วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 12/15


พระอาจารย์
12/15 (560929C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29 กันยายน 2556


พระอาจารย์ –  ทุ่มเทกายใจลงไป ทุ่มเทพละกำลังลงไป ทุ่มเทสติปัญญาลงไป ในที่อันเดียว นี่ การภาวนาแบบทุ่มเท 

ไม่กลัวเสียหายน่ะ ไม่กลัวขาดทุนน่ะ ไม่กลัวล้มเหลวน่ะ  คือเทหมดหน้าตัก ...มันต้องแลกน่ะ ภาวนานี่ มันต้องเอาชีวิตเข้าแลกนะ เอาทั้งชีวิตเข้าแลกเลยล่ะ

แลกกับอะไร...แลกกับกายใจเดียวน่ะ กล้าแลกมั้ย กล้าทุ่มทุนมั้ย  กล้าเอาทั้งชีวิตเข้าแลก...กับการที่จะไม่เอาอะไรเลย เอาแค่กายใจ ไม่หลงไม่ลืม ไม่ออกไม่นอก ไม่ห่างจากกายใจนี่ ...กล้าแลกมั้ย

ต้องทุ่มเทน่ะ ต้องทุ่มทุนน่ะ ...ต่อให้มันมีอลังการงานสร้างที่มันเคยมีเคยเป็น กูก็ไม่เอาอ่ะ ...นั่น สละโลก สละขันธ์ ...ก็จะได้ธรรม เท่าที่มันสละออกไปน่ะ 

เพราะไอ้ที่มันสละออกไปนั่นน่ะ คืออุปาทานขันธ์ คืออุปาทานในธรรม ...จริงๆ ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่ขันธ์จริงๆ นะ ...แต่มันไม่กล้า มันไม่ยอมสละ มันไม่ยอมแลกน่ะ

มีอะไรนิดอะไรหน่อย อะไรกระทบนิด อะไรกระทบหน่อย  กลับไปทุ่มทุนลงไปกับมัน กลับไปทุ่มกายใจลงไปกับมัน ทุ่มกายวจี จิต ลงไปกับมัน ทุ่มมโนกรรม กายกรรม วจีกรรม แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ลงไป

นี่ ใจมันอ่อน ใจมันน้อย ...ไม่กล้าทุ่มเททุ่มทุนกับศีลสมาธิปัญญาแบบมีเท่าไหร่แลกได้หมด ไม่ว่าตัวจะตาย ไม่ว่าเหตุนั้นจะร้ายดีขนาดไหน ถูกใจ-ไม่ถูกใจ ดั่งใจ-ไม่ดั่งใจขนาดไหน แลกหมด เอารู้ตัวที่เดียว

ประเมินกำลังเอาเอง ไปประเมินกำลังดู ว่า...หนึ่งคือไม่สามารถแลกได้เลย ก็นู่นเบื้องหน้าคืออเวจี หรือไปแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ไม่มีที่ไม่มีแดน ...หรือพอได้บ้าง 

พอรู้ตัวได้บ้าง นี่ก็เรียกว่าอยู่ในขั้นตอนการฝึกในระดับนึง ...แต่ถ้าไม่หวั่นไหวเลยนั่นแหละ... อือ ต่อให้โลกมันแตกสลายต่อหน้านี่ ก็ยังไม่ออกจากกายใจเลย 

นี่เขาเรียกว่าผู้นั้นน่ะ เป็นผู้ที่เข้าถึงศีลสมาธิปัญญา ผู้นั้นน่ะเป็นผู้ที่เข้าถึงองค์มรรค ผู้นั้นน่ะมีศีลสมาธิปัญญาเป็นที่พึ่ง ผู้นั้นน่ะมีมรรคเป็นที่อยู่ ...ผู้นั้นแหละคืออริยะ

ไปประเมินเอา ความเป็นอริยะอยู่ที่ไหน ...ไม่ได้อยู่ตามถ้ำ ไม่ได้อยู่ตามวัด ไม่ใช่ห่มผ้าเหลือง ห่มผ้าขาว ...มันอยู่ตรงเนี้ย อยู่ที่ตัวเองนั่นแหละ

