วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/25 (1)


พระอาจารย์
12/25 (561027C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
27 ตุลาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ก็บอก...อย่าออกจากความรู้ตัว อย่าลืมเนื้อลืมตัว แค่นั้นแหละ ...การภาวนานี่ ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการรู้ตัว 

ต่อให้จิตจะดี จิตจะไม่ดี จิตจะเลวขนาดไหน ไม่สำคัญเท่ากับว่า “รู้ตัว” มั้ย มีความรู้ตัวมั้ย  รู้คืออะไร ตัวคืออะไร ... รู้คือรู้ ตัวคือตัว...ต้องมีสองอย่างนี้

ไม่ว่าท่ามกลางมรสุม ไม่ว่าท่ามกลางความเบิกบานสราญใจ ถามว่ารู้ตัวมีมั้ยตรงนั้น...ต้องมีให้ได้  นั่นแหละ ต้องเริ่มจากจุดนี้ แล้วก็สร้างจุดนี้ขึ้นมา เจริญขึ้นมา

เพราะนั้นการเจริญความรู้ตัว การสร้างความรู้ตัวขึ้นมานี่ เรียกว่าการเจริญสติ ศีล สมาธิ และปัญญา อยู่ในความหมายของคำว่า “รู้ตัว” นั่นเอง

ถ้ามันทำได้ แล้วก็รักษาการรู้ตัวให้เกิดความต่อเนื่อง นั่นน่ะ ผลก็จะเกิดขึ้นเอง เท่ากับที่รักษาคำว่า “รู้ตัว” ได้ขนาดไหน ...เนี่ย จนถึงนิพพานเลย ก็มีแค่เนี้ย

เพราะนั้นข้อความแค่นี้...คือนิพพาน ถ้าทำได้อย่างเนี้ย...นิพพาน ..ที่มันไม่ได้ก็เพราะมันไม่มี ไม่มีคำว่ารู้ตัวด้วยความไม่ขาดและหายเลย แม้แต่ขณะเดียว 

ถ้าทำได้...ไม่ต้องถามถึงนิพพานเลย ...แล้วก็ นิพพานใคร...นิพพานมัน แบ่งกันไม่ได้

ธรรมะก็มีอยู่แค่นี้แหละ การภาวนาก็มีอยู่แค่นี้แหละ ไม่มีอะไรมากเรื่องหรอก ...มีแต่เราเท่านั้นแหละที่มันมากเรื่อง แล้วก็หาวิธีการให้มันมากหลายแค่นั้นเอง

ศีลสมาธิปัญญาก็มีอยู่แค่นี้เอง อย่าให้เป็นสองสามสี่ออกไป แตกออกไป ...เรานั่นน่ะเป็นผู้ที่จับจด คอยหา คอยแก้ คอยสร้างนั้นสร้างนี้ สร้างวิธีการ หาวิธีการอยู่ตลอดเวลา

เพราะนั้นไอ้วิธีก็มีอยู่วิธีเดียว นั่งอยู่ตรงไหน กายก็แสดงอาการอยู่แค่นั้น ก็รู้อยู่แค่นั้น ...แค่นั้นแหละ ศีลสมาธิปัญญาก็มีอยู่ตรงนั้นแหละ

แต่มันทำ มันรักษาความเป็นหนึ่งศีล หนึ่งสมาธิ หนึ่งปัญญา ไม่ได้ ...เพราะ “เรา” มันมีอำนาจอยู่ แล้วก็มีอำนาจทะยานออกมาเป็นความอยากและไม่อยาก 

ความทะยานของจิตของเรา...คือตัณหา ... เมื่อมันทะยานไปไหน ที่ไหน ที่นั้นเรียกว่าอุปาทานขันธ์ อุปาทานภพ ...อุปาทานขันธ์ก็เกิด...อุบัติขึ้น 

การอุบัติขึ้นนั่นน่ะที่ว่าการเกิด  การอุบัติขึ้นของอุปาทานภพ อุปาทานขันธ์ ท่านเรียกว่าการเกิดของ "เรา"

เพราะนั้นอุปาทานขันธ์อุปาทานภพนี่ มันอุบัติขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าไม่มีศีลสมาธิปัญญาเป็นเครื่องระงับยับยั้ง หรือเครื่องอยู่เครื่องหมาย หรือเครื่องยึดหรือเครื่องที่ระวัง...เป็นฐาน เป็นหลักไว้ 

