วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/25 (2)


พระอาจารย์
12/25 (561027C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
27 ตุลาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 12/25  ช่วง 1

โยม –  ขออนุญาตครับ พระอาจารย์พูดถึงศีล เป็นตัวเดียวกับที่สมาทานศีลรึเปล่าครับ

พระอาจารย์ –  คนละตัว ที่สมาทานศีลนั่นเป็นวิรัติ...ศีลวิรัติ ...แต่สตินี่เป็นตัวสมาทานศีลที่แท้จริง ไอ้ภาษาคำพูดแล้วยกมือขอรับนี่เป็นการสมาทานศีลภายนอก คือข้อห้าม...วิรัติ 

แต่ศีลภายในก็คือกาย นั่งนอนยืนเดินนี่แหละ แล้วมันแสดงอาการตึงแน่น หนาว อบอ้าว แบบตรงไปตรงมาทุกปัจจุบัน ...นี่แหละคือศีล เรียกว่าปกติกาย ปัจจุบันกาย


โยม –  ที่พระอาจารย์พูดหมายถึงว่า เราไม่ได้รักษาให้มันปกติ แต่ว่ารู้ว่ามันไม่ปกติเพราะว่ามันผิดปกติเองรึเปล่าครับ

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ ...มันปรากฏขึ้นเป็นปกติ ความปกติมันมีอยู่แล้ว ...ไม่ใช่ไปทำให้มันปกตินะ 

มันแสดงอย่างนี้...ก็รู้อย่างนี้ ...ก็เช่นนั่งแล้วมันรู้สึกแข็งน่ะ ไปทำขึ้นมามั้ยล่ะ ต้องทำมั้ย  รู้สึกแข็งมั้ยที่ก้นนี่ แล้วมันตึงมันแน่นอยู่นี่ ต้องทำมั้ย ต้องสั่งมันมั้ย 

แล้วมันเป็นเอง เป็นโดยปกติของมันเองใช่มั้ย ...กายตามความเป็นจริง เขาเป็นไปโดยอิสระของเขา ไม่มีใครควบคุมได้หรอก ...กายปกติไม่มีใครควบคุมได้หรอก

จริงๆ ที่ต้องการให้เห็นคือนี่...กายคืออะไร กายเป็นเราตรงไหน มันเป็นเราตรงไหน ต้องการให้เห็นตรงนั้น ...การรู้ตัวนี่เพื่อให้เห็นว่ามันเป็นเราตรงไหนรึเปล่า 

ตรงขา ตรงหมุน ตรงตึง ตรงหน้าตา ตรงความปวด ตรงความเมื่อย มันเป็นเราตรงไหน เนี่ย ต้องการให้เห็น...ว่ามันเป็นตัวมัน หรือมันเป็นเราตรงไหน 

นั่นแหละคือความเป็นจริง ...ให้มันแยกให้ออกว่าตัวมันจริงๆ คืออะไร ...แล้ว “ตัวเรา” อยู่ที่ไหนในนี้

จนเข้าใจว่า...มันเป็นตัวมัน แต่มันไม่ใช่ตัวเรา  จนเข้าใจว่า...ไม่มีตัวเราในตัวมัน ตัวมันก็ตัวมันเปล่าๆ ไม่มีตัวเราเลย  ...นี่น่ะ...ต้องการความรู้ความเห็นอันนี้

ด้วยการซ้ำๆ ซ้ำๆ ย้ำๆ ในอาการเดิมนี่แหละ ...เพราะกายก็เป็นอาการหมุนวนเดิมๆ นี่แหละ โดนร้อนก็ร้อน โดนแข็งก็แข็ง โดนหนาวก็หนาว โดนอะไรกระทบก็รู้สึกอย่างนั้น

เหมือนเดิมนั่นแหละ ซ้ำอยู่อย่างนั้นน่ะ  มันก็จะแสดงซ้ำๆ เหมือนเดิม ...แต่ว่าความรู้ของเรา ความเห็นของเรา สติของเรา...มันไม่ซ้ำ ไม่สามารถจะรู้ซ้ำๆ เหมือนเดิมได้

มันเลยไม่เกิดความถ่องแท้ว่า...แท้ที่จริงน่ะ ตัวมันก็คือตัวมัน ไม่มีตัวเรา ไม่ใช่ตัวเรา ...มันจึงไม่เกิดสภาวะที่เรียกว่า...ยอมรับสภาพธรรมตามจริง 

