วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/29 (1)



พระอาจารย์
12/29 (561216A)
16 ธันวาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เดี๋ยวนี้ ภาวนาอะไรอยู่ล่ะ ภาวนาอะไรเป็นหลัก

โยม –  ภาวนาพุทโธเป็นหลักค่ะ


พระอาจารย์ –  สงบบ้างไหม

โยม –  สงบบ้างค่ะ


พระอาจารย์ –  ภาวนาพุทโธน่ะ มันสงบบ้างไม่ได้ ...มันต้องสงบมากๆ น่ะ ไม่งั้นมันไม่พอ...ไม่พอให้เกิดปัญญา 

แค่เอาล่อเอาเถิดกับจิตสงบก็เสียเวลาไปครึ่งค่อนชีวิตแล้ว มันก็ยังสงบไม่ถึงฐานสักที  คนสมัยนี้...หาความสงบได้ยาก ทำความสงบได้ยาก ปัญญามันก็ไม่เกิด  

การรักษาจิตนี่ รักษาจิตได้ยาก สงบแล้วมันรักษาจิตไม่อยู่ รักษาให้มันสงบต่อเนื่องไม่ได้  พอมาทำงานทำการน่ะ กระเจิดกระเจิงหมด ล่องลอย เผลอเพลิน ...ใช่มั้ย

เพราะนั้นกรรมฐานภาวนาที่มันเหมาะกับคนที่ยังข้องแวะอยู่กับโลก ต้องหนักไปทางสติ ให้มาก...ฝึกสติ เจริญสติในกายน่ะ ทำให้มาก ...เพราะมันเป็นการเจริญสติ ได้สติที่ได้พร้อมกับปัญญาไปด้วย 

แล้วมันไม่มีขั้นตอนอะไรหรอก มันไม่หลายขั้นตอน ...ถ้าภาวนาเอาความสงบกันก่อนนี่ มันมีหลายขั้นตอน กว่าที่มันจะเกิดปัญญาที่แท้จริง จนเป็นปัญญาขั้นสมบูรณ์

การเจริญสติในกายโดยตรงเลย โดยไม่ต้องรอให้มันสงบก่อน ...มันจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงไปทุกขณะเวลาที่มีสติอยู่กับปัจจุบันกาย ...สงบหรือไม่สงบไม่สำคัญ

มันสำคัญที่มันรู้มันเห็นความเป็นจริงของกายมากขึ้นกว่าเก่าก่อน ...การรู้เห็นความเป็นจริงนี่แหละคือปัญญา รู้เห็นอย่างที่มันปรากฏ เท่าที่มันปรากฏนั่นแหละ...แล้วก็เชื่อ

ถ้าไม่เชื่อก็ให้รู้ว่าปัญญายังไม่พอ ถ้ามันเชื่อก็พอ  ถ้ามันเชื่อแล้วยังกลับไปเชื่ออย่างเดิมอีกก็ยังไม่พออีก ถ้ามันเชื่อแล้วไม่กลับไปเชื่อไอ้อย่างเดิมอีกเลย นั่นแหละพอแล้ว

เพราะนั้นต้องเจริญปัญญาจนกว่ามันจะเชื่อ แล้วก็ยอมรับแบบไม่หวนเลยน่ะ ไม่สงสัยลังเลเลยว่ากายตามความเป็นจริงนี้ มันไม่ใช่ใคร..ของใคร  มันไม่มีความสุข มันเป็นทุกข์ มันแปรปรวน 

นั่นแหละมันจะเชื่อ...ปัญญามันเกิดขึ้นก็จะค่อยๆ เชื่อไป ...ปัญญาไม่เกิดมันก็ไม่เชื่อ มันก็เชื่อแบบเดิมของมัน ว่ากายนี้เป็นเรา กายนี้เป็นหญิง กายนี้เป็นชาย 

แล้วมันยังหาความสุขในกายนี้ได้อยู่ ยังเป็นความสุขของเราในกายนี้อยู่ ยังเป็นทุกข์ของเราอยู่ในกายนี้ นี่ มันเป็นความเชื่อแบบที่มีในทุกคน เป็นทุกคนน่ะ 

ไอ้ความเชื่ออย่างนี้แหละ ท่านเรียกว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วไอ้ความเชื่อแบบมิจฉาทิฏฐินี่ มันก็ทำให้เกิดทุกข์ เป็นทุกข์ในกาย

