วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 12/13



พระอาจารย์
12/13 (560929A)
29 กันยายน 2556


โยม –  นิมนต์หลวงพ่อไปตรวจสุขภาพประจำปี

พระอาจารย์ –  เอาจิตตรวจแล้ว ไม่เป็นไร ตรวจทั้งวัน ตรวจตั้งแต่หัวจรดตีน ก็ไม่เห็นเป็นไง ก็เห็นมันเป็นแค่ธาตุ ถ้าเราไม่ว่ามันก็ไม่เป็นอะไร

เหมือนคนดูข่าว แล้วหมอก็บอกว่าอาการนั้นเป็นอย่างนั้น มันก็เริ่ม “เอ๊ะ กูเป็นรึเปล่าวะ” ทั้งๆ ที่แต่ก่อนไม่เคยเป็น พอหมอบอกว่าลักษณะนี้เป็นโรคอย่างนี้ มันก็หาใหญ่อาการอย่างนี้ ...“เอ๊ กูเป็นรึเปล่าวะ”

มันไม่เป็นอะไรหรอก ...เข้าโรงพยาบาลก็ต้องให้มันหามไปก่อนนั่นแหละถึงไป เราเข้าโรงพยาบาลสองครั้งนี่ เขาหามไปนะทั้งสองครั้ง ไม่ใช่ได้ไปเองนะ หามไป เพราะเดินไม่ได้แล้ว...(เล่าเรื่องที่ท่านเคยเข้าโรงพยาบาล)


โยม –  ตอนเวทนามันกินขนาดนั้น  มันยังรู้อยู่มั้ยเจ้าคะ มันยังชัดอยู่มั้ยเจ้าคะ ชัดที่เวทนามั้ยเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  รู้ ...เวทนาก็เท่ากันแหละ ... เพราะวิญญาณรับรู้นี่  วิญญาณก็คือวิญญาณ  ขันธ์ห้านี่มันมีส่วนนึงที่เรียกว่าวิญญาณ ...ซึ่งวิญญาณนี่ มันไม่ได้เป็นสัตว์บุคคล 

เพราะนั้นมันไม่เลือกไง มันไม่สามารถเลือกได้...ว่าจะรับรู้แค่นี้ จะรับรู้เท่านั้น หรือจะรับรู้ต่างกัน หรือจะรับรู้น้อยลงกว่าเดิม ...คือขันธ์มันจะปรากฏยังไง วิญญาณจะรับรู้เท่าเดิม...ทุกคนน่ะ 

วิญญาณนี่คือระบบประสาทนั่นเอง เพราะนั้นการรับรู้ทางอายตนะหกนี่ หมายความว่า กาย เวทนา สัญญา สังขาร แล้วก็ผัสสะทั้งหกนี่ มันก็รับรู้ผ่านวิญญาณ วิญญาณก็มีหน้าที่รับรู้

เพราะนั้นสภาพวิญญาณนี่มันก็คล้ายๆ กับใจน่ะ มันจะเป็นกลาง ...คือขันธ์เป็นยังไง วิญญาณรับรู้อย่างนั้น 

ไม่ว่าเป็นพระอรหันต์ ไม่ว่าเป็นพระอริยะขั้นไหน ไม่ว่าจะเป็นปุถุชน ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน เพศพรรณวรรณะไหนนี่ ... วิญญาณในขันธ์นี่ มันจะรับรู้อาการในขันธ์...เท่าที่ขันธ์มันปรากฏ

พออาการของขันธ์มันเปลี่ยน วิญญาณก็หยุดการรับรู้ทางนั้น มันก็ไปรับรู้ทางอื่น ...ก็เรียกว่าวิญญาณก็เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ ถ้ามันไม่มีวิญญาณนี่ มันจะสืบกับขันธ์ไม่ได้ 

เสร็จแล้วพอวิญญาณมันรับรู้ มันก็เกิดการรู้เป็นเวทนาทางหู ทางตา ทางกาย ทางจมูก ทางลิ้น ...มันเป็นเวทนานะการรับรู้นี่ ระบบประสาทมันก็ถ่ายทอดมาเป็นเวทนา 

