

พระอาจารย์ –  อือๆๆ แล้วแต่ขันธ์เขาจะสำแดง ... ทำหน้าที่ รู้ เห็น วาง อย่างเดียว ...ขันธ์คือขันธ์ ไม่ต้องเอามาเป็นธุระ


ถาม –  ตอนที่มันแบบหนาหนัก เหมือนกายเราเป็นหินนี่ บางช่วงมันเหมือนจะระเบิด

พระอาจารย์ –  อือ นั่นแหละ ทนไป  ...ให้มันแสดงไปจนถึงที่สุดของมัน  

ไม่ต้องไปสงสัย ว่ามันเป็นอาการกายหรืออาการจิต ไม่ต้องสงสัย ถือว่ามันเป็นปรากฏการณ์  ไม่ต้องไปให้ความหมายกับมัน ไม่ต้องไปสมมุติกับมัน  ไม่งั้นมันจะ...ลึกๆ มันจะติดสมมุติ

ถ้ามันไม่รู้จักสมมุติภาษาว่านี่เป็นกายหรือนี่เป็นจิต นี่ อันไหนจริง อันไหนเท็จนี่ มันสงสัยแล้ว

รวมจิตให้เป็นหนึ่งไว้ รวมจิตให้เป็นหนึ่งอยู่กับรู้ไว้ นั่นน่ะ มันก็จะหายสงสัย ...เมื่อมันหายสงสัยนี่ ภายนอกทั้งหมดที่ออกนอกใจนี้ออกไปนี่ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ ไม่ใช่ธุระของใครทั้งนั้น


ถาม –  แต่ถ้าชีวิตประจำวัน พยายามรู้ตัวไป บางทีมันก็ยังคิดมากอยู่ แล้วก็มันจะติด...ออกจะวิตก คือบางทีไปทำอะไรผิดพลาด คือผิดศีลเล็กน้อยอะไรอย่างนี้ มันก็จะกลับมาเป็นอารมณ์  หรืออย่างงานหลวงปู่เราอาจจะทำผิดพลาดไป เออ เราลืมกราบครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ มันก็จะกลับมาตำหนิตัวเอง มาเป็นอารมณ์อย่างนี้

พระอาจารย์ –  ฟุ้งซ่าน อย่างนี้มันฟุ้งซ่าน ...ให้เห็น แล้วก็วาง ไม่เอาถูกไม่เอาผิด 

หมายความว่าลักษณะนี้มันยังติด...ติดดี ติดจิตดี ติดอาการดี การกระทำดี  เห็นมั้ยว่า ทำดีก็เป็นทุกข์นะ ถ้าเกิดทำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปก็เป็นทุกข์แล้ว ...บุญก็ทุกข์ บาปก็ทุกข์ ถ้าลึกๆ ยังไปติดกับมันนี่

เพราะนั้นเมื่อมันไม่เอาดี ไม่เอาร้าย ไม่เอาเรา ไม่เอาเราไปข้องกับดีร้ายถูกผิดนี่  มันก็ไม่ดี มันก็ไม่ร้าย มันก็ไม่ถูก มันก็ไม่ผิดหรอก ...ให้มันเห็นอย่างนั้น 

ทุกอย่างมันก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย  มันหมดเหตุหมดปัจจัยไปแล้ว มันก็...มันแก้อะไรไม่ได้ เข้าใจรึเปล่า มันเอาคืนไม่ได้ ...นี่เขาเรียกว่าถ้าไปวนเวียนซ้ำซาก ก็เหมือนกับเราบ้วนน้ำลายแล้วก็ไปเลียคืน

แต่คราวนี้ว่ามันติด มันติดข้องในอารมณ์...ในการกระทำ  เลยเข้าใจว่า เราในอดีตนั้นยังมีตัวตนอยู่ ยังมีเราในอดีตที่ถูกว่ากล่าวอยู่ ...เห็นมั้ยว่ามันยึดสัญญาเป็นของเที่ยง มันยึดตัวเราในอดีตเป็นของที่เที่ยง 

มันยังยึดสัญญาเป็นตัวเราของเรา มันยังมีตัวตนนั้นอยู่ มันก็ไปพัวพันอยู่ในสัญญา ...เราในอดีต ก็เป็นเราในอดีต ...ก็พยายามหักห้ามใจ แล้วก็หักอกหักใจละซะ ...แล้วก็กลับมาทำความรู้เห็นอยู่ภายในปัจจุบัน 

เอาปัจจุบันแก้ แก้ที่ด้วยปัจจุบัน ...ไปแก้ที่อื่นนี่ มันไม่จบ นะ ...  การแก้...จะแก้ในสัญญาก็ไม่จบ จะแก้ในสิ่งที่ล่วงแล้วก็ไม่จบ  จะแก้ในสิ่งที่ยังมาไม่ถึงก็ไม่จบ 

แม้กระทั่งปัจจุบันเจอเหตุการณ์ขึ้นมาอย่างนี้ แล้วมันมีปัญหาอะไรขึ้นมานี่ แล้วไปแก้ ไปคิดแก้ ไปทำแก้ ตั้งใจแก้ ด้วยความคิด ด้วยความเห็นด้วยการกระทำ ด้วยคำพูด 