เพราะนั้นทุกข์ในกายนี่ เนื่องด้วย “กายเรา” นี่  มันเป็นทุกข์ประจำของปุถุชน..เป็นทุกคน  แล้วมันเป็นทุกข์เบื้องต้น ทุกข์หยาบๆ เพราะมันเป็นขันธ์หยาบๆ

กายมันเป็นขันธ์หยาบ...ในขันธ์ห้านี่ กายมันหยาบที่สุดแล้ว ...เพราะนั้นเบื้องต้น เริ่มต้น เริ่มแรก มันก็ต้องมาเรียนรู้กับขันธ์หยาบนี่เสียก่อน

จนกว่ามันจะเกิดความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง จนมันทิ้งขันธ์หยาบ  นี่ ปัญญาที่เข้าไปเรียนรู้กายเห็นกาย มันก็เป็นปัญญาขั้นหยาบ มาเรียนรู้กับขันธ์หยาบ ...แต่อย่าไปประมาทว่ามันหยาบ

เพราะถ้ามันไม่เริ่มจากหยาบไปก่อน มันจะพัฒนาไปเป็นปัญญาขั้นกลาง ขั้นละเอียด ประณีตไม่ได้ ...ถ้ามันยังละขันธ์หยาบไม่ได้นี่ มันจะไปละขันธ์ละเอียด ขันธ์กลาง ขันธ์ประณีตไม่ได้

เพราะนั้นในเบื้องต้น เรื่องกายนี่ เป็นเรื่องอันดับแรก ที่จะต้องเรียนรู้ ที่จะต้องเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงกับมัน จนหมดสิ้นซึ่งความเป็นกายเราเสียก่อน

ไอ้สภาวะจิตสภาวธรรมบ้าบออะไรนั่นน่ะ ไม่ต้องไปไขว่คว้ามันหรอก มันละเอียดเกินไป ...ปัญญาขั้นละเอียดยังไม่เกิด มันจะหลง หลงสภาวะจิต หลงสภาวธรรมไป

เพราะนั้นการภาวนาก็คือการกลับมาเรียนรู้ดูเห็นความเป็นไปของกายนี่แหละ อย่างที่มันปรากฏในปัจจุบัน ...ไม่ต้องไปคิดไปนึก ไปหาไปค้น...มันมีให้เห็น มันแสดงให้ดูอยู่แล้ว

เพียงแค่เอาสตินี่มากำกับ มารู้มาเห็น มากำกับการปรากฏของกายในปัจจุบัน ด้วยความไม่ย่อท้อ ด้วยความมั่นคง ด้วยความตั้งใจ ด้วยการที่ไม่มีเวลาหยุดพัก ไม่มีเวลารอ ...ทำให้ต่อเนื่องไป

มันก็ค่อยๆ ครอบคลุมความรู้ความเห็นภายใน ที่เรียกว่าปัญญา...คือรู้จริงเห็นจริงตามสภาพของมัน ...ไม่ใช่รู้ตามสภาพความคิดนึก ไม่ใช่รู้ตามสภาพความจำ 

แล้วก็ไม่ใช่รู้ตามสภาพบัญญัติ ไม่ได้รู้ตามสมมุติ ไม่ได้รู้ตามสภาพในตำรา ไม่ได้รู้ตามสภาพที่คนอื่นเขาบอก ไม่ได้รู้ตามสภาพที่คิดเอาเองเชื่อเอาเอง นั่นน่ะ

ก็รู้เห็นตามสภาพที่มันเป็นจริง มันก็จะเข้าใจสภาพที่แท้จริงของกายมากขึ้นตามลำดับ  พร้อมๆ กับการยอมรับไปตามลำดับ แล้วก็ถอดถอนความเห็นเก่าๆ ความเชื่อเก่าๆ

นั่น ความหมายมั่นว่าเป็นกายเราของเรา มันก็ค่อยๆ จางคลายลงไป...ตราบใดที่ยังไม่หยุดยั้งในการระลึกรู้ การดู การเห็นในกาย...ด้วยความต่อเนื่อง นะ

