วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/24 (2)


พระอาจารย์
12/24 (561027B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
27 ตุลาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 12/24  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปเห็นขันธ์คนอื่น ไม่ต้องไปเห็นขันธ์ภายนอก ไม่ต้องไปรู้ขันธ์คนอื่น ไม่ต้องไปรู้ขันธ์ภายนอก ...ท่านต้องการให้รู้ขันธ์ภายใน

เพราะนั้นตัวที่จะยืนยันว่าเป็นขันธ์ในหรือขันธ์นอก...ต้องมีกายเป็นเครื่องยืนยัน ...นี่ไงที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าศีลน่ะเป็นรากฐาน นี่ไงที่พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าละเมิดล่วงเกินศีล

อย่าออกนอกศีล อย่าออกนอกนี้ไป ...อะไรจะเกิด อะไรจะดับ  อะไรจะไม่เกิด อะไรจะไม่ดับ ...ไม่สนใจ กายลูกเดียว ...ต้องมีกายอยู่ลูกเดียว 

หมายความว่า ผู้นั้นน่ะ...เป็นผู้ดำรงอยู่ในองค์ศีล ซึ่งมันจะเป็นบาทฐานของสมาธิและปัญญาแน่นอน ...ไม่คลาดไม่เคลื่อน ไม่ผิดจากนี้ไป

นี่ให้เข้าใจนะ ทำไมเราถึงให้รู้กาย...โดยที่ว่ารู้แบบเป็นวรรคเป็นเวร รู้แบบไม่ต้องไปแยแสกับอะไรเลย รู้แบบเอาที่เดียว โง่แบบเดียว โง่กับกายเดียว ไม่รู้อะไรอันอื่นเลยน่ะ

ถ้ารู้กายจริงๆ มันจะไม่รู้อะไรเลย แล้วมันจะไม่มีความเห็นอะไรเลยที่นอกเหนือจากกายที่มันเห็น ...เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้มันก็ไม่รู้ คนนั้นทำถูก คนนี้ทำผิด มันก็ไม่รู้ ...มันไม่รู้แล้วมันก็จะไม่อยากรู้ด้วยต่อไป

แต่แรกๆ มันไม่รู้ แล้วมันยังจะอยากรู้อยู่ ...อดทนไว้ก่อนๆ รู้ที่กายที่เดียวไว้ก่อน เดี๋ยวความอยากจะรู้เรื่องคนนั้นคนนี้ก็จะ..เออ ก็ไม่รู้จะรู้ไปทำไม ...นี่มันจะน้อยลงไปอย่างงี้

มันก็เหลือแต่กายกับรู้ ...รู้อยู่สองอย่าง กายอันนึง-รู้อันนึงๆๆ  นอกนั้นไม่อยากจะรู้อะไรแล้ว ...แล้วพอมันไม่อยากจะรู้อะไรแล้ว มันก็รู้สึกว่า...รู้แค่นี้พอแล้ว

ไอ้ตรงที่รู้สึกว่า...รู้แค่นี้พอแล้ว นี่เป็นตัวที่มันไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องกดข่มเลย ...ตรงนี้ท่านเรียกว่าเข้าสู่ความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา หรือดำรงอยู่ด้วยความเป็นกลางระหว่างสองสิ่ง

เนี่ย เป็นกลาง ...ที่ว่าเป็นกลางๆ มันเป็นกลางระหว่างสองสิ่งด้วยภาวะนี้  ที่ว่าทำยังไงมันถึงจะกลางวะ กลางอยู่ตรงไหน อะไรเป็นกลาง ...นี่ มันคืออย่างนี้

มันจะดำรงความเป็นกลางระหว่างสองสิ่ง...คือกายกับใจ อยู่ท่ามกลางความพอดีระหว่างสองสิ่งนี้ 

แล้วรักษาความพอดีระหว่างสองสิ่งนี้ ...ท่านเรียกว่าเดินในมรรค เดินอยู่บนมรรค เดินอยู่บนเส้นทางมัชฌิมาปฏิปทา หรือครรลองของมรรค

แต่เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็ขาด เดี๋ยวก็ตกหล่น ...ไม่ต้องกลัว ทำใหม่ได้  กลับมาตั้งที่เดิม กายอยู่ไหนรู้ตรงนั้นๆ ...เชื่อมไป รักษาไป 