เพราะมันเว้นวรรค เพราะมันไม่ต่อเนื่อง เพราะมันขาดตอน ...แต่ถ้ามันซ้ำๆ ซ้ำๆ เดิมๆ เดิมๆ  มันก็เกิดความยอมรับแบบจริงใจ เข้าใจมั้ย ไม่ใช่แกล้งยอมรับ ไม่ใช่บังคับให้ยอมรับ

แต่มันยอมรับด้วยความจริงใจจริงๆ ...นี่เขาเรียกว่ายอมรับจริงๆ ขึ้นมา ปัญญานี่มันจะเกิดความยอมรับจริงๆ ขึ้นมา ...นั่นแหละคือภาวนามยปัญญา

ไอ้ลักษณะของสุตตะ...การฟัง ไอ้ลักษณะของจินตา...การคิดนึกนี่  มันยอมรับแบบไม่จริง ยอมรับแบบประคับประคองไว้ หรือว่าล้อมกรอบมันไว้

แต่โดยจริงๆ แล้ว...มันไม่ยอม มันไม่เชื่อ มันก็ยังเป็นเราอยู่ ยังไงก็เป็นเราอยู่...ทุกส่วน ลึกๆ ...แต่ภาวนานี่มันจะทำให้ยอมจริงๆ ...ยอมจริงๆ แล้ว

เพราะนั้นต้องให้มันเห็นต่อเนื่อง และผลก็คืออันนี้ ผลคือเข้าใจว่ากายจริงๆ คือเราหรือไม่ใช่เรา นั่นคือได้ผล...ได้ผลว่ามันไม่ใช่เราจริงๆ ...มันเห็นอย่างนั้น แค่นั้นแหละ ต้องการให้เห็นแค่นี้

นี่คือปัญญาอันดับแรก ก้าวแรก...ก้าวแรกในองค์มรรค ต้องเห็นอย่างนี้ 

จะไปเห็นที่อื่น จะไปรู้มากมายก่ายกองในขันธ์ส่วนอื่น ในขันธ์อีกสี่ส่วนที่เป็นนาม จะไปรู้ลักษณะของนาม จะไปชัดเจนในนาม ชัดแจ้งในนาม...ไม่มีประโยชน์ 

ก็ได้แค่นั้น ...ยังละ ยังเลิก  ยังเพิกถอนความเป็นเรา ความเป็นสักกาย ความเป็นสังโยชน์เบื้องต้นไม่ได้

ไม่มีทางหรอกที่มันจะล้มสังโยชน์เบื้องปลาย เบื้องกลาง...แล้วค่อยมาละสังโยชน์เบื้องต้นทีหลัง...เป็นไปไม่ได้เลย ...ทุกอย่างมันจะต้องละไปตามลำดับ ตั้งแต่กายเป็นต้นไป

ถ้ายังละกาย ก้าวข้ามกาย ทะลุกาย กำแพงกายที่ขวางโดยสักกาย โดยความสมมุติ โดยความบัญญัติ โดยความเห็น โดยความเชื่อ โดยความติดข้องกับเหล่านี้ไม่ได้ ...ไม่มีทางที่จะละสังโยชน์ตัวอื่นได้เลย 

ถ้าไม่ละสังโยชน์นี้ก่อน เป็นไปไม่ได้...ยืนยันหัวเด็ดตีนขาด ...ต้องละกายเป็นอันดับแรก ต้องเข้าใจกายเป็นอันดับต้น ต้องเห็นกายอย่างจริงๆ จังๆ 

มันจึงจะเข้าไปเห็นโดยตลอดในกองขันธ์...ด้วยความชัดเจน และเข้าใจ และปล่อยวาง...จริงๆ แบบไม่หวนคืน


โยม –  ท่านเจ้าคะ ใน ณ ปัจจุบันที่มันเห็นนี่ คือกายที่เห็นว่าเป็นรูปนี่  พอส่องเข้าไปด้วยตัวรู้ตัวเห็นจริงๆ มันเป็นแค่การรับรู้ เห็นการรับรู้ความรู้สึกใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  เออ คือกายที่ไม่มีรูป


โยม –  ที่เป็นรูปจริงๆ มันไม่ใช่  มันมีองค์ประกอบเล็กๆ ในนั้น เย็นร้อนอ่อนแข็ง ซึ่งเป็นภาวะที่ปรากฏ ก็จะเรียกว่ากายก็เป็นแค่นามสมมุติ รูปสมมุติ แค่ว่าเป็นเท่านี้  แต่ดูด้วยความรู้ความเห็นเข้าไป มันเป็นแค่การปรากฏ