พอเวทนา...ก่อนที่มันจะเข้าถึงใจ ก่อนที่มันจะเข้ามาถึงใจนี่ มันก็จะผ่านตัวอวิชชา...เพราะอวิชชามันครอบใจอยู่ ...เพราะนั้นพอมันผ่านอวิชชาปุ๊บนี่ จิตนี่ หรืออวิชชานี่ มันจะแปลความหมาย 

มันจะเกิดการแปลภาวะในความหมายวิญญาณที่มันรับรู้ทางขันธ์ ทางโลก ทางอายตนะ ...แล้วก็เกิดความปรุงแต่งขึ้นในวิญญาณการรับรู้นั้น

พอวิญญาณรับรู้จิตปรุงแต่ง มันก็จะจดจำสัญญาที่มันเคยหมาย...หมายสุข หมายทุกข์ไว้  ลักษณะนี้มันเรียกว่าสุข ลักษณะนี้มันเรียกว่ามาก ลักษณะนี้มันเรียกว่าน้อย อย่างนี้ควรชอบ ไอ้อย่างนี้ไม่ควรชอบ นี่ 

แล้วจะต้องจัดการอย่างไรกับมัน  จะต้องผลักมัน ดึงมัน จะเหนี่ยวรั้งมัน จะต้องทำให้มันมากน้อย ...ตัวนี้ตัวจิตมันจะทำงานแล้ว เนี่ย ความวุ่นวี่วุ่นวายมันก็จะเกิดขึ้นตรงนี้

แต่ถ้ามันแยกออก ...การรับรู้นี่ก็คือการรับรู้ผ่านวิญญาณ ขันธ์เป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น วิญญาณก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ใครของใคร ...ขันธ์ก็เป็นอาการที่มันดำรงสภาพตามวาระของมัน 

มันมีวาระใดขึ้นมามันก็รู้วาระนั้น  พอมันหมดวาระขันธ์นั้นมันก็เปลี่ยนวาระ ไปทางหูบ้าง ทางตาบ้าง ทางจมูกบ้าง อะไรมาก่อนมาหลังก็รับรู้ไป มันก็จะรับรู้โดยทั่วโดยรวมผสมกลมกลืนกัน ...มันก็รับรู้ไป

วิญญาณมันก็ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นผู้ถ่ายทอดน่ะ เหมือนเป็นผู้สื่อสาร เมสเสนเจอร์ พวกเดินเอกสารประมาณนั้น ...วิญญาณทำหน้าที่อย่างนั้น ไม่มีสิทธิ์ไปเลือกไปบ่นไปแบ่งหรือไปอะไร วิญญาณขันธ์นี่

เพราะนั้นตัววิญญาณนี่ มันจะมีเป็นลักษณะที่มันดูเหมือนใกล้เคียงกับใจ ...ซึ่งถ้ามันไม่มีปัญญาที่เข้าไปแยกแยะระหว่างมโนวิญญาณกับตัวใจนี่ มันก็จะเข้าใจว่ามันเป็นตัวเดียวกัน

แต่ละคนมันก็จะเข้าใจว่า...เอ๊ะ ไม่เห็นจะต้องรู้อะไรเลยนี่ มันก็รู้อยู่แล้วนี่ การรับรู้มันมีอยู่แล้วนี่  ไม่เห็นต้องมีสติเลย ไม่เห็นมันต้องมีสติมันก็รู้ ทำอะไรได้หมด 

ได้ยินได้เห็นอะไรมันก็รู้ ไม่รู้มันก็พูดไม่ได้ มันก็ทำตามที่เสียงพูดถึงหรือการกระทบสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง มันก็ยังหยิบผ้าห่มมาคลุม อาบน้ำร้อนอาบน้ำเย็นมันก็รู้ได้โดยที่ไม่เห็นจะต้องมีสติ

จริงๆ ไม่ใช่ มันคนละตัวกัน ...มันไม่ใช่รู้ตัวนั้น ไม่ใช่รู้แบบปุถุชน รู้แบบสัตว์ รู้แบบสัญชาตญาณของสัตว์ นั่นมันจะรู้โดยสัญชาตญาณ คือเป็นส่วนของขันธ์ 

