วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 12/22


พระอาจารย์
12/22 (561022B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 ตุลาคม 2556


พระอาจารย์ –  อย่าไปวุ่นวี่วุ่นวายในที่อื่น อย่าไปไขว่คว้าควานค้นในที่อื่น อย่าไปหาความรู้ความเข้าใจจากที่อื่น ที่นอกเหนือจากกายนี้ใจนี้...ปัจจุบันนี้เท่านั้น

รู้ไปเห็นไป...เท่าที่มันรู้ เท่าที่มันเห็น ในปัจจุบันกาย ...ไม่รู้อะไรมากกว่านี้หรอก ไม่เห็นอะไรมากกว่านี้ เกินกว่านี้หรอก ...เพราะความจริงมันมีแค่นี้จริงๆ ไม่มีมากกว่านี้ ไม่มีน้อยกว่านี้

ถ้ากำชับศีล กำชับสติ ให้มันอยู่ได้แค่นี้เท่านี้ ...ก็เรียกว่ารักษาความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นเส้นทางสายมรรค สายกลาง ...ด้วยความต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย

ทุกอย่างมันก็ชัดเจนในตัวของมันเอง ...ไม่มีใครไปทำให้มันชัดหรือไม่ชัด  มันจะชัดเจนขึ้นในตัวของมันเอง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงจะชัดในตัวของเขาเอง

ธรรมนั้นก็เปิดเผยความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาเอง ว่าความจริงหรือว่าตัวตนที่แท้ๆ ที่เป็นโดยสัจธรรมเอง ไม่ใช่ไปทำสัจธรรมขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ไปหาสัจธรรมขึ้นมาใหม่เลย

ตัวธรรมนั้นก็ปรากฏขึ้นด้วยความเปิดเผย ชัดเจน ตรงไปตรงมา ...เปิดเผย สว่างขึ้นมาในธรรม ไม่มีมลทิน ไม่มีธุลีเจือปน

ธรรม...ไม่ได้มีอยู่ที่ไหน ...มีอยู่ที่นี้ ล้อมรอบที่นี้อยู่ตลอด  ทุกอย่างเป็นธรรม เท่าที่เห็น เท่าที่ได้ยิน เท่าที่กายปรากฏ เท่าที่กายกระทบ

ทุกอย่างเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นจริง ทุกอย่างแสดงธรรม ทุกอย่างแสดงความจริง

แต่ผู้รู้...ไม่จริง ผู้รู้ไม่เป็นผู้รู้ที่จริง ...มันเป็นเราที่ออกไปรู้เกิน มันไปเราที่ออกไปรู้ขาด มันเป็นเราที่ออกไปรู้ข้างหน้าข้างหลัง มันเป็นเราที่เอาสมมุติเอาบัญญัติมาเปรียบ มาเทียบ มาเคียง

มันจึงผิดพลาดคลาดเคลื่อน...จากธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

เพราะนั้นผู้ที่จะเข้าถึงธรรม เห็นธรรม จึงต้องเป็นผู้รู้ที่แท้จริง ...คือผู้รู้ที่อยู่บนศีลสมาธิปัญญา คือผู้รู้ที่อยู่บนฐานของความเป็นกลาง คือผู้รู้ที่ปราศจากความคิดความปรุงแต่ง นั่นเอง คือผู้รู้จริง

แล้วผู้รู้จริงนั้นแลจึงจะไปเห็นความเป็นจริงที่ล้อมรอบ ที่มีอยู่...ในปัจจุบัน

นี่แหละที่ท่านเรียกว่าดวงจิตผู้รู้อยู่ ดวงจิตผู้รู้จริงผู้เห็นจริง ...แล้วดวงจิตผู้รู้จริงเห็นจริงนี้แล จึงจะเป็นผู้หลุดพ้นจริง...จากทุกสิ่ง ...เป็นผล

แต่ผู้รู้จริงจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีศีลสมาธิปัญญาเป็นกรอบ จึงต้องคอยบอก คอยย้ำ คอยเตือนอยู่เสมอว่า...ศีลอยู่ที่ไหน คืออะไร  สมาธิเป็นอย่างไร ปัญญาคืออะไร