ไปดูสิว่าใกล้อริยะรึยัง ...หรือยิ่งอยู่ยิ่งมา ยิ่งมีชีวิตอยู่...ยิ่งห่างไกลอริยะจิต อริยบุคคล อริยขันธ์ อริยะวิถี อริยประเพณี อริยธรรมเนียม

รู้จักอริยธรรมเนียมมั้ย รู้จักอริยะประเพณีมั้ย ...คือไม่ใช่นักบวช ไม่ใช่ห่มเหลือง ... แต่คือทำยังไงล่ะที่มันจะอยู่กับตัวได้ อยู่ที่ไหนล่ะที่มันจะอยู่กับการรู้ตัวได้ดี พูดคิดอย่างไรล่ะมันถึงจะอยู่กับการรู้ตัวได้ 

นั่นแหละ ท่านเรียกว่าอริยธรรมเนียม อริยประเพณี ...ก็สร้าง เรียนรู้ ...เพื่ออะไร เพื่อหล่อหลอมความเป็นอริยะจิต ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ไม่สั่นสะเทือนไปกับสามโลกธาตุ ตั้งแต่ขันธ์ห้านี้ออกไป

ไม่ใช่ว่ากระทบไอ้นั่นก็ล้ม กระทบไอ้นี่ก็ล้ม ...แล้วล้มนี่ไม่ใช่ว่าแค่ล้มแล้วล้มเลยนะ ล้มแล้วมันดันลุกขึ้นปุ๊บวิ่งออกไปกับมันเลย วิ่งไปกับรูปกับเสียงเลย 

รู้ตัวอยู่ดีๆ ได้ยินอะไร ได้เห็นอะไร...ล้ม  ล้มเสร็จ วิ่งคิด วิ่งหา วิ่งแก้ วิ่งกัน วิ่งต่อสู้ วิ่งต่อต้าน วิ่งเอามาเป็นเรื่องของเราเรื่องของเขาเลย ... เนี่ย ล้มแล้วลุก...ยังดี  ล้มแล้ววิ่งตาม...แย่

เพราะนั้นผู้สาธยายนี่ก็จะบอกว่า ลักษณะอาการที่ดำรงอยู่ในชีวิตนี่ อย่างไรเรียกว่าเป็นวิถีแห่งปุถุชน ปุถุญาโนจิต ...วิถีไหนที่จะเป็นวิถีแห่งอริยะ วิถีแห่งความรู้แจ้ง วิถีแห่งธรรมเนียมอริยะ

ธรรมเนียมการปฏิบัติ ธรรมเนียมของพระอริยะ ...ท่านทำยังไงเมื่อเจอเหตุการณ์นี้ๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางความคิดของตัวเอง ทางความเห็นของเจ้าของ 

ท่านมีธรรมเนียมการปฏิบัติอย่างไร ก็ได้แต่สาธยายให้ฟัง ...จากนั้นเลือกเอา จะเดินในธรรมเนียมไหน ประเพณีนิยมไหน ...ผลก็จะได้แตกต่างกันไป 

ผลแห่งการที่เรียกว่าหลุดจากมรรค ออกนอกมรรค คือ ไม่สุขก็ทุกข์ ไม่ทุกข์ก็สุข...นั่นผล  แล้วก็มีความหมุนเวียนสับสนต่อเนื่องไม่ขาดสาย ไม่มีคำว่าจบ ไม่มีคำว่าสิ้น ...นั่นน่ะผล เลือกเอา

แต่ถ้าเดินในมรรคนี่ ผลคือไม่สุข ไม่ทุกข์ ...สุขทุกข์น้อยลง มันน้อยทั้งคู่นะ เพราะ “เรา” น้อยลง 

ความก่อเกิดในสิ่งต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางผัสสะ อายตนะ น้อยลง ...จนไม่มี “เรา” ไปเกิดกับอะไรเลย นั่นผล ...แล้วผลที่สุดก็คือ ไม่เกิดอีกต่อไป ...เลือกเอา

แต่ยาก ...ที่มันยาก ที่ว่ายากนี่ไม่ใช่อะไร ... ก็บอกแล้วว่าเคยกินข้าวแล้วมากินขนมปังนี่มันยากมั้ยล่ะ ...มันคุ้นเคย คือความคุ้นเคยเท่านั้นเอง ที่ว่ายากน่ะ  