แต่กระบวนการของมันถูกพาดำเนินโดยอำนาจของจิตอวิชชาหมดเลย ...เพราะมันไม่เข้าถึงใจ นี่ มันไม่เห็นใจ ที่มันแยกออกมาจากขันธ์โดยเป็นคนละส่วนกันกับขันธ์ 

นี่ มันก็เข้าใจกันว่า การรับรู้นั่นเป็นเรื่องของเรา...เราคือรู้ รู้คือเรา มันตัวเดียวกันกับวิญญาณ ...ซึ่งความจริงไม่ใช่ ... เรากับใจ ใจกับเรานี่คนละมิติกันเลย

แต่ไอ้เรากับรู้...รู้ในวิญญาณนี่ วิญญาณการรับรู้นี่ เป็นเรารับรู้นี่ มันก็เกิดความเป็นเรารับรู้ทางตา เราเห็น เราได้ยิน นี่ ...ที่จริงมันเป็นการรับรู้ผ่านวิญญาณ 

แต่ว่าก่อนที่มันจะเข้าถึงใจ มันก็มาตายอยู่กับอวิชชาความไม่รู้ตรงนี้...ที่มันเข้าไปบอกว่าการรับรู้นี่เป็นของเรา เพราะว่าอวิชชานี่มันเข้ามาครอบครองขันธ์...โดยตัวหลักตัวใหญ่คือการรับรู้ผ่านอายตนะนั่นแหละ

กว่าที่มันจะแยกขันธ์โดยละเอียด เรียกว่าเกิดการจำแนกธาตุ จำแนกขันธ์ ...มันก็จะเห็นความปรากฏขึ้น ความเกิดดับสลับไปมา ความแยกส่วนกัน ความไม่เป็นชิ้นเป็นอันของขันธ์

ที่มันต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างเกิด ต่างอันต่างทำหน้าที่ ต่างหน้าที่กันไปมาอย่างนี้ ...แล้วก็ในการปรากฏขึ้นมาทำหน้าที่ในสิ่งนั้นๆ อาการนั้นๆ มันก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ 

หาความเที่ยงแท้ หาความถาวร หาความเป็นตัวตน หาความบุคคล หาความเป็นเราของเรา หาความเป็นชื่อเป็นเสียง...ไม่มี ... นี่ มันก็จะแยกออก

เพราะนั้นไอ้ตัวที่มันจะแยกออกนี่ มันก็ต้องอยู่ในฐาน...ฐานของใจ ไม่ใช่ฐานของวิญญาณ ...ถ้าอยู่ในฐานของวิญญาณก็จะเป็นเรา

เพราะนั้นถ้าเป็นเราเป็นผู้ไปแบ่ง เป็นผู้พิจารณานี่  ถ้าเอาเราเป็นผู้พิจารณา เรารู้เราเห็นนี่ ว่าเรารู้เราเห็น ...มันก็จะมีเราสอดแทรกความคิดเข้าไป เราก็จะสอดแทรกความเห็นเข้าไป 

ด้วยการประเมินบ้าง ด้วยการคิดไปพิจารณาไปบ้าง  ฟุ้งซ่านไปมานั่นแหละ  คือเข้าไปตีความโดยอาศัยบัญญัติสมมุติ ...นี่ เพราะนั้นไอ้ตัวเรารู้ กับตัวจิตผู้รู้จริงๆ มันคนละมิติกัน 

การที่มันจะเข้ามาถึงใจ แล้วก็อยู่กับใจ แล้วก็ชัดเจนที่ใจรู้ ใจเห็นนี่ มันจึงจะเข้าใจธรรมโดยรวม เข้าใจขันธ์โดยรวม ...เพราะว่ามันจะเข้าใจโดยลักษณะของการที่ว่า แค่รู้และเห็น ไม่มีความคิดไม่มีความเห็น