การสร้างอุปาทานภพ อุปาทานขันธ์ของเรา โดยอำนาจของการผลักดันไปด้วยความอยากและความไม่อยาก  มันไม่มีคำว่าหยุด ไม่มีคำว่าสิ้น

แล้วก็อุปาทานขันธ์ อุปาทานภพ อุปาทานชาตินี่ มันสร้างได้ทั้งในแง่โลกและแง่ธรรม

แง่ธรรมก็สร้างได้ ...สร้างสภาวะนั้นล่อหลอก สร้างสภาวะนี้ล่อหลอก สร้างสภาพธรรมนั้นล่อหลอก สร้างความเป็นธรรม ลักษณะธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ล่อหลอก...ตลอด

แล้วเราก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปมี เข้าไปเป็นกับมัน...อดไม่ได้  พอมันสร้างขึ้นมาแล้ว...อดไม่ได้ ที่จะเข้าไปหา เข้าไปทำกับมัน ...เพื่อให้ได้ ให้มี ให้เป็น 

ถ้าสมมุติมันได้ มันมี มันเป็นสักนิดนึงขึ้นมา แล้วมันจะติด...ติดในผลที่มันได้จากอุปาทานภพ อุปาทานขันธ์แล้วทำตามนั้น...มันก็เป็นผลขึ้นมา

ตรงนั้นน่ะ ยิ่งทำยิ่งติด ยิ่งได้ยิ่งติด...ติดภพติดชาติ ติดความสุขในภพ ติดความทุกข์ในภพ ติดความสุขในชาติ ติดความทุกข์ในชาติ ...ก็ยิ่งเกิดความยึดมั่นถือมั่นในภพและชาติ มากขึ้นๆ

คือถ้าฟังดูให้ดีนะ ทำความเข้าใจ ทุกอย่างมันไม่ได้ยากเย็นอะไร ...การภาวนามันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย 

แต่พวกเรามันเป็นอย่างนี้ จะไปภาวนาแบบหกคะเมนตีลังกา เอาหัวเดินต่างตีน เอาตีนเดินต่างหัวอะไรอยู่อย่างนี้ ...วุ่นวี่วุ่นวาย สับสนอลหม่าน 

บ้าสภาวธรรมน่ะ บ้าสภาวะอารมณ์ บ้าสภาวะจิตน่ะ ...มันเลยกลายเป็นความยุ่งยากโดยใช่เหตุ 

พอไปทำให้มันยุ่งยากโดยใช่เหตุแล้ว ...พอให้ทำแบบง่ายๆ อย่างนี้ แค่กลับมารู้ตัวว่านั่ง รู้ว่านั่งอย่างนี้ ...มันกลับกลายเป็นว่า "ไม่ได้เรื่อง ไม่มีทางจะได้ถึงที่สุดหรอก"

เห็นมั้ย มันกลับมาขวางตัวเอง ปิดบังตัวเอง ปิดบังมรรคที่เจริญ ปิดบังผลที่จะได้จากการเดินในมรรค ปิดบังความรู้ความเห็นตามความเป็นจริงที่มันมีอยู่ในปัจจุบัน

เพราะนั้นการสอนของเรานี่...เหนื่อยนะ ...เหนื่อยยังไง ...เพราะมันค้าน มันค้านทั้งในโลก ความเห็นในโลก และมันค้านทั้งความเห็นในธรรมของผู้ปฏิบัติธรรมด้วย ...เหนื่อย เหนื่อยเป็นสองเท่านะ

เออ ถ้าเราสอนแบบว่า ..."มา หลับตา พุทโธไปๆ" ...จบนะ ง่ายนะ เราจะไม่เหนื่อยเลย  แล้วคนฟังก็รู้สึก...เออ ใช่ ง่ายดี ...เราก็สอนได้นะอย่างนี้

สอนได้ไม่ใช่สอนไม่ได้ แบบว่า...นั่งไปเหอะเรื่อยๆ  เอ้า ปวดก็ทนเอา เอาให้ข้ามปวดเลย ตั้งสัจจะไว้ แค่นี้ ให้มันสงบก่อนแล้วค่อยพิจารณา ...อย่างนี้ สอนง่าย

ไม่ต้องมาอธิบายซ้ำๆ หรือว่าแยกแยะจนถึงอณูธาตุ อณูขันธ์ อณูศีล อณูสมาธิ อณูของขั้นปัญญา ว่าตรงไหน คืออะไร อย่างนี้ ซึ่งมันทวนหมดน่ะ