พระอาจารย์ –  เป็นแค่การประชุมกันขึ้นคราวหนึ่ง นั่นแหละ กายจริงๆ มันเป็นแค่การประชุมกัน แป๊บนึง ลักษณะนึง ...เหมือนเป็นแสงหิ่งห้อยน่ะ ท่ามกลางความมืด

นั่นแหละกาย...ให้มันเห็นอย่างนั้น เป็นกายที่ปราศจากรูปที่ครอบ เพราะนั้นเมื่อมันหยั่งรู้ดูเห็นเข้าไป จิตมันก็รวมลงไปเป็นหนึ่งขึ้นมา สมาธิมันก็ตั้งขึ้น เป็นหนึ่งขึ้น

ยิ่งหนึ่งขึ้นเท่าไหร่ สัญญาก็ยิ่งหมด สัญญาในรูปก็หมด ไม่เกิด มันไม่เกิด ...จิตน่ะมันจะต้องสร้างสัญญา มันถึงจะมีรูป เข้าใจมั้ย ...เมื่อจิตมันรวมเป็นหนึ่งนี่ มันไม่สร้างสัญญา

เมื่อไม่มีสัญญา รูปมันก็ไม่มี ...เพราะว่าไอ้ที่รูปทรงการนั่ง มันมีรูปทรงการนั่งนี่  เพราะมันจำ มันเกิดจากความจำได้ว่าลักษณะนี้เรียกว่านั่ง

แล้วพอมันมาน้อมลงไป มันก็เห็นรูปตัวเองนั่ง อย่างนี้ ...เพราะนั้นมันก็เลยเข้าใจว่า นี่รูปทรง นี่เป็นรูป รูปทรงที่นั่ง ...มันเป็นสัญญานิมิต สัญญาในกาย

แต่พอมันรวมเป็นรู้อย่างเดียวปุ๊บนี่ สัญญามันไม่มี สัญญาในรูปไม่มี ...มีแต่รู้กับสิ่งที่ถูกรู้จริงๆ คือลักษณะ ผัสสะ หรือเวทนา

ความเป็นธาตุนี่คือเรียกว่าผัสสะ ความเป็นเวทนาคือความรู้สึกในกาย อย่างนี้ ...มันจะปรากฏขึ้นลอยๆ อย่าไปสงสัย อย่าไปใส่ชื่อ อย่าไปหมายสมมุติบัญญัติ ...ว่างๆ ปล่อยตามสภาพมัน

อย่างนั้นน่ะ นั่นน่ะกายที่แท้จริง...เป็นแค่นี้ เป็นเท่านี้ ไม่มากกว่านี้แล้วก็ไม่น้อยกว่านี้ เป็นอย่างนี้  นั่นล่ะเข้าถึงความพอดีของกาย เข้าถึงความเป็นจริงของกายในระดับนึง

แต่ข้อสำคัญคือ...มันไม่ใช่แค่เข้าถึง...แล้วมันจะเข้าใจ...แล้วยอมรับเลย 

มันจะต้องทรงการรู้การเห็นในระดับนี้ อย่างนี้ พอสมควร เข้าใจมั้ย ...ด้วยความต่อเนื่อง พอสมควรเลย  มันจึงจะเกิดพลังของปัญญาที่เข้าไปล้าง ลบ ความเชื่อผิดๆ เดิม คือมิจฉาทิฏฐิ

แต่ถ้ายังทรงไม่ได้ ไม่ว่าจะเหตุใดก็ตาม ว่างั้นน่ะ ...ไม่รู้ เราไม่รู้หรอก  จะขี้เกียจ หรือว่าเบื่อ หรือว่าท้อ  หรือว่ามีเรื่องภายนอกเข้ามา...ไม่รู้  แล้วมันยังทรงความต่อเนื่องไม่ได้

มันก็จะไม่เข้าไปเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในลักษณะที่เรียกว่าโดยสมุจเฉท ...แต่มันจะเป็นแค่การพอกพูนกำลังของปัญญา สะสมกำลังของศีล-สมาธิไป

ทีนี้สะสมแล้วมัน...ขี้เกียจอีกรึเปล่าล่ะ หรือว่า...เออ พอแล้ว ได้แค่นี้ก็บุญโขแล้วว่ะ ไว้ถึงเวลาค่อยเอาจริงอีกทีนึง ...เนี่ย เรื่องของพวกมึงแล้วนะๆ เข้าใจมั้ย ใครช่วยไม่ได้แล้วนะอย่างนี้