แต่ถ้าเป็นเรารู้ มันจะมีความคิดความเห็น ...เชื่อไม่ได้  ถ้าเอาเรารู้แล้วคิดตาม พิจารณาไปตามที่เข้าใจ อยากจะเข้าใจยังไง มันก็จะหยิบยกแง่มุมนั้นขึ้นมาตีความ ...แล้วก็เกิดความพึงพอใจ 

ไอ้ความพึงพอใจนั่นแหละ คือเกิดความยอมรับในเรา  จริงๆ มันเป็นความพึงพอใจแต่ละบุคคลเท่านั้นเอง เพราะนั้นมันจะตีในแง่มุมไหน แล้วมันก็ไปสุดแค่ตรงนั้น แล้วมันก็เข้าใจว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

เช่นถ้าหยิบยกเอากายมาพิจารณาในแง่อสุภะ มันก็จะถึงที่สุดของอสุภะ มันก็จะเกิดความพึงพอใจในความเป็นอสุภะ แล้วก็เข้าใจว่ากายนี่เป็นอสุภะ ...แต่จริงๆ มันเป็นแค่ความเห็นหนึ่งของเราเท่านั้นเอง 

นี่ยังไม่ใช่ ...มันยังไม่ใช่สภาพธรรมตามจริง

แต่ถ้าเอาใจเป็นผู้พิจารณา ...ไม่ได้ใช้ความคิดนะ แต่พิจารณาโดยใคร่ครวญในธรรม สังเกตในธรรม โยนิโสในธรรม วิจยะในธรรม  

เรียกว่าตัวนั้นน่ะ มันพิจารณาธรรม พิจารณาขันธ์โดยอาศัยญาณทัสสนะ ที่เกิดจากใจ เข้าใจมั้ย ที่เกิดจากใจ ...เพราะนั้นความรู้ความเห็นที่เกิดจากใจนั้นมันจึงตรง...ตรงต่อสภาพ 

แล้วมันไม่ตรงอย่างเดียว มันจะเหมือนกันหมดทุกคน ...หมายความว่าถ้าเอาใจพิจารณา ไม่เอาเราพิจารณา ไม่เอาเราผู้รู้หรือเราความคิดเราไปพิจารณานี่นะ

ถ้าเอาใจเป็นผู้รู้ผู้เห็น เอาจิตผู้รู้นี่เป็นผู้พิจารณาธรรม สภาพธรรม...ที่ไม่ว่าสัตว์ไหนบุคคลไหน นักปฏิบัติเส้นทางสายไหนนี่ จะเห็นธรรมเป็นหนึ่งเดียวกันหมด ไม่มีคำว่าแตกต่างแบ่งแยก 

จะไม่มีว่าเห็นเป็นอสุภะบ้าง เห็นเป็นธาตุบ้าง เห็นเป็นความว่างบ้าง เห็นเป็นอะไร ...มันจะเห็นเหมือนกันหมดว่าเป็นอะไร เป็นความจริงเดียวกันหมด ...เรียกว่าธรรมเป็นหนึ่ง เห็นความจริงในธรรม

เหมือนกับแม่น้ำร้อยสายรวมลงที่มหาสมุทรหมดเลย  ธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็รวมลงเป็นมหาสมุทร 

เหมือนเกลือที่ยังไงก็เค็มวันยังค่ำ ไม่ว่าจะหยิบตรงไหน จับตรงไหนก็เค็ม น้ำเค็มหมด มันรวมลงแล้วก็เป็นเนื้อเดียวกันรสชาติเดียวกันหมด รสชาติของพระธรรม

เพราะนั้นการที่มันจะแยกใจออกจากขันธ์ได้ มันก็มีการวางหลักไว้ หลักนั้นก็คือศีลสมาธิปัญญานั่นเอง คือถ้ามันไม่มีการระลึก การระลึกรู้ ...คำว่าสตินี่เป็นการระลึก พอมันระลึกขึ้นมาแล้วมันเกิดภาวะรู้ขึ้น

เพราะนั้นไอ้การระลึกรู้นี่ มันก็เหมือนกับการแบ่งจิต มันแบ่งจิต มันแบ่งจิตที่มันทำงาน ...จิตนี่มันมีหลายล้านดวงนะ มันจะปรุง มันจะคิด มันจะสร้างอารมณ์ มันจะทำงานตลอด