ไม่งั้นมันจะเกิดอาการที่เรียกว่า ฟังไม่ได้ศัพท์แล้วจับไปกระเดียด ....ไอ้นั่นก็เป็นศีล เขาบอกว่าอย่างนั้นคือศีล เขาบอกว่าอย่างนี้เรียกว่าสมาธิ เขาบอกว่าสมาธิอย่างนี้ใช่ อย่างนี้ไม่ใช่

เขาบอกว่าต้องได้อย่างนั้น ต้องได้สมาธิขั้นนี้ ระดับนี้  ฌาน ๔ ฌาน ๘ อัปปนา อุปจาระอย่างนั้น  ต้องสงบในลักษณะอย่างนี้ๆ  ศีลก็ต้องมีการวิรัติ จำกัดเข้มงวด ไม่กินข้าวกินน้ำ อดหลับอดนอน

เขาว่าห้ามทำผิดพลาดทางกายวาจาด้วยการพูดการคุยมากมายเท่าไหร่ ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น นั่นจะเป็นตัวเกื้อตัวหนุนให้เกิดความสงบที่มั่นคง ลึกซึ้ง แล้วปัญญามันก็จะค่อยๆ เกิดความถี่ถ้วนชัดเจน

นี่ เราจึงได้ย้ำนักย้ำหนา ทุกครั้งทุกคราว ว่าศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ภาวนาคืออะไร ปัญญาเกิดได้อย่างไร เพราะอะไร อย่างไรเรียกว่าปัญญาญาณ

จนมันเอาไปปฏิบัติแบบไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากศีลสมาธิปัญญา  มันก็จะรับผล...เกิดความเชื่อมั่นในตัวของมันเอง...เป็นปัจจัตตัง 

โดยไม่ต้องพึ่งอะไรภายนอก...มาเป็นตัวรองรับซัพพอร์ทหนุนให้เกิดความศรัทธามั่นคงในศีลสมาธิปัญญาเลย 

เพราะนั้นหลักของการปฏิบัติก็จึงมีหลักเดียวนี่แหละ คือหลักศีลสมาธิปัญญา ไม่ออกนอกหลักนี้ไป ...ใครจะอยู่ได้นาน ใครจะอยู่ได้ทนในศีลสมาธิปัญญา ผู้นั้นจะได้รับผลเท่านั้นแหละ

ใครไม่อยู่ในศีล ใครไม่อยู่กับสมาธิ ใครไม่อยู่กับปัญญา ก็ไม่ได้ผล ...อาจจะได้ แต่เป็นผลที่นอกเหนือมรรค คือเป็นผลอะไรก็ไม่รู้ ไปเกิดความรู้ความเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ 

มันได้ผลอย่างนั้น ...แต่ละวางจางคลายความเป็นตัวเราของเราไม่ได้ ละเลิกเพิกถอนความยินดียินร้าย ออกจากความยึดมั่นถือมั่น ออกจากความยึดติดถือติด ออกจากความการพัวพันในขันธ์ในโลกไม่ได้

ไม่ว่าจะเนรมิตกายไปเป็นอะไร ไปเห็นอะไร ไปรู้อะไร เรื่องราวต่างๆ ที่คนอื่นเขาไม่รู้ ...แต่ผลไม่ได้เกิดเพื่อให้ความเป็นตัวเราของเราลดน้อยลง หมดลง

ผลการรู้นั้นไม่ได้ให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าขันธ์ห้าคืออะไร ที่มาของขันธ์ห้าคืออะไร อะไรเป็นเหตุให้เกิดขันธ์ห้า อะไรเป็นเหตุให้ดับไปของขันธ์ห้าจนไม่กลับมาจนถึงที่สุด ...มันไม่รู้ ไม่มีปัญญา

ความรู้เหล่านี้ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยะ ท่านไม่สรรเสริญ ท่านไม่ยกย่อง ท่านไม่คารวะ ...ท่านสรรเสริญยกย่องคารวะผู้รู้เห็นในธรรมที่เกิดจากศีลสมาธิปัญญา