การแก้อย่างนี้ แล้วมันเข้าใจว่ามันลุล่วง มันแล้วไปได้ นี่ มันถือว่าเป็นการแก้ภายนอก ...เมื่อใดที่มันเข้าไปแก้ภายนอกนี่ ให้เข้าใจไว้เลยว่า มันไม่จบ มันไม่มีวันจบ ...ดูเหมือนจบ ดูเหมือนผ่านไป ดูเหมือนได้ผลที่ดีขึ้น

แต่มันมีการผูกพันน่ะ มันมีการสืบเนื่อง ระหว่างสัตว์บุคคลวัตถุข้าวของ ...มันยังมีการสืบเนื่อง ยังมีการให้ค่าให้ความหมายดีร้ายถูกผิดอยู่ ...มันไม่จบ มันก็ยังเป็นกรรมที่สืบเนื่อง มันมีกรรมเข้าไป

เพราะนั้นการแก้นี่ ... ถ้าแก้ด้วยศีลสมาธิปัญญานี่ มันแก้ภายใน ...หมายความว่าทุกอย่างนี่จะต้องมาแก้ที่กายใจ ต้องมาจบที่ใจ ต้องมาจบที่รู้ ต้องมาจบที่ปัจจุบันกายปัจจุบันรู้ อย่างนี้ 

ถ้าแก้ด้วยศีลสมาธิปัญญา หรือเอาศีลสมาธิปัญญาเป็นตัวตั้งตัวแก้นี่ แล้วไม่ไปแก้ภายนอก ...ตรงนี้จบ

เพราะนั้นการละการวางนี่ ...ถ้าสมมุติว่าพิจารณาแล้ว มันวางได้เพราะว่าพิจารณาอย่างนี้ หรือว่าคิด หรือว่าวิเคราะห์แล้วก็มันก็เบาบางจางคลายจากความรู้สึกเป็นทุกข์กับมัน 

นี่ลักษณะนี้ก็เรียกว่าแก้ภายนอก  แก้ด้วยอุบาย แก้ด้วยความคิด แก้ด้วยตำรับตำรา แก้ด้วยความจดจำหมายรู้ในการได้ยินได้ฟังอะไรก็ตาม แล้วมันก็คลี่คลายไป ...ยังไม่ได้แก้ที่เหตุ

เพราะนั้นการแก้ที่เหตุ แล้วมันจบลงที่เหตุนี่ มันต้องมาจบที่กายใจ ...คือหมายความว่าถ้ามันมารวมลงที่รู้...รวมที่รู้แล้วนี่  ปัญหาทุกอย่างมันจบ มันจะจบเลย  

แต่ไอ้ตัวความเป็นเรานี่ ที่มันยังมีแนบแน่นอยู่ในใจ มันไม่ยอมจบ  มันคิดว่า มันเชื่อว่ายังไม่จบ  เนี่ย แล้วมันพยายามจะออกไป ส่งออกนอก เพื่อจะไปคิด เพื่อจะไปหาวิธีแก้ ...ไม่งั้นมันไม่แล้วใจเรา 

เข้าใจมั้ย มันไม่ได้แล้วใจ “เรา” มันไม่ลุล่วงความรู้สึกของเราอย่างนี้ ...ถ้าอย่างนี้ เขาเรียกว่าจิตมันส่งออกนอก ...เพราะนั้นแค่คิดไปนี่ ยังไม่ทันแก้เลย แค่คิดออกนอกไปนี่ ก็ทุกข์แล้ว เศร้าหมองแล้ว

แต่ว่าถ้าเข้มแข็งในมรรคหรือว่าเชื่อในการแก้ด้วยวิถีแห่งมรรคนี่ ...ก็ละก็วางความคิดนั้นซะ ความอยากแก้ เอาถูกเอาผิด เอาดีเอาร้าย เอาคุณเอาโทษภายนอกซะ

แล้วก็กลับมาทำความรู้อยู่ภายใน โดยตั้งหลักปักฐานอยู่กับรู้ตัว ...ถ้าอย่างนี้ เขาเรียกว่าแก้ด้วยศีลสมาธิปัญญา เอาตัวศีลสมาธิปัญญาเป็นตัวแก้ ...แล้วก็แก้อย่างนี้แล้วมันจะหยุด ปัญหามันจะจบ 

แล้วการแก้ปัญหานี่ หรือว่าจุดจบของปัญหานี่มีอยู่ที่เดียวที่จะแก้ได้แบบเบ็ดเสร็จ ...เพราะนั้น ถ้าจิตมันรวมเป็นหนึ่งอยู่ที่ผู้รู้ อยู่ที่ดวงจิตผู้รู้แล้วนี่ มันจะไม่มีปัญหาเลย

ไอ้ที่มันมีปัญหาก็เพราะจิตมันส่งออก ...เมื่อจิตที่มันส่งออกไปนี่ มันก็มีความคิดความเห็น ก็มีความเป็นเราของเรา มีตัวเราอดีต ...เห็นมั้ยว่ามันแค่ส่งออกนอกรู้ไปนี่ มันจะมีตัวเราออกไปเพ่นพ่านเต็มไปหมดเลย 