มันไม่คุ้น มันไม่เคยลิ้น มันไม่เคยปาก มันไม่เคยทำ มันไม่เคยเจริญมาก่อน ...ถึงเจริญมาก็เจริญแบบกระพร่องกระแพร่ง หรือลืมไปแล้ว 

มันเก็บอยู่ในส่วนลึ๊กๆ โคตรลึกอยู่ข้างในจิต ประเภทสาวก็แล้ว ดึงก็แล้ว ขุดก็แล้ว ช่วยขุดออกมาก็แล้ว ยังไม่ค่อยถึงไอ้ที่มันเคยทำมา ...เพราะมันไปเก็บไว้ที่ไหนก็ไม่รู้

เพราะอะไร ...มันทับถม เอากิเลสมมาทับถม มาบังซะจนอย่าว่าแต่มันงงเลย กูก็งงว่ามันใช้ชีวิตของมันได้ยังไงวะ มันเดินอยู่ในดงหนามและอาจมได้โดยที่หน้าตาเฉย เหมือนไม่ผิดเลยน่ะ

พอจะหาของเก่าให้...ซึ่งมันมีทุกคนน่ะของเก่า ...ค้นแล้วค้นอีก ช่วยค้นก็แล้ว จอบก็ให้ พลั่วก็ให้ สว่านก็ให้แล้ว ออกกำลังช่วยด้วย มันอยู่ไหนวะเนี่ย  เหมือนยิ่งกว่าตามล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าอีก

เพราะนั้นของเก่าไม่ต้องไปคิดเลย ... ทำใหม่ซะ...จบ ง่ายดี  เออ เอาปัจจุบันเข้าว่าเลย ... เห็นมั้ย มัวแต่ไปค้นหาของเก่า เป็นซาเล้งรึไง หือ พวกซาเล้งรับซื้อของเก่า 

ที่ไหนมีของเก่าอาจารย์ช่วยหาให้หน่อย ไปถามอาจารย์ หนูมีของเก่ามั้ยคะ หนูจะได้ภาวนาได้ถูกตรงเป๊ะ ขุดปั้งเจอน้ำมันพุ่งเลย หลุดพ้น ณ ปัจจุบัน นั่น ...ซาเล้งรึไง (หัวเราะกัน)

อย่าไปหวังอดีต อย่าไปคาดอนาคต ...กายอยู่ในปัจจุบัน มรรคอยู่กับปัจจุบัน ศีลอยู่กับปัจจุบัน ปัญญาอยู่กับปัจจุบัน ...พอมันหยั่ง หยั่งอยู่กับปัจจุบัน เนี่ย เดี๋ยวมันไปสอดคล้องประสานกับสิ่งที่มันมี นี่ ซ้ำๆ

เคยเจาะลงไปมั้ย ...แบบเจาะที่ไทย แล้วไปทะลุที่นิวยอร์คน่ะ (หัวเราะกัน) ...คือมันก็โลกใบเดียว ยังไงก็ต้องเจอของเก่า เข้าใจป่าว ...เพราะมันเจาะอยู่ที่เดียว มันก็เจอ...อ๋อ นี่ ...มันก็รวม รวมเป็นเส้นเดียวกันหมดเอง

อย่ามัวแต่ไปค้นไปหาด้วยความคิด อย่ามัวแต่ไปถาม หรือไปบนบานศาลกล่าว...ไม่มีหรอก ... ทำลงไปในปัจจุบัน แล้วมันก็จะมารวมกันทีนี้ มาแบบไม่ขาดสายเลย ก็จะ...อ๋อ เข้าใจแล้ว เข้าใจหมดเลย

บางทีไม่รู้มันเข้าใจได้ตอนไหนน่ะ มันทำมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว มันเพิ่งมาเข้าใจเอาชาตินี้ก็ได้ ...เออ มันเข้าใจได้ยังไงวะ เหมือนมาแบบฟลุ้คนี่หว่าก็ได้นะ คล้ายๆ อย่างนั้น 

แต่ลึกๆ จริงๆ ไม่ใช่นะ ...มันมีการกระทำมาก่อนแล้ว แต่มันยังทำแบบไม่ลุล่วง แล้วมันไปเข้าเซฟไว้ๆ คือพอกพูนทับถม ...พอมันเจาะลงไปนี่ คือประกอบมรรค ประกอบเหตุศีลสมาธิปัญญาอยู่ในปัจจุบัน 