คือผู้รู้จริง ผู้เห็นจริง ผู้ละได้จริง ผู้หลุดพ้นได้จริง ...อัญชลีกรณีโย ผู้ควรแก่อัญชลี คือความเป็นอริยจิต อริยบุคคล ซึ่งอาจจะไม่มีความรู้ใดภายนอกเลย  ท่านก็ยังสรรเสริญว่าเป็นผู้ที่ควรแก่การอัญชุลี

เพราะท่านอยู่ด้วยความบริสุทธิ์กาย อยู่ด้วยความบริสุทธิ์จิต อยู่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ อยู่ด้วยความบริสุทธิ์ขันธ์ ปราศจากมลทิน ...ธุลีของมลทินก็ไม่มี ในกายวาจา ในจิตในใจ แม้แต่เศษเสี้ยวหนึ่ง

การภาวนา...ที่มันจะเกิดผล ได้ผลเป็นกอบเป็นกำ เป็นชิ้นเป็นอัน  คือต้องอาศัยเหตุประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่ง ...คือความต่อเนื่อง

ไม่ใช่แบบลักปิดลักเปิด แบบขาดตกบกพร่อง แบบแหว่งแบบเว้า แบบน้ำขึ้นน้ำลง แบบพระจันทร์ข้างขึ้นข้างแรม ...มันจะต้องมีความสม่ำเสมอต่อเนื่อง

ไม่ว่าง ไม่เว้น ไม่พัก ไม่มีเวลาหยุดพักผ่อนภายในศีลสมาธิปัญญา...พักไม่ได้เลย แม้แต่ขณะจิตหนึ่ง ...จึงจะเป็นไปเพื่อความหมดจด...คือที่สุด

จิตน่ะ...เรานี่ มันชอบหาเศษหาเลย  โดยเข้าใจว่าไอ้เศษเลยที่มันหานั่นน่ะ คือสาระที่สำคัญ มีค่า มีราคา มีชื่อเสียง มีลาภยศ มีสรรเสริญ ...นั่นแหละเรียกว่าจิตเราน่ะมันชอบหาเศษหาเลย

แล้วก็ไปติดอยู่ในเศษเลยนั้นๆ แบบไม่ถ่ายไม่ถอน ไม่ปล่อยไม่วาง ไม่จางไม่คลาย จนถึงขั้นระดับที่ว่ายึดมั่นถือมั่น ยึดตัวถือตน ยึดเรายึดความเป็นของเราอย่างยิ่งยวด

แทนที่มันจะยึดศีลสมาธิปัญญา มันกลับไปยึดไอ้เศษเลยที่มันออกไปหา...ด้วยความไม่รู้  ...ผลก็ได้แค่เศษแค่เลยนั่นแหละ คือสุขบ้าง ทุกข์บ้าง

เดี๋ยวดีบ้าง เดี๋ยวไม่ดีบ้าง เดี๋ยวดั่งใจบ้าง เดี๋ยวไม่ดั่งใจบ้าง นั่นน่ะผลที่ได้จากเศษเลย ...ก็หนีไม่พ้นสุข-ทุกข์ “ของเรา” ที่ได้...แล้วก็ที่เสียไป

ไม่มีวันอิ่ม ไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันหยุดเอง  มันก็หาทางไปมาของมันแบบไม่มีวันหยุด...ยิ่งกว่าการเคี่ยวเข็ญให้จิตมันหยุดอยู่กับมรรค อยู่กับศีลสมาธิปัญญา...ซึ่งมันไม่ชอบ

แต่เมื่อใดที่เคี่ยวเข็ญให้มันมาหยุดอยู่กับศีลสมาธิปัญญาภายใน มันมีวันจบ มันมีวันสิ้นสุด ...แต่การที่มันหาเศษหาเลยโดยจิตเรานี่ มันจะไม่มีคำว่าสิ้นสุด