ทวนความเชื่อที่มันเคยกระทำมา ได้ผลมารับผลมาแบบครึ่งๆ กลางๆ หรือบางทีเป็นผลที่สร้างมาเองหลอกๆ หลอกตัวเอง  แล้วก็ยังจดจำไว้ว่านี่คือความถูกต้อง ...มันคาคับข้องอยู่ ทิ้งไว้อยู่ภายใน

แล้วมันคอยคัดค้าน คัดง้าง คอยต่อต้านศีลสมาธิปัญญาตามจริง ทั้งจากที่ได้ยินได้ฟัง ทั้งจากที่คิดตาม ...นี่มันเป็นวิบากจากการที่หลงผิด ทำตามที่หลงผิดมาเนิ่นนาน จนเกิดการยึดมั่นว่าผิดเป็นถูก

ไอ้ลักษณะที่ยึดมั่นว่าผิดเป็นถูกนี่ เขาเรียกว่า...มานะ  ยึด...สิ่งไม่มีเป็นมี ไม่เที่ยงเป็นเที่ยง ทุกข์เป็นสุข หาทุกข์ไม่ได้ ไม่มีทุกข์ในโลก ไม่มีทุกข์ในขันธ์ ...พวกนี้คือมานะ

แล้วก็สนับสนุน...ทั้งในแง่โลก การปฏิบัติตัว การดำเนินชีวิตในโลก ...ทั้งในแง่ภาคปฏิบัติ ทั้งการปฏิบัติ ก็เป็นการสะสมมานะ

โดยไม่รู้ตัวว่าระหว่างที่ภาวนานี่ ระหว่างที่กำลังนั่งสมาธิ เดินจงกรมนี่ เป็นการพอกพูนมานะ อัตตาตัวตน หน้าตาของเรา ...ผู้เข้าถึงธรรมเป็นเรา ผู้ได้รับผลของธรรมเป็นเรา

ตลอดเวลานาทีที่เดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือใช้ชีวิตอยู่ในโลก ...ก็สะสมอัตตาตัวตนของเรา...ที่เป็นบุคคลที่เลิศ ที่ดี ที่มีชีวิตอยู่ในโลก

เนี่ย เหนื่อย  ทวนกระแสกิเลสให้คนอื่น...โดยที่คนอื่นน่ะไม่ตั้งใจจะทวนเอง เหนื่อย เข้าใจมั้ย 

ไม่ใช่เหนื่อยเพราะว่าเสียงดัง หรือใช้กำลังอะไร ...เหนื่อยเพราะมันทวนใจ ทวนความเห็น ทวนในสิ่งที่คนนั้นๆ ยังไม่ยอมจะทวนด้วยตัวเอง

เหล่านี้ที่ครูบาอาจารย์ท่านจะพร่ำสอน จนกว่าตัวของมันน่ะจะสำนึก เกิดปัญญาเบื้องต้นเห็นคุณค่าของศีลสมาธิปัญญาตามแบบอย่างแบบแผน...คือสัมมาทิฏฐิในองค์ศีลสมาธิปัญญา

จนกว่ามันจะเห็น …เพราะถ้ามันไม่เห็น มันไม่เอาไปปฏิบัติด้วยตัวของมันเองเลย ...มันก็จะซ้ำซากอยู่แบบเดิม วิธีเดิมของมัน ตามความคิดความเห็นที่มันเคยทำมา เคยอ่านมา หรือเข้าใจเอาเอง

โดยไม่เข้าใจว่า...ไอ้ที่เข้าใจเอาเองนั่นน่ะ เป็นความเข้าใจของกิเลส ...คืออวิชชามันเข้าใจอย่างนั้น 

อวิชชาไม่เคยสอนให้ออกจากความไม่รู้เลย อวิชชามีแต่ว่ายิ่งทำยิ่งโง่  มันไม่มีทางที่จะพาไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงได้เลย ...เพราะมันเป็นภาวะตรงข้ามกัน ระหว่างอวิชชา...กับวิชชา 

โดยภาษามันก็เขียนไม่เหมือนกัน โดยความหมายก็แปลไม่เหมือนกัน โดยลักษณะท่าทางอาการของมันก็ไม่เหมือนกันโดยเด็ดขาด ...สว่างกับมืด ไม่รู้กับรู้นี่...คนละสปีชี่ส์อย่างยิ่ง