มันก็ลงไปทลายกำแพงที่ขวาง ที่บัง ...ทีนี้ธรรมภายในก็สงเคราะห์ ธรรมภายนอกก็สงเคราะห์  การดำรงขันธ์ก็เป็นการสงเคราะห์ในธรรมหมดเลย ...แม่น้ำร้อยสายก็รวมลงมาเป็นสายเดียวกันหมด

ทีนี้ ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น กายกระทบ  มีความคิด มีอารมณ์ มีกิเลสเกิดขึ้น ...ทุกอย่างล้วนเป็นธรรมหมด ไม่ได้แบ่งแยกแตกต่างอะไรเลย เป็นไปเพื่อความขัดเกลา ละวางหมดเลย 

เนี่ย ถ้าในระดับนั้นเขาเรียกว่ามหาสติ มหาสมาธิ มหาปัญญา มหาศีล ...ธรรมทั้งหลายเป็นธรรมเดียวกันหมด เป็น เอโกธัมโม เอกังจิตตัง...จิตหนึ่งธรรมหนึ่ง

ไม่มีแบ่งแล้วนะกาย ไม่มีแบ่งว่าโลก ไม่มีแบ่งว่าขันธ์  ไม่มีขันธ์ส่วนนั้น ไม่มีขันธ์ส่วนนี้ ไม่มีขันธ์ที่เป็นรูป ไม่มีขันธ์ที่เป็นนามแล้ว ...ทุกอย่างเป็นธรรมหนึ่งหมด 

ไม่มีว่าน้ำในมหาสมุทรกับน้ำในบ่อ ไม่มีว่าน้ำในห้วย ไม่มีว่าน้ำในหนอง ไม่มีว่าน้ำฝน ไม่มีว่าน้ำค้าง ไม่มีว่าน้ำที่อยู่ในอ่างในตุ่มในแก้ว ...น้ำคือน้ำ

ธรรมหนึ่ง จิตหนึ่ง...อำนาจที่เข้าไปสลายภาชนะที่ห่อหุ้มธรรมนั้นน่ะ คือมหาสติ มหาศีล มหาสมาธิ มหาปัญญา หรือมหาสติปัฏฐาน ๔

จิตที่เข้าไปแบ่งสรร คัดกรอง คัดเลือกธรรมนี่...ไม่มีแล้ว  ตัวจิตที่มันเข้าไปแบ่งสรรธรรมนั้นน่ะ คือตัวจิตที่มันเข้าไปสร้างภาชนะแล้วห่อหุ้มธรรมไว้ 

โดยสมมุติบ้าง โดยความเห็นบ้าง โดยบัญญัติบ้าง โดยภาษาบ้าง โดยจดจำมาในตำราบ้าง ...ทุกอย่างน่ะมันเปรียบเหมือนกับเป็นภาชนะห่อหุ้ม ปกปิด ครอบงำ บังธรรม

แต่ถ้าเข้าถึงมหาสติ มหาสมาธิ มหาปัญญา ล้วนๆ แล้ว ไอ้สิ่งที่ปกปิดบังธรรมนี่ เหมือนเส้นผมมันไปบังภูเขา บอกให้เลย พอดึงออกเส้นเดียวนี่...“กูเข้าใจแล้วววว กูอยู่กับมันมาอเนกชาตินี่ ทำไมกูโคตรโง่เลย

ภาวนาจนก้นเปียกก้นแฉะ เดินจนตีนจะง่อยเปลี้ยตายยังไม่เข้าใจเลย  ไม่รู้กูเกิดมาทำไมตั้งหลายชาติ เสียเวลาเกิด-ตาย เสียน้ำหนักพื้นดิน การรวมตัวกันของมหาภูตรูป ไร้ประโยชน์สิ้นดีในอเนกชาติที่กูเกิด-ตาย” 

มา...อ๋อ นี่ โคตรโง่เลยว่ะ ...ธรรมอยู่แค่เนี้ย เส้นผมนี่...ปึ้กเดียว ... พอดึงออกเส้นเดียวนี่ เข้าใจคำว่า แจ้งแทงตลอดมั้ย ไม่มีอะไรมาปกปิดบังธรรมได้เลย