โดยมันมีสุข-ทุกข์น่ะเป็นเครื่องปลอบประโลมจิตเรา ตัวเรา ให้มันดั้นด้นค้นหา โดยไม่อิ่ม ไม่เต็ม ไม่เหนื่อย ...เกิดตายกี่ชาติก็ลงในลักษณะอาการเดิม เหมือนเดิม แบบเดิม ไม่จบสิ้น ซ้ำซาก

แต่การที่กลับมา...จับจิตจับเรามันมาอยู่กับที่ รู้อยู่กับศีล รู้อยู่กับสมาธิ รู้อยู่กับการรู้การเห็นในกองกายกองขันธ์ ...มันน่าเบื่อในตอนแรก มันเซ็ง 

มันเหมือนกับไม่เปลี่ยนแปลง มันเหมือนกับไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ...ดูเหมือนไม่มีวันจบสิ้นก็ได้แค่นี้

แต่ตามหลักฐานของผู้ที่ปฏิบัตินี่ ท่านก็ออกมายืนยันทุกคนไปว่า...จบ มันมีวันจบ มันมีที่จบ มันมีจุดจบ...ตรงนี้ ตรงศีลสมาธิปัญญานี่แหละ ...ยืนยันกันมาตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว

พระอริยะ พระอรหันต์ ในสองพันห้าร้อยกว่าปีนี่ นับไม่ถ้วน ไม่สามารถจะนับได้เลย ...ทุกท่านล้วนยืนยันว่า ศีลนี่...จริง สมาธิ...จริง ปัญญานี่...มีจริง และได้ผลจริง

มีแต่จิตเราเท่านั้นแหละที่ไม่จริง แล้วมันคอยคัดค้าน ...มันกลับบอกว่าไอ้เศษเลยที่มันหานั่นน่ะจริงกว่า ดีกว่า สบายกว่า สุขกว่า สนุกกว่า อิ่มกว่า

แต่เวลามาอยู่ในมรรค เวลาอยู่ในศีลสมาธิปัญญา มันอยู่ด้วยความที่ว่าเหมือนกับหิวโหยอยู่ตลอด หาอารมณ์อยู่ตลอด หาความสุขหาความทุกข์อยู่ตลอด ...มันหิวอารมณ์ กระหายอารมณ์

ไอ้ที่มันยาก...ก็ยากตรงนี้แหละ ...มันทนความหิวกระหายของอารมณ์ไม่ได้ ของเราไม่ได้

เพราะ "เรา" มันยังมีอำนาจเป็นใหญ่ในขันธ์อยู่  เพราะกิเลสมันยังมีอำนาจ ยังใหญ่ ยังมีกำลังอยู่ในกองขันธ์ ครอบคลุมใจอยู่

จึงต้องฝ่าฟันกองกิเลสเหล่านี้ ความรู้สึกอย่างนี้  ด้วยความพากเพียร อดทน ศรัทธาในมรรค ในการปฏิบัติ...ซ้ำซากลงไป จนมันบังเกิดผล

จึงจะได้ผลนั้นน่ะเป็นกำลังให้เดินอยู่บนเส้นทางนี้  ด้วยความขวนขวาย หมั่นเพียร  เคร่งครัด ไม่ทอดธุระในศีลสมาธิปัญญาภายใน

จากที่มันหยุดๆ หย่อนๆ กระท่อนกระแท่น มันก็เป็นเดินไปด้วยความราบเรียบ ...จากเดินไปด้วยความราบเรียบ สุดท้ายมันกลายไปวิ่งอยู่ภายในเลย

ปัญญามันหมุนจี๋อยู่ สลัดละวางออก...ทุกสิ่งที่มันมากระทบสัมผัสกายใจ ทั้งภายในและภายนอก

ภายในคือการแสดงตัวกันขึ้นของกิเลสเมื่อถูกกระทบ  ภายนอกก็รู้เท่าทันทุกอาการกระทบ ...มันหมุนจี๋อยู่ในนั้น เรียกว่าวิ่งไปในองค์มรรค

ไม่ใช่เหมือนปุถุชนคนทั่วไปนี่ ...มันอยู่ในโลกอยู่ในขันธ์ เหมือนกับหลับตาเดิน ตกร่องตกรู ตกเหวตกห้วย ตกถนน ตกทางซ้ายขวา ถอยหน้าถอยหลัง เอาหน้าเดินเอาหลังเดินบ้าง  มั่วซั่วกันไปหมด