ทั้งตัวที่ดี ทั้งตัวที่ไม่ดี ที่มันปรุงขึ้นมาเป็นตัวเรา เป็นความเห็นของเรา เป็นการกระทำของเรา เป็นการกระทำคำพูดของเขา อะไรอย่างนี้ ...มันก็จะมีเรื่องยืดเยื้อเยิ่นเย้อ

และถ้ายิ่งเข้าไปปรุงแต่งในการที่จิตมันส่งออกไปนี่ ด้วยความไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี่  มันก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น เที่ยงขึ้น จริงจังขึ้น มีความหมายมากขึ้น มีถูกมีผิดมากขึ้น 

เขาเรียกว่ามันก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวของมันเอง ในตัวของความคิด ในตัวของความเห็น ...จนมันเกิดความเที่ยง เที่ยงแท้แน่นอนถาวรขึ้นมา เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา

ทีนี้ก็เกิดอาการทุรนทุรายแล้ว ทุรนทุรายไปกับอุปาทานขันธ์แล้ว ...มันสร้างขันธ์เป็นอุปาทานนี่ แล้วก็มันมีเราอยู่ในอุปาทานขันธ์นั้นแล้วนี่ 

มันเกิดความกระวนกระวาย กระสับกระส่ายแล้ว เดือดเนื้อร้อนใจเผาไหม้ร้อนรน เป็นทุกข์ เศร้าหมองขุ่นมัว อึดอัดคับข้อง เสียดแทง ...มันจะเกิดขึ้นในอุปาทานขันธ์นี่ มีเราเข้าไปอยู่ในอุปาทานขันธ์

ฝืน ทวน...ไม่เอา  ใครจะว่า ใครจะเข้าใจ ใครจะไม่เข้าใจ ใครจะตำหนิ ใครจะว่าลับหลังยังไง  อย่าคิด อย่าไปคิดเล็กคิดน้อย ...นี่เขาเรียกว่าฟุ้งซ่าน 

ถ้ายังไปเก็บรายละเอียดของการกระทำในอดีต ในอนาคตอะไรนี่ เขาเรียกว่ามันฟุ้งซ่าน จิตมันฟุ้งซ่าน ...ก็ต้องละ ละความถือตัว ถือตัวที่ดี ถือตัวที่ร้าย ว่าเป็นเราของเรานี่ออก

แก้แบบโง่ๆ คือไม่แก้อะไรเลย แก้ด้วยการรู้ตัว เอาศีลสมาธิปัญญาแก้อย่างเดียว ...คือทำความรู้ตัวอยู่ภายใน จนกว่ามันจะสงบระงับ เกิดความสงบระงับจากความปรุงแต่ง  

เมื่อมันสงบระงับจากความปรุงแต่ง หมายความว่าจิตมันตั้งมั่น  จิตตั้งมั่นคือจิตเป็นหนึ่งจิตเป็นสมาธิ ...แล้วก็รักษา พอมันตั้งมั่นได้ดีแล้ว ทีนี้ต้องรักษานะ อย่าประมาท อย่าเผลอ อย่าปล่อย อย่าทอดธุระ

อย่าประมาทในศีล อย่าประมาทในสมาธิ อย่าประมาทในปัญญา  เพราะถ้าประมาทเมื่อไหร่ปุ๊บนี่ มันจะถูกลากออกไป  เพราะกำลังของอวิชชามันยังไม่หมด กำลังของอวิชชาตัณหาอุปาทานนี่ มันยังไม่หมดกำลัง 

เพราะนั้นไอ้ตัวศีลสมาธิในระดับนี้ มันเป็นระดับที่ระงับแค่ชั่วคราว ... ถ้าไม่ระวังรักษาไว้นี่ มันก็เหมือนกับรามือ แล้วมันก็ปล่อยให้อำนาจของอวิชชานี่มันผลักออก

เพราะนั้นอวิชชาที่มันผลักออกนี่ มันผลักออกได้ในลักษณะทุกรูปแบบ  คือสมมุติว่าถ้าเป็นอารมณ์แรงๆ หนักๆ  โกรธ โลภ เกลียด หงุดหงิด ไม่พอใจ ...มันเห็นแล้วมันทัน ในผู้ฝึกระดับนึงแล้วมันจะทัน มันจะเห็น

แต่พอประมาทตายใจ มันไม่ออกเป็นอารมณ์แรงๆ หรอก ...มันไหล เนืองนอง แนบเนียนเลื่อนลอยไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว แบบเหมือนกับกลมกลืนกันกับโลก กลมกลืนกันแบบละลายไม่มีภายใน-ภายนอก 

ความเป็นกายหายไป กลายเป็นเนื้อเดียวกันหมดเลย ...นี่โมหะ มันก็ไหลออกไปโดยโมหะ เลื่อนลอย ...แล้วมันไม่แสดงอาการเป็นทุกข์เลยนะ