แต่กว่าที่จะถึงจุดนี้ ...คางเหลือง มันต้องพากเพียรอย่างยิ่ง ขวนขวายในศีลสมาธิปัญญาอย่างยิ่งยวด จนแทบจะไม่มีเวลาไปให้กับสิ่งอื่นเลยอย่างนั้น ...มันต้องอย่างนั้น

แต่พวกเราตอนนี้เหรอ ...ภาวนารู้ตัวสักพัก “เหนื่อยแระ พอก่อน พักหน่อย เดี๋ยวเครียดไปๆ  ไปอ่านหนังสือ ไปคุยกัน ไปแชท ไปไลน์ดีกว่า (หัวเราะกัน) ส่งข้อความไลน์ซะหน่อย 

เดี๋ยวนี้ไวนี่ มือถือก็ไลน์ได้ “เธอเป็นยังไง ฉันเป็นยังงี้ เธอเป็นยังงี้ ฉันเป็นยังไง” ...แน่ะ พัก มันเรียกว่าพักนะ "พักการภาวนาไว้ไม่งั้นจะเครียดมากไป เดี๋ยวมันจะเป็นอัตตกิลมถานุโยค"

มันไม่เหมือนกับนักภาวนาระดับอริยจิตอริยบุคคลนี่ ที่เขาเรียกว่าภาวนาแบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่มีเวลาว่างเว้นเลยน่ะ ยกเว้นหลับ ไม่ใช่นั่งหลับนะ คือนอนหลับจริงๆ น่ะ พักขันธ์ นั่นเรียกว่าท่านพักขันธ์

หรือการจำแนกธรรมในขันธ์นี่ บางครั้งการจำแนกธรรมนี่ แยกแยะ แยกแยะด้วยการสอดส่องอยู่ภายใน ...พอเหนื่อย มันเหนื่อย เพราะกำลังสมาธิมันน้อย อ่อนลง ...ท่านก็พัก 

แต่ไม่นอนนะ ไม่ใช่พักนอนนะ ไม่ใช่เลิกงานนะ ...ท่านพักอยู่กับการรู้อยู่เฉยๆ กับกาย ไม่จำแนกธรรม ไม่สอดส่อง ไม่ทำการลงรายละเอียดกับธรรมเล็กธรรมน้อย 

ตรงนั้นน่ะท่านพักอย่างนั้น ...ท่านพักด้วยการรู้ อยู่กับรู้เป็นวิหารธรรม อยู่กับกายเป็นวิหารธรรม ...แล้วพอได้ที่...เออ เอาล่ะโว้ย ได้กำลังแล้ว มันเริ่มอยู่ตัว ปั๊บนี่ ก็จำแนกลงรายละเอียดต่อ 

ตั้งแต่กายลงไป อะไรเป็นกาย อะไรเป็นขันธ์ อะไรเป็นนาม อะไรมาประกอบกาย อะไรมาประกอบนาม นามเป็นยังไง ...ก็เห็น ดู สอดส่องรายละเอียดซ้ำๆ ...ซึ่งตรงนี้เหนื่อย ล้า มันมีความล้า

ซึ่งไอ้พวกเราพอล้าอย่างนี้ ...มันนอนดีกว่า (หัวเราะกัน) ไปดูหนัง ไปพักผ่อน ไปผ่อนคลาย ...นี่คนละที่กันเลยนะ  

แต่ที่พักของท่าน วิหารธรรมของท่านคือศีลนะ วิหารธรรมของท่านคือสมาธินะ ...ท่านไม่ได้ออกนอกศีลนอกสมาธินอกปัญญาเลยนะ ไม่มีเวลาพักดั่งที่เราเข้าใจเลยนะ

นี่ มันจะเป็นอัตโนมัติด้วยต่อไป พอมันเริ่มเหนื่อย พอมันเริ่มล้าจากการใคร่ครวญ หรือว่าวิจยธรรมนี่ มันจะหยุดของมันเอง จะรวมตัวนิ่งอยู่ของมัน...รู้เฉยๆ  