แต่เมื่อใดที่ละการภาวนา ขาดการภาวนา  ไม่รู้ ไม่ดู ไม่เห็นในปัจจุบันกายด้วยความต่อเนื่อง ...เวลานั้นก็เป็นเวลาพอกพูนของความเชื่อความเห็นเก่าๆ ว่ายังเป็นเราของเราอยู่ต่อไป

แล้วก็ทำตามอำนาจของเราไปไม่หยุดไม่ยั้ง นี่ เหมือนกับพอกพูนเสริมอำนาจของความไม่รู้ให้มันมีกำลัง ให้มันพอกพูน ให้มันหนาแน่น ให้มันครอบคลุม

เพราะนั้นการภาวนาในเบื้องต้นนี่ ที่มันยังไม่ละความเห็นที่เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิในกายนี้ได้อย่างเด็ดขาด ...มันก็เหมือนกับการชิงพื้นที่กัน

เมื่อใดที่มันรู้อยู่เห็นอยู่ในกายปัจจุบัน...เมื่อนั้นกิเลสเกิดไม่ได้ หรือว่ากิเลสมันไม่งอกงาม มันชะงักงันไป ...แต่เมื่อใดที่ขาดการภาวนา ขาดสติ ขาดการระลึกรู้กำกับอยู่กับกายปัจจุบันนี่ 

มันไปอยู่กับความคิดความปรุง ไปอยู่กับเรื่องราวภายนอก ไปอยู่กับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส กับหน้าที่การงาน กับอดีต กับอนาคต ...เมื่อนั้นน่ะ กิเลสก็งอกงาม 

แล้วเมื่อไหร่มันจะเห็นผล ...ก็เมื่อใดที่มันมารู้เนื้อรู้ตัว...อยู่กับกายอยู่กับใจปัจจุบันนี่ ได้มากกว่าไม่รู้เนื้อรู้ตัวนั่นแหละ ...ถ้ามันได้มากกว่าเมื่อไหร่นี่ มันจะเห็นผลเป็นกอบเป็นกำ

แต่ถ้ายังน้อยอยู่ ไม่ต้องไปหาผลหรอก...แทบจะไม่ได้อะไร เหมือนจะไม่ได้อะไรเลย ...แต่จริงๆ มันก็ได้อยู่  แต่มันไม่สามารถจับต้องในผล...ว่าละวางจางคลายอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอันเลย

เพราะนั้นในระหว่างอย่างนี้...ที่มันรู้น้อยกว่าไม่รู้ รู้น้อยกว่าหลง แล้วไม่เห็นผลมันเกิดเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งที่ผลมันเกิดอยู่บ้างนี่ ...ตรงนี้ คนภาวนานี่มันจะท้อ มันก็ขี้เกียจ

แล้วก็ปล่อยปละละเลย ไม่ขยันหมั่นเพียรขึ้นมา มันก็ไม่มีการพัฒนาขึ้น ...ศีลก็ไม่พัฒนาขึ้น สมาธิก็ไม่พัฒนาขึ้น สติก็ไม่พัฒนาขึ้น ปัญญามันก็ไม่พัฒนาขึ้น

มันก็เหมือนกับถอยหลังลงคลองน่ะ...อยู่กับกิเลส อยู่กับความเผลอเพลิน อยู่กับอารมณ์ อยู่ไปวันๆ อยู่กับความใจลอยเผลอเพลิน ...นั่นแหละมันเหมือนถอยหลังลงคลองไป

มันก็อยู่ด้วยความสะสมกิเลส พอกพูนกิเลสความยึดมั่นถือมั่นไปในตัว โดยที่มันก็ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่ามันกำลังสะสมกิเลส สะสมความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวเราของเรา ในความเป็นตัวเขาของเขา 

สะสมพอกพูนความยึดมั่นถือมั่น...ในการกระทำของเรา ในการกระทำของเขา ในความคิดความเห็นของเราของเขา ...ก็อยู่อย่างนั้นน่ะ มันก็มีทุกข์อยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ ...ทุกข์จะมากกว่าสุข

เพราะนั้นการภาวนามันไม่ได้หมายความว่าจะมานั่งหาความสงบ หรือว่ามาทำความสงบให้เกิดขึ้น ...แล้วความสงบเดี๋ยวมันก็หายไป มันไปอยู่ใต้อารมณ์