แต่ว่าการรู้ตัว ศีลสมาธิปัญญานี่ มันค่อยๆ เสื่อมสลายหาย จางไปแล้ว ...กว่าจะไปรู้ตัวอีกที มันก็ไปก่อร่างสร้างทุกข์ทีละเล็กทีละน้อย สะสม

ไอ้การคิดเล็กคิดน้อย คิดนิดคิดหน่อย คิดโน่นคิดนี่ คิดอะไรไปเรื่อยนี่ ... ตอนแรกก็คิดเล็กคิดน้อย คิดโน่นคิดนี่ ยังไม่ค่อยเป็นทุกข์นะ ...นี่ มันจะมาอย่างนี้

แล้วก็ประมาท อยู่ด้วยความประมาท ...ไม่เข้มแข็ง ไม่ทำงานอันชอบ ไม่รักษาศีล ไม่รักษาสติ ไม่รักษาสมาธิ ไม่อยู่กับศีล ไม่อยู่กับสติ ไม่อยู่กับสมาธิ

แล้วก็ปล่อยให้มันคิดเล็กคิดน้อย คิดนู่นคิดนี่  คิดว่าไม่เป็นไรหรอก ไม่เป็นไร ก็แค่นิดๆ หน่อยๆ นิดๆ หน่อยๆ นี่ เดี๋ยวๆ เดี๋ยวเป็นไฟกองใหญ่ขึ้นมา เดี๋ยวก็เริ่มจริงจัง 

คราวนี้ก็ทุรนทุราย กระวนกระวาย เสียดแทง ...เนี่ย เห็นมั้ยว่าจุดเริ่มต้นของการก่อเกิด มันเกิดจากนิดๆ หน่อยๆ นี่แหละ แล้วเราก็ปล่อยปละละเลย ...เขาเรียกว่าความเพียรมันไม่สม่ำเสมอ มันไม่ต่อเนื่องๆ

เพราะนั้นต้องหมั่นอยู่กับศีล อยู่กับสติ หมั่นอยู่กับใจรู้ใจเห็น ไม่ทอดธุระในการภาวนา ไม่ปล่อยปละละเลย แม้มันจะรู้สึกว่าสบาย เหมือนไม่มีอะไร เหมือนไม่มีทุกข์มารบกวนก็ตาม ...ก็ปล่อยไม่ได้

ศีลสมาธิปัญญานี่ ปล่อยไม่ได้เลยนะ ...ถ้ายังไม่เข้าขั้นระดับมหาสติ มหาศีล มหาสมาธิ มหาปัญญา  มันจะรักษาตัวมันเองไม่ได้เลย  ศีลสมาธิปัญญาจะรักษาตัวเองไม่ได้เลย

แต่ถ้าต่อไป ผู้ปฏิบัติที่มีความพากเพียร ด้วยความสม่ำเสมอต่อเนื่อง เข้มแข็ง จริงจัง ใส่ใจ ตั้งใจ อย่างยิ่งยวดนี่  มันเข้าไปสู่ระดับมหาสติ มหาศีล ...ศีลสมาธิปัญญามันจะเป็นตัวที่รักษาใจโดยอัตโนมัติแล้ว

นี่ มันต้องฝึกถึงขั้นนั้นเสียก่อน ...พอถึงขั้นนั้นถึงค่อย...เออ วางใจได้  ถึงจะวางใจได้  เพราะว่าศีลสมาธิปัญญาระดับนั้นจะรักษาใจตลอดเวลาเลย ...หมายความว่าเป็นอัตโนมัติ 

มันจะอยู่กับเนื้อกับตัว มันไม่มีเล็ดไม่มีลอด ...พูดง่ายๆ ว่าไม่ว่ากิเลสน้อยใหญ่ หยาบ กลาง ละเอียด ประณีตสุดประณีต ไม่มีทางเล็ดลอดออกจากการรู้การเห็นเลย มหาสตินี่ มันจะรักษาในตัวของมันเองได้ถึงระดับนั้น

แต่ว่ากว่าที่มันจะรักษาใจได้ระดับนั้น ศีลสมาธิปัญญาที่มีอานิสงส์ยิ่งขนาดนั้นน่ะ ...มันจะต้องเคี่ยวเข็ญ ตรากตรำ บำเพ็ญพากเพียร สม่ำเสมอต่อเนื่อง หามรุ่งหามค่ำน่ะ...ว่างั้นเถอะ 

จนกว่ามันจะได้ผลของงานที่พากเพียรมา ด้วยความลำบาก ...มันไม่มีอะไรสบายหรอก การรักษาศีล สติ เนี่ย มันลำบาก 

เพราะว่ามันจะต้องทวนกับความรู้สึกของเรา ความเห็นของเรา ความคิดของเรา  แล้วมันยังจะมีความคิดของคนอื่น ความเห็นของคนอื่นเข้ามาสอดแทรกอีก ที่มันจะต้องรับรู้รับเห็นอยู่ตลอดเวลานี่

แล้วมันจะต้องมาคอยหมั่นรักษาฐานตั้งมั่นรู้ตัว ...รู้ตัวอยู่กับตัวๆ ถึงแม้จะไม่มีผัสสะภายนอก ไม่มีความคิด มันก็คอยแต่จะเลื่อนจะลอย จะไหลจะลืมอยู่ตลอด ... เห็นมั้ยว่า มันไม่ใช่ง่ายๆ เหมือนกัน