แล้วก็สักอึดใจหนึ่ง ...นี่ไม่ได้ว่ากันเป็นวันนะ  แค่สักอึดนึง ปึ้บ ขึ้นมา ทำงานต่อ ทำงาน มีแต่งานต้องทำ ...โอ้โฮ มันจะเห็นเลยว่างานยังมีอีกเยอะ 

ว่าขันธ์เนี่ย กองขันธ์นี่ ว่าขาสอง แขนสอง ตัวหนึ่ง ว่าก้อนแค่นี้กองแค่นี้ แต่ความละเอียดในกองขันธ์นี่มากมาย ที่จิตยังไม่เข้าใจ ที่จิตยังหมายมั่น ที่จิตยังให้ค่า ที่จิตยังตีค่าความหมายผิดอยู่ 

นี่ รู้เลยว่างานยังอีกเยอะ ...แต่ไม่เยอะเท่ากับอนันตาจักรวาลนะ ไอ้ความรู้ความเป็นไปของอนันตาจักรวาลนี่มากมายมหาศาลยิ่งกว่ากองขันธ์อีกนะ 

แค่นี้ ขนาดกองขันธ์ท่านยังบอก...โอ้โห ไม่รู้จะทันรึเปล่า อายุเท่าไหร่ล่ะ แล้วสามสิบ-สี่สิบ อย่างมากไม่เกินสี่สิบที่ยังเหลืออยู่ จะทันไหมเนี่ย รีบเลยนะ

ไม่พักนะ ไม่ผ่อนนะ ไม่มีผ่อนไม่มีพักนะ เพราะไม่รู้จะทันรึเปล่า มันเห็นแล้วงานยังคั่งค้าง อนากุลาอยู่ ไม่เป็นมงคลนะ อนากุลานี่ไม่เป็นมงคล ...อนากุลา จ กมฺมนฺตา คือการงานไม่คั่งค้าง 

มันเห็นเลยว่ายังไม่แจ้งน่ะ...ยังมี ตรงนั้นก็ ตึ่ก ตรงนั้นก็ตึ่บ ตรงนั้นก็ตุ๊บๆ มันก็ยังตึ่ก ทั้งส่วนที่เป็นรูป ทั้งส่วนที่เป็นนาม ยังตึ่ก ตั๊ก ตุ๊บ อยู่ ยังมีเงายังคลุมๆ อยู่ จะมานิ่งดูดายไม่ได้เลย

แต่ขันธ์ก็มีเวลาพัก ก็นอนไป ...แต่ว่าเวลานอนท่านนี่ ท่านนอนมีสติน่ะ  ถ้านอนแบบมีสตินี่ นอนไม่นาน สาม-สี่ชั่วโมงนี่ อย่างเก่ง อย่างมากจริงๆ ห้าชั่วโมง ไม่เกินนั้น 

นี่พวกเราเล่นแปดชั่วโมง บวก-ลบอีกเป็นสิบ (หัวเราะกัน) ถ้าวันหยุดไง บวก-ลบ ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ก็เพิ่มไปอีกสาม อะไรอย่างเนี้ย ...ไอ้นี่เขาเรียกว่านอนตามกิเลส ไม่ได้นอนด้วยสติ

แต่ถ้าอยู่ในมรรคนี่ มันนอนไม่นาน ...เพราะมันรู้ในตัวของมันเลยว่า มันปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไม่ได้เลย ทุกเวลานาทีที่มันล่วงลับไปแล้วนี่ มีค่ายิ่งกว่าทอง...อายุของขันธ์นี่ 

ก็เหมือนกับทางเดินของมรรคที่มันปรากฏอยู่เบื้องหน้า...มันหด หดตัวๆ ลงไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ...กูยังไม่แจ้งเลยๆ เนี่ย ก็จะตายซะแล้ว ตายวันตายพรุ่งยังไม่รู้เลย

ความเพียรก็เรียกว่าเป็นงานหลักเลยน่ะ การเจริญสติ การแยบคายในขันธ์ การโยนิโสในขันธ์ การนึกน้อมอยู่ในขันธ์ จึงเป็นไปแบบว่าไม่ขาดสาย ไม่ทอดธุระเลย ...มันเป็นสันดานที่เกิดขึ้นมาเองใหม่