มันจะไปไหนมาไหน มันจะไปทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางความคิด ทางอดีต ทางอนาคต  มันไปได้ สร้างได้ตลอดเวลา  มันมีหลายล้านๆ ดวง ...มันสามารถสร้างได้ในขณะเดียวกันนี่ไม่รู้กี่เรื่องราว

แต่การที่เจริญสติขึ้นมานี่ มันจะแบ่งจิต สร้างจิตขึ้นมาอีกดวงนึง...คือรู้  เหมือนกับพอระลึกแล้วมันเกิดการรู้ขึ้นมา ก็เป็นจิตหนึ่งดวง จิตดวงนึงที่อยู่ในหลายล้านดวง แต่ว่ามันทำคนละหน้าที่

ไอ้จิตรู้นี่ จิตที่ถูกแบ่งมาด้วยสติ แล้วก็ระลึกแล้วมันรู้นี่  มันทำหน้าที่รู้ แค่รู้ และก็เห็น ...รู้ก่อน ยังไม่ต้องว่าถึงเห็น ...ทีนี้เอาสติมารู้นี่ เรียกว่าสติเป็นเหมือนอุปการธรรม หรือว่าธรรมเบื้องต้น เป็นพี่เลี้ยง

แล้วก็ถ้าแค่ระลึกรู้ ระลึกรู้ๆๆๆ รู้มันก็จะเป็นลักษณะเรียกว่ารู้ลอยๆ ...ก็เป็นสติเลื่อนลอย ก็เป็นสติที่ระลึกรู้ แล้วก็รู้เกิดขึ้นแล้วก็หายไป สติก็ไม่เที่ยง รู้แล้วก็ดับๆ รู้แล้วก็หายไป 

จิตก็เหมือนกับจิตหลายดวง ถ้ามันไม่สืบเนื่องต่อไป มันก็ดับ ...ถ้าไม่มีการเข้าไปประกอบด้วยเจตนา มันก็ดับ ถ้าไม่ได้เข้าไปประกอบด้วยเจตนาที่เป็นกุศล-อกุศล เดี๋ยวมันก็ดับ

สติเหมือนกัน ถ้าไม่ได้เข้าไปประกอบให้มันต่อเนื่อง มันก็ดับ ...สติก็ไม่เที่ยง ไอ้สติตัวนี้ไม่เที่ยง เพราะมันก็เป็นจิตดวงนึงเหมือนกัน เป็นสังขาร สังขารจิตเหมือนกัน 

เพราะนั้นมีสติอย่างเดียวก็ยังไม่ได้ มันก็เลยต้องมีศีล ...นี่สติมาระลึกรู้ พอรู้เกิดขึ้นแล้วมันไม่ใช่รู้ลอยๆ แล้ว ต้องให้รู้กับอะไร ...ท่านก็เลยบอกว่ารู้กับกายปกติ ปัจจุบันกาย...ก็เรียกว่าศีลนั่นเอง

ก็เจริญสติให้รู้...รู้กับอะไร รู้อยู่กับกาย มันก็จะมีการรู้อยู่ ...แล้วกายนี่มันเป็นอาการที่ต่อเนื่อง มันเป็นอาการวนเวียนซ้ำซาก มันเป็นอาการที่ไม่สูญหาย 

ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะท่าทางไหน เหตุการณ์ไหน สถานที่ไหน อารมณ์ไหน  กายมันมีอยู่ตลอดเวลา มันแสดงอาการเกิดดับแปรปรวนเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่...ในความเป็นกายนี่ มีอยู่ตลอดเวลาเลย

มันไม่เหมือนจิต มันไม่เหมือนกิเลส มันไม่เหมือนความคิดความเห็น มันไม่เหมือนอารมณ์...ซึ่งมันกระท่อนกระแท่น  เดี๋ยวมาก เดี๋ยวน้อย เดี๋ยวหาย เดี๋ยวเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตา ในหลายลักษณะอาการ