แล้วก็เดินชนกันไปชนกันมา ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมา กระทบกระทั่งกันอยู่ตลอดเวลา ...ไม่ได้เดินบนทางที่มันเป็นทางกายหนึ่งใจหนึ่ง ที่เปล่าเปลี่ยว เป็นเอก เป็นหนึ่ง เป็นอิสระ โดดเดี่ยว ผู้เดียว

กายเดียวใจเดียวท่ามกลางสังคม กายเดียวใจเดียวท่ามกลางครอบครัว กายเดียวใจเดียวท่ามกลางเรื่องราวของผู้คน ...ก็เป็นผู้เดียวอยู่ตลอดเวลาบนมรรค เป็นทางที่เดินคนเดียว มีคนเดียว เป็นเอก

แม้แต่จะมีคนล้อมรอบ มีคนมากมายทับถมอยู่ภายนอก ก็ยังเป็นผู้เดียวคนเดียว ไม่เป็นสองสามสี่ตามสัตว์บุคคลที่ล้อมรอบ ...นี่ เป็นเอกอุ เป็นทางสายเดี่ยว สายที่เดินได้จำเพาะคนเดียวเท่านั้น

นี่แหละคือการภาวนา จนกว่าจะภาวนาได้ทุกลมหายใจเข้า-ออก ไม่ขาด ไม่หาย ไม่ทิ้ง ไม่ขาดท่อนเว้นวรรคขาดตอน...ในสติ ในศีล ในกาย ในรู้

แล้วทุกอย่างมันก็จะมาผสมรวมกัน เป็นความรอบรู้ภายในขึ้นมาเอง เข้าใจเอง...อะไรเป็นอะไร 

ถูก-ผิดคือตรงไหน  ถูกที่แท้จริงคือตรงไหน ผิดอย่างไรที่เคยไปว่าถูกแล้วมันก็กลายเป็นผิดหมด แล้วที่ไปว่าใช่มันก็กลายเป็นผิดหมด

มันก็รู้ทั้งหมดที่เคยว่าถูกน่ะ...ผิดหมด  แล้วมันจะรู้ว่าถูกที่แท้จริงคืออะไร ...คือความจริงนั่นเอง ความจริงน่ะคือความถูกต้อง ไม่ใช่ความเห็นคือความถูกต้อง

เอ้า นี่แหละ เท่านี้พอ เอาแต่เนื้อไม่เอาน้ำ ...ไป ไปอยู่กับความรู้ตัว อย่าทิ้งเนื้ออย่าห่างตัว


โยม –  ท่านครับ ตอนรู้สึกตัวอยู่ แล้วกลางในใจมันเหมือนกับมีอาการประคองๆ อยู่ ดูกายก็ดูกายแต่ว่ามันยังมีอาการเกร็ง ประคองอยู่อะไรอย่างนี้

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปจัดการอะไรมัน ไม่ต้องไปใส่ใจ ...มันเป็นความคุ้นเคยของเราอยู่แค่นั้นเอง เราในปัจจุบันก็จะทำอาการนั้นอาการนี้ อย่างนี้ ...อย่าไปสนใจมัน

เดี๋ยวพอมันรวมเป็นหนึ่งรู้หนึ่งเห็นแล้ว อาการของเรามันก็จะหมดไปเองแหละ  มันก็จะไม่มีการกระทำตรงจุดตรงนี้ มันก็เหลือแค่รู้กับกาย ...กายก็เป็นปกติ รู้ก็เป็นปกติ

แต่ถ้าไปจดจ้องหรือว่าไปเพ่งเล็งมันนี่  เดี๋ยวมันอดไม่ได้ที่จะยื่นมือเข้าไปแก้ หรือไปปรับปรุง ...เกิดการที่ว่า...ไม่ได้แก้ มันก็อ้างว่าเข้าไปปรับปรุง 