ซึ่งสันดานแต่ก่อนนี่นอนทอดหุ่ยอยู่ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ...จิตจะไปเกาะ ไปเกี่ยว ไปพัน อยู่กับตรงนั้นตรงนี้ตรงนู้นเป็นงานหลัก อาชีพเป็นหลัก ครอบครัวเป็นหลัก การสืบค้นหาธรรมภายนอกเป็นหลัก

ธรรมภายนอก ข้อความ อรรถกถา บรรยายธรรมของพระองค์นั้นองค์นี้ นั่นน่ะหลัก หลักของนักภาวนา ถ้าไม่มีหลักพวกนี้ก็กลัวเดี๋ยวมันจะผิด เดี๋ยวมันจะไม่ตรง เดี๋ยวมันจะ...ๆๆ 

เออ ตายทุกชาติ ก็ไอ้อย่างเงี้ย ...ก็มาค้นหาธรรมอยู่เนี่ย มาเกิดตายด้วยการค้นหาธรรม เพราะมันไม่รู้ว่าธรรมอยู่ไหน

แต่ถ้ามันรู้ว่าธรรมคืออะไร อยู่ตรงไหนแล้วนี่ มันจะไม่ค้นหาแล้ว เพราะว่ามันเกิดมา มันอยู่มา มันตายไปนี่พร้อมกับธรรมน่ะ ก้อนธรรม ...ก้อนธาตุ ก้อนธรรม 

ท่านเรียกนะ ครูบาอาจารย์ท่านก็เรียกจนติดปากกันว่า ก้อนธาตุก้อนธรรม ...ก้อนขันธ์ ก้อนธาตุ ก้อนธรรม ก้อนทุกข์ ก้อนไตรลักษณ์

นี่ ถ้ากายนี้ไม่ใช่ธรรมแล้วมันจะไปหาธรรมที่ไหนอีกเล่า ...ถ้ามันเข้าใจเบื้องต้นว่า กายนี้เป็นธรรม ขันธ์นี้เป็นธรรมที่ปรากฏ มันก็จะทุเลาในการค้นหาแล้ว 

ตัณหาในการหาธรรม แสวงหาสังขารธรรมภายนอก หรือความรู้ภายนอกที่มันจะไปทำความแจ้งความชัดภายนอก มันก็รามือเบามือขึ้น แล้วก็มาเริ่มเข้มข้นขึ้นในก้อนธรรมกองธรรมของสัตว์บุคคลนั้นๆ 

จนมันทะลุปรุโปร่งในก้อนกองนี้ ก็เรียกว่ารู้แจ้งแทงตลอดในกายในขันธ์ ว่าความเป็นจริงแล้วมันคืออะไร ...อะไรมันนั่ง อะไรมันเดิน มันเป็นใคร ของใครในการเดินการนั่ง 

มันสวยมันงามหรือมันไม่สวยไม่งามอย่างไร มันมีความหมายในตัวของมันเองมั้ย อย่างไร มันอยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของใครมั้ย มันควบคุมบังคับได้จริงมั้ย ...เนี่ย มันเข้าใจ

พระพุทธเจ้าต้องการให้เข้าใจความจริงอันนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ต้องการให้เข้าใจว่า ทำไมมันถึงเกิดมาเป็นผู้หญิง ทำไมคนนั้นคนนี้โกรธกู เกลียดกู ไม่รักกู ...“ทำไมมันทำอย่างนั้น ทำไมมันไม่ทำอย่างนี้”

นั่นแหละเขาเรียกว่ามันพยายามจะมุ่งไปหา ไปสร้างความรู้ความเห็นตรงนั้นให้ได้ ...ไอ้ความรู้ความเห็นที่ออกไปตรงนั้นอย่างนั้นน่ะ ท่านเรียกว่าเป็นการส่งออกนอก หรือเรียกว่าเป็นความรู้นอกกายนอกขันธ์ 

หรืออีกภาษานึงเรียกว่า...รู้ไม่จริง เป็นความรู้ที่รู้ไม่จริง เป็นความรู้ที่ไม่เข้าสู่ความเป็นจริง เป็นความรู้ที่มันจะกลับให้ออกนอกความเป็นจริงด้วยซ้ำ ...พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้ไปเข้าใจเหล่านั้นเลย