เพราะนั้นไอ้รู้ที่จะไปตั้งอยู่กับจิตนี่ ไอ้รู้ที่จะไปอยู่กับเวทนานี่ ไอ้รู้ที่จะไปอยู่กับธรรมารมณ์นี่ มันจึงขาดเป็นห้วงๆ เข้าใจมั้ย  มันไม่สามารถตั้ง...ตั้งรู้ได้ต่อเนื่อง 

เพราะว่าสิ่งที่มันไปรู้นี่ คือจิต คือนาม คือเวทนา ...พวกนี้ เดี๋ยวมี เดี๋ยวไม่มี  บางครั้งก็มีความคิด บางครั้งก็คิดเรื่องนึงแล้วก็เปลี่ยนไปอีกเรื่องนึง แล้วก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

อารมณ์ก็เปลี่ยนไปเรื่อย คนละเรื่องเลย คนละสุดหล้าฟ้าเหวเลยอย่างนี้ ...หรือบางทีก็ไม่มีเลย หาอะไรไม่เจอ ควานอะไรไม่เจอ มันหายไปเลย อย่างนี้

เพราะนั้นไอ้ตัวรู้ สตินี่มันจะอยู่ไม่ได้เลย ...รู้มันจะอยู่ไม่ได้ สติก็ไม่รู้จะไปรู้จับกับอะไรดี ไม่รู้จะเอาอะไรเป็นอารมณ์เป็นการรู้อยู่ ไม่รู้จะรู้อะไร

ตรงเนี้ย ตรงไม่รู้จะรู้กับอะไรดี หาอะไรมารู้ไม่เจอนี่ โมหะมาแล้ว ความหลงน่ะมาคลุมแล้ว ...เพราะความหลงก็คลุมอยู่แล้วตลอดเวลา มันอยู่กับใจตลอดเวลา มันปิดบังใจอยู่ตลอดเวลา

พอมันไม่มีการระลึกรู้ ไม่รู้จะรู้กับอะไรด้วยความต่อเนื่อง โมหะก็ค่อยๆ ซึม ...ปล่อย เกิดความปล่อย ละเลย หายไป ไม่รู้ไปไหน หายไปเลย เพราะมันไม่มีอารมณ์ ความคิดก็ลอย โมหะเต็ม...คลุมหมด

ถึงบอกว่าศีลน่ะเป็นหลัก กายเป็นหลัก ...ที่บอกว่าทำไมถึงกายเป็นหลัก ทำไมถึงต้องมีกรอบของศีลเป็นที่ระลึก เพื่ออะไร เพื่อให้จิตมันตั้งรู้ตั้งเห็นด้วยความต่อเนื่อง

ทำไมต้องอาศัยความต่อเนื่อง ...กำลังไง กำลังของสมาธิไง  ถ้ามันไม่มีความต่อเนื่อง จิตหนึ่งนี่ จิตรู้นี่มันไม่มีกำลัง ...มันไม่มีกำลัง 

แล้วเอากำลังของจิตตั้งมั่นไปทำอะไร เอากำลังของจิตหนึ่งไปทำอะไร ...ก็ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ในขันธ์ในโลก คือสมาธินี่เป็นเหตุให้เกิดปัญญา

เพราะนั้นถ้ามันไม่มีกำลังของสมาธินี่ มันจะเป็นเหตุให้เกิดปัญญาได้มั้ย มันจะซัพพอร์ทให้ปัญญาเกิดมั้ย ...ไม่ได้  

เพราะนั้นถ้าไปตั้งอยู่กับจิตชั่วคราวนึงแล้วก็หายไป รู้กับกิเลสเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็หายไป ...รู้ก็หายไปพร้อมกัน มันไม่ต่อเนื่อง มันไม่มีกำลังของสมาธิเลย ...จิตก็หาย เดี๋ยวก็รู้เดี๋ยวก็หายๆ มันไม่มีความต่อเนื่องมั่นคง

แต่ถ้ามันมารู้กับกายกับศีลนี่ กายมันมีตลอดน่ะ จิตมันก็รวมเป็นหนึ่ง ...มันไม่ได้รวมแค่ขณะเดียวน่ะ มันก็ต่อเนื่อง ตั้งมั่น ต่อเนื่องๆๆ มันก็รวม