ทางมันก็จะ...จากที่มันขาดเป็นห้วงเป็นวรรคเป็นตอนนี่  มันก็ค่อยๆ เอาดินถม เอาลูกรังถม ...อาจจะขรุขระๆ บ้าง ก็ไม่เป็นไร ...ดีขึ้น ดีกว่าตกหล่มหรือขาดหาย ใช่มั้ย  มันก็เดินได้ต่อเนื่องแหละ

พอเดินได้ต่อเนื่อง เดี๋ยวก็มั่นคง เดี๋ยวก็ราดแอสฟัลต์ เดี๋ยวก็ลงซีเมนต์ เดี๋ยวก็คอนกรีตเสริมเหล็ก  ทีนี้แข็งแรงแล้ว ไม่ขาดตกบกพร่องในองค์มรรค ...ทำทางเดินแล้ว กาย-ใจก็คือกาย-ใจ

นั่งนอนยืนเดินก็คือกาย-ใจ ...กำลังโดนอะไร กำลังมีปัญหาอะไร กำลังมีอารมณ์อะไร กำลังมีกิเลสอะไรแสดงขึ้น ...กายใจก็อยู่ตรงนั้น ไม่คลาด ไม่หนี ไม่หาย ไม่สูญ ไม่ว่าง ไม่เว้น

ให้พวกเราตั้งใจกันอย่างนี้ ...ทำกันตรงนี้ ภาวนาอยู่ที่นี้ ภาวนาตอนนี้ ภาวนาอยู่ตรงนี้...ที่เดียวเท่านั้น แบบเดียวเท่านั้น วิธีเดียวเท่านั้น

เห็นมั้ย อะไรๆ ที่เราพูดนี่อย่างเดียวหมด ไม่มีคำว่าสองเลย ไม่มีโอกาสให้เลือกด้วย แล้วก็ไม่สอนให้ไปเลือกด้วย ...เราจะพูดแบบ...เอก หนึ่ง อย่างเอกอุ ...ศีลอย่างเอกอุ สมาธิอย่างเอกอุ ปัญญาแบบเอกอุ

ไม่มีให้เลือก ไม่มีช้อยส์ ไม่มีปรนัย ก. ข. ค. ง. จนถึง ฮ.นกฮูก ...เอกอุ เอกหนึ่ง เรียกว่าเอกายนมรรค ...ศีลเป็นหนึ่ง สมาธิมีแค่หนึ่ง ปัญญามีแค่หนึ่งเดียวเท่านั้นในปัจจุบัน

นี่แหละการภาวนามันต้องให้ได้อย่างนี้ มันต้องให้ได้เกิดอย่างนี้ ให้เป็นอย่างนี้ ให้อยู่ลักษณะนี้ จึงจะเป็นท่าทางของนักภาวนาที่แท้จริง 

ไม่ใช่แค่นั่งแบบซึมๆ ตาหลู่ๆ ไม่พูดไม่จา ...ไอ้ท่าทางลักษณะอย่างนี้มันท่าหลอก เข้าใจคำว่าท่าทางหลอกๆ มั้ย

แต่ไอ้ที่เราพูดมาทั้งหมดนี่คือท่าทางของนักภาวนา ซึ่งไม่มีใครจับต้องได้เลย แล้วไม่มีใครมาล่วงรู้ได้ด้วย ...ต่อให้มันมีเจโตปริยญาณ มึงก็ไม่เห็นหรอกว่ากูมีศีลรึเปล่า ไม่เห็นหรอกว่ากูมีศีลต่อเนื่องรึเปล่า

อาจจะด่าคนปาวๆๆ แต่ด่าด้วยความรู้ตัวโว้ย เอาป่าว มึงจะรู้ได้ไงว่ากูรู้ตัวไหมตอนกูด่า ใครจะมาส่อง หือ แสดงละครก็ได้ ไม่แสดงละครก็ได้ จะเอายังไง ไม่มีใครจับผิดได้หรอก ภาวนานี่

ที่จริง ท่าทางของภาวนานี่ ไม่มีใครจับได้หรอก ...ความเป็นไป มันก็เป็นไปด้วยความปกติ การรู้การเห็นก็เป็นไปด้วยความปกติ การละการวางก็เป็นไปด้วยความปกติ