แต่ถ้ามันมีความขยัน พากเพียร แล้วก็..เออ หายไปเอาใหม่ แล้วก็พยายามรักษาให้มันเข้มข้นกว่านั้น เข้มข้นในศีลสมาธิปัญญาขึ้นมาอีก ความต่อเนื่องจะนานขึ้นมาอีก

ผลแห่งการหักล้างกันกับมิจฉาทิฏฐิ...โดยสัมมาทิฏฐิมันมีกำลังมากกว่า มันหักล้างได้มากกว่า ...ความเป็นสมุจเฉทก็ชัดเจนขึ้นๆ จนถึงจุดที่เรียกว่า...ขาดแล้วขาดเลย ขาดแล้วขาดกันน่ะ

ตรงนั้นน่ะ มัน ซ.ต.พ. ด้วยตัวของมันเองเป็นปัจจัตตัง...ขาดเป็นขาดกัน ...รู้เองน่ะๆ

เพราะนั้นในระดับนี้ หมายความว่ายังไง ...ในระดับกายนี่ ที่จะขาดจากกาย...ขาดเป็นขาดกันนี่ ...คือระดับของพระอนาคามีนะ 

ไม่ต้องพูดถึงโสดาบันเลยนะ ...ถ้าขาดจากกายในระดับที่เราพูดอย่างนี้นะ คือพระอนาคามีเลย ...ไม่เกิดเป็นคนแล้ว อย่าว่าแต่เจ็ดชาติเลย

เพราะนั้นเราไม่สนหรอกโสดา...เด่ะๆ (เด็กๆ) ไม่ต้องไปคิดด้วย ...เอาให้มันขาดจากกายลูกเดียว บอกให้ เอาจนเห็นกายจับเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้น่ะ

เห็นมั้ยว่ากายที่มันเป็นยิบๆ ยับๆ หรือว่าเป็นแค่ความรู้สึก มันจับเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ รวมเป็นก้อนเป็นกองไม่ได้ รวมเป็นรูปลักษณ์ทรวดทรงไม่ได้ ...นั่นแหละที่เรียกว่ากายแตก กายมันแตกตัวออก 

ซึ่งความเป็นจริงกายมันก็แตกของมันอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ ...แต่ด้วยทิฏฐิที่เป็นมิจฉา มันมารวมเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้น แล้วก็เติมสีสัน เติมชื่อเข้าไป เป็นตุเป็นตะตามประสากิเลสความไม่รู้น่ะ

ทีนี้ก็วุ่นวี่วุ่นวายสามโลกธาตุเลยล่ะ ...อะไรมากระทบส่วนนี้ ตรงนี้ ปึ้บนี่ ...เป็นเรื่องเลยแหละ 

วิบากเกิด กรรมเกิด กุศลกรรมเกิด-อกุศลกรรมเกิด มีการผูกพันมั่นหมายกับคนภายนอกกัน มีกรรมเนื่องกัน ยาวเลยแหละคราวนี้...ไม่จบ

เพราะนั้น พอมาถึงกายนี้ ...เอาให้สุด เอาให้ที่สุดของกาย จนมันขาด ต่อกันไม่ติดน่ะ ว่างั้น ...ไม่สามารถรวมกันเป็นกายได้น่ะ...ในความหมาย

ไม่สามารถรวมกันเป็นกายโดยสมมุติได้น่ะ ไม่สามารถรวมจนมาเป็นกายเราได้น่ะ ...มันจะแตกอยู่อย่างนั้นๆๆๆ  แตกละเอียดเลยแหละ หมอไม่รับเย็บ และไม่มีหมอไหนมาเย็บได้ด้วย

เจอศีลสมาธิปัญญาขั้นนี้เข้าไปนี่ ไม่มีใครเย็บได้หรอก บอกให้ ...กำลังของศีลสมาธิปัญญานี่แยกออกหมด แยกสสารหมด แยกอณู แยกธาตุ แยกขันธ์ จนต่อกันไม่ติด

ไม่ได้ว่าเฉพาะกายนะ ...นามทั้งหลายทั้งปวงด้วย กระจัดกระจาย กระเด็นกระดอนออกหมด รวมตัวกันไม่ติดเลย ต่างอันต่างแยกย้ายกันไปตามสภาพเลยน่ะ