ในหนึ่งขณะที่รู้มันปรากฏ ที่มันระลึกแล้วก็รู้ แล้วก็มีการรู้อยู่ภายในนี่ ไม่ว่าจะรู้ลอยๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะรู้กับกาย รู้กับจิต รู้กับเวทนา รู้กับธรรม รู้กับอารมณ์ก็ตาม แล้วมันมีการระลึกรู้ขึ้นมาในสติปัฏฐานใดก็ตาม

การที่มีการรู้ปรากฏขึ้นภายในนี่ ...ถ้าให้เปรียบนี่เหมือนกับขณะนั้นน่ะมันมีแสงสว่าง อยู่ที่ใจนี่ปรากฏขึ้นหนึ่งแรงเทียนน่ะ ...เอ้า เป็นหนึ่งแรงเทียน ความสว่างระดับหนึ่งแรงเทียน คือหนึ่งขณะรู้น่ะ

แต่ถ้ามันรู้ได้ต่อเนื่องกับกายนี่ จากหนึ่งแรงเทียน มันก็เป็นสองแรงเทียน สามแรงเทียน ...เพราะรู้มันต่อเนื่อง มันก็สะสมกำลัง ...ไอ้นี่คือกำลังของสมาธิ 

จากสองสามแรงเทียน เป็นสิบ สิบห้าแรงเทียน ยี่สิบแรงเทียน สามสิบ ห้าสิบแรงเทียน ร้อยแรงเทียน ...ถามว่าร้อยแรงเทียนกับหนึ่งแรงเทียนนี่  ความสว่างต่างกันมั้ย...ต่าง ต่างกันแบบชัดเจนเลย 

แต่ไอ้ตอนหนึ่ง...หนึ่งแล้วศูนย์ๆๆ นี่ ...มันไม่รู้ว่าแรงเทียนคืออะไรน่ะ สว่างคืออะไรก็ยังไม่รู้เลย ...แล้วมันจะเข้าใจอะไรมั้ย มันจะเห็นอะไรชัดเจนมั้ย ...ไม่เห็น

มันมืด ...แม้จะมีเดี๋ยวก็วูบวาบเห็น แต่ไม่รู้เห็นอะไร แล้วก็หายไป ...นี่ มันจะเข้าใจอะไร มันยังไม่ทันเข้าใจอะไรก็หายไปแล้ว แสงสว่างก็เรียกว่าขาด หลอดขาดน่ะ หลอดไฟขาดก็มืด

สิ่งที่มันห่อหุ้มขันธ์ สิ่งที่มันปกคลุมขันธ์ก็คืออวิชชา ตัณหา อุปาทาน...ก็คลุมปึ่บ มืดหมด เกิดความมืดบอด ปัญญาไม่เกิด 

แต่พอมันมาตั้งขึ้นสว่างขึ้นหลายๆ ขณะ หลายๆ ขณะ แรงเทียนมากขึ้น สว่างมากขึ้น ...มันก็เริ่มเห็นเงาลางๆ แล้วว่า เออ ไอ้ที่อยู่เบื้องหน้ามัน...ซึ่งก็คือกายนี่เป็นหลักนะ

ความมืดบอด ความมืด ความหมอง ความมัว ความที่เกิดเนื่องด้วยอวิชชาตัณหาอุปาทานที่มันมาครอบงำปิดบัง มันก็ถูกแสงสว่างสิบแรงเทียนยี่สิบแรงเทียนที่มันเริ่มสว่างขึ้นมานี่ขับไล่ ขจัด สลาย 

มันก็เห็นสิ่งที่อวิชชาตัณหาอุปาทานมันปกคลุมปิดบัง คือกายแท้ๆ หรือกายธาตุ กายมหาภูตรูปชัดขึ้น ...นี่ ด้วยสิ่งที่เขาเรียกว่าแสงสว่างแห่งปัญญา คือแสงสว่างของใจนั่นเอง 