เพราะนั้นสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น...คือต้องรู้ว่าความเป็นจริงอยู่ที่ไหนก่อน  ซึ่งศีลคือเครื่องหมายยืนยัน...เป็นสัญลักษณ์ที่ยืนยันความเป็นความจริงที่ปรากฏ 

ท่านถึงวางหลักศีลไว้นั่นเอง ว่าศีลน่ะเป็นกรอบ เป็นเครื่องหมายที่แสดงความเป็นจริง ...ความเป็นคน ความเป็นปัจจุบันภพ ความเป็นปัจจุบันชาติ

ถ้ามันออกนอกความเป็นจริงของกายนี้เมื่อไหร่ ก็เรียกว่าออกนอกปัจจุบันภพ ออกนอกปัจจุบันชาติ มันจะมั่วแล้วๆ นี่เริ่มมั่วแล้ว จิตเริ่มพามั่ว พาวนแล้ว พาหลงแล้ว พาระเหเร่ร่อนไปมาเหมือนสัมภเวสีแล้ว 

คือไปตามอำนาจของวิญญาณจะพาไป ...วิญญาณคือการรับรู้ วิญญาณคือหนึ่งในกองขันธ์ มันจะเกิดขึ้นทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางจิต ทางอารมณ์ พวกนี้ 

วิญญาณมันจะไปรับรู้ ...แล้วก็ความไม่รู้มันก็จะล่องลอยไปกับวิญญาณที่มันไปรับรู้ตรงไหนมันก็จะลอยไปกับตรงนั้น ...นี่เขาเรียกว่าวิญญาณพเนจร

เพราะนั้นศีลนี่คือเป็นกรอบ...เจ้าของกาย เจ้าของปัจจุบันชาติ เจ้าของปัจจุบันภพ ...นี่ เจ้าของบ้านก็ต้องอยู่กับบ้าน อยู่กับเหย้า อยู่กับเรือน


แล้วจำไว้เลย...เวลารู้กาย เวลารู้ตัว เวลารู้กับอิริยาบถ ...มันจะไม่มีความรู้อะไรหรอก เหมือนโง่ เหมือนมันไม่มีความรู้อะไร 

ทำไมถึงรู้สึกอย่างนั้น ...เพราะมันจะไม่มีจิตที่ส่งออกไปรู้เรื่องราวภายนอก...ไอ้ที่ว่ามันรู้อะไรๆ นั่นแหละคือรู้นอก ...พอมันมารู้อยู่กับกายแล้วมันจะไม่รู้อะไร 

ตรงนี้ที่มันไม่เข้าใจ ...แล้วมันติดความรู้ภายนอก แล้วมันเข้าใจว่าถ้าไม่มีความรู้แบบภายนอกตรงที่รู้อยู่ตรงนี้ มันไม่เรียกว่าเกิดปัญญา เข้าใจมั้ย ไอ้ความรู้ภายนอกนั่นเขาเรียกว่า ความฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อในธรรมต่างหาก  

เพราะนั้นเมื่อใดที่มารู้ตัว อยู่กับตัว นั่งแล้วก็มีแค่นั่งกับรู้ แค่นี้ ไม่เห็นรู้อะไรเลย ...เออ นั่นแหละรู้จริง ...และต้องการให้รู้อย่างนี้ ต้องการให้จำกัดความรู้ให้เหลือแค่รู้เดียว 

ถ้ามันไม่จำกัดจิตให้รู้ ไม่จำกัดจิตให้อยู่ในที่เดียว ก็ไม่เรียกว่าจิตหนึ่ง ...จิตหนึ่งมันก็ต้องรู้หนึ่งดิ มันจะไปรู้สองสามสี่ มันจะเรียกว่าจิตหนึ่งได้มั้ย ...ไอ้ความรู้มากมายมันก็มากเกินไป มันเกินหนึ่ง 

แต่ถ้ามันรู้เดียวกับกายเดียวนี่ มันไม่มีความรู้อะไรหรอก ... เรียกว่ารวมจิตเป็นหนึ่ง...สิ่งที่มันเห็นก็เห็นสิ่งเดียว สิ่งที่มันรู้ก็รู้แค่อันเดียว


(ต่อแทร็ก 12/16)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น