ไม่มีใครจับได้รู้ได้เลย นอกจากตัวของมันเอง  โกหกไม่ได้เลย ตัวเองนี่ก็โกหกตัวเองไม่ได้เลย อย่างว่า...เธอถูกด่าเป็นไงมั่ง มันก็ว่า “ชั้นไม่ได้เป็นไรหรอก” ...แต่ลึกๆ นี่โคตรโกรธเลย 

โกหกไม่ได้หรอก ใช่มั้ย ...แต่ปากนี่จะพูดยังไงก็ได้ หรือทำท่าทีแสดงเหมือนมีอิทธิปาฏิหาริย์ ไม่หวั่น ไม่รู้สึก ไม่เป็นไรเลย  แต่ลึกๆ น่ะ ฮึดฮัดๆ ...ใครจะโกหกตัวเองได้ หือ

แล้วเราไม่สอนให้โกหกด้วย ...คือให้ตรง ดูตรงๆ...มีก็มี เป็นก็เป็น ไม่ว่ากัน ...จะได้เห็นหน้ามัน กิเลสหน้าตาเหมือนเรามั้ย ...เหมือนนะ ตอนนี้

แต่ถ้าภาวนาไป ดูไปจะเห็นว่าหน้าตาของกิเลสไม่เหมือนเราเลย  มันเป็นแค่ลักษณะหนึ่งแค่นั้นเอง ในขันธ์ ...จะบอกว่าเป็นกิเลสเราได้อย่างไร เป็นอารมณ์ เป็นความโกรธ เป็นความหลงของเราได้อย่างไร

ดูไปเถอะ อยู่ในกายนี้ไปเถอะ เดี๋ยวเห็นเองน่ะ เดี๋ยวก็เห็นอย่างที่เราว่านี่ ...แล้วมันจะไม่โกรธเมื่อกำลังโกรธ แล้วมันจะไม่หลงเมื่อกำลังหลง แล้วมันจะไม่หงุดหงิดเมื่อมันกำลังหงุดหงิด

เออ ถ้าอย่างนี้ล่ะแน่ ไอ้เนี่ยแน่ ไอ้เนี่ย...แน่จริงๆ ไม่ใช่แน่เล่นๆ ด้วยนะ แน่จริงๆ ...กิเลสว่าแน่ๆ แล้ว มันแน่กว่ากิเลสอีก …เพราะนั้น เอาให้มันแน่ เอาให้มันแน่จริงๆ

ไม่ใช่กิเลสขึ้นมาก็ดิ้นกับกิเลส จะเป็นจะตาย จะชักดิ้นชักงอไปกับมันแล้ว หือ เวลามันหงุดหงิดรำคาญใจ มีเราผู้หงุดหงิดรำคาญใจอยู่ในนั้นน่ะ เป็นยังไง

ดีดดิ้นไปหมด หาทางหนี หาทางแก้ หาทางออกกันจ้าละหวั่นไปหมด ...เนี่ย กิเลสกับเรานี่หน้ามันผสมกันเลย เป็นเนื้อหนึ่งใจเดียวกันเลย

ก็เอาจนกิเลสมันหมดสิ้นไปจากขันธ์ เอาจนกิเลสมันหมดสิ้นไปจากใจจริงๆ แล้วค่อยว่ากัน ...มันไม่เหมือนอย่างที่พวกเราเข้าใจหรอกว่า ผู้หมดกิเลสแล้วเป็นอย่างไร ผู้ไม่มีกิเลสแล้วจริงๆ เป็นอย่างไร

เพราะนั้นเราถึงบอกว่า ออลฟอร์วัน(All for One) แล้ววันจะฟอร์ออล (One for All)  พอบุคคลผู้เข้าถึง all for one แล้วออกไปเป็น one for all แล้ว ...พวกเราไม่มีทางที่จะเข้าถึงหรือเข้าใจท่านได้เลย

แต่เอาตัวเองให้เข้าใจตัวเองโดยตลอดก่อน แล้วมันจะเป็นยังไง ทีนี้มันไม่มีปัญหาแล้ว ...ลักษณะของขันธ์ ลักษณะของกิเลส ลักษณะของความเป็นไปในการดำรงชีวิตนี่ ไม่มีปัญหาแล้ว