เพราะนั้นอะไรที่มันออกมาจากความไม่รู้นี่ มันไม่ได้เป็นไปสู่ความรู้ได้เลย ...เป็นไปไม่ได้

มืดเหรอ...มันจะพาไปสู่ความสว่าง ... มืดก็คือมืด ยังไงเนื้อแท้ธรรมแท้มันคือมืด ยังไงก็มืด ไม่สามารถจะเปลี่ยนมืดเป็นสว่างในตัวธาตุนั้นๆ

จนกว่าเมื่อใดที่ความสว่างเกิด ความมืดน่ะดับ มันเกิดไม่ได้ ... เมื่อใดที่ “รู้”...เมื่อนั้น “ไม่รู้” ไม่มี ความไม่รู้จะไม่มีตรงนั้น ...เห็นมั้ยว่า สว่างกับมืดมันแก้กันตรงนี้

เพราะนั้น ความไม่รู้นี่มันจะแก้ด้วยวิธีเดียว วิธีการเดียว...คือรู้เข้าไป  เมื่อใดที่รู้อยู่...เมื่อนั้น “ไม่รู้” ไม่เกิด  เมื่อใดที่มีวิชชา...เมื่อนั้นอวิชชาไม่เกิดแสดงตัว ...นี่ ถ้าทำหลักนี้ แล้วก็ทำความรู้อยู่กับตัว

เพราะอะไร ...เพราะตัวมันเป็นของยืนพื้น ตัวหรือกายนี่มันเป็นสิ่งที่มียืนพื้น มันไม่หาย...โดยความเป็นจริงนะ โดยลักษณะสภาพที่แท้จริงของกาย...มันจะไม่หายไปไหนเลย ตั้งแต่เกิดยันตาย

ท่านถึงเอาสตินี่มาระลึกรู้ คือสร้างการระลึกรู้กับกาย เพราะกายมันเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา ...เมื่อสร้างการระลึกรู้ มารู้กับสิ่งที่มันมีอยู่ตลอดเวลา ไอ้รู้นั้นน่ะ มันก็จะมีเกิดขึ้นตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

ทำไมถึงต้องให้รู้ตัว ทำไมถึงต้องให้รู้อยู่กับกาย ...เพราะกายมันจะมีอยู่ตลอดเวลา...โดยธรรมชาติ  ไม่หาย ไม่ขาด ไม่เคยไปหลบไปแอบ ไม่เคยไปขุดรูมุดหนีหายไป ...มันมีตลอดเวลา

สิ่งที่ไม่ตลอดเวลา สิ่งที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แปลงหน้าแปลงตา...คือนามธรรม  อารมณ์ ความคิด ความจำ ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ พวกนี้

เดี๋ยวมี เดี๋ยวไม่มี เดี๋ยวเกิดมาก เดี๋ยวเกิดน้อย เดี๋ยวดูดี เดี๋ยวดูไม่ดี เดี๋ยวมากเดี๋ยวน้อย เดี๋ยวก็เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไป ลักษณะต่างๆ กันมากมาย เดี๋ยวก็หายไป เดี๋ยวก็นานๆ มาที นานๆ ไม่มี

มันไม่มีความต่อเนื่องตลอดเวลาด้วยความชัดเจน ...จึงไปจับมาเป็นที่ตั้งของรู้ไม่ได้ 

เพราะอะไร ...เพราะรู้มันจะไม่ต่อเนื่องเมื่อรู้ไม่ต่อเนื่อง เมื่อใดที่ไม่มีรู้ ...เมื่อนั้นความมืดก่อเกิด อวิชชาอยู่แสดงอำนาจ

ถึงบอกว่า ศีลน่ะต้องเป็นหลัก กายนี่ต้องเป็นหลัก ต้องมีตลอด รู้จึงจะอยู่ตลอด ...เมื่อใดที่รู้อยู่ตลอด หมายความว่าขณะนั้นอวิชชานี่มันถูกล้อมกรอบไว้  ถึงมี...แต่ไม่สามารถแสดงอำนาจ

แล้วตรงที่มันไม่แสดงอำนาจนั่นน่ะ ...ตรงนั้นมันจะเกิดการวิจยะธรรม หรือธัมมวิจยะ...ด้วยปัญญา ด้วยญาณ มันจะเข้าไปจำแนกธรรม สภาพธรรมนั้นๆ ที่มันดำรงอยู่ ปรากฏอยู่ ณ ปัจจุบันภายในขันธ์