เพราะนั้นก็ลำบาก ...มันลำบากเหมือนกับเรากำลังปีนขึ้นบนหน้าผา บนยอดเขาที่สูงชันแล้วก็ลื่น มันจะไถลลงมาสู่ที่ต่ำ ตกต่ำอยู่ตลอด ...มันจะขึ้นได้ลำบาก เพราะระหว่างต้นทาง กลางทางนี่ มันจะเป็นทางที่ลื่น 

ถ้าไม่เกาะ ถ้าไม่รั้ง ถ้าไม่เหนี่ยว ถ้าไม่มั่นคง ถ้าไม่แข็งแรงจริงๆ นี่ ...มันจะพลัดตกหกล้มหรือว่าไหลลงกลับมาสู่ตีนดอยหรือว่าพื้นดิน

แต่ว่าถ้ามันข้ามขั้นกลางมาแล้วนี่ มันผ่านไอ้ที่มันลื่นไถล มันก็จะเดินได้ง่ายขึ้น ...มันจะเป็นทางเดินที่ชัดเจนขึ้น ไม่ต้องปีน ไม่ต้องเกาะ ไม่ต้องออกแรงมากสักเท่าไหร่แล้ว มันก็จะค่อยๆ ผ่านพ้นไป

คือมันต้องล้มบ่อยๆ มันถึงจะได้แรง เข้าใจรึเปล่า ...มันต้องลื่นบ่อยๆ แล้วก็ปีนใหม่ มันถึงมีกำลัง ใช่มั้ย  
แต่ถ้าลื่นแล้วก็นอนเลย มันก็ง่อยเปลี้ยไป  มันก็ไม่มีการพอกพูนเพิ่มพูนกำลังที่มันจะเอาใหม่ ลุกขึ้นใหม่ แล้วก็ไปอีกทีละก้าวทีละเสต็ป ถึงจะล้มใหม่ ลื่นไหลลงมาที่เดิมใหม่...ก็เอาอีก

เนี่ย การขึ้นการลงแต่ละครั้งนี่ มันมีกำลังในตัวของมันเอง มันก็พอกพูนกำลังของสติสมาธิปัญญา 

เพราะนั้นไอ้กำลังตัวนี้ มันไม่ใช่กำลังที่ว่าไปนั่งเอาความสงบเป็นกำลังนะ ...กำลังมันเกิดจากซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลุดอีกหลุดอีก หลงแล้วลืมอีก รู้ใหม่อีกครั้ง มันเกิดกำลังในก้าวขึ้นทุกครั้งที่มันลืม ลืมตัว

แล้วก็ไม่ท้อไม่เบื่อที่จะรู้อีก รู้ซ้ำ รู้ใหม่ที่เดิม แบบเดิม อย่างเดิม ...มันจะเกิดกำลังในตัวของมันเองขึ้น 

จิตก็จะมีกำลังของสมาธิเข้มแข็งขึ้นทีละเล็กทีละน้อย  พอกพูนกำลังของสติ พอกพูนกำลังของการก้าวเดินไปในองค์มรรค ที่จะไม่ให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

แต่ไม่ต้องกลัวหรอก ยังไงๆ มันก็ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ...แต่เราถือว่ามันเป็นกำลัง เป็นการรู้ใหม่เอาใหม่ หลงใหม่เอาใหม่ ลืมใหม่เอาใหม่ 

อย่าปล่อย อย่าปล่อยให้มันไหลเนืองนอง นอนเนื่องไปกับความเผลอไผลไร้สติ อยู่ด้วยความไร้สติ อยู่กับกิเลสน่ะ ...อยู่กับความไม่รู้ตัวเราก็เรียกว่าอยู่กับกิเลสแล้ว อยู่กับความหลงก็เรียกว่าอยู่กับกิเลสแล้ว

เพราะอะไร ...เพราะมันเป็นเหตุ มันจะเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดกิเลสน้อยใหญ่หยาบช้าลามก ...ได้หมดน่ะ ถ้าอยู่ในภาวะของโมหะนะ  

เพราะนั้นเมื่อจิตมันไปตั้งอยู่ในโมหะนี่ มันก็จะทำดีทำชั่วได้หมดน่ะ  มันไม่รู้ว่ามันจะมีอะไรมารบเร้าหรือว่าถูกเร้าให้มันไปดีหรือไปชั่ว มันไปได้หมดน่ะ ...ก็เรียกว่าไปอยู่กับกิเลส เห็นมั้ย

แต่ถ้าอยู่ด้วยการมีสติศีลสมาธิปัญญา เป็นเครื่องกำกับกายกำกับใจกำกับจิตอยู่นี่ ...ก็เรียกว่ามันอยู่กับมรรค มันอยู่กับผู้รู้ มันอยู่กับวิชชา ...คือการรู้อยู่เห็นอยู่ เขาเรียกว่าอยู่ด้วยวิชชาปัญญาญาณ มันก็ไม่ได้อยู่ด้วยกิเลส