เพราะใจที่ปรากฏขึ้น มันก็มีความสว่าง สะอาด ในตัวของมัน มันฉายไปตรงไหน ทุกอย่างที่มันฉายส่องลงไปนี่ มันก็ไปไล่ความมืดที่มันคลุม ที่มันบัง ที่มันครอบไว้ในสิ่งนั้นๆ ออก ขจัดปัดเป่าออกไป

เพราะนั้นมันก็เกิดอาการเห็น...เห็นความเป็นจริง ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในกาย เห็นความเป็นไปของกายที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ...ชัดขึ้นๆ ตามลำดับ 

นี่อำนาจของสมาธิ ...และถ้ารักษาอยู่อย่างนี้ รักษาคือทำให้เจริญ หรือว่าเพิ่มแรงเทียนขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ...ต่อไปมันก็ยิ่งกว่าสปอตไลท์น่ะ

นี่อำนาจของสมาธิอย่างเดียว อำนาจของการที่รวมรู้รวมเห็นอยู่ในที่อันเดียว มันก็สว่าง กระจ่าง  ...เรียกว่าสว่างที่ไหน มืดไม่สามารถอยู่ที่นั้นได้ 

ไม่มีเงาเลยน่ะ ...มันจะไม่มีเงา ที่จะมาแอบ ที่จะมาทำให้ไอ้เงามืดปรากฏ...เงามืดในกาย แล้วต่อไปเงามืดในขันธ์ก็ไม่มี ...คือไอ้ที่ตรงไหนที่มันเป็นเงาน่ะ ตรงนั้นน่ะสงสัย 

เพราะมันไม่เห็นว่าตรงนั้นคืออะไร มันก็จะเกิดความสงสัยในธรรมในขันธ์ ส่วนนี้คืออะไรวะๆ ...นี่เพราะมันมีเงา เหมือนมีเงาอยู่ แสงสว่างมันเข้าไปไม่ถึง

จนกว่าอำนาจของสมาธินี่มันตั้งรู้ เข้าใจ แจ้ง แทงตลอดเลย ...มันทะลุตลอด มันสว่างขนาดนั้นน่ะ ปัญญา ...ซึ่งมันไม่ได้เกิดจากการนึกน้อมพิจารณาอะไรหรอก แต่เกิดไปตามลำดับของศีลสมาธิปัญญานั่นเอง 

แล้วมันก็...ไอ้ตัวใจนี่มันเกิดสภาวะที่ เหมือนแว่นขยายสอดส่องอยู่ภายใน มันมีความสอดส่องอยู่ภายใน ทำความรู้ความเห็นอยู่ภายในนั่นเอง รู้นอก...ไม่เอาเลย

เพราะอะไร เพราะในขณะที่มันอยู่ในอำนาจของสมาธินี่ เบื้องต้นหรือท่ามกลางก็ตาม สมาธิ จิตตั้งมั่น สัมมาสมาธินี่คือภาวะที่เรียกว่าระงับกายสังขาร จิตสังขาร มโนสังขาร กายวิญญาณ ระงับอดีต-อนาคต

เพราะนั้นคำว่าระงับนี่ หมายถึงว่าในขณะนั้นน่ะ กิเลสนี่มันแค่สงบ สยบ หมอบ เข้าใจมั้ย ...มันยังไม่ตายๆ แต่มันสงบระงับอยู่ได้ด้วยอำนาจของสมาธิ ศีล และก็ปัญญาในระดับนึงเท่านั้นเอง 

ซึ่งมันพร้อมที่จะแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา ...แต่คราวนี้ว่าถ้าผู้ปฏิบัติภาวนานี่ไม่เข้าใจ แล้วก็ไปพยายามบังคับกดหัวมันไว้ ไม่ให้มันเผยอเลยน่ะ 

นี่ก็เรียกว่ามันจะเริ่มเข้าไปในภพสงบแล้ว หรือว่าภพว่าง ภพนิ่ง หรือว่าภพที่ไม่ใช่เกิดความรู้ความเห็น ความแจ้งในขันธ์ในโลกหรอก


(ต่อแทร็ก 12/14)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น