ไม่ต้องไปยุ่ง ...มันเป็นเรื่องของ “เรา” เป็นการแสดงของเราที่มันยังมีอยู่ในปัจจุบัน ...ก็รู้ไว้ เห็นไว้ ก็แค่ให้เห็นว่ามันยังมีอาการนี้ เหมือนประคองบ้าง เหมือนกับเพ่งบ้าง เหมือนอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง ...ชั่งมัน


โยม –  มันก็ปรุงแต่งไปว่า กลัวว่ามันจะทำให้การรู้นี่

พระอาจารย์ –  อย่าสงสัย พวกนี้มันสร้างความสงสัยขึ้นมา ...รู้ไปเถอะ เท่านั้นน่ะถูกแล้ว มีกายตรงไหนก็ถูกแล้ว ...ถ้ากายอยู่ตรงไหน มันมีกายขึ้นนี่ ตรงนั้นน่ะรู้แล้ว รู้ก็อยู่ตรงนั้นแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย 

และแค่นั้นก็พอแล้ว แค่พอให้กายปรากฏขึ้น ตรงนั้นน่ะ...จริง ...นั่นน่ะรู้พอดีแล้ว ไม่มีดีกว่านี้แล้ว

อย่าไปเชื่อที่มันปรุงว่าจะผิด จะน้อย หรือว่าจะช้าจะเร็ว ...พวกนี้เป็นความสงสัยลังเลหมด แล้วก็จะมี “เรา” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไปยุ่งกับมัน...หมายถึง “เรา” ในปัจจุบันน่ะ

ตอนนี้มันไม่มีเราในอดีตอนาคตชัดเจนหรอก  แต่ "เรา" นี่...ที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบันนี่ มันพยายามจะทำงานของมัน ถ้าเราไปถือหางมันเมื่อไหร่

ส่วนมากก็ถือหางดีน่ะ จะเอาดีน่ะ ...แต่มันเกินดีหมดน่ะ ดีเกินหมดน่ะ ... เกินหมดนะ เกินพอดี เกินปัจจุบัน เกินปกติ เกินปกติรู้เกินปกติกายอยู่

มันจะชัดเท่าที่มันชัด ไม่มีชัดกว่านี้ ...แล้วมันจะชัดขึ้นไปเรื่อยๆ ของมันเอง...ไม่ใช่ไปทำให้มันชัด ...นี่ "เรา" พยายามจะทำให้ชัด  ยิ่งทำให้ชัด...ยิ่งห่างจากความเป็นจริง 

เพราะมี "เรา" เข้าไปยุ่ง..."เรา" ในปัจจุบันนั่นแหละ ...เพราะนั้นเราในอดีต เราในอนาคต มันไม่ทำงาน แต่ "เรา" ในปัจจุบันนี่ มันจะมาแทรกแซงอยู่ตลอด  พอไม่ทำตาม "เรา" มันจะสงสัย...สงสัย

สร้างความปรุง สร้างอารมณ์ความสงสัยคือวิจิกิจฉา วิจิกิจฉาในศีล วิจิกิจฉาในมรรค  นี่ล่ะคือความสงสัย ...ก็ละ ไม่เอาๆ ชั่งมัน แค่นี้ก็แค่นี้แหละวะ

ขอให้มีกายอยู่ จะอยู่น้อย จะอยู่มาก จะชัดมาก จะชัดน้อย ขอให้มีกายอยู่ แค่เนี้ย ถูกแล้ว รู้พอแล้ว ...ต้องการรู้แค่นี้พอแล้ว ไม่เอาชัดกว่านี้ ไม่เอาเร็วกว่านี้

มันเท่านี้ เท่าตรงนี้ ก็พอแล้วเสียก่อน ...เพื่ออะไร ...เพื่อจำกัดความเห่อเหิมของเรา ความทะยานอยากของเรา ที่จะไปดัดแปลง ต่อเติม ในมรรคขึ้นมาใหม่

แล้วมรรคนี่จะค่อยๆ เจริญไปในตัวของมันเองขึ้นมา ...ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เพราะเรา ไม่ใช่ของเราทำ



...............................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น