เพราะนั้นก็ไปประเมินกำลังเอาเองว่า มันอยู่กับกิเลสมากกว่าหรือน้อยกว่า...กับการที่มันอยู่กับรู้ 

เมื่อใดน่ะที่มันอยู่กับรู้ได้มากกว่าอยู่กับกิเลสน่ะ ...ไม่ต้องถามหาผลเลย มันจะรู้เองด้วยตัวของมันเองเลยว่าอะไรเป็นอะไร 

มันจะเห็นเลยว่า จะต้องทำยังไงต่อไป  แล้วก็จะเห็นเลยว่าไอ้ที่ทำมานี่ถูกหรือผิดประการใด ...มันก็รู้ด้วยตัวของมันเองเป็นปัจจัตตัง

แต่ถ้ามันอยู่กับรู้นี่น้อย  การอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับสติ อยู่กับการระลึกรู้อยู่กับสติในกาย อยู่กับสติในขันธ์ในปัจจุบัน...มันน้อยกว่าการที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี่  ตรงนี้มันจะมีแต่ความ...อยู่ท่ามกลางความลังเลและสงสัย

มันจะจับต้นชนปลายไม่ถูก อดีต อนาคต ปัจจุบัน มันมั่วซั่ว...รวมเป็นตัวเราทั้งหมดเลย กลืนกินกลมกลืนกันเป็นเนื้อตัวเดียวกัน ทั้งเราในอดีต ทั้งเราในปัจจุบัน ทั้งเราในอนาคต 

มันมั่ว มันเกิดอาการวกวน มั่ว สับสน อลหม่านไปหมด ...นี่ให้รู้ไว้เลยว่าเหตุของมันคืออะไร

คือมันไปปล่อยให้จิตน่ะมันไปอยู่ในกองกิเลส หรือว่ากองโมหะ หรือว่ากองความไม่รู้ ...นี่ อวิชชานี่ มากกว่า มากกว่าการที่อยู่กับแสงสว่างแห่งปัญญาคือญาณ คือวิชชาความรู้

ไอ้วิชชานี่มันไม่ใช่ความรู้เป็นภาษา วิชชาไม่ใช่ถ้อยคำ ปัญญานี่มันไม่ใช่ถ้อยคำหรือภาษานะ ปัญญาคือรู้ ปัญญาก็คือตัวรู้ ปัญญาก็คือการรู้อยู่เห็นอยู่กับปัจจุบัน ...นั่นแหละคือปัญญา นั่นแหละคือความสว่าง

เพราะนั้นถ้ามันอยู่กับรู้ๆๆๆ รู้ไว้ โดยเอากายนี่เป็นกรอบให้มันรู้ไว้ ไม่ให้มันออกนอกกรอบ ...คือถ้ามันไม่มีกายไม่มีตัวเป็นกรอบไว้นี่ มันจะรู้ไปเรื่อย พอรู้ไปเรื่อยนี่เขาเรียกว่ารู้หลง แล้วมันจะรู้ไปเรื่อย 

คราวนี้ไม่รู้นอกรู้ในแล้ว มันจะไปของมันเรื่อย  ทะเล่อทะล่าไปแบบหูหนาตาเล่อ หูหนวกตาบอดน่ะ ...มันรู้ไปเรื่อยนี่ เขาเรียกรู้แบบไม่มีขอบเขต มันกลายเป็นรู้นอกออกไป

พอรู้นอกออกไปคราวนี้เริ่มฟุ้งแล้ว มันจะฟุ้งแล้ว ...ถึงบอกว่ามันต้องรู้อยู่ ...รู้น่ะต้องรู้ แต่ว่าต้องรู้อยู่ในกรอบ รู้อยู่ในกรอบกาย อย่าทิ้งกาย

เพราะนั้นในขณะที่เราทำงานนี่ ในขณะที่เราข้องแวะปฏิสัมพันธ์กับบุคคลนี่ ...ตัวนี่มันเป็นที่ยืนที่หยัดของจิตของใจ ถึงแม้จะไม่มีการรู้การเห็นภายในก็ตาม ...กายมี รู้กาย 

ให้เห็นกายว่าอยู่ในท่าทางไหน กำลังทำอะไร กำลังหมุน กำลังหัน กำลังเคลื่อน กำลังไหว ...แม้จะไม่มีอาการรู้ชัดเห็นชัดอยู่ภายในก็ตาม ขอให้มีกายไว้

เพื่ออะไร  เพื่อไม่ให้จิตมันออกนอกกรอบกาย ...ถึงแม้มันจะไม่รวมเป็นจิตผู้รู้ผู้เห็นอย่างแจ่มชัดเหมือนตอนที่เราอยู่คนเดียว หรือตอนที่เรากำลังพากเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิก็ตาม ...แต่กายนี่จะต้องไม่หาย ไม่ขาดเลย

ตรงนี้เขาเรียกว่ารักษาศีลเป็นอันดับแรก ในระดับหยาบๆ ก็ต้องเอาศีลนี่เป็นเครื่องกางกั้นจิต กางกั้นเรา กางกั้นการส่งออกนอก ในระดับที่มันพร้อมจะออกนอกอยู่ตลอดเวลา...เวลาเราข้องแวะน่ะ