มันจะหาความเป็นคน หาความเป็นเราตรงไหนได้ในชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่ง เนี่ย มันแตกทุกอณูธาตุออกอย่างนี้ อณูธาตุ อณูขันธ์ มันจะแตกออกอย่างนี้...ด้วยอำนาจของศีล สติ สมาธิ ปัญญา

เอาให้มันต่อเนื่องไป นั่นแหละ ทำไป ...ดูความรู้ตัว อย่าไปอยู่กับอะไรที่มันไม่มีอะไร อย่าไปเผลอเพลิน อย่าไปดีใจ อย่าไปคิดว่าไม่มีอะไรต้องทำแล้ว ...ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะ 

ไอ้ที่เราคิดว่าไม่มีอะไรแล้ว นี่จิตมันว่า เราว่าเอา ...อย่าเชื่อนะ มันพาหลอกวนให้อยู่ในอารมณ์ แค่เป็นเพียงอารมณ์หนึ่งเท่านั้นเอง แค่เป็นสภาพ สภาวะจิตหนึ่งเท่านั้นเอง 

มันยังเข้าไม่ถึงกายจริง ...ยังเข้าไม่ถึงขันธ์จริงอย่างที่เราบอกว่าขันธ์คืออะไร อยู่ที่ไหน 

เพราะนั้นขันธ์มันจะอยู่จริง ต่อเมื่อมีกายปรากฏอยู่ เมื่อนั้นน่ะขันธ์อยู่ที่นั่น อยู่ที่กายนั่นน่ะ ...ให้รู้ว่าขันธ์อยู่ตรงนั้น แล้วทำความรู้ในขันธ์ก็คือการรู้ตัว 

และเมื่อรู้ตัวอยู่ ไม่ต้องกลัวไม่รู้จักนาม ไม่ต้องกลัวไม่เห็นนาม ไม่ต้องกลัวไม่รู้จักสภาวะจิตสภาวธรรมภายใน ...แต่มันเห็นในลักษณะที่ไม่เอาอะไรกับมัน

แต่ตอนนี้มันจะเป็น “เราเห็น”...ที่จะมีอะไรกับมัน เป็นจริงเป็นจังกับมัน เป็นมั่นเป็นหมายกับมัน เป็นสมบัติของเรา เป็นเรื่องของเรา เป็นสภาวะของเรา เป็นเราอย่างที่เราเป็น อยากเป็น ...เนี่ย ยุ่งไปหมด

แต่ถ้ามันเห็นขันธ์ เห็นในอาการนามในขันธ์ อาการของจิต อาการของอารมณ์ โดยตามความเป็นจริงในขันธ์ อย่างที่บอก มันจะเห็นแบบไม่เอาอะไรกับมัน

ถ้าอย่างนี้คือเห็นด้วยปัญญา ถ้าอย่างนี้เรียกว่าเห็นด้วยญาณ ถ้าอย่างนี้จะเห็นด้วยความเข้าใจขึ้นตามลำดับ ว่าโดยความเป็นจริงแล้ว...ขันธ์คืออะไร 

มันเป็นสิ่งที่สมควรถือครองมั้ย สมควรจับจองเป็นเจ้าของมั้ย สมควรจะเอามันมาเป็นตั้งแห่งการหาความสุขหาความทุกข์กับมันต่อไปไหม

มันก็จะตัดสินใจไปทีละเล็กทีละน้อยตามประสาของปัญญาว่า...ไม่เกิด..ท่าจะดีกว่า  ไม่มีขันธ์นี้..ท่าจะดีที่สุด ...นั่นแหละเรียกว่าสมุจเฉทในการเกิด

ด้วยการเรียนรู้ขันธ์ โดยอาศัยกายเป็นที่ตั้งของขันธ์ทั้งห้า...ถ้าไม่มีกายคือไม่มีขันธ์ห้า ...ไอ้ที่ปรากฏล่องๆ ลอยๆ เป็นอารมณ์นั่น เพ้อเจ้อ...จิตเพ้อเจ้อหมด ที่ไหนก็ไม่รู้ เคลื่อนคล้อย เลื่อนลอยไปอย่างนั้น

เพราะนั้นก็รวมกายเป็นหนึ่ง...ให้ชัด รวมจิตเป็นหนึ่ง...ให้รู้ แค่เนี้ย...สองตัว ทำแบบนี้ แล้วรับรองไม่หลง...ไม่หลงทาง



...................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น