ความสงบนี่มันเหมือนก้อนน้ำแข็งอยู่บนน้ำร้อน พอน้ำแข็งละลายเมื่อไหร่ น้ำร้อนมันก็เดือดพลุ่งพล่านปรากฏออกมา นี่ มันไม่สามารถทำให้น้ำร้อนน่ะมันเย็น กลายเป็นธาตุเย็นได้

เพราะนั้นก็มีแต่ปัญญาเท่านั้นน่ะ ที่มันรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้วนั่นน่ะ มันจึงจะถ่ายถอนความเห็นผิดออกจากความเข้าใจเดิมๆ ความเห็นเดิมๆ ออกไป

ถ้ายังไม่เกิดปัญญานี่ มันก็เหมือนกับวิ่งคว้าเงาไป เดี๋ยวก็ได้ เดี๋ยวก็ไม่ได้  เดี๋ยวก็ถึง เดี๋ยวก็ไม่ถึงที่ที่หมาย แล้วก็กลับมาอยู่ที่เดิมอีก ...ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ ละเลิกอะไรไม่ได้เลย 

ความเป็นเราก็ยังเต็มหัวอกหัวใจ ตั้งแต่หัวจรดตีนก็ยังเป็นเราอยู่ตลอดเวลา ...มันเลยกลายเป็นว่า ดูเหมือนภาวนาแล้วมันไม่บังเกิดมรรคผลแต่ประการใดเลย ...ก็ได้แต่ว่าสักแต่ว่าทำๆ ไป เพราะว่าเขาว่าดี ก็แค่นั้น

แต่ว่าถ้ามาเริ่มรู้จักว่าการภาวนานี่...เป้าหมายที่แท้จริงของการภาวนามันคืออะไร จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการภาวนาคืออะไร ...การภาวนามันก็จะตรง ไม่เบี่ยงเบน ไม่กลับหัวกลับหาง ไม่ลังเลสงสัยในมรรคในผล 

คือก็ต้องลอง มันต้องลอง...ลองมากำหนดรู้ดูเห็นอากัปกริยาของกายทุกปัจจุบันน่ะ ...เรื่องเหล่านี้ มันแค่ฟัง มันแค่จำ มันแค่เข้าใจเอาเองน่ะ มันก็ไม่ได้อะไร มันก็ไม่เชื่อจริงๆ

แต่ถ้ามันได้มาลองทำดู ลองเอาชีวิตของตัวเองน่ะมาพิสูจน์...ลงทุนด้วยกายวาจาใจของเจ้าของ แล้วพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติลงไปจริงๆ จังๆ 

ไม่ใช่ลงทุนพิสูจน์แบบเหยาะๆ แหยะๆ  หยิบโหย่ง โลเลๆ ไปมา  มันก็ไม่บังเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรชัดเจน ...มันก็จะไปตามเดิม ตามที่มันเคยชิน

ตามที่มันอยาก ตามที่มันชอบ ตามที่มันเข้าใจเอาเองว่า อย่างนั้นถูกกว่า อย่างนี้ดีกว่า ตามความชอบ ตามที่เราชอบ ...นี่ อะไรที่มันเป็นเราบอก อะไรที่เราว่านี่ อย่าไปฟังมันมาก มันโกหก

เพราะนั้นการเจริญสติในกาย หรือความระลึกรู้ หรือความรู้สึกตัว หรือทำความรู้ตัว...ต้องลองฝึกดู โดยไม่อ้างกาลเวลา สถานที่ เหตุการณ์ บุคคล

ไม่ใช่ว่าจำเป็นจะต้องไปรู้ตัวแค่ตอนไปวัด ...อยู่ที่ไหนก็ต้องรู้ อยู่บนรถก็ต้องรู้ตัว ทำหน้าที่การงานก็รู้ตัวได้ เดินไปเดินมา หมุนหัน หยิบจับอะไร ลุกนั่ง...รู้ตัวได้

นั่น มันต้องไปฝึกตรงนั้นน่ะ...ฝึกอยู่ในชีวิตนั่นแหละ ...ไม่ใช่มาฝึกแค่ในวัดนี่ มันน้อย มันสั้น มันไม่พอ หรือมารู้ตัวแค่ที่บ้าน ตอนอยู่ในห้อง หรือตอนที่อยู่คนเดียวนี่...มันไม่พอหรอก


(ต่อแทร็ก 12/29  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น