แม้กระทั่งทำงานสาธารณะก็ตาม มันก็จะมุ่งออกไปข้างนอกในงานหน้าที่การงาน ...ถึงจะทำคนเดียวเงียบๆ งุดๆ ก็ตาม มันก็จะหลง หลงไปกับงาน เข้าใจมั้ย  

ทำงานแล้วก็หลงไปในงาน ...ถึงแม้มันจะไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนมากก็ตาม แต่ยังไงโมหะมันก็กลืน มันก็เอาเวลาไปแล้ว เอาเวลาไปแล้ว

เพราะนั้นเวลาทำงานก็ต้อง...จะล้างแก้วล้างถ้วย จะยกข้าวยกของอะไรพวกนี้  อย่าลืมกาย อย่าให้กายหาย ...ซึ่งบอกแล้วว่า ลักษณะอย่างนี้ มันยากๆ เหมือนกับมันจะทำงานภายนอกไม่เต็มร้อย

มันเหมือนกับรอก่อน ไว้ก่อน ให้เสร็จงานก่อน ...มันจะมาแบบนี้ทุกทีน่ะ ...เออ แล้วค่อยไปรู้เนื้อรู้ตัวจริงๆ จังๆ ทีหลังแล้วกัน

พอถึงเวลาที่หมดงานละงานแล้วนี่ ความขี้เกียจ ความปล่อย ความสบายก็มาทับถม ...ก็พักแล้ว สบายแล้ว หมดเรื่องแล้ว นี่ ขอพักสักแป๊บนึง สักช่วงนึง ประมาณนั้น

เนี่ย จิตมันหลอกให้ล้ำหน้าไปอยู่เรื่อย ให้รอไปข้างหน้าอยู่เรื่อย  ผัดไปเรื่อย ผัดวันประกันพรุ่งไปข้างหน้า เอาข้างหน้าเป็นมาตรฐานอยู่ตลอด 

ต้องกำชับ กำชับสติขึ้นมา ...ไม่อ้างกาล ไม่อ้างเวลา ไม่อ้างสถานที่ ไม่อ้างเหตุการณ์ ไม่อ้างบุคคล ไม่อ้างสุข ไม่อ้างทุกข์ ไม่อ้างหนาว ไม่อ้างร้อน ไม่อ้างสัปปายะ ไม่สัปปายะ

คืออ่านมากรู้มาก...แล้วมันเอาตำรานี่มาตีเข้าข้างตัวมันเองหมด ..."ที่นี้ไม่สัปปายะ บุคคลนี้ไม่สัปปายะ ...มันจะต้องแก้สัปปายะให้ได้เสียก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปลิโพธิ" ...นี่มันรู้ไปหมดน่ะ 

"ไอ้พวกนี้มันเป็นปลิโพธิ ตอนนี้เรากำลังอยู่กับปลิโพธิ ภาวนามันก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ" เนี่ย ก็อยู่ใต้อำนาจของมันไป ศีลสมาธิไม่สามารถจะมีอำนาจเหนือขึ้นมาได้

เพราะพวกเราปล่อย ...ปล่อยให้ความคิดบ้าง ความเห็นบ้าง ความจำได้บ้าง สมมุติธรรมบ้าง สัจจะในสัญญาธรรมบ้างพวกนี้ มาเป็นตัวขัดขวางศีลสมาธิปัญญาที่จะเกิดจะตั้ง จะมีจะเป็นอยู่ในปัจจุบันนี่

เพราะนั้นเราจะต้องเอาชนะอยู่ตลอดเวลา ...จิตเล็กจิตน้อย คิดเล็กคิดน้อย คิดนิด คิดวอบไปแวบมา จะไปวิตกวิจารณ์กับอันนั้นอันนี้ ...แค่เริ่มต้นคิด กำลังจะๆ...ก็ต้องทันแล้ว ไม่มีสองสามสี่ห้า 

แค่หนึ่งสองนี่ก็ถือว่าแย่เต็มทีแล้วนะ ถ้าเป็นเรานะ ...แต่ถ้าปล่อยให้เป็นร้อยเป็นล้านนี่ ไอ้นี่เขาเรียกว่าเหลวไหล ภาษาเราต้องเรียกว่าเหลวไหลไร้สติเลยน่ะ ...แค่หนึ่งถึงสิบนี่ก็แย่แล้ว นะ 

แล้วอย่ามาอ้างว่านี่เป็นความคิดดี นี่เป็นความคิดในการงานที่จะต้องทำ ...ไม่มีอ่ะ ไม่มีข้ออ้าง ไม่มีข้อแม้ ...รู้ก็คือรู้

และถ้าเอาศีลสมาธิปัญญาเป็นใหญ่นะ ไม่เอากิเลสเป็นใหญ่ ไม่เอางานภายนอก ไม่เอาเรื่องราวภายนอกเป็นใหญ่นะ เอาศีลสมาธิปัญญาเป็นใหญ่ แล้วเอาศีลสมาธิปัญญาเป็นตัวชี้นำนะ ...ไม่ต้องกลัวเลย 