จะมีกิเลส จะไม่มีกิเลส จะมีอารมณ์หรือว่าไม่มีอารมณ์ผุดโผล่ ไม่ต้องไปคิดไม่ต้องไปสน  อยู่ไป อยู่กับมันไปงั้นๆ น่ะ ...ก็ไม่ใช่กิเลสของเราก็ไร้เรื่องแล้ว

ไม่มีใครรู้หรอกว่ามันเป็นยังไง จนกว่ามันจะเข้าไปถึงสภาพนั้นสภาวะนั้น ...มันเกินกว่าที่จะอธิบายเป็นภาษาเป็นความหมาย เป็นอุทาหรณ์ เป็นเครื่องจำลอง เป็นรูปร่าง รูปพรรณสัณฐานออกมา

เพราะนั้นกายมีแล้ว ศีลก็มีแล้ว แต่ไม่มีผู้เข้าไปรักษาแค่นั้นเอง ...ก็สร้างผู้รักษาศีลขึ้นมาคือสติ ให้ได้ จนกว่า...ไม่มีคำว่าไม่ได้  นั่นน่ะคือหน้าที่ของพวกเรา

จนกว่ามันจะหมดข้ออ้างและเงื่อนไขว่าไม่ได้ นั่นน่ะผู้ปฏิบัติที่ดี ที่ตรง ที่ใช่ ไอ้ไหนที่ไม่ได้ ต้องแก้ให้ได้ ต้องมีให้ได้ ไม่ว่ามันจะยาก สาหัสสากรรจ์ขนาดไหน

เพราะอะไร ...แค่นี้ยังธรรมดา อารมณ์ที่เราเจอในโลก ระหว่างที่อยู่ในโลกนี่  ถ้าไปเจออารมณ์ที่มันเป็นกายกำลังจะแตกจะตาย ยากยิ่งกว่ายากทั้งหมดที่มีมาเคยเจอมาในโลกระหว่างมีชีวิต

ตรงนั้นน่ะจะเอาสติสมาธิ เอากำลังของสติ เอากำลังของสมาธิปัญญามาจากไหน  ถ้าไม่ฝึกระหว่างดำรงชีวิต จนคล่องแคล่ว จนชำนาญ จนมีกำลังสะสม

เพราะนั้นไอ้ที่ว่า...โอ้ย ไม่ได้ ไม่ไหวแล้ว มันเป็นเรื่องที่ทำความรู้ตัวในขณะนั้นน่ะ ยากจริงๆ อย่างนี้...ก็ต้องเอาจนมันไม่มีข้ออ้างน่ะ

รู้มันเข้าไป ทุกที่ทุกสถาน ทุกอากัปกริยาอาการ ทั้งในอาการทางโลก ทั้งอาการสัมผัสสัมพันธ์กัน รู้มันเข้าไปเถอะ ไม่ผิดหรอก  มีศีลได้ทุกที่..ไม่ผิด ไม่ผิดที่จะรู้ตัว ที่จะมีสติ...ไม่ผิด

อย่ามาบอกว่าศีลสมาธิปัญญาเป็นของสูง ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้  ...รู้เข้าไป ...ถ้าไม่งั้น ขี้ก็เป็นของต่ำ รู้ไม่ได้ดิ  ศีลมีตอนขี้ไม่ได้สิ ใช่มั้ย ...อย่ามาอ้างว่าอากัปกริยานั้นไม่ดี ไม่ถูก ไม่ควร...ไม่มีอ่ะ

ทุกที่ต้องรู้ให้ได้ ต้องมีตัวให้ได้ ต้องมีรู้ให้ได้ ต้องเห็นตัวเองในปัจจุบันนั้นๆ ให้ได้ ในอากัปกริยานั้นๆ ความเป็นไปของอากัปกริยาในขณะนั้นให้ได้...โดยไม่ขาดตกบกพร่องเลย

ฝึก...ฝึกกับฝึก ทนกับทน ทวนกับทวน ฝืนกับฝืน...ความเคยชิน ...แล้วทุกอย่างมันจะง่ายขึ้นเอง ไม่ยาก เหมือนกับนั่งคิดนอนคิดอยู่นี้ ไม่ยากเหมือนกับคาดและหวังเฉยๆ

มันจะง่ายขึ้นเอง เพราะเราทำขึ้นไป...สะสมไปตามลำดับลำดา


(ต่อแทร็ก 12/25)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น