มันจึงจะเกิดความถ่องแท้ ชัดเจน ตามจริงของสภาพขันธ์ สภาพกิเลส สภาพอวิชชา สภาพความรู้...ทั้งรู้ทั้งไม่รู้เลย ...นั่นเรียกว่าญาณทัสสนะ คือปัญญาญาณ

ไม่เห็นมันมากเรื่องมากราวอะไรเลย...ถ้าทำอย่างที่เราบอกเราแนะนำนะ  แล้วตั้งใจทำอย่างที่เราบอกอย่างที่เราแนะนำ ...การปฏิบัติจะง่ายมาก จะไม่ขึ้นกับอะไรเลย

การปฏิบัติจะไม่ขึ้นกับเพศ จะไม่ขึ้นกับวัย จะไม่ขึ้นกับที่ทำงาน จะไม่ขึ้นกับอาชีพ จะไม่ขึ้นกับสถานะรวยหรือจน ...ไม่ขึ้นกับอะไรเลย

แต่ถ้าปฏิบัติในรูปแบบ ตามรูปแบบตามสำนักนะ มันจะขึ้นกับหลายอย่าง หลายเหตุปัจจัยนะ...ที่ไม่เอื้อ หรือบางครั้งก็เอื้อ บางครั้งก็ไม่เอื้อให้ปฏิบัติได้ในขณะที่ดำรงชีวิตประจำวันอยู่

แต่ถ้าเข้าใจอย่างที่เราบอกนี่ มันไม่มีอะไรไม่เอื้อ ...มันสามารถทำได้ตลอดเวลา ทุกเวลานาที สามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลา ทุกเวลานาที

สามารถสร้างศีล สร้างสมาธิ  อยู่กับศีล อยู่กับสมาธิ  สร้างปัญญา อยู่กับปัญญา...ได้ทุกเวลานาที ...เพียงแต่มันไม่ทำ แล้วมันไม่รู้ว่าที่ทำอยู่ที่ไหน

ตรงนี้คือหน้าที่ของพระ เป็นหน้าที่ของพระที่จะต้องสอนว่า... ศีลอยู่ที่ไหน คืออะไร  สมาธิคือที่ไหน อย่างไร  ปัญญาอย่างไร แล้วเอาไปใช้อย่างไร ในทุกปัจจุบันนาที

ไม่ใช่สอนให้เอาไปใช้แค่ตอนอยู่คนเดียว ตอนเข้ามาในวัด แล้วก็ต้องมาสมาทานศีลแล้วก็ไปนุ่งขาวห่มขาว แล้วก็ไปอยู่กุฏิคนเดียวอย่ามายุ่งกับคนอื่น ...ไม่ใช่สอนแค่ตรงนั้น

เพราะมันเอาไปใช้ประโยชน์ในชีวิตไม่ได้ เอามาแก้กิเลสไม่ได้ ไม่ทัน ...ถ้าไม่ทันกิเลส ถ้าไม่แก้กิเลสในปัจจุบัน ไม่มีทางเลยที่จะละกิเลสจนถึงที่สุด ...เป็นไปไม่ได้

หลอก ...การภาวนานั้นถือว่าหลอก การสอนอย่างนั้นเรียกว่าหลอก ไม่หลอกก็เรียกว่าไม่ตรง ...ผู้ที่จะสอนตรง บอกแล้วไงว่าน้อยมาก หาได้น้อยมาก 

มันเฉียดบ้าง อ้อมบ้าง หรือกลับทิศเลย กลับหัวเป็นท้ายเลยก็มี ...แต่คนฟังนี่ มันไม่รู้อะไรหรอก เข้าใจมั้ย เขายื่นอะไรให้ กินแล้วรสชาติดีก็ว่าชอบ ถูกแล้ว ...เนี่ย จบ จบข่าวเลย

เห็นมั้ย จะโทษพวกเราก็ไม่ได้ ก็ต้องโทษคนสอนอีกเหมือนกันน่ะ ใช่มั้ย ..."ก็ไม่มีใครเคยสอนกูอย่างนี้นี่หว่า เออถ้าสอนกูมาอย่างนี้ตั้งแต่ต้น กูก็น่าจะเข้าใจแล้ว" ...เห็นมั้ย


(ต่อแทร็ก 12/25  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น