หมายความว่ายังไง ...ถ้ามันได้ทำอย่างนี้แล้วนี่ งานใน-งานนอก มันจะลุล่วง มันจะสำเร็จด้วยความสมดุล สมบูรณ์เลย โดยไม่ต้องอาศัยความคิดความจำเลย

มันจะทำไปด้วยความกลมกลืนเรียบง่าย แต่ว่ามีความเต็มทั้งภายในและภายนอก  พอดี...ด้วยความพอดีเลย 

มันไม่ถึงกับเลิศเลอเพอร์เฟ็คอย่างที่คิด อย่างที่เราหวัง มันจะไม่ถึงขนาดนั้น ...แต่มันจะเป็นไปด้วยความสมดุล แล้วไม่ขาดตกบกพร่อง มันจะไม่เกิดความขาดตกบกพร่อง ...ไม่ต้องกลัวเลย

แต่ตอนนี้มันมีความกลัวของเราอยู่...ที่ว่าถ้าทำโดยไม่ต้องคิดโดยไม่อะไรแล้วนี่ มันจะแย่ ...แต่ว่ามันคิดไม่เป็น มันคิดแล้วมันปล่อยให้เลื่อนไหล ทะเล่อทะไหลไปแบบกู่ไม่กลับเลย 

นี่เขาเรียกว่าคิดไม่เป็น ใช้ความคิดไม่เป็น ...ปล่อยให้ความคิดมันใช้ ปล่อยให้กิเลสมันใช้เจ้าของ ...ก็เรียกว่าไม่ฉลาดในการดำรง ดำเนินในการในการนอก

ยังไงๆ นี่ เราก็ยังยืนยันให้กลับมารู้ตัวไว้ก่อน แล้วก็ทำงานไปด้วย รู้ตัวไปด้วย ...ทำอย่างนี้ไว้ก่อน อย่าไปอยู่กับความคิดเป็นหลักเป็นใหญ่

แล้วต่อไปนี่มันจะใช้ความคิดเป็น...เท่าที่จะใช้  จำเป็นต้องใช้มันก็รู้ว่าต้องใช้คิด ต้องคิด  คิดแล้วได้-ไม่ได้...จบ ...วางเลยนะ จะวางเลยนะ จะไม่มาซับซ้อนเยิ่นเย้อยืดยาว 

มันคิด ปึ้บๆๆ แค่นี้ ได้-ไม่ได้  มันเห็นผลมันน่าจะเป็น-ไม่น่าจะเป็น จบ...วางเลย  แล้วมันไม่มารุงรัง ไม่เกิดภาวะมาซ้ำมาซ้อน มาถอยหน้าถอยหลัง เอาดีหรือไม่ดี...ไม่มีอ่ะ ...นี่เขาเรียกว่าใช้เป็น

แต่มันจะต้องมีกำลังของศีลสมาธิปัญญาที่ฝึกหัดมาก่อนดีแล้ว มันถึงจะใช้ความคิดได้ ...ไม่งั้นน่ะถ้าปล่อยให้มันคิดไปเรื่อยๆๆ โดยไม่มีหางเสือนี่ มันจะเป็นลักษณะที่เนืองนองออกไปแบบไหลบ่า

แล้วก็เหมือนกับน้ำที่เริ่มจากยอดเขา...แรกลงมานี่ก็เบา  แต่ถ้าปล่อยลงมาเรื่อยๆ ถึงตีนเขานี่ เห็นมั้ย ...ท่วมบ้านท่วมเมืองน่ะ

แต่ไอ้ตอนที่มันอยู่ตรงที่สูงอย่างเชียงใหม่นี่ ไม่เท่าไหร่นะ ...แต่ถ้าลงไปถึงกรุงเทพฯ ถึงอยุธยานี่  ก็ดูดิ  อูย เอาไม่อยู่เลย

เหมือนกันน่ะ ถ้าเราปล่อยให้ความคิดมันไหลรินออกไปๆ ทีนี้เอาไม่อยู่แล้ว ...อะไรก็ต้านทานไม่อยู่แล้ว ต่อให้ศีลสมาธิปัญญาขั้นไหนก็ต้านทานไม่อยู่ ด้วยอำนาจของกิเลสแล้ว

นี่เพราะว่าประมาทมัวเมา ปล่อยปละละเลย เพิกเฉย หรือว่าไม่เห็นค่าไม่เห็นความสำคัญของศีลสมาธิปัญญา มากกว่ากิเลส ความอยาก ความหลง 

อยากดี อยากได้คำชม อยากไม่ถูกตำหนิ อยากรักษาหน้า อยากถือตัว รักษาตัว ถือหน้าถือตา ถือตัวถือตน ให้เป็นที่นิยม ให้ไม่ถูกดุด่าว่ากล่าว อะไรประมาณนั้นน่ะ

ซึ่งมันก็ติดอยู่ในใจของเราน่ะ...มันมีอยู่ทุกคน มี ทุกคนมันอยากเป็นคนดีทั้งนั้นแหละ แล้วมันก็ติดอยู่ในนั้นแหละ

(ต่อแทร็ก